Skip to main content
sharethis

สภาถก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' ยันไม่เคยสั่งทหารไปฆ่าประชาชน ไม่มีการใช้สไนเปอร์ มีแต่ปืนติดลำกล้องใช้ยิงโต้ผู้ก่อการร้ายที่มุ่งร้าย จนท. - ประชาชน คนที่ถูกยิงคือผู้ก่อการร้ายแฝงตัวมา ด้านลูก เสธ.แดง ยกมือโต้ อัดสุเทพกล่าวเท็จ เชื่อประชาชนมีคำตอบแล้วว่าใครเป็นฆาตรกร

การอภิปรายตอบโต้ระหว่างสุเทพ เทือกสุบรรณ (ซ้าย) และขัตติยา สวัสดิผล (ขวา) เมื่อ 8 สิงหาคม 2556 ที่มา: โทรทัศน์รัฐสภา

 

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ในการประชุมรัฐสภา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตนายกรัฐมนตรี และ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ได้ขอสิทธิกล่าวอภิปรายถึงกรณีที่ถูกนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พาดพิงว่าเป็นผู้มีอำนาจ เป็นรัฐบาลอำมหิต สั่งทหารฆ่าประชาชน และเป็นรัฐบาลแรกของโลกที่เอาสไนเปอร์จัดการประชาชน โดยนายสุเทพอภิปรายว่า ไม่เคยสั่งทหารไปฆ่าประชาชน เมื่อมีเหตุการณ์จลาจลก็ถือว่าเป็นอำนาจรัฐบาลต้องยับยั้งเหตุการณ์ แต่เหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงฆ่าประชาชนนั้นเป็นของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีอาวุธสงครามอยู่ในมือ ทั้งที่ไม่มีสิทธินำมาฆ่าประชาชนและเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ต้องปกป้องชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยใช้อาวุธยับยั้งผู้ก่อการร้ายที่ใช้อาวุธสงครามมาฆ่าเจ้าหน้าที่ ถือเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย

"ในประการที่ณัฐวุฒิบอกว่าเป็นรัฐบาลแรกของโลกที่เอาสไนเปอร์มาจัดการประชาชน เอาปืนส่องประชาชนตามหัวมุมตึก ก็ไม่เป็นความจริงครับ ไม่ได้เอาปืนสไนเปอร์ไปส่องดักยิงประชาชนด้วยความเมามันในอำนาจแต่ประการใด แต่ว่าที่จำเป็นต้องให้มีพลแม่นปืนขึ้นไปประจำอยู่ในพื้นที่สูงข่มเป็นการดำเนินการเพื่อคุ้มครองชีวิตเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติหน้าที่ ที่ไปตั้งด่าน ไปตั้งจุดสกัด อยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อไม่ให้ผู้ก่อการร้ายออกไปก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนชาวกรุงเทพฯ พลแม่นปืนที่ว่านั้นไม่ใช่สไนเปอร์ ปืนสไนเปอร์นั้นมีความยาวเป็นพิเศษ มีลักษณะปืนเป็นพิเศษ แต่ปืนที่ใช้นั้นเป็นอาวุธประจำกายของทหารตามปกติ แต่ว่าได้มีการดัดแปลงติดกล้อง ไม่ใช่สไนเปอร์ และไม่ได้ตั้งใจเอาไปเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีคำสั่งของผมชัดเจนว่าให้ใช้พลแม่นปืนนี้ ยิงระงับผู้ก่อการร้ายที่มุ่งทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ คนที่ถูกยิงคือบรรดาผู้ก่อการร้ายที่แฝงตัวมาครับ ท่านประธานครับ"

"ในประเด็นที่สาม กรณีที่คุณณัฐวุฒิกล่าวหาว่า ผมพูดจาโดยไม่รับผิดชอบ อยากจะพูดอะไรก็พูด เรื่องไปเอ่ยชื่อบุคคลที่เผาเซ็นทรัลเวิลด์"

ต่อมา น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย บุตรสาวของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุลอบยิงที่หน้าสวนลุมพินีเมื่อ 13 พ.ค. 53 ได้ลุกขึ้นประท้วง และอภิปรายว่า "ผู้ที่กำลังกล่าวว่าตัวเองถูกพาดพิงนั้น ท่านกล่าวความเห็น ท่านกล่าวว่าไม่มีสไนเปอร์ในเหตุการณ์ ในพื้นที่ดังกล่าว แล้วนี่คืออะไรคะ" จากนั้น น.ส.ขัตติยา ได้แสดงรูปภาพทหารถือปืนติดลำกล้องในเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 13 - 19 พ.ค. 53 และอภิปรายต่อไปว่า "บุฟการีของดิฉัน โดนยิงในวันที่ 13 พ.ค. ฝีมือใครคะ ฝีมือฆาตรกรคนไหนคะ กรุณากล่าวความจริงในสภาค่ะ ท่านโกหกคนทั้ง..."

อย่างไรก็ตาม รองประธานสภาผู้แทนราษฎร นายเจริญ จรรย์โกมล ซึ่งทำหน้าที่ประธานสภาฯ ได้ปิดไมโครโฟนของผู้อภิปรายและกล่าวว่า "ใจเย็นๆ ฮะ คืออย่างนี้ครับ ท่านที่ใช้สิทธิพาดพิง ท่านก็อธิบายของท่านไป ส่วนท่านจะมีความรู้สึกเชื่อไม่เชื่อเป็นเรื่องของท่าน ท่านก็บอกว่าอาวุธที่ใช้มาควบคุมอะไรท่านก็อธิบายประเด็นที่สามเลย"

จากนั้น นายสุเทพ ได้อภิปรายต่อไปว่า "ท่านสุภาพสตรีที่อภิปรายเมื่อสักครู่ บังเอิญท่านพาดพิงว่าผมโกหก บังเอิญมีผู้พาดพิงใหม่แล้วเป็นการพาดพิงซึ่งหน้าเลย ซึ่งถ้าผมไม่พูดนี่เสียหายมาก ผมต้องขอชี้แจงตรงนี้ก่อน ก่อนที่จะไปประเด็นคุณณัฐวุฒิ ท่านประธานครับ กรณีของคุณพ่อท่านที่เสียชีวิต จนเดี๋ยวนี้เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ทราบว่าฝ่ายไหนทำให้เสียชีวิต ยังไม่เคยมีผลของการสอบสวน เพราะฉะนั้นจะมากล่าวหาผมไม่ได้ ผมไม่ทราบจริงว่าฝ่ายไหน อาจจะเป็นพวกคุณยิงกันเองก็ได้" ซึ่งการอภิปรายของนายสุเทพช่วงนี้ ทำให้มีเสียงโห่ร้องเกิดขึ้นในที่ประชุมสภา

รองประธานสภากล่าวต่อไปว่า "เดี๋ยวท่านสุเทพ ผมว่าประเด็นนี้พอแล้วล่ะ เชิญประเด็นที่สามครับ"

นายสุเทพกล่าวว่า "ก็ถ้าไม่พูดพาดพิง ผมก็ไม่ชี้แจง แต่ผมต้องชี้แจงให้จบ เพราะว่าก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต..."

อย่างไรก็ตาม น.ส.ขัตติยา ได้ลุกขึ้นประท้วงอีกรอบและอภิปรายว่า "ท่านสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหนึ่งในคณะ ศอฉ. ดิฉันลุกขึ้นประท้วงเพราะว่าท่านกล่าวเท็จบอกว่าไม่มีสไนเปอร์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และดิฉันก็ลุกขึ้นพูดว่าที่พ่อดิฉันถูกยิงเสียชีวิตก็จากปืนสไนเปอร์ ส่วนใครจะเป็นคนทำจะเป็นจากเจ้าหน้าที่หรือไม่ อันนั้นอยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่ดิฉันเชื่อว่าประชาชนทั่วประเทศมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าใครเป็นฆาตรกร"

อนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อ 16 ส.ค. 55 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้ชี้แจงรูปที่ปรากฏเป็นทหารถือปืนติดลำกล้องที่ประจำการที่หน้าสนามมวยลุมพินีเมื่อ 16 พ.ค. 53 ว่าไม่ใช่สไนเปอร์ แต่เป็นปืนที่ "ติดกล้องเฉยๆ และกล้องตัวนั้นและปืนตัวนั้นไม่ใช่แบบสไนเปอร์" โดยระบุว่าลำกล้องดังกล่าวในตลาดนัดก็มีขายที่ใช้สำหรับยิงนก ไม่ใช่สไนเปอร์ และในปี 2553 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ในสมัยนั้นเรียกทหารที่ใช้อาวุธในลักษณะดังกล่าวว่า "เจ้าหน้าที่พลแม่นปืนระวังป้องกัน" หรือ "sharpshooter" (อ่านข่าวย้อนหลัง)
 
และต่อมาเมื่อ 18 ส.ค. 55 ประชาไท ได้เผยแพร่เอกสาร ส่วนราชการ สยก.ศอฉ. ที่ กห.0407.45 (สยก.)/130 ลงวันที่ 17 เม.ย. 53 เรื่อง “ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่” ลงนามโดย พล.ท.อักษรา เกิดผล หน.สยก.ศอฉ. เสนอ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ในเวลานั้น โดยมีเนื้อหาในข้อ 2.5 ระบุว่า "ในกรณีพบความผิดซึ่งหน้าในลักษณะผู้ก่อเหตุใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ หรือใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธยิงผู้ก่อเหตุ เพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติได้ แต่หากผู้ก่อเหตุอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุมจนอาจทำให้การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้งดเว้นการปฏิบัติ ยกเว้นในกรณีที่หน่วยได้จัดเตรียมพลแม่นปืน (Marksmanship) ที่มีขีดความสามารถเพียงพอให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ นอกจากนี้หากหน่วยพบเป้าหมายแต่ไม่สามารถทำการยิงได้ เช่น เป้าหมายอยู่ในที่กำบัง ฯลฯ หน่วยสามารถร้องขอการสนับสนุนพลซุ่มยิง (Sniper) จาก ศอฉ. ได้” (อ่านข่าวย้อนหลัง)
 
และก่อนหน้านี้เมื่อ 18 มี.ค 54 พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยรายงานบัญชีสรุปรายการเบิกจ่ายกระสุนจากหน่วยคลังแสงสรรพาวุธทหารบก เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตั้งแต่ 11 มี.ค. 53 จนถึงเสร็จสิ้นการโดยมีการเบิกกระสุนจากคลังแสงทหารบกกว่า 597,500 นัด ส่งคืน 479,577 นัด ใช้ไป 117,923 นัด เผยมีการเบิกกระสุนปืนซุ่มยิง 3,000 นัด คืนเพียง 880 นัด ขณะที่เบิกกระสุนซ้อมเพียง 10,000 นัด ส่งคืน 3,380 นัด (อ่านข่าวย้อนหลัง)
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net