Skip to main content
sharethis

ฮิวแมนไรท์วอทช์และสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ประณามศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ 'ก้าวไกล' สส.อินโดฯ ระบุเป็นคำตัดสินที่น่าละอายเป็นการบ่อนเซาะเถียรภาพทางการเมืองของไทย 

8 ส.ค.2567 หลังจากเมื่อวานนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9-0 สั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคทั้ง 11 คน ฮิวแมนไรท์วอทช์(HRW) และสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน(APHR) มีแถลงการณ์ถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ HRW ระบุในแถลงการณ์ว่าคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้ส่งผลอย่างรุนแรงต่อความพยายามที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วในการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยกลับมาหลังจากการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการทหารอยู่นานหลายปี

ในแถลงการณ์ยังกล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เรื่องพรรคก้าวไกลรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งด้วยการเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ว่าเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาเป็นเหตุยุบพรรค รวมไปถึงการอ้างใช้หลักฐานของศาลที่ยกเหตุการณ์ที่มี สส.ของพรรค 44 คนที่ร่วมกันลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมี สส.ของพรรคไปร่วมกิจกรรมของภาคประชาสังคม รวมไปถึงมี สส.ที่ไปเป็นนายประกันให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาเป็นหลักฐานที่ชี้ว่าพรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองและเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐนั้น

HRW ระบุว่าการยุบพรรคก้าวไกลเป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงออก การสมาคม การชุมนุมอย่างสงบ และการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับการรับรองภายใต้กติการระหว่างประเทศกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยให้สัตยาบันไว้เมื่อปี 2539

“ศาลรัฐธรรมนูญไทยได้ฉีกทำลายเจตจำนงประชาธิปไตยของประชาชนไทยโดยการป้องกันไม่ให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วยังสั่งยุบพรรคด้วย” เพียร์สันกล่าว “การสลายตัวไปของพรรคก้าวไกลทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลย์โดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านอ่อนแอลงและความพยายามในการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยหยุดชะงักไป”

ในแถลงการณ์ของ HRW ได้เรียกร้องให้ชาติพันธมิตรที่สำคัญของไทยซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ส่งสารอย่างเป็นทางการถึงรัฐบาลไทยว่าคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกลนั้นขัดแย้งกับการที่ไทยสมัครเข้าร่วมชิงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

“สหประชาชาติและรัฐบาลควรประณามการยุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้ว่าเป็นความถดถอยของความหลากหลายในทางการเมืองไทยอย่างน่าสะเทือนใจ” เพียร์สันระบุ

APHR ประณามเป็นคำตัดสินที่น่าละอาย

“พวกเราตกใจกับคำตัดสินอันน่าละอายของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุบพรรคก้าวไกล” เมอร์ซี คริสตี้ บาเรนด์ส สส.อินโดนีเซีย และเป็นประธานของสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน(APHR) ระบุในแถลงการณ์ พร้อมกล่าวว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายให้เกิดความเท่าเทียมถือเป็นการแก่นหลักของการทำงานในรัฐสภา จึงเป็นเรื่องไร้สาระที่ความพยายามดังกล่าวถูกทำให้กลายเป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์และการตัดสินนี้ยังเป็นการบ่อนเซาะความมั่นคงของกระบวนการทางรัฐสภาอีกด้วย

เมอร์ซียังกล่าวอีกว่า “ศาลได้ส่งข้อความที่ชัดเจนว่าความพยายามปฏิรูปในประเด็นนี้จะไม่มีทางได้เห็นแสงสว่างในรัฐสภา ซึ่งเป็นสถานที่เพื่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างมีความหมายเกิดการตรวจสอบถ่วงดุลย์อำนาจอย่างชอบธรรม”

แถลงยังระบุอีกว่าการที่พรรคก้าวไกลซึ่งชนะการเลือกตั้งมาแต่กลับถูกขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลโดยสถาบันที่เป็นปฏิปักษ์กับกลไกเสียงข้างมากนี้ การมีคำตัดสินเช่นนี้ได้ขัดขวางการถกเถียงทางการเมืองในประเด็นที่เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ

“การตัดสินคดีที่เกินเลยนี้ไม่เพียงแต่บ่อนเซาะเสถียรภาพทางการเมืองของไทย แต่ยังทำให้ชื่อเสียงของประเทศมัวหมองไปด้วย”  เมอร์ซีกล่าวและยังเห็นว่าการที่เสียงของประชาชนไทยที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้งถูกเพิกถอนไป ทำให้ความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงแข็งแรงของประชาธิปไตยไทยสูญเสียไปด้วย

“ไม่มีระบอบประชาธิปไตยใดที่ขาดเสรีภาพการแสดงออก รวมถึงการมีฝ่ายค้านที่ยังปฎิบัติหน้าที่ได้และมีความเป็นอิสระ” ประธาน APHR กล่าว

แถลงของ APHR ยังกล่าวถึงการฟ้องดำเนินคดีโดยมุ่งเป้าไปที่การต่อต้านพรรคก้าวไกลและสมาชิกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ด้วย ที่ล่าสุด ปปช.ตั้งเรื่องสอบสวน สส.44 คนเพราะการร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

“พวกเราจะยืนเคียงข้างกับเพื่อนสมาชิกจากพรรคก้าวไกล  พวกเรามั่นใจว่านั่นเป็นความมุ่งร้ายที่จะยุบพรรคอย่างไม่เป็นธรรม แต่พรรคก้าวไกลจะยังคงต่อสู้ไปพร้อมกับประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของไทยและสิทธิมนุษยชน” ชาร์ล ซานติอาโก ประธานร่วม APHR และเป็นอดีต สส.ของมาเลเซีย

นอกจากนั้น APHR ยังได้เรียกร้องถึงรัฐบาลไทยว่าจะต้องทำตามคำมั่นสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงเคารพสิทธิธของทุกคน ถ้ารัฐบาลไทยยังคงยึดมั่นอย่างจริงใจที่จะทำให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจะต้องทำให้เกิดการพิจารณาเนื้อหารัฐธรรมนูญที่ร่างมาโดยรัฐบาลเผด็จการทหารเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ และรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญทุกคน และต้องไม่ทำให้เกิดการยุบบพรรคเช่นนี้เกิดข้นอีก

“การใช้กระบวนการทางกฎหมายในทางที่ผิดอย่างโจ่งแจ้งของไทย เป็นภยันตรายอย่างยิ่งต่อประชาธิปไตยในภูมิภาค” ซานติอาโกกล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net