Skip to main content
sharethis

 

คปก.หนุนออก กม.ป้องกันทารุณกรรมสัตว์ ตั้งข้อสังเกตทารุณกรรมสัตว์โดยเหตุสมควรไม่ชัด หวั่นตีความบิดเบือน
 
1 มีนาคม 2556 - นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่อง ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. .... เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณา
            
คปก.เห็นด้วยที่ต้องมีการตราพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ขึ้นมาเพื่อเป็นการส่งเสริมจริยธรรมต่อการพัฒนาสังคมคุณภาพชีวิตสัตว์และมนุษย์ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศที่ปรากฏต่อนานาอารยประเทศ
            
ทั้งนี้ คปก.มีข้อสังเกตใน 3 ประการ คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว คปก.เห็นว่า ควรลดจำนวนข้าราชการในระดับปลัด และอธิบดีจากกระทรวงที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ลง (เดิมกำหนดให้มีถึง 11 คน) และเพิ่มสัดส่วนองค์ประกอบของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ(เดิมกำหนดไม่เกิน 4 คน) โดยการกำหนดให้มีตัวแทนองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านนี้ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสัดส่วนที่เหมาะสมและให้กรรมการผู้คุณวุฒิมาจากกระบวนการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหากรรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่ามาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรี เพื่อให้ได้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์และความเหมาะสมอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้ง
            
ประเด็นต่อมา คปก.เห็นว่า ร่างมาตรา 17 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร” ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอซึ่งอาจเป็นประเด็นในการตีความจึงตีความได้ว่า หากกระทำการใดเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยมีเหตุอันสมควร การกระทำนั้นย่อมไม่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะกำหนดได้ว่ากรณีใดเป็นการกระทำอันเป็น “การทารุณกรรมสัตว์โดยมีเหตุสมควร” ซึ่งความไม่ชัดเจนของข้อความดังกล่าวจะเป็นช่องว่างในทางกฎหมาย และอาจถูกนำมาใช้หรือตีความไปในทางที่บิดเบือนหลักการของกฎหมายได้
 
นอกจากนี้คปก.มีความเห็นว่า ควรเพิ่มบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาเร่งรัดในการตรากฎหมายลำดับรอง หรือหลักเกณฑ์ วิธีการต่าง ๆ ในร่างพ.ร.บ.นี้ เพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาความล่าช้าหรือไม่ได้มีการดำเนินการกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์  ในกฎหมายลำดับรอง ซึ่งมักเกิดขึ้นภายหลังจากที่กฎหมายนั้น ๆ ประกาศใช้บังคับไปแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net