Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ จัดกิจกรรมโหมโรงหลายกิจกรรมก่อนครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (รายละเอียดกิจกรรมดังกล่าวคลิกดูที่นี่) โดยกิจกรรมหนึ่งที่จัดไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมาคือการเสวนา ในหัวข้อ “บอกเล่าประวัติศาสตร์เดือนตุลา ผ่านงานวรรณกรรม” ที่ห้องประชุมตึกกิจกรรมชั้นสอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้ร่วมเสวนา เช่น จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา วิสา คัญทัพ  1 ใน 9 นักศึกษาที่ถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จนเกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ในวันที่ 21-22 มิ.ย.16 นำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากจอมพลถนอม กิตติขจร จนถูกจับเป็น 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 รวมทั้ง ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียน “กบฎวรรณกรรม” หนังสือรวม 10 บทวิเคราะห์ประวัติศาสตร์และการเมืองในวรรณกรรม ซึ่งรวมถึงขบวนการนิสิตนักศึกษาไทยในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ปี 2516-1519

00000

วรรณกรรมกับการเปลี่ยนแปลการเมืองและสังคม

จรัล ดิษฐาอภิชัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการเมืองและสังคมส่วนหนึ่งมาจากหนังสือ และหนังสือที่มีบทบาทมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นวรรณกรรม หนังสือประเภทศาตร์ต่างๆ ก็มีบทบาท แต่โดยทั่วไปจะเป็นงานประเภทวรรณกรรมมากกว่าที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของแต่ละประเทศ ก่อน 14 ต.ค.16 มีการเผยแพร่งานวรรณกรรมต่างๆ ที่พูดกันมากก่อน 14 ต.ค. นั้นคือหนังสือ “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ นอกจากนั้นก็มีหนังสืออย่าง “ชีวิตและความใฝ่ฝัน” ของ อุดม ศรีสุวรรณ และในปี 2515 มีคนพิมพ์หนังสือ เช เกวารา จึงเป็นที่สนใจ รวมทั้งมีการเผยแพร่บทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ การชุมนุมประท้วงคัดค้านคำสั่งคณะปฏิวัติที่ 299 ที่มีการชุมนุมข้ามคืนหน้าศาลฏีกา ก็มีคนเอาบทกวีของจิตร ไปอ่าน หลังจากนั้นมีการเอาบทกวีเก่าที่ตีพิมพ์ในยุค 2500 ที่เป็นยุคทองของวรรณกรรมไทยมาตีพิมพ์เผยแพร่ หนังสื่อเหล่านั้นก็มีบทบาทในการทำให้คนออกมาต่อสู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลา และหลังจากนั้นก็มีแรงบรรดาลใจมากมายในการเขียนหนังสือ มีวรรณกรรม นิยาย เรื่องสั้น กวี เพลงเพื่อชีวิต ทำให้การเปลี่ยนแปลงใหญ่จาก 14 ตุลา มันมีลักษณะที่สมบูรณ์หลายด้าน

2490-2500 ยุคทองของวรรณกรรมการเมือง

วัฒน์ วรรลยางกูร กล่าวว่า วรรณกรรมนั้นเรื่องมันเยอะ มันไม่ได้มีแค่ตอน 14 ตุลา มันมีตั้งแต่ เทียนวรรณ ในสมัย ร.5 ที่เขียนกลอนเรียกร้องระบบ Parliament หรือ รัฐสภา หรือก่อน 2475 จะมีวรรณกรรมที่สะท้อนความคิดของนักคิด เช่น “ละครแห่งชีวิต” ของ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ “สงครามชีวิต” ของ ศรีบูรพา เป็นงานที่ปูรากฐานความคิดประชาธิปไตยก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 และเมื่อมี 2475 ก็ยังมี “ผู้ชนะสิบทิศ” ซึ่งแก่นหลักของผู้ชนะสิบทิศคือ คุณเป็นใครก็ได้หากคุณเป็นคนที่มีสติปัญญามีวาสนาคุณก็สามารถสร้างตัวขึ้นมาเป็นใหญ่ได้ จากลูกคนปาดตาลชายแดน(จเด็จ)ก็สามารถสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นมหาราชได้ นั่นคือหลักแห่งความเสมอภาค ไม่เกี่ยวกับชาติกำเนิด หรือหลัง 2475 ก็มีนิยายอย่าง “แผลเก่า” ของไม้เมืองเดิม ที่ตัวละครที่เคยเป็นหางแถวของวรรณคดีศักดินาก็ขึ้นมาเป็นพระเอกนางเอง พูดจาอ้ายอีมึงกู

ยุคทองอีกยุคคือยุค 2490-2500 ทำให้เกิดวรรณคดี วรรณกรรมการเมืองที่ก้าวหน้า เช่น นิยาย “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ มีผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ปี 2499 มีเรื่องสั้นของ ลาว คำหอม ปี 2500 ก่อนรัฐประหาร คือเรื่อง “ไพร่ฟ้า” นักเขียนในยุคนั้นสืบทอดความคิดของคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มา คือความคิดเรื่องความเสมอภาค นี่คือเรื่อสั้นที่สร้างแรงบันดาลใจทางการเมืองในเวลาต่อมา

วรรณกรรมในฐานตัวส่งผ่านความคิด

ก่อนและหลัง 14 ตุลา 16 นั้นก็เกิดเปล่งประกายอีกครั้งหนึ่งของงานในยุค 2490-2500 เป็นการส่งผ่านความคิดขนาดมีการรัฐประหาร 2500 โดย สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กวาดจับนักคิด นักเขียนเหล่านั้นไปแล้ว ก็ยังสามารถกลับมาส่งผ่านความคิดผ่านงานวรรณกรรมในยุคก่อนหลัง 14 ตุลา 16 ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 บวกกับทฤษฏีโดมิโน ที่คอมมิวนิสต์เวียดนาม ลาว กัมพูชา ชนะ ดังนั้นชนชั้นสูงในไทยจึงเกิดความกลัว บวกกับนักศึกษาก็รับเอาความคิดในยุค 2490 มาอีก

วัฒน์เล่าว่าได้เขียน “ตำบลช่อมะกอก” ขึ้นนในปี 2518 ตอนนั้นทำงานอยู่กับหนังสือพิมพ์ “อธิปัตย์” ตนทำข่าวกรณีจับ 9 ชาวนาที่ลำพูน ตอนนั้นเป็นยุคนายกคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ แล้วก็มีการมาชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตนก็มาทำสกู๊ปและสัมภาษณ์ชาวนา โดยชาวนาให้สัมภาษณ์ไปร้องไห้ไปทำให้ตนเองที่เป็นลูกหลานชาวนาเกิดความสะเทือนใจอย่างรุนแรง จึงเขียนนิยาย เพื่อที่จะพูดได้มากๆ บวกกับวัตถุดิบที่ตนมีอยู่ในตัว เนื่องจากบ้านแม่บ้านตาทำนา ที่ปทุมธานี โดยเพื่อนของตาคนหนึ่งชื่อ “ตาแฉ่ง” มาเล่นหนังตะลุงกับตาตน ซึ่งเป็น “นายกองนา” ที่ทำหน้าที่เก็บค่าเช่านา ก็เก็บค่าเช่านาไปส่งให้เจ้านายในกรุงเทพที่เป็นลูกหลาน ร.5 ซึ่งได้ทุ่งรังสิตทั้งทุ่ง จากการที่ไทยต้องผลิตข้าวส่งออกประเทศ ร.5 จึงจ้าง บริษํทคูคลองคันนาสยาม รับสัมปทานขุดคลองเพื่อแปลงทุ่งนาที่เป็นป่ารกร้าง ให้เป็นทุ่งข้าว

ซึ่งตาแฉ่งก็เล่าว่าสมัยก่อน ตอนขุดคลอง ตรงไหนที่ขุดคลองไปแล้วคนที่ทำนาไล่แล้วไม่หนี บางที่ก็มีการเผาบ้าน เป็นการกระทำจากเจ้านายต่อไพร่ที่ไม่มีทางสู้ ดังนั้นฉากเหล่านี้จึงอยู่ในนิยายเรื่องตำบลช่อมะกอก เป็นนิยายที่อยู่ในหนังสือต้องห้าม 1 ใน 96 รายการ หลัง 6 ตุลา 19 ที่พิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์อธิปัตย์ แต่ตอนหลังมีการพิมพ์อีกครั้งปี 21 แต่ก็มีตัดบางท่อนออกไป

อีกเล่มที่ต้องห้ามหลังปี 19 นั้น คือรวมเรื่องสั้นและบทกวีกลั่นจากสายเลือดนั้นก็ไม่เข้าใจว่าต้องห้ามตรงไหน สุดท้ายไปเจอกลอนยาวๆตอนท้ายที่พูดเรื่องวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ที่พูดถึงบทบาทของไพร่ที่สร้างวังเวียงมา แต่เวลามีการบันทึกประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้บันทึกว่าไพร่เป็นผู้สร้าง เขียนเป็นภาษาเด็กจากการอ่านหนังสือโฉมหน้าศักดินาไทย จึงกลายเป็นหนังสือต้องห้ามสมัยหลัง 6 ตุลา 19 สมัยนั้นใครมีหนังสือเหล่านี้ไว้ในครอบครองนั้นก็จะถูกหาว่าเป็นภัยต่อสังคมไทย

 

วัฒน์ยังเปรียบเทียบกวี 14 ตุลา 16 กับ กวี หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ว่ากวีเดือน ก.ย.49 นั้น เป็นงานที่ทะลุทะลวงโครงสร้างสังคมมากกว่า เนื่อจากการตื่นตัวเรื่องเสรีภาพหลัง 14 ตุลา 16 นั้นเป็นการตื่นตัวชั่วคราว 1-3 ปี ก็โดนหยุดเสรีภาพ มายุคหลัง 19 ก.ย.49 นั้นมันทะลุทะลวง เพราะมีการเผยออกมาชัดเจน เปิดเผยให้สังคมไทย เห็นโครงสร้างอำนาจที่แท้จริงของสังคมไทย  

วัฒน์ กล่าวด้วยว่า หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหารอย่างเด็ดขาดงานรรณกรรมก็กลายเป็นยุคสายลมแสงแดด นิยายก็เป็นเรื่องบู๊ กับเรื่องพาฝัน ฝ่ายอำนาจเก่าให้ให้ความสำคัญกับเรื่องของแนวรบวรรณกรรมมาก เมื่อป่าใกล้จะแตกนั้น จึงมีรางวัลซีไรต์(S.E.A. Write) ซึ่งเป็นรางวัลที่ถูกควบคุมโดยอาจารย์ด้านอักษรศาสตร์ ที่รูปการจิตสำนึกนั้นไม่มีมาทางประชาธิปไตย

3 กระแสส่งผลให้นักศึกษาต้านทหาร

วิสา คัญทัพ กล่าวว่า ก่อน 14 ตุลา 16 นั้นมีการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มกิจกรรมที่เป็นกลุ่มอิสระ แม้ช่วงนั้นจะมีกลุ่มจัดตั้งโดยมหาลัย เช่น องค์การนักศึกษา สภานักศึกษา แต่ก็เป็นกลุ่มที่ไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากนัก สำหรับกิจกรรมฝ่ายก้าวหน้านั้นจะเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มอิสระ  เช่น สภาหน้าโดม  โซตัสใหม่ ฯลฯ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ  โดยที่กลุ่มอิสระพวกนี้จะขับเคลื่อนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทางการเมือง รวมทั้งการทำหนังสือ หนังสือที่ดุเดือดออกมากระทบเผด็จการสมัยนั้น เช่น “ภัยเขียว” เขียนต้านเผด็จการทหาร ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนของธรรมศาสตร์ก็มี “ภัยขาว” ต่อต้านสหรัฐอเมริกา รวมทั้งมีวรรณกรรมเพื่อชีวิต ออกมาหลังจากงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ออกมาโดยใช้นามปากกา"ทีปกร" ชื่อ “ศิลปเพื่อชีวิต” จึงนำมาซึ่งงานเขียนกวีงานศิลปะที่พูดถึงสังคมมากมาย และหากมองกระแสความคิดที่เกิดขึ้นส่งผลให้นักศึกษาเคลื่อนไหวเพื่อต้านทหารขณะนั้น ประกอบด้วย 3 กระแสด้วยกันคือ

1.     กระแสทางสากล ซึ่งยุคนั้นมีสงครามอินโดจีน มีกระแสต่อต้านจากกลุ่มนักศึกษาในตะวันตกด้วย ซึ่งเราก็รับอิทธิพลมาจาก บทเพลงต่างๆ ที่ใช้ประท้วงสงคราม

2.     กระแสที่มาพร้อมกับ อ.ปรีดี โดยยุคนั้นเป็นความลับมาก จะพูดเรื่อง อ.ปรีดี ลำบากมากเพราะจะถูกมองว่าพวกนั้นเป็นพวกที่จะรื้อฟื้นความคิด 2475 มาศึกษา

3.     กระแสที่มาพร้อมๆกัน เป็นกระแสการต่อสู้ในเขตป่าเขาของพรรคคอมมิวนิสต์ คือขบวนการต่อสู้ที่ต้องการเอกราชและประชาธิปไตยที่สมบุรณ์ จากจักรวรรดินิยม คนที่เด่น เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ นายผี กุหลาบ ฯลฯ เป็นยุคที่หนังสือเหล่านี้ถูกตีพิมพ์ซ้ำ

สามกระแสนี้ทำให้นักศึกษาปัญญาชนเกิดแนวคิดที่เราเรียกว่า “นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้า” และก่อนเกิดเหตุ 14 ตุลา 16 นั้นก็มีเหตุเครื่องบินตกที่ทุ่งใหญ่ และกระแสต่ออายุราชการของผู้นำเผด็จการทหาร จึงนำไปสู่กระแสความไม่พอใจต่างๆ

การผลิตซ้ำงานก็ส่วนหนึ่ง การผลิตใหม่ก็อีกส่วนหนึ่ง เช่น กวี รวี โดมพระจันทร์ ยุคนั้นคนที่เขียนกวีการเมืองมีไม่มาก แม้แต่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็ยังไม่ได้เขียน แต่สุจิตต์ วงษ์เทศ นั้นเริ่มเขียนเสียดสีสังคมแล้ว ซึ่งมาพร้อมกับกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว ทำวรรณกรรมเขียนเชิงตั้งคำถามสังคมว่าเมื่อเป็นนักศึกษาแล้วจะเอากระดาษใบเดียวหรือ? เป็นต้น

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ภาพจาก PITV แฟนเพจ 

วรรณกรรมในแง่ผู้อ่าน

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวว่าตนสนใจวรรณกรรมในแง่ผู้อ่าน ไม่ใช่ผู้สร้าง โดยที่ก่อน 14 ตุลา 16 พวกเราที่เข้ามหาลัย มันเริ่มมีแรงหรือพลังบางอย่างที่กระตุ้นให้เราเห็นว่ามันมีอะไรบางอย่างที่จะเกิดขึ้น เพราะสถานการณ์การเมืองมันเปลี่ยนแปลงไป หลายๆกระแส เช่น การผ่านการพัฒนทางเศรษฐกิจจากยุคสฤษดิ์ ที่เกิดช่องว่าความเหลื่อมล้ำจากการที่การเมืองก็ไม่มีเสรีภาพ สื่อมวลชนก็ไม่มีเสรีภาพ ดังนั้นจึงมีการเรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

คิดว่าแรงบรรดาลใจจากประสบการณ์การเมืองโดยตรงขณะนั้นมันไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เรียนรู้ความหมายทางการเมือง ผ่านงานเขียนและงานเขียนกลุ่มง่ายที่สุดที่จะเข้าใจก็ผ่านวรรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสั้น เช่น หนังสือเล่มละบาท ที่ขณะนั้นมีการพิมพ์หนังสือขายประตูท่าพระจันทร์ ซึ่งที่ได้ทั้งค่าเล่มและค่าโฆษณา เพื่อระดมเงินเอาไปทำกิจกรรม เป็นต้น เล่มที่ทำแล้วมีพลังคือ “ภัยขาว” ซึ่งขายดีมากและเป็นการเริ่มต้น เพราะคนที่สนใจก็เห็นว่ามันมีเวทีแสดงออก ผ่านหนังสือ เพราะสังคมไทยถูกปิดสมัยสฤษดิ์ เพราะฉะนั้น การที่คนถามหรือวิจารณ์เพียงแค่ตั้งคำถามกับความเป็นไปของบ้านเมือง แค่นั้นมันก็ทำให้คนรู้สึกว่ามันเป็นแสงสว่างรำไรขึ่นมา และก่อนปี 16 เริ่มมีการพูดคุยการเมืองมากขึ้น แล้วสื่อก็เริ่มมาทำข่าวบริเวณมหาลัย เช่น การประชุมสัมมนา ท่ามกลางบรรยากาศก่อน 14 ตุลา ที่มันสลัวๆ ที่บรรยากาศความคิดไม่เปิดเท่าไหร่

พลังของวรรณกรรมคือการไม่พูดทั้งหมด

ธเนศ กล่าวว่า สิ่งสำคัญของวรรณกรรมคือสามารถสื่อทางอ้อมได้ พลังของวรรณกรรมนั้นอยู่ที่การไม่พูดทั้งหมด แล้วที่เหลือปล่อยให้ผู้รับสารนำไปคิดเอาว่ามันคืออะไร เพราะถ้าเราบอกทั้งหมด ฟังแล้วก็จบเท่านั้น แต่เมื่อทำให้เนื้อหาต่างๆเสนอให้แต่ละคนสร้างจินตนาการขึ้นมาได้โดยการผู้โยงกับสังคมในเวลานั้นจึงทำให้เกิดพลัง เช่น การเอาภาพปรากกฏการณ์ของสังคมอื่นมาเสนอ ก็จะเปิดให้ผู้อ่านสามารถที่จะเอามาเทียบเคียงกับสังคมขณะนั้นได้ แม้ไม่ได้บอกโดยตรงก็ตาม

การตั้งวรรณกรรมเพื่อชีวิตขึ้นมา มันทำให้มีการจุดหมายนำเสนอที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้สังคมที่ดีขึ้น ผ่านการทำงานทางความคิด หลังจากการเกิด 14 ตุลา เราเข้าสู่อีกยุคสมัย เพราะยุคก่อน 14 ตุลา นั้นเราอยู่ในยุคที่เรียกว่าสายลมแสงแดด อุดมการณ์ทางการเมืองในวรรรกรรมนั้นไม่มี แต่หลัง 14 ตุลา เกิดงานเขียนอีกชุดหนึ่งขึ้นมา เป็นวรรณกรรมการเมือง วรรณกรรมที่มีอุดดมการณ์ทางการเมือง และเมื่อ นักศึกษาเข้าป่า อุดมการณ์ สังคมนิยมก็ยิ่งเอามาใช้ชัดเจนขึ้น วิธีการเขียน เนื้อเรื่อง จุดหมายก็ต่างกัน  

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือโจทย์ตอนนี้

ปัจจุบันทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ประสบความสำเร็จ ฝ่ายที่ล่าถอยนั้นก็เป็นฝ่ายสังคมนิยม ดังนั้นโจทย์ที่เป็นการต่อสู้ตอนนี้มันเป็นโจทย์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อย่างนอียิปต์ ที่เปลี่ยนแปลงจนถึงวันนี้อนาคตก็ยังไม่มีข่าวว่ากองทัพจะถอยง่ายๆ โดยสรุป อนาคตประชิปไตยอยู่บนเส้นด้าย เป็นอนาคตที่ต้องไม่ประมาท ไม่มีทางที่จะนอนใจว่าทุกอย่างเรียบร้อย ประวัติศาสตร์ในรอบ 200 ปีที่ผ่านมา การปฏิวัติที่เรียกว่าประชิปไตย ในโลก มี 2 ครั้งที่ประสบความสำเร็จคือที่ สหรัฐอเมริกา และต่อมาที่ฝรั่งศส ในปี 1789 นอกจากนั้นแล้วเมื่อหลุดจากยุโรปไปประเทศโลกที่ 3 ไม่มีที่ไหนที่เมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้วไม่ล้ม  ฝ่ายพลเรือนที่ได้ประชาธิปไตยมา แต่ฝ่ายพลเรือนอีกกลุ่มที่ไม่พอใจกับนโยบายที่เป็นอยู่ เนื่องจากทุกคนมีเรื่องที่ไม่พอใจทั้งนั้น คำถามคือพอใจไหมกับประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นฝ่ายการเมืองต้องคิดโจทย์อันใหม่ขึ้นมา โจทย์เก่าที่รัฐบาลขึ้นมาก็รักษาความมั่นคงอย่าเดียวนั้นคงไม่ได้

สื่อสมัยใหม่ทรงพลังมากกว่าวรรณกรรม

เยี่ยมยอด ศรีมันตะ มองว่าปัจจุบันสื่อสมัยใหม่มาแทนที่และทรงพลังมากกว่างานวรรณกรรม  

วิภา ดาวมณี สมาชิกองค์กรเลี้ยวซ้าย กล่าวว่าตอนเข้ามหาวิทยาลัยนั้นวรรณกรรมที่มีอิทธิพลต่อตนมากที่สุดคือ “ฉันจึงมาหาความหมาย” (หรือกลอง “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ของ วิทยากร เชียงกูล)

สิ่งทิ่ผิดหวังนั้น หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา  19 คนที่แนวสังคมนิยมถูกกวาดต้อนทำร้ายทำลาย แต่เมื่อเข้าป่าพรรคคอมมิวนิสต์แทนที่ให้การศึกษา กลับเป็นเป็นการชี้นำ ไม่ได้รับการยกระดับแนวคิด ดังนั้นแนวต่างๆจึงเจือจางและเมื่อคนไม่คิดว่าพรรคคอมฯ นั้นไม่สามารถปลดแอกได้จริง เพียงแต่ลอกแนวคิดมาจากเหมาเจ๋อตุง

แรงจูงใจมาจากกลุ่มศึกษามากกว่าหนังสือ

จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน เล่าว่า ตอนเข้าทำงานแรกๆนั้น พบเพื่อคนงานหลายคนที่อ่านหนังสือไม่ได้ เพราะคนงานเย็บผ้ายุคแรกๆเรียนเพียงแค่การตัดเย็บก็เข้าโรงงานแล้ว ดังนั้นสิ่งที่คนงานเรียนรู้ตอนนั้นก็มาจากการฟังวิทยุ จึงไม่มีโอกาสที่จะอ่านหนังสือได้ นิยายที่ฟังในวิทยุเหล่านั้นก็ไม่ได้หล่อหลอมให้คนลุกขึ้นสู้

ส่วนยุคปัจจุบันคนงานก็ไม่ได้อ่านวรรณกรรม เพราะต้องมุ่งเน้นการหารายได้ หนังสือพิมพ์ที่อ่านก็เป็นหนังสือพิมพ์หัวสีทั่วไป เช่น ไทยรัฐ คนงานไม่ค่อยได้มีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์ทางเลือก โดยเมื่อวันก่อนไทยรัฐพึงจะโปรยหัวว่า “16 สิ่งศักดิ์สิทธิที่ปกป้องสนามบินสวรรณภูมิ” ทำให้คนงมงายไปด้วย

จิตรา กล่าวด้วยว่าตนตนเองก็ไม่สามารถอ่านกวีบางอย่างให้เข้าใจได้ด้วย ดังนั้นเวลาอ่านวรรณกรรมนั้นเราก็ต้องดูด้วยว่าคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ งานที่ได้รับรางวัลหลายอย่างก็ไม่สามารถทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ จึงฝากคนที่ทำงานเรื่องสื่อเหล่านี้ก็ต้องนึกถึงสื่อที่คนจะเสพด้วย ต้องสื่อให้เขาได้เข้าใจด้วย หากคิดว่าคนส่วนใหญ่ชนชั้นล่างนั้นเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาแรงจูงใจในการต่อสู้ของตันเองนั้นมาจากกลุ่มศึกษามากกว่าหนังสือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net