สำรวจความเห็นผู้นำกรรมกร ว่าด้วยทำไมรัฐไทยต้องรับรองอนุสัญญา ILO 87,98

ชวนอ่านเหตุผลของผู้นำกรรมกรว่าทำไมรัฐไทยต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว รวมถึงร่วมเจรจาต่อรอง และความไม่เพียงพอแค่การรับรอง

นับตั้งแต่ไทยร่วมเป็นหนึ่งในประเทศก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 ประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO เพียง 14 ฉบับจากจำนวนทั้งสิ้น 185 ฉบับ และอนุสัญญาที่สำคัญกับการจัดตั้งสหภาพแรงงานอย่าง ฉบับที่ 87 ว่าด้วย เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วย การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง ก็ยังไม่ได้รับการรับรอง ซึ่งขบวนการแรงงานไทยมีการเรียกร้องมากว่า 21 ปีแล้ว ทั้งนี้รัฐบาลก่อนหน้าของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีนายสนั่น ขจรประศาสน์ ที่เป็นตัวแทนรัฐบาลมารับข้อเรียกร้องของคนงานในวันที่ 7 ต.ค.52 พร้อมรับปากว่าจะดำเนินการผลักดันการให้สัตยาบันภายใน 5 เดือน แต่ก็ไม่เป็นผลตามที่รับปากไว้

มาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขบวนการแรงงานมีข้อเรียกร้องหลักในวันกรรมกรสากลให้รัฐบาลรับรองทั้ง 2 ฉบับ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า โดยวันที่ 7 ต.ค.นี้ เป็นวันงานที่มีคุณค่า(Decent Work) คณะทำงานผลักดันนโยบายอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ที่นำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จัดชุมนุมค้างคืนเพื่อเรียกร้องให้เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการเรื่องการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ภายในเดือน พ.ค.57 โดยมีข้อตกลงที่ชัดเจนกับคนงาน (คลิกอ่านรายละเอียด) ด้วยเหตุนี้ประชาไทจึงรวบรวมความเห็นของผู้นำแรงงานบางส่วนจากการสัมภาษณ์โดยตรงและเวทีเสวนาเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อให้เห็นถึงมุมมองที่มีต่อการเคลื่อนไหวเพื่อรับรองอนุสัญญาฯ ทั้ง 2 ฉบับนี้

0000

ทวีป กาญจนวงศ์ : ภาพจาก PITV แฟนเพจ

สิทธิแรงงานต้องเป็นมาตรฐานสากลไม่ใช่แบบไทยๆ

ทวีป กาญจนวงศ์  ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวในงานเสวนา “ขบวนการกรรมกรกับ 14 ตุลา 2516 และอนาคตประชาธิปไตยไทย” ที่จัดโดยคณะกรรมการ14ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 25 ส.ค.56 ว่า “ประชาธิปไตย”สำหรับแรงงานนั้นจะพูดถึงสิทธิและเสรีภาพเป็นหลัก เรามีเสรีภาพในการสมาคม รวมตัวหรือยัง ขณะนี้รัฐบาลไทยยังไม่รับรองอนุสัญญา ILO 87, 98 ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเรียกร้องมานาน แต่ปัจจุบันการจัดตั้งสหภาพแรงานของเราอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ต้องมีการจดทะเบียน ดังนั้นการรวมกลุ่มของเราจึงยิ่งขาดการคุ้มครองอย่างเพียงพอ การเจรจาก็ถูกแทรกแซงของรัฐ เราต้องใช้มาตรฐานสากลไม่ใช่มาตรฐานไทยอย่างที่เป็นอยู่

จิตรา คชเดช

เสรีภาพในการรวมตัวเป็นไปได้อย่างเสรีปราศจากการเลือกปฏิบัติ

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่าเมื่อพูดถึงอนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 เป็นเรื่องที่ขบวนการสหภาพแรงงาน ตื่นเรียกร้องมาอย่างยาวนานตั้งแต่ ปี 2535 แต่ก็มีกระแสขึ้นๆลงๆ ตามสถานการณ์การเมืองไทย สถานการณ์องค์กรเงินทุนสนับสนุน สถานการณ์ขบวนการสหภาพแรงงานเป็นหลัก เพื่อให้รัฐบาลไทยในยุคต่างรับรอง อนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98

แต่ประเด็นหลักจริงๆในการเรียกร้องของนักสหภาพแรงงานในไทยมุ่งไปเรื่องเสรีภาพการรวมตัวมีสหภาพแรงงาน สิทธิเหล่านี้จะรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย และเสรีภาพในการเจรจาต่อรองเคารพสิทธิของผู้แทนเจรจาของลูกจ้าง แต่ถ้าจะตีความในเรื่องของ อนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 ให้สิทธิการรวมตัวของลูกจ้างรัฐด้วย และที่สำคัญคือเสรีภาพในเรื่องการรวมตัวนั้นเป็นไปได้อย่างเสรีปราศจากการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางด้าน เชื้อชาติ อาชีพ ศาสนา เพศ อายุ ความคิดเห็นทางการเมือง สีผิว ของเขาเหล่านั้น สิ่งเหล่าทำให้การมีองค์กรที่ไม่ต้องจดทะเบียนและสามารถเข้าไปสู่ความเชื่อทางการเมืองของคนงานได้อย่างเต็มที่ รัฐมีหน้าที่คุ้มครอง และต้องป้องกันการแทรกแซงองค์กรต่างๆของนายจ้างลูกจ้าง ซึงฝ่ายรัฐและนักสหภาพแรงงานที่ล้าหลังกังวลว่าจะมีการรวมตัวกันมากไปเป็นองค์กรเล็กองค์กรน้อยที่จะทำให้ควบคุมลำบาก ลูกจ้างรัฐรวมตัวจะทำให้มีผลกระทบเรื่องความมั่นคงของรัฐ แต่ถ้าเอาเรื่องประชาธิปไตยและเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญก็จะเป็นช่องทางให้คนงานมีโอกาสได้ต่อรองกับนายจ้างมากขึ้นและเรียนรู้การรวมตัวเป็นองค์กรใหญ่ และอาจจะนำไปสู่การมีพรรคการเมืองที่ใช้ความคิดความเชื่อได้อย่างอิสระโดยใช้หลักการของอนุสัญญา ILO ข้อ 87

กัมพูชา-พม่า ก็รับแล้ว

จิตรา กล่าวว่า แม้แต่ประเทศเพื่อบ้านใกล้เคียงเช่น กัมพูชาก็ได้รับรองทั้งสองข้อนี้แล้ว ในพม่าก็มีการรับรองไปหนึ่งข้อ แต่การรับรองอนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 สองข้อนี้ซึ่งเป็นข้อที่ดี มีประโยชน์มากสำหรับขบวนการแรงงาน คือหมายรวมถึงลูกจ้างรัฐ แรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ ที่จะทำให้เรื่องสิทธิการรวมตัว การเจรจาต่อรองทำได้ง่ายขึ้นในกลุ่มลูกจ้างที่มีองค์กรสหภาพแรงงานอยู่แล้วและเป็นองค์กรสหภาพแรงงานที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสหภาพแรงงาน สมาชิกมีการตื่นตัวและเข้าใจในเรื่องสหภาพแรงงาน และเรื่องสิทธิการรวมตัว

ต้องไม่เป็นแค่ตัวการันตีความชอบธรรมให้กับฝ่ายที่ประกาศใช้

“ถ้าการรับรองอนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 นั้นอยู่ภายใต้ คนยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิของตัวเอง ยังไม่มีสหภาพแรงงานที่เกิดขึ้นตามกฎหมายไทยก็เป็นเพียงการรับรองที่ไม่ได้เกิดประโยชน์จริงกับคนทั้งหมด เพราะไม่มีการนำมาหยิบใช้ เพราะฉะนั้นการทำงานรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลรับรองนั้น ฝ่ายนักสหภาพแรงงานเองก็ต้องเตรียมจัดตั้ง คนงานที่ยังไม่มีสหภาพแรงงาน เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด และควรจะหยิบใช้ข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นๆมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อขบวนการแรงงานอย่างแท้จริง” จิตรา กล่าว

เพราะในข้อตกลงระหว่างประเทศในหน่วยธุรกิจต่างๆ เช่นจรรยาบรรณทางการค้าของบรรษัทข้ามชาติบางที่ เช่น บริษัทไทรอัมพ์ ก็ใช้หลักปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 เช่นเดียวกัน เพื่อก้าวเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อการแข่งขันในเรื่องของการแสดงออกถึงการเป็นประเทศที่จะเป็นผู้นำในอาเซียน รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญา ILO ข้อ 87 และ 98 โดยเร็วที่สุด

“สิทธิต่างๆที่ได้มาจะให้เขียนดีขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่ผู้ที่นำไปใช้ไม่มีความรู้ความเข้าใจและคนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้เข้าใจกลไกเหล่านี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมี มันก็เป็นแค่ตัวการันตีความชอบธรรมให้กับฝ่ายที่ประกาศใช้เท่านั้นเอง” จิตรา กล่าว

มนัส โกศล : ภาพจาก voicelabour.org

กม.แรงงานสัมพันธ์ที่ให้สิทธิการรวมตัว-เจรจาต่อรองไม่เป็นธรรม

มนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) กล่าวในเวทีเสวนา หยุดละเมิดสิทธิแรงงาน ถึงเวลารัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILOฉบับที่ 87 และ 98 ที่จัดโดย คณะทำงานผลักดันนโยบายอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ 98 เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลชอบอ้างเสมอเรื่องสิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานไทยนั้นมีอยู่แล้ว โดยถูกกำหนดไว้ในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ให้สิทธิในการรวมตัว และเจรจาต่อรอง ทั้งที่กฎหมายนั้นเป็นการมีส่วนร่วมที่ไม่เป็นธรรมทั้งอำนาจการต่อรอง การรวมตัวที่มีข้อจำกัดในการที่จะมีการเปิดประชาคมอาเซียน 10 ประเทศที่จะถึงนี้  มี 3 ประเทศที่รับรองอนุสัญญาILOทั้ง 2 ฉบับแล้ว และอีก 6 ประเทศก็รับเป็นบางอนุสัญญา ซึ่งประเทศไทยที่ยังพิจารณาและยังไม่รับรองแม้แต่ฉบับเดียว

ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า การรับรองอนุสัญญาILO ทั้ง 2 ฉบับนั้นก็เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว เจรจาต่อรองร่วมโดยขั้นตอนการรวมตัวจะไม่ต้องมีการขึ้นตรงกับรัฐ เจ้าหน้าที่ไม่ต้องอนุญาต ใครก็สามารถรวมตัวกันได้ เพราะปัจจุบันต้องไปขอจดทะเบียนที่เจ้าหน้าที่รัฐ และก็ถูกเลิิกจ้าง สิ่งที่น่ากังวลคือเรื่องของกฎหมายลูกที่ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงว่า จะมารองรับสิทธิในการปฏิบัติ เพื่อให้กำหนดเรื่องสิทธิตามอนุสัญญาILO เช่น อินโดนีเซียที่มีปัญหาแม้รับรองอนุสัญญาแต่ไม่มีการออกกฎหมายลูกมารองรับทำให้ในทางปฏิบัติจึงยังไม่เป็นไปได้จริงตามเจตนารมณ์

เสน่ห์ หงษ์ทอง

ข้อจำกัดต่างๆในการจัดตั้งสหภาพฯ ที่มีในกฎหมายจะลดลง

เสน่ห์ หงษ์ทอง คณะทำงานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เตรียมงาน รณรงค์ ILO 87 ,98 ในช่วงวันที่ 7 - 8 ตุลานี้ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO 87 ,98 จะต้องแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้งสองฉบับ ผลที่น่าจะเกิดประโยชน์กับคนงานก็คือข้อจำกัดต่างๆที่มีในกฎหมายและข้อบังคับใช้อยู่ก็ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิการรวมตัวการจัดตั้งสหภาพแรงงานเราไม่ต้องมีกฎหมายควบคุมเราจะร่วมกับใครจัดตั้งแบบไหนก็เป็นสิทธิของคนงานซึ่งปัจจุบันเราต้องไปขอจดแจ้งให้กระทรวงแรงงานรับผิดชอบออกทะเบียนสหภาพแรงงานซึ่งไม่มีความเป็นอิสระตามหลักอนุสัญญา  ILO 87  สำหรับเรื่องการเจรจาต่อรองตาม อนุสัญญา ILO 98 เช่นกันเมื่อมีการเจรจา จะต้องไม่มีการแซกแซงจากรัฐ

“วันนี้คนงานเจรจาต่อรอง นัดหยุดงานภายใต้กฎหมายที่คนงานเสียเปรียบ นัดหยุดงานนายจ้างสามารถให้ใครมาทำงานแทนก็ได้ และยังเลิกจ้างคนงานในระหว่างมีการยื่นข้อเรียกร้อง รวมไปถึงการใช้อำนาจทางศาลมากกว่าที่จะให้กระบวนการเจรจาเป็นไปตามกลไกระบบแรงงานสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้าง” เสน่ห์ กล่าว

ศรีไพร นนทรี

สำคัญต่อคนงานทุกสาขาอาชีพทุกเชื้อชาติ

ศรีไพร นนทรี ฝ่ายการศึกษาและประชาสัมพันธ์กลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มย่านและใกล้เคียง(กสรก.) กล่าวว่า “อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับสำคัญต่อคนงานทุกสาขาอาชีพมาก แม้ว่าทุกวันนี้ถึงจะมีการตั้งสหภาพแรงงานได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนก็ตาม แต่สหภาพแรงงานก็อ่อนแอ และล้มง่ายกว่าในอดีต อาจเป็นเพราะการถูกย่ำยี่จากเผด็จการทุกครั้งที่ทำรัฐประหาร ไหนจะลูกจ้างที่อยู่ในส่วนราชการ คนงานตามบ้าน ตามภาคเกษตร ที่กฎหมายแรงงานเข้าดูแลไม่ทั่วถึง แรงงานข้ามชาติที่ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ยังไม่ให้สิทธิการรวมตัว เท่ากับแรงงานไทย จึงส่งผลให้เป็นอุปต่อการรวมตัว และการต่อรองเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นและมีช่องว่างระหว่างคนงานด้วยกันเองให้น้อยลง วันหนึ่งเผด็จการอาจกลับมาอีก กฎหมายแรงงานอาจถูกย่ำยีครั้งแล้วครั้งเล่า แต่อนุสัญญาฯ ไม่ใช่กฎหมายในประเทศที่โจรเหล่านั้นจะมาเปลี่ยนได้ จึงเป็นหลักประกันชั้นสองที่คอยคุ้มครองคนงานมากขึ้นในการพูดถึงสิทธิและต่อรอง ดังนั้นการที่คนงานออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จึงเป็นเรื่องปกติ และรัฐบาลควรยอมรับอนุสัญญาดังกล่าว เพื่อเป็นการพัฒนาประเทศไปอีกขั้นระดับหนึ่ง”

บุญยืน สุขใหม่

ปัญหาไม่ใช่ ‘การรับรอง’ แต่เป็น ‘กลไกบังคับ’ รัฐภาคีปฏิบัติตาม

บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ตั้งคำถามกับการรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 ว่า “หลังจากรับรองแล้วหลังจากนั้นขบวนการแรงงานหรือผู้นำแรงงานไทยจะทำอย่างไรต่อไป เพราะประเด็นหลัก ณ วันนี้ผมมองว่าเนื้อหาหลักไม่ใช่อยู่ที่การให้การรับรองหรือไม่ให้การรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 แล้ว แต่ที่สำคัญคือกลไกหรือเครื่องมือที่จะให้รัฐไทยหรือรัฐภาคี ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ว่าไว้ในอนุสัญญา ILO มากกว่า เพราะที่ผ่านมาปัญหาที่ขบวนการแรงงานไทยพบ และเผชิญมาโดยตลอดก็คือปัญหาการที่บริษัทข้ามชาติได้เข้ามากดขี่ขูดรีด และเอาเปรียบแรงงานไทย ทั้งที่ประเทศส่งออกทุนเหล่านั้นก็ให้การรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 อยู่แล้ว และก็มีกลไกอื่นๆ ที่ประเทศส่งออกทุนได้ให้สัตญาบัญไว้กับองค์กรแรงงานสากลว่าจะไม่ละเมิดหลักการในอนุสัญญา ILO 87,98 อยู่แล้ว แต่ที่เราพบเห็นมันกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม อนุสัญญา อนุสัญญา ILO 87,98 เป็นอนุสัญญาหลักที่ทุกประเทศที่เป็นรัฐภาคีในองค์การสหประชาชาติถึงแม้จะไม่ให้การรับรองแต่ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว เพราะเป็นอนุสัญญาหลักพื้นฐานที่ทุกรัฐภาคีของสหประชาชาติต้องปฏิบัติตาม” 

ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและกัมพูชา ก็รับรอง แต่ยังมีการละเมิดแรงงาน

บุญยืนมองด้วยว่า จะพูดเพียงประเด็นการให้การรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 อย่างเดียวคงยังไม่เพียงพอ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นเพื่อนบ้านเราไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและกัมพูชา ก็ให้การรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 แต่การกดขี่ขูดรีดแรงงานก็ไม่หายไปผู้นำแรงงานยังถูกอุ้มหายไปในค่ายทหารให้เห็นตลอดมาจนปัจจุบัน ดังนั้นนอกจากจะผลักดันให้รัฐให้การรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 ขบวนการแรงงานไทยต้องสร้างความเข้มแข็งขึ้นให้ได้ด้วยตัวของแรงงานเองเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองให้กับตนเอง และที่สำคัญอีกประการคือ “รัฐ” ในที่นี้หมายถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานต้องทำความเข้าใจในบทบาทของลูกจ้างในการที่จะใช้สิทธิที่ถูกรับรองในอนุสัญญา ILO 87,98 อย่างชัดแจ้งด้วย และองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการก็คือประเทศที่ส่งออกทุนที่มาลงทุนในประเทศไทย ต้องเคารพในกฎกติกาที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญา ILO 87,98 อย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นจะเป็นแค่ตัวหนังสือที่ถูกเขียนอยู่บนกระดาษแต่ไม่มีความหมายแต่อย่างใด

“ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการให้การรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 แต่ต้องการเห็นว่าเมื่อมีการรับรองแล้วมันต้องมีกลไกมีเครื่องมือหรือสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อขบวนการแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยในอนาคตเมื่อเปิดเสรีอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ใช้เป็นแค่ข้ออ้างหรือตรายางให้กับใครคนใดคนหนึ่ง หรือหนว่ยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ” บุญยืน กล่าวย้ำ

 เซีย จำปาทอง

หากไมรับรองมิเช่นนั้นก็ไม้ต่างจากรัฐบาลเผด็จการที่ผ่านๆมา

เซีย จำปาทอง ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย(สพท.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อปี  พ.ศ.  2462  การส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิแห่งมนุษยชน  เป็นหนึ่งในสามข้อที่ที่ ILO ได้จัดลำดับความสำคัญรีบด่วน เพื่อช่วยในการออกกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน และอุตสาหกรรมสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับนายจ้าง สนับสนุนองค์การของผู้ใช้แรงงาน ได้กำหนดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับแรงงาน ซึ่งช่วยในการสร้างเสริมประชาธิปไตยและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย  ควรให้การรับรองอนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้  เพราะเป็นการให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนในการรวมตัว การคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง  โดยเฉพาะรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ  ซึ่งได้กล่าวอ้างมาโดยตลอดว่าพรรคต่อต้านระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ และส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  ดังนั้นแล้วรัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาทั้งสองฉบับอย่างเร่งด่วนและปฏิเสธมิได้  มิเช่นนั้นแล้วรัฐบาลชุดนี้ก็คงมิได้แตกต่างจากรัฐบาลเผด็จการที่ผ่านๆมา” เซีย กล่าว

ILO 87 & 98 

โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย อธิบายองค์ประกอบของอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ว่า อนุสัญญาฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว มีสาระสำคัญ 3 ประการที่เมื่อให้สัตยาบันแล้วจะทำให้กระบวนการสหภาพแรงงานเติบโตอย่างมาก คือ
1. คนงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ
2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ ที่จะจำกัดสิทธิในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง
3. องค์กร (สหภาพแรงงาน) มีเสรีภาพในการเข้าร่วมองค์กรใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเสรี
 
สำหรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง มีเนื้อหาหลักคือ
1. คุ้มครองลูกจ้างจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
2. องค์กรลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการแทรกแซงระหว่างกันทั้งในการก่อตั้ง การปฏิบัติ และการบริหาร และการมุ่งสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรของคนงานให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง
3. ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกลไกการเจรจาโดยสมัครใจทั้งนายจ้างหรือองค์กร นายจ้าง กับองค์กรคนงาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท