Skip to main content
sharethis

5 ต.ค. 56 – คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมกับมูลนิธิเอเชีย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักประสานการพัฒนาเพื่อสังคมสุขภาวะ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีสาธารณะ “บทเรียน 16 ปี สิทธิประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน” ณ ห้องประชุมจิ๊ดเศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงสถานการณ์กฎหมายเข้าชื่อโดยภาคประชาชนว่า สรุปสถานการณ์ร่างกฎหมายเข้าชื่อโดยภาคประชาชนนับตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบันประชาชนเสนอกฎหมายรวมทั้งสิ้น 44 ฉบับ คปก.ได้จำแนกกฎหมายออกเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มวิชาชีพ 2.กลุ่มกระจายอำนาจ 3.กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.ความเสมอภาคระหว่างเพศ 5.กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค 6.กลุ่มการมีส่วนร่วม 7.กลุ่มกระบวนการยุติธรรม 8.กลุ่มสวัสดิการสังคม โดยกฎหมายทุกกลุ่มทั้ง 44 ฉบับ มีประชาชนเข้าชื่อจำนวนมาก ตนจึงเห็นว่า ภาคประชาชนควรผนึกกำลังร่วมกันในการเสนอกฎหมาย เชื่อว่าจะมีพลังในการขับเคลื่อนกฎหมายทั้ง 44 ฉบับได้สำเร็จ

นายประยงค์ ดอกลำไย ผู้ผลักดันร่างกฎหมายสิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากร กล่าวอภิปรายในหัวข้อ“บทเรียน 16 ปี สิทธิประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน”ว่า ปัจจุบันยังมีปัญหาการถือครองที่ดิน การกระจุกตัวของที่ดินส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่มนายทุน ฉะนั้นหลักการใหญ่ของเรา เราต้องการผลักดันร่างกฎหมาย 4 ฉบับเพื่อคนจน ได้แก่ พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร พรบ.ธนาคารที่ดิน พรบ.ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า พรบ.กองทุนยุติธรรม เราอยากให้ทุกคนเป็นเจ้าของกฎหมายเหล่านี้ โดยเตรียมล่ารายชื่อให้ได้ครบ  1 ล้านรายชื่อผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้สะท้อนปัญหาและความต้องการของคนส่วนใหญ่ และเป็นการท้าทายส.ส.,ส.ว.ที่ได้คะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ถึง 1 ล้านคะแนน

นายภูมิ มูลศิลป์ ผู้ผลักดันกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย กล่าวว่า ปัญหาการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนที่สำคัญคือ ทัศนคติของนักการเมือง โดยผู้ออกกฎหมายมักจะออกกฎหมายจะมีอยู่สองลักษณะคือมองในเชิงที่ไว้ใจกับไม่ใจไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการพิจารณากฎหมาย ถ้ารัฐไว้ใจประชาชนร่างกฎหมาย การเข้าชื่อเสนอกฎหมายจะต้องส่งเสริมการใช้สิทธิของประชาชนมิใช่การจำกัดสิทธิ

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้ผลักดันร่างกฎหมายประกันสังคม กล่าวว่า  รัฐธรรมนูญให้สิทธิภาคประชาชนสามารถเป็นกรรมาธิการหนึ่งในสาม ซึ่งเป็นความหวังของการเสนอกฎหมาย แต่ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีรายชื่อกรรมาธิการจากภาคประชาชนในสัดส่วนที่กฎหมายรับรอง ทำให้เราวิตกกังวลอย่างมากในสถานการณ์เช่นนี้ อย่างไรก็ตามยังไม่สิ้นหวังเนื่องจากที่ผ่านมาเรายังไม่ได้ใช้พลังมวลชนกดดัน ตนจึงมองว่า สิ่งที่สำคัญขณะนี้คือ พลังมวลชนเท่านั้น และประชาธิปไตยที่กินได้ได้ต้องคำนึงถึงคนจนอย่างแท้จริง

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ผู้ผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายคือ ขั้นตอนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ยุ่งยากซับซ้อน เพราะต้องใช้เอกสารสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน อีกทั้งในขั้นตอนการพิจารณากฎหมายต้องสู้กับอำนาจการเมือง  กฎหมายขึ้นอยู่กับนักการเมืองเพียงอย่างเดียว

“ในส่วนของผู้บริโภคมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคหลายฉบับแต่ไม่เคยใช้ได้จริง  อีกทั้งพบว่าผู้บริโภคไม่มีองค์กรที่เป็นเจ้าภาพ  และไม่มีองค์กรที่สามารถถ่วงดุล สร้างความเป็นธรรมได้ ที่ผ่านมาเราใช้เวลาผลักดันกฎหมายดังกล่าวถึง 16 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งใช้เวลากับการถกเถียงประเด็นต่างๆนานกว่า10 กว่าปีในหลายประเด็นโดยเฉพาะเรื่อง รูปแบบการเป็นองค์กรอิสระ” นางสาวบุญยืน กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net