Skip to main content
sharethis

อวัตถุศึกษากับอธิปสัปดาห์นี้นำเสนอข่าวงานวิจัยใหม่จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ชี้การปราบปรามผู้ละเมิดลิขสิทธิ์โดยรัฐไม่ได้ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์, เว็บไซต์ Popular Science ปิดช่องคอมเมนต์ท้ายข่าวแล้ว

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

 

24-19-2013

ช่อง Comedy Central ฉลองครบรอบ 17 ปีของ South Park ด้วยการสตรีมตอนเก่าๆ รวม 234 ตอนจาก 16 ซีซั่นต่อเนื่องไม่หยุดเป็นเวลา 5 วัน ให้ดูฟรีออนไลน์โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2013

ทั้งนี้จริงๆ แล้วตอนเก่าๆ ของ South Park ก็สามารถดูได้ฟรีออนไลน์อยู่แล้วบางตอน

ผู้สนใจสามารถมีส่วนร่วมกับการสตรีมระดับมาราธอนครั้งนี้ได้ที่ http://www.southparkstudios.com/events/spmarathon/live.html

อย่างไรก็ดี น่าจะมีการจำกัดพื้นที่ของผู้ที่ร่วมดูได้เพราะในไทยอาจไม่สามารถดูการฉายมาราธอนออนไลน์ครั้งนี้ได้

News Source: http://gigaom.com/2013/09/23/south-parks-95-hour-long-online-marathon-pays-tribute-to-shows-legacy/

 

25-09-2013

เว็บไซต์ Popular Science ปิดช่อง "คอมเมนต์" ในข่าวแล้ว

ในที่สุดเว็บของนิตยสารวิทยาศาสตร์อายุกว่า 140 ปีนี้ก็ไม่ต้องการจะต้องวุ่นวายกับการแสดงความคิดเห็นที่ "เกรียน" ไปจนถึง "แสปม" ทั้งหลายอีกต่อไป จึงตัดปัญหาด้วยการปิดการแสดงความเห็นในช่องทางเว็บ

ซึ่งส่งผลให้เกิดคำวิจารณ์มากมายว่าการปิดการรับ "คำวิจารณ์" แบบนี้สมควรหรือไม่สำหรับเว็บข่าววิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ดี Popular Science ก็ไม่ใช่เว็บแรกที่จัดการกับปัญหาที่เว็บแทบทุกเว็บก็ประสบร่วมกันด้วยการตัดปัญหาแบบนี้

News Source: http://www.popsci.com/science/article/2013-09/why-were-shutting-our-comments?dom=PSC&loc=recent&lnk=3&con=why-were-shutting-off-our-comments-, http://paidcontent.org/2013/09/24/if-popular-science-cares-about-science-why-not-try-to-fix-comments-instead-of-killing-them/

 

26-09-2013

ผลอุทธรณ์ของ Gottfrid Svartholm หนึ่งในผู้ก่อตั้ง The Pirate Bay คือการลดโทษลงในคุกสวีเดน  แต่เขาต้องโดนส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีต่ออีก

หลังจากอุทธรณ์ว่าเขาอาจถูก "ยัด" หลักฐานในการเอาผิดมาในคอมพิวเตอร์ Gottfrid ก็พ้นผิดคดี "แฮ็ค" ไป 1 ข้อหาในการแฮ็คธนาคาร แต่ยังคงมีความผิดอีก 1 ข้อหาในการแฮ็คบริษัทไอทีซึ่งทำงานร่วมกับสำนักงานภาษีของสวีเดน ซึ่งผลคือโทษของเขาลดจาก 2 ปี เหลือ 1 ปี

อย่างไรก็ดี เขากำลังจะถูกส่งไปดำเนินคดีที่เดนมาร์คพร้อมกับชายอีกคนซึ่งทั้งคู่เป็นผู้ต้องสงสัยในการแฮ็คข้อมูลการขับขี่และเลขทะเบียนสวัสดิการสังคมของชาวเดนมาร์ค

News Source: http://torrentfreak.com/pirate-bay-founder-hacking-sentence-slashed-in-half-on-appeal-130925/

 

01-10-2013

BitTorrent Inc. จะออก "แอปป์" แชท "ไร้เซิร์ฟเวอร์" เพื่อป้องกันการสอดส่องของรัฐ

ในยุคที่ความเป็นส่วนตัวเริ่มถูกรัฐคุกคามอย่างเด่นชัด หลายบริษัทก็เริ่มนำความเป็นส่วนตัวมาแปลงให้เป็นสินค้า

ทาง BitTorrent Inc. เจ้าของโปรแกรม BitTorrent และ uTorrent อันลือชื่อก็ได้มาร่วมวงนำเสนอความเป็นส่วนตัวด้วยการเสนอโปรแกรมคือ "แอปป์" (app) ที่ใช้สำหรับการส่งข้อความสนทนาทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกกันว่า "แชท"

โดยแอปป์นี้จะทำงานคล้าย BitTorrent คือจะไม่มีการเก็บข้อมูลไว้ที่เซิร์ฟเวอร์กลาง แต่จะทำให้คู่สนทนาส่งข้อมูลถึงกันผ่านแทร็คเกอร์ ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ไม่มีการกองข้อมูลไว้ที่ส่วนกลางที่จะทำให้ง่ายต่อการค้นและขอข้อมูลโดยรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง The Pirate Bay อย่าง Peter Sunde ก็ได้ริเริ่มทำแอปป์แชทป้องกันการสอดส่องอย่าง Hemlis มาแล้ว โดยกลไกการป้องกันการสอดส่องจะเป็นการเข้ารหัสทั้งต้นทางและปลายทางสาร ซึ่งจะทำให้ทั้งเจ้าของแอปป์ ทางผู้ให้บริการเครือข่าย ไปจนถึงรัฐบาลไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในการสนทนาได้ (ติดตามได้ที่ https://heml.is )

News Source: http://torrentfreak.com/bittorrent-launches-nsa-proof-messenger-app-130930/

 

องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์การแสดงดนตรีสาธารณะของนิวซีแลนด์ 2 องค์กรได้รวมกันสร้างสำนักงานเพื่อ "ให้บริการจุดเดียวจบ" ในการออกใบอนุญาตในการแสดงดนตรีต่อสาธารณะ

โดยพื้นฐานแล้วในหลายๆ พื้นที่ในโลกที่แม้จะมีองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์การแสดง "บทประพันธ์" ดนตรีสาธารณะให้นักแต่งเพลงเพียงองค์กรเดียว (ในไทยเคยมีกว่า 30 องค์กร แต่ตอนนี้ลดลงเหลือ 15 องค์กร ซึ่งก็ยังมากอยู่ดี) แต่ส่วนของลิขสิทธิ์ใน "งานบันทึกเสียง" ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องการใบอนุญาตก่อนการนำแสดงต่อสาธารณะ

กล่าวคือการเปิดเพลงในที่สาธารณะทั้งหมดนั้นต้องการใบอนุญาตจากทั้งผู้ประพันธ์เพลง และนักดนตรีที่บันทึกเสียง (หรือเจ้าของลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียง ซึ่งในกรณีเพลงดังๆ ทั้งหลายมักจะเป็นค่ายเพลง) การได้ใบอนุญาตจากเพียงองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ตามจารีตนั้นไม่ได้ทำให้การเปิดเพลงในที่สาธารณะถูกต้องตามลิขสิทธิ์ เพราะตัวงานบันทึกเสียงดนตรีก็ต้องการใบอนุญาตต่างหาก

การต้องขอใบอนุญาต 2 ใบนี่ก็สร้างความเวียนหัวและงุนงงให้ผู้ใช้จำนวนมากแม้ในภาคธุรกิจเอง ซึ่งในอเมริกาก็ยังใช้ระบบนี้อยู่ และจริงๆ ในโลกนี้ก็ใช้ระบบ 2 ใบอนุญาตทั้งนั้น

แต่ทางนิวซีแลนด์ก็ได้มีโครงการริเริ่มใหม่ที่จะตั้งสำนักงานที่จะสามารถซื้อใบอนุญาต "ใบเดียวจบ" เลย ไม่ต้องมาไล่ซื้อทั้ง 2 ใบจากคนละองค์กร โดยสององค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ของนิวซีแลนด์จะตั้งองค์กรชื่อ OneMusic (ดูได้ที่ https://www.onemusicnz.com/ ) ขึ้นมาเป็นจุดที่ให้บริการทีเดียวจบไม่ว่าจะต้องการใบอนุญาตไปเพื่อเปิดในร้านอาหาร เปิดวิทยุ เอาไปใส่รายการโทรทัศน์ หรือกระทั่งเอาไปบันทึกเสียงคัฟเวอร์

นี่ก็เป็นการจัดการลิขสิทธิ์ที่น่าสนใจที่จะทำให้การชำระค่าลิขสิทธิ์เป็นไปได้อย่างสะดวกขึ้นกว่าระบบที่เป็นอยู่ที่การต้องไปตามหาและตามขอเจ้าของลิขสิทธิ์ทุกครั้งเป็นการสร้างต้นทุนธุรกรรมไม่น้อยเลย

News Source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130930newzealand

 

05-10-2013

นักวิชาการจาก London School of Economics ชี้ว่าการ "โหลด" ไฟล์แบบสำเนาเถื่อนทั้งหลายไม่ได้ทำลายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดังที่ทางอุตสาหกรรมกล่าวอ้าง

รายงานของกลุ่มนักวิชาการจาก London School of Economics ชี้แบบเดียวกับผู้ที่ศึกษาและติดตามผลกระทบขอบการทำสำเนาเถื่อนอกภาคธุรกิจ โดยชี้ว่า

1. อุตสาหกรรมเดียวที่ได้รับผลกระทบในทางลบจากการทำสำเนาเถื่อนออนไลน์ คืออุตสาหกรรมดนตรีในส่วนอุตสาหกรรมบันทึกเสียง (Recording Industry) ซึ่งอุตสาหกรรมดนตรีในส่วนของอุตสาหกรรมดนตรีสด (Live Music Industry) และอุตสาหกรรมเก็บค่าเช่าลิขสิทธิ์ (Music Publishing Industry) นั้นนอกจากจะไม่ได้ซบเซาแล้ว ยังเติบโตได้ดีทั้งคู่ด้วย ซึ่งพอหักลบกับความซบเซาของอุตสาหกรรมบันทึกเสียงแล้ว ก็จะพอว่าอุตสาหกรรมดนตรีในภาพรวมไม่ได้มีรายได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

2. อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นอกอุตสาหกรรมดนตรีนั้นแทบจะไม่พบความเสียหายทางธุรกิจใดๆ ที่เกิดจากการทำสำเนาเถื่อนออนไลน์ ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมเกม และอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ในทางตรงข้าม อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ยังโตวันโตคืนในสิ่งแวดล้อมดิจิทัล

3. ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนใดๆ ว่ามาตรการปราบปรามผู้ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นรายบุคคลโดยรัฐ (เช่น HATOPI ในฝรั่งเศส) จะส่งผลที่ดีใดๆ ต่อภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การสรุปว่ามาตรการพวกนี้ได้ผลเป็นเพียงการเล่นข้อมูลแบบด่วนสรุปเพื่อล็อบบี้นโยบายรัฐของทางอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์

ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อเบรคและปรามการบังคับใช้กฎหมาย Digital Economy Act 2010 ของอังกฤษที่แม้จะเป็นกฎหมายที่ผ่านมาแล้ว แต่ยังไม่มีการบังคับใช้อย่างเต็มที่ และมีการพิจารณามาตรการต่างๆ ในกฎหมายอยู่

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www.lse.ac.uk//media@lse/documents/MPP/LSE-MPP-Policy-Brief-9-Copyright-and-Creation.pdf

News Source: http://www.slashgear.com/london-school-of-economics-analysts-piracy-is-good-for-business-05300355/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net