"พรีม่าโกลด์" แจ้งสาวชูป้ายด่านายกฯแสดงความรับผิดชอบลาออกแล้ว หลังถูกล่าแม่มด

เฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ ‘Prima Gold’ แจ้งพนักงานสาวชูป้ายด่านายกฯ ลาออกแล้ว หลังถูกไล่เสียบประจาน ‘สมศักดิ์-เกษียร-จิตรา’ วิจารณ์ล่าแม่มด ชี้เป็นความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับองค์กร ระบุเป็นวิธีการแบบฟัสซิสต์

ภาพหญิงคนดังกล่าวพร้อมข้อความที่ถูกเผยแพร่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก

วันนี้(16 ต.ค.)เวลา 15.48 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ ‘Prima Gold’ ของบริษัท พรีม่าโกลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หนึ่งในเครือบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงแฟนเพจหลังจากมีการตั้งคำถามกรณีมีภาพสาวที่ถูกอ้างว่าเป็นพนักงานของบริษัทนี้ถือป้ายด่า ‘ยิ่งลักษณ์’ ในที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ว่า “ทางบริษัทฯ ได้ทำการพิจารณาหาข้อยุติ โดยพนักงานท่านนี้จะขอแสดงความรับผิดชอบ โดยการลาออกเพื่อไม่ให้การแสดงออกส่วนตัวทางการเมืองเกิดผลกระทบต่อองค์กร”

ก่อนหน้านี้ผู้หญิงถือป้ายดังกล่าวถูกผู้สนับสนุนรัฐบาลในโซเชียลเน็ตเวิร์กนำมาล่าแม่มดเสียบประจานพร้อมข้อมูลส่วนตัวโดยเฉพาะสถานที่ทำงาน รวมไปถึงการตัดต่อข้อความบนป้ายในลักษณะเป็นการประกาศขายบริการทางเพศ พร้อมทั้งมีการเข้าไปโพสต์ในเพจ ‘Prima Gold’ เรียกร้องให้ดำเนินการกับพนักงานคนด้งกล่าว แต่เมื่อเพจดังกล่าวชี้แจงว่าพนักงานคนดังกล่าวลาออกแล้ว ก็มีคนอีกกลุ่มเข้าไปแสดงความไม่เห็นด้วยกับการลาออก รวมถึงให้กำลังใจพนักงานคนดังกล่าวด้วย

 

‘สมศักดิ์’ วิจารณ์การล่าแม่มด เป็นวิธีฟัสซิสต์

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีการเสียบประจานพนักงานสาวนี้ด้วยว่า “การเอาทัศนะทางการเมืองของใคร (โดยที่การแสดงทัศนะนั้นของเขา ไม่ได้ทำในนามองค์กร) มาเล่นงานที่อาชีพการงานส่วนตัวของเขา เป็นลักษณะสำคัญของยุคสมัยและวิธีการรณรงค์ที่เรียกว่า "แม็คคาธี่อิสม์" ใน ปวศ อเมริกัน ที่ใช้ทัศนะการเมืองของดารา นักเขียน จำนวนมาก มาบีบให้เขาตกงาน (เรียกว่าถูกขึ้น "แบล็คลิสต์")

“นี่เป็นวิธีการแบบฟัสซิสต์ ที่เราเห็น ฝ่ายเหลือง ทำกัน (บีบไม่ให้มหาวิทยาลัย รับ "ก้านธูป" หรือการกดดันจะให้มหาลัย หรือที่ทำงานไล่ นศ. หรือ พนังงานที่ "ล้มเจ้า" ออก) ก็นับว่า "ประหลาด" ดีที่เสื้อแดงหลายคน (แม้แต่คนที่มีการศึกษาและอาชีพการงานสูง คือไม่ใช่เสื้อแดง "ระดับชาวบ้าน" อะไร) ที่อ้างเสมอว่า "เป็นฝ่ายประชาธิปไตย" กลับนิยมชมชอบวิธีการแบบฟัสซิสต์แบบนี้ หรือมาแก้ตัวน้ำขุ่นๆ ให้กับวิธีฟัสซิสต์ แบบนี้

“การยืนยันว่าวิธีการแบบนี้ผิด ไม่เกี่ยวกับ "มองโลกสวย" อะไร แค่ยืนยันว่า ไม่ต้องการใช้วิธีการแบบฟัสซิสต์ แต่ปากว่าตาขยิบว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย” สมศักดิ์ กล่าว ซึ่งเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์สนับสนุนความเห็นของสมศักดิ์ด้วยเช่นกัน

 

จิตรา ชี้ขายแรง 8 ชม.ไม่ได้ขายวิญญาณ ทำไมจะแสดงออกทางการเมืองไม่ได้

เช่นเดียวกับ จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ที่เคยถูกเลิกจ้างจากกรณีสวมเสื้อ “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” ออกโทรทัศน์ ซึ่งในครั้งนั้นสมาชิกสหภาพแรงงานดังกล่าวได้นัดหยุดงาน 45 วัน เพื่อเรียกร้องในบริษัทรับจิตรา ในฐานะประธานสหภาพฯ ขณะนั้นกลับเข้าทำงานด้วย ซึ่งจิตรา โพสต์แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ด้วยว่า “บริษัทไหนห้ามพนักงานแสดงออกทางการเมือง มันเผด็จการชัดๆ มันต้องประจานบริษัทแบบนี้มากกว่า”

“เราขายแรงแค่วันละ 8 ชั่วโมง ไม่ได้ขายจิตวิญญาณความเป็นคนของเราให้ไปด้วย ทำไมจะแสดงออกทางการเมืองไม่ได้ ถึงแม้นการแสดงออกนั้นไม่เหมาะสมในสายตาของคนส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นสิทธิที่เขาจะทำได้ถ้าไม่ไปละเมิดสิทธิของใคร แต่ถ้าละเมิดก็มีขั้นตอนทางกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟเห็นพูดกันจังเวลาด่าคนอื่น” จิตรา กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้การถูกเสียบประจาน หรือล่าแม่มดออนไลน์นั้น มักเกิดกับฝั่งที่มีความคิดเห็นต่างจากกรอบความคิดหลักของสังคม โดยเฉพาะประเด็นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเริ่มปรากฏมากขึ้นเมื่อเกิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม Social Sanction: SS (facebook.com/SocialSanction) ในปี 53 เป็นผลมาจากสถานการณ์การเมืองในช่วงนั้นมีความตึงเครียด ลักษณะการล่าแม่มดจะเป็นการนำเอาข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อจริง ที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน ช่องทางติดต่อของเป้าหมายซึ่งมักไม่ใช่บุคคลสาธารณะแต่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหรือถูกกล่าวหาว่าละเมิดสถาบันกษัตริย์มาเผยแพร่ เพื่อให้แฟนเพจกดดันหรือประณาม แต่ก็มีการเสียบประจานกลับจากฝ่ายผู้ถูกล่าหรือผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเพจ SS โดยการกล่าวหาว่าใครเป็นแอดมินเพจ SS เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเช่นนี้กระจายไปถึงประเด็นอื่นๆ เช่น การปกป้องรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ รวมมาถึงเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลเพื่อไทยก็เสียบประจานผู้ที่เห็นต่างหรือด่าทอรัฐบาล รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลด้วย เช่น กรณี แอร์โฮสเตสสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิก โพสต์ในเฟซบุ๊กแสดงความไม่พอใจเมื่อพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บนเครื่องบิน เพราะไม่พอใจที่การชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ต้องเลิกไปในเวลาอันรวดเร็วเมื่อวันที่ 24 พ.ย.55 หลังจากนั้นเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากมองว่ามีการนำเอาข้อมูลการเดินทางของ น.ส.แพทองธาร บางส่วน มาเผยแพร่ด้วย ทำให้มีผู้เรียกร้องให้ปลดแอร์ฯ คนดังกล่าว เนื่องจากเปิดเผยข้อมูลลูกค้า และในเวลาต่อมาแอร์ฯ คนดังกล่าวได้ลาออกจากสายการบินคาเธ่ย์ฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท