คปก.ร่อนหนังสือแนะนายกฯ ชี้ช่องโหว่ร่างนิรโทษฯ ฉบับวรชัย

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายส่งหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมและการปรองดองถึงนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ชี้ช่องโหว่ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฉบับวรชัย และความเห็นต่อการนิรโทษกรรมให้กลุ่มต่างๆ

13 ส.ค.56 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ส่งหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมและการปรองดอง ลงนามโดยนายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เสนอต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ

ในหนังสือดังกล่าว คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของนายวรชัย เหมะ ว่าไม่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) เพราะสาระสำคัญของร่างกฎหมายมุ่งเน้นเพียงการนิรโทษกรรมแบบครอบคลุมทั่วไป โดยกำหนดให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงตามมาตรา 3 และมาตรา 4 เป็นการมุ่งผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมโดยไม่ดำเนินกระบวนการเพื่อความปรองดองอื่นๆ ตามหลักความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านควบคู่ไปด้วย การเสนอและพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ เกิดขึ้นโดยไม่ได้นำกระบวนการยุติธรรมปกติมาใช้เพื่อสร้างความยุติธรรมและลดความขัดแย้งอย่างจริงจังเสียก่อน และดำเนินไปโดยปราศจากการมีส่วนร่วมและการเห็นพ้องต้องกันของฝ่ายอื่นๆ ที่อยู่ในวังวนของความขัดแย้งเช่น ฝ่ายค้าน ภาคประชาสังคม และแม้แต่ญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง การเสนอและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงไม่มีความเหมาะสมทั้งในด้านเวลาและสถานการณ์ ทั้งจะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมให้ร้าวลึกยิ่งขึ้น

คปก.ยังมีความเห็นด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว ยังมีลักษณะเปิดช่องให้มีการตีความและการบังคับใช้ให้มีผลเป็นการยกเว้นบุคคลให้ไม่ต้องรับโทษแบบเหมารวมครอบคลุม เพราะยังไม่ได้กำหนดชัดเจนถึงลักษณะความผิดที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม การบัญญัติกฎหมายที่มีลักษณะกว้างเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการสากล อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ก่อความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ต้องรับผิด และจะมีการใช้ความรุนแรงต่อกันขึ้นอีกในอนาคต จึงมีความเห็นให้ทบทวนการกำหนดลักษณะความผิดที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมอีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ กลไกและกระบวนการที่ชัดเจนในการกลั่นกรองและนิรโทษกรรม

นอกจากนี้ ในหนังสือของ คปก.ได้ระบุความเห็นของ คปก.ต่อการตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุมในฐานความผิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงปี 2549-2553 เช่น ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ความผิดอาญาฐานต่างๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดต่อเสรีภาพ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ความผิดฐานข่มขืนใจเจ้าพนักงาน ควรอยู่ในข่ายได้รับการนิรโทษกรรม

การตั้งข้อกล่าวหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เช่น ความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานหมิ่นประมาท และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 คปก.เสนอว่า ควรได้รับการนิรโทษกรรมหากเป็นการกระทำไปโดยมุ่งไปในทางการเมืองหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยมีข้อสังเกตว่า “ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา มีการกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายตน รวมทั้งใช้เป็นประเด็นโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกันอยู่เสมอ การดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เข้ามาเป็นประเด็นในทางการเมืองเช่นนี้ เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเข้ามาอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้ง และถูกผลักให้ต้องกลายไปเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยปริยาย”

ส่วนข้อกล่าวหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ความรุนแรงในพื้นที่การชุมนุมและการสลายการชุมนุม คปก.มีความเห็นว่า ไม่ควรให้นิรโทษกรรม เพราะเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายซึ่งไม่สามารถพรากไปได้แม้ในยามฉุกเฉินต่อความอยู่รอดของประเทศชาติ และควรให้มีการชดเชยเยียวยาแก่ผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียชีวิต รวมทั้งการเยียวยาและการฟื้นฟูสภาพทางร่างกายและจิตใจจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

ส่วนการนิรโทษกรรมกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง คปก.มีความเห็น ดังนี้

ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในทางการเมืองทั้งที่ร่วมชุมนุมและไม่ได้ร่วมชุมนุม ที่ถูกดำเนินคดีอันเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ส่วนใหญ่เกิดจากความเชื่อที่ต้องการปกป้องความเชื่อทางการเมือง และคุณค่าที่แต่ละฝ่ายยึดถือ คปก.เห็นว่าควรนิรโทษกรรม

เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หากการปฏิบัติหน้าที่เกินสมควรแก่เหตุและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิในชีวิตและร่างกาย คปก.เสนอให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนและนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หากทำความผิดจริงต้องมีการลงโทษอย่างเหมาะสม เพื่อจะได้ไม่สร้างวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดหรือผู้กระทำผิดลอยนวล และเป็นการสร้างบทเรียนให้การปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมฝูงชนในอนาคตให้เป็นไปโดยระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงเกินสมควร

บุคคลระดับผู้นำ ได้แก่ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้สั่งการที่มีอำนาจตามกฎหมาย และผู้เป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น ผู้นำในการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ รวมทั้งผู้นำฝ่ายรัฐซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและดูแลความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชน กลุ่มบุคคลเหล่านี้ต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าปกติ เพราะไม่สามารถดูแลให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองให้เป็นไปโดยสงบ ตลอดจนกลุ่มที่สร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงด้วย จนเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียอย่างมากมาย ทั้งต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน จึงไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม แต่ควรนำบุคคลกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

โดยทั้งนี้ คปก.เสนอว่า การนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ควรมีความสอดคล้องกับหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) รับรองสิทธิในการต่อสู้คดี สิทธิที่จะมีทนายความที่มีคุณภาพในการให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ตลอดจนสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกันตามหลักการว่าด้วยสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและแนวนโยบายแห่งรัฐด้านกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท