Skip to main content
sharethis

กลุ่มญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์ 53 นำโดยนางพะเยาว์และนายพันศักดิ์ แถลงข่าวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯหลังผ่าน กมธ. แก้ไขนิรโทษกรรมครอบคลุมทุกฝ่าย ยกเว้น 112 จี้นิรโทษประชาชนอย่างเดียว หรือไม่ก็ให้สิทธิประกันตัว อย่าสานต่อวัฒนธรรมผู้สั่งการไม่ต้องรับผิด 

21 ตุลาคม 2556 กลุ่มผู้สูญเสียในเหตุการณ์ปี 2553 จัดการแถลงข่าวเกี่ยวกับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ในวาระการพิจารณาของ กมธ. และมีมติแก้ไขมาตรา 3 ให้การนิรโทษครอบคลุมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นมาตรา 112
 
นางพะเยาว์ อัคฮาด ประธานกลุ่มญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมือง พ.ศ. 2553 อ่านแถลงการณ์ว่า ตามที่คณะกมธ. มีมติแก้ไขเนื้อหาในมาตรา 3 ของร่างเดิมที่นายวรชัย เหมะ เสนอ ซึ่งจะส่งผลให้นิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ผู้สั่งการ ทหาร รวมถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้น หรือเป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งนั้น กลุ่มญาติฯ เห็นว่า เป็นที่ชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นกมธ.เสียงข้างมากมีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อแลกกับการไม่เอาผิดในการกระทำของทหาร การแก้ไขมาตรา 3 แสดงให้สังคมเห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่เคยฟังเสียงประชาชน โดยเฉพาะญาติผู้เสียหาย
 
ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีกลับแสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแม้จะเป็นเทคนิคทางการเมือง แต่ก็เป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ผูกมัดทางการเมือง
 
แถลงการณ์ของกลุ่มญาติฯ มีข้อเสนอต่อรัฐบาลซึ่งมีรัฐบาลเพื่อไทยเป็นเสียงข้างมากว่า 1) ต้องการให้รัฐบาลเพื่อไทยต้องฟังเสียงประชาชน ให้ผู้กระทำผิดเข้าสู่การพิจารณาคดี 2) รัฐบาลเพื่อไทยต้องเร่งรัดนโยบายให้นักโทษการเมืองได้รับการประกันตัว 3) รัฐบาลเพื่อไทยต้องเร่งรัดคดีสังหารประชาชนที่ศาลมีคำสั่งกรณีการไต่สวนการตายแล้วว่ามีเหตุจากเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมล่าช้าจนเป็นเหตุให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนไป 4) ย้ายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และให้พ้นจากหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีปี 2553 เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว 5) จัดตั้งคณะทำงานในการเร่งรัดคดีสังหารหมู่ประชาชนเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมรวดเร็วขึ้น
 
พะเยาว์กล่าวว่า เราคัดค้านการนิรโทษเหมายกเข่งของ กมธ. เพราะเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นคนสีเสื้อใด และคงต้องบอกว่า "คุณหยุดโกหกได้แล้ว" อย่างคำถามเรื่องกระบวนการศาลโลกที่ผู้คนตั้งคำถามว่าเหตุใดไอซีซีไม่ลงมาเกี่ยวข้อง การขับเคลื่อนคดีต่างๆ ทำเหมือนขับเคลื่อนอยู่จริงแต่ความจริงก็แค่รอกระบวนการนิรโทษกรรม ซึ่งเมื่อมีการนิรโทษเหมายกเข่ง ก็เป็นการปิดกั้นโอกาสอันน้อยนิดในการดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องในศาลอาญาระหว่างประเทศ ขณะที่นายธาริตเสนอต่อสังคมตลอดว่าคดีมีความเคลื่อนไหวทั้งที่จริงๆ รอกระบวนการนิรโทษกรรมแบบยกเข่ง 
 
"คดีหลายคดี เช่น คดี 6 ศพ ก็อยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว แล้วจะนิรโทษกรรมไปทำไม เมื่อมันเข้าสู่กระบวนการแล้ว ทางที่ดี การนิรโทษกรรม ควรนิรโทษกรรมให้ประชาชนล้วนๆ" พะเยาว์กล่าวและว่าคนที่ต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ปี 53 ต้องมีทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ไม่เช่นนั้นแล้วจะให้พวกเราญาติปี 53 ต้องมาตามรำลึกเหมือนรุ่น 14 ตุลา 6 ตุลา และในอนาคตเกิดขึ้นมาอีกนานเท่าไร
 
"ถ้า กมธ. ยังดึงดันที่จะนิรโทษเหมายกเข่ง ดิฉันบอกได้เลยว่า สภาทั้งสภาจะเป็นจำเลยของสังคม ดิฉันขอบอกว่าเรื่องทั้งหมดนี้ นายใหญ่อย่าเพิ่งใจร้อน อย่าเพิ่งรีบกลับบ้านใจเย็นๆ" พะเยาว์กล่าว
 
พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กล่าวว่าน่าเสียใจที่ กมธ.ปฏิเสธว่าคดีมาตรา 112 ไม่เป็นคดีทางการเมือง ทั้งที่มันเป็นคดีทางการเมืองทั้งหมด และยังมีสิ่งที่น่าตกใจเมื่อพบว่า เนื้อหาในการแก้ไขร่างฯนี้นั้น มีการนำร่างนิติราษฎร์มาปรับใหม่ โดยบิดเบือนการใช้ซึ่งร่างนิติราษฎร์ระบุว่าต้องมีกระบวนการพิสูจน์ทราบความจริง
 
ที่ผ่านมาเคยร่วมเดินทางกับ กมธ.เพื่อไปเยี่ยมนักโทษการเมืองที่เรือนจำหลักสี่ พบว่าหลายคดีมีปัญหามาก ดังนั้น เห็นว่าต้องให้สิทธิประกันตัวออกมาก่อนระหว่างรอการนิรโทษกรรม 
 
"เรื่องนี้ต้องใช้เวลาพูดคุยกันก่อนที่จะหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะมันจะนำไปสู่ปัญหา"พันศักดิ์กล่าว
 
สุนัย ผาสุก จากองค์กร Human Right Watch กล่าวว่า การผ่านวาระสองเป็นการตอกย้ำข้อกังวลที่เราพูดมาตลอดว่า กลัวว่าวัฒนธรรมการทำผิดโดยไม่ต้องรับผิดถูกผลิตซ้ำ จากกระบวนการต่อรองของคู่ขัดแย้งในการเมือง สัญญาณชัดขึ้นเรื่อยๆ การบาดเจ็บล้มตายส่วนใหญ่มาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ผลการไต่สวนการตายก็ชี้ไปในทิศทางนี้ แต่รัฐบาลกลับพูดแต่ต้นก่อนมีกฎหมายนิรโทษกรรมว่า ทหารจะถูกกันไว้เป็นพยาน ในอีกด้านหนึ่งก็มีท่าทีปฏิเสธว่าผู้ชุมนุมไม่มีความรุนแรง ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับกองกำลังติดอาวุธ และคดีที่เรียกกันว่า "ชายชุดดำ" ก็ค่อยๆ เลือนหายไป ไม่ปรากฏชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการนำเอาวิจัยของสถาบันพระปกเกล้ามาเป็นผลการศึกษาของ กมธ.ปรองดอง ที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน บิดเอาเรื่องนิรโทษกรรมให้มีความหมายเท่าเทียมกับคำว่าความปรองดอง มันจะเกิดปัญหาเหมือนในอดีตที่ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับผิด 
 
สุนัยกล่าวด้วยว่า ความผิดที่นำสู่การเสียชีวิตต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าฝ่ายใด การนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีขั้นตอนต่างๆ โดยต้องระบุให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น, คนกระทำผิดต้องสำนึกผิด ออกมาขอโทษต่อสังคม, การสมานฉันท์ต้องเป็นกระบวนการหารือในวงกว้าง ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ทำเรื่องนี้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง มหาดไทยจัดเวทีแล้วก็จบไป ตัดตอนมาพูดเรื่องนิรโทษกรรมเลย 
 
"การตลบหลังยัดไส้นี้น่าอัปยศ และโหดเหี้ยมอย่างยิ่ง ความพยายามดันร่างนี้หากจะต้องล้มไปเนื่องจากแปรญัตติเกินหลักการที่สภาอนุมัติไว้ในวาระแรก หรือเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายจนสภาเดินหน้าไม่ได้ เท่ากับว่ามวลชนที่ติดคุกถูกใช้เป็นตัวประกันและถูกถีบทิ้งอย่างโหดเหี้ยมที่สุด" สุนัยกล่าวและว่า สิ่งนี้เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เลวร้ายในการไม่ต้องรับผิดในประเทศไทย 
 
ณัทพัช อัคฮาด จากกลุ่มญาติฯ แจ้งว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 24 ต.ค.นี้จะเดินขบวนไปมอบของขวัญให้ กมธ.ที่จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษฯ โดยจะเริ่มรวมตัวกันที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยเวลา 11.00 น.
 
 

  

 

 

แถลงการณ์กลุ่มญาติผู้สูญเสียฯคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ

 

 

ตามที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุม ได้มีมติแก้ไข เนื้อหาในมาตรา 3 ของร่างเดิมที่ นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและคณะเสนอ เป็น

 

“…ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112…”

 

กลุ่มญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมือง พ.ศ. 2553 มีความเห็นว่าการแก้ไขข้อความในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว เป็นที่ชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นกรรมาธิการเสียงข้างมากมีเจตนาที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แลกเปลี่ยนกับการนิรโทษกรรมทหารที่กระทำความผิดในการสังหารหมู่ประชาชน ตลอดจนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและประธานศูนย์อำนวยการเยียวยาสถานการณ์ฉุกเฉิน ในขณะนั้น การแก้ไขข้อความดังกล่าว แสดงให้สังคมเห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่เคยฟังเสียงประชาชน โดยเฉพาะญาติผู้เสียหายฯ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ที่ต้องการให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าเพื่อพิสูจน์ทราบความจริง และนำความจริงนั้นกลับคืนสูงสังคม เพราะมีแต่ความจริงเท่านั้นที่จะนำพาสังคมโดยรวมกลับคืนสู่ความสมานฉันท์ เข้าอกเข้าใจกันได้อย่างแท้จริง

 

การแก้ไขข้อความดังกล่าว เน้นย้ำความสงสัยของสังคมต่อพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ต่อข้อครหาเรื่องการดำเนินการตามใบสั่ง ความมุ่งหวังที่จะนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกลับบ้านโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ เพิกเฉยต่อกระบวนการยุติธรรม เห็นประชาชนเป็นเพียง “เบี้ย” ที่ใช้เดินเพื่อบรรลุผลและสมประโยชน์ทางการเมืองของตนเท่านั้น ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยและเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนกลับแสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม แม้จะสามารถมองว่าเป็นเทคนิคทางการเมือง แต่การแสดงเจตนารมณ์นั้นย่อมเป็นการผูกมัดตัวเองกับประชาสังคมในที่สุด

 

การผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้มีผลบังคับใช้ตามเนื้อหาดังกล่าว ยังเป็นการปิดกั้นโอกาสอันน้อยนิดในการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องในศาลอาญาระหว่างประเทศ จากการผ่านกฎหมายภายในประเทศอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง เม.ย. – พ.ค. 2553 จึงขอเสนอต่อรัฐบาลอันมีพรรคเพื่อไทยเป็นเสียงข้างมาก ดังต่อไปนี้

 

1. รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องฟังเสียงประชาชนในการแก้ไขข้อความในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความผิดในการสังหารหมู่ประชาชนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ดังที่ศาลอาญาได้มีคำสั่งการไต่สวนการตาย กรณีนายพัน คำกอง, นายชาญณรงค์ พลศรีลา, นายชาติชาย ซาเหลา, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ รวมถึงกรณี 6 ศพ วัดปทุมฯ ว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหาร เพราะมีแต่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้นที่จะนำความจริงกลับสู่สังคม อย่างไรก็ตาม กลุ่มญาติฯยินดีที่จะสนับสนุนร่างนิรโทษกรรมใดใดนั้น จะมีผลต่อการนิรโทษกรรมประชาชนอันเกี่ยวเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองเท่านั้น

 

2. รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องเร่งรัดมาตรการทางนโยบายในการให้นักโทษการเมืองได้รับสิทธิ ในการประกันตัวอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องสงสัยตามหลักสิทธิมนุษยชน

 

3. รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องมีมาตรการเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมกับคดีสังหารหมู่ประชาชนที่ศาลมีคำสั่งกรณีการไต่สวนการตายในแต่ละสำนวนแล้วว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายมาจากเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมล่าช้าจนเป็นเหตุให้การสืบค้นความจริงคลาดเคลื่อนไป

 

4. รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องย้ายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ จากตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และให้พ้นจากหน้าที่หัวหน้าคณะผู้สอบสวนกรณีเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชน พ.ศ.2553 เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง

 

5. รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องจัดตั้งคณะทำงานในการเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมในคดีสังหารหมู่ประชาชน ประกอบด้วยบุคลากรจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการ แพทย์ และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมรวดเร็วขึ้น

 

ข้อเสนอทั้ง 5 อยู่บนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ที่มีกระบวนการพิสูจน์ทราบความจริงตามกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีภาระหน้าที่ในการตอบคำถามประชาชน มากกว่าที่จะกระทำการโดยอิงแอบกับผลประโยชน์ของพวกตน หรือการตอบแทนบุญคุณของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และการตอบคำถามประชาชนที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติรัฐกิจให้ถูกต้องตามหลักการของประชาธิปไตยเท่านั้น

 

 

ด้วยความเคารพ

กลุ่มญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมือง พ.ศ. 2553

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net