Skip to main content
sharethis
<--break->
หากใครได้เคยอ่านบทความเก่าๆ ของผู้เขียนคือ " เหตุใดรัฐจึงกลายเป็นฆาตกร" ก็จะได้รู้ว่าผู้เขียนไม่ต้องการมาจำกัดคำว่า รัฐ ให้เป็นเพียงผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลเท่านั้นแต่ยังพยายามยกสถานะของรัฐให้เป็นลักษณะนามธรรมหรือมวลรวมของจิตอันแสนยิ่งใหญ่เหมือนของเฮเกลซึ่งมีชีวิตและสามารถคิดเองได้ แต่เป็นสิ่งที่อยู่เหนือมนุษย์ทุกคน หรือทุกกลุ่มในสำหรับบทความนี้ผู้เขียนอยากจะเอาแนวคิดเหล่านี้มาวิเคราะห์กับพ.ร.บ.นิรโทษกรรมดูบ้าง ซึ่งผู้เขียนก็หนักใจว่าเหมือนเอามะพร้าวมาขายสวนและจะกลายเป็น “เป่านกหวีด” ช้าไปหน่อย แต่ก็พยายามจะเขียนให้ดีที่สุด

ผู้เขียนคิดว่าความพยายามของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในการล้างความผิดของตัวเองนั้นก็เป็นพฤติกรรมหนึ่งของรัฐที่กระทำมาช้านาน ในฐานะที่เขาเคยเป็นตัวแทน (agent) ของรัฐมาก่อน การทำโทษให้ศูนย์ (set zero) ของทักษิณจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนทัศน์อันเก่าแก่ของรัฐไทย การที่เขาอ้างว่าเพื่อทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าต่อไปก็คือเดินบนพรมแดงที่มีศพจำนวนมหาศาลถูกซุกใต้พรม ในมาตรฐานของความเป็นรัฐไทยแล้ว อาชญากรรมที่ฝ่ายประท้วงทักษิณมองเห็นว่าชั่วช้าเช่นการโกงกินบ้านเมือง การอยู่เบื้องหลังเสื้อแดงเผาเมือง  (หรือเลยไปถึงมีส่วนในการฆ่าตัดตอนคนหลายพันศพเมื่อหลายปีก่อน)

ตามจริงก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติอะไรเลยของการก่ออาชญากรรมของรัฐไทยในอดีตเพียงแต่มีการอวตาร  (reincarnate) เป็นเหตุการณ์เฉพาะด้าน ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะสามารถทำให้การก่ออาชญากรรมนี้เป็นสิ่งที่ปกติสำหรับประชาชนได้มากน้อยเพียงใด (ผ่านสื่อมวลชน แบบเรียน ฯลฯ) 

อย่าลืมว่ารัฐไทยนั้นเป็นเอตทัคคะในการทั้งสังหารประชาชนตัวเองตั้งแต่ในอดีต
 
ผู้เขียนเองก็ไม่ปฏิเสธว่าภายในความยิ่งใหญ่ของรัฐนั้น ปัจเจกชนก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้รัฐเกิดการเปลี่ยนแปลงไปได้ โดยผู้เขียนคิดเหมือนภาพยนตร์เรื่อง Matrix ว่าผู้นำของรัฐสามารถที่เกิดภาวะผิดปกติ (Anomaly) ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามการศึกษาที่รัฐพยายามยัดเหยียดให้เพื่อเป็นฟันเฟืองที่แสนซื่อสัตย์ของรัฐ ดังเช่นคณะราษฎรที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ  แต่เมื่อคณะราษฎรขึ้นมามีอำนาจก็ใช้ความรุนแรงในการรักษารัฐภายใต้ระบอบใหม่คือประชาธิปไตย ดังนั้น ในช่วงเปลี่ยนแปลงแย่งชิงอำนาจของรัฐบาลภายใต้กลุ่มพลเรือนและทหาร(และอื่นๆ) รวมไปถึงยุคเรียกร้องประชาธิปไตย ยุค 14   ตุลาคม 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ ฯลฯ  ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่เงียบงัน (silent majority) เพราะต่างชินชาและถือว่าความรุนแรงของรัฐเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม นักศึกษาและประชาชนที่ต่อสู้กับรัฐจนตัวตายคือสิ่งแปลกปลอมที่สมควรถูกรัฐกำจัดออกไป (ผู้เขียนจึงเห็นด้วยกับใครบางคนที่ว่า “ชาวพุทธไทยไม่ซีเรียสที่จะฆ่ากันตาย”)  

ดังนั้นกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกโดยรัฐบาลเผด็จการทั้งหลายให้แก่คนผิดที่รวมไปถึงผู้ตกเป็นเหยื่อคือประชาชนตาดำๆ ที่เสียชีวิตก็ได้รับนิรโทษกรรมไปด้วยเป็นสิ่งที่ทำได้สะดวกสบาย ไม่มีใครรับผิดชอบ ไม่มีคนผิด ไม่มีเหยื่อ ตามการยอมรับกระแสหลักของรัฐ มีเพียงผู้เสียชีวิตและความเข้าใจผิด  เหตุการณ์ผ่านไป ผู้ฆ่าและญาติมิตรผู้ถูกฆ่า ชนชั้นปกครองและผู้ถูกปกครองก็จากโลกนี้ (หากกล่าวถึงในมิติทางปัจเจกชน) เหลือแต่รัฐซึ่งยังคงทรงพลังอยู่ 


เกิดอะไรขึ้นกับทักษิณ?

การที่ทักษิณพยายามจะ set zero  กลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายไปนั้นเพราะทักษิณถูกรัฐตีความให้เป็นสิ่งแปลกปลอมของตน อย่าลืมว่ารัฐนั้นมีลักษณะเหมือนร่างกายมนุษย์คือพยายามกำจัดสิ่งที่แปลกปลอมในร่างกายตัวเองออกไป ทักษิณแม้ว่าจะพยายามเจรจากับชนชั้นนำอื่นในตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่ตัวรัฐนั้นยิ่งใหญ่ไปกว่าชนชั้นนำกลุ่มไหนจะสามารถสร้างข้อตกลงร่วมกันหรือยอมรับได้ทั้งหมด  สาเหตุสำคัญคือการที่ทักษิณสามารถมีอิทธิพลเหนือมวลชนจำนวนมากได้อย่างที่รัฐไม่เคยเผชิญมาก่อน จึงทำให้ระบบของรัฐเกิดการรวนขึ้นมา รัฐจึงทำการ reboot เครื่องใหม่โดยการทำรัฐประหารซึ่งชาวไทยโดยมากไม่ซีเรียสหรือจำนวนมากก็ให้การสนับสนุนเพราะอยู่ภายใต้วาทกรรมแห่งความรุนแรงที่รัฐบาลถูกกระทำมาจนชิน  

การประท้วงพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของชนทุกส่วนซึ่งผู้เขียนยังตกใจจากการอ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับ  (ซึ่งผู้เขียนมิบังอาจว่ามีความเห็นเหมือนกันทั้งหมด เพราะมีหลายกลุ่มที่ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแต่ก็มีเหตุผลที่ต่างกันเพราะมองผ่านเลนส์สีแดงและสีเหลือง) ทำให้ผู้เขียนนึกในใจว่าถ้าประชาชนออกมาประท้วงต่อการทำรัฐประหารปี 2549 หรือออกมาเรียกร้องให้จับคนผิดในการเข่นฆ่าสังหารประชาชนปี 2553 (หรืออย่างน้อยก็ทำให้ความจริงกระจ่างเช่นผู้นำเสื้อแดงคนไหนหรือทหารหรือไอ้มืดคนไหนควรถูกลงโทษ ไม่ใช่ว่ายังไปไม่ถึงไหนเหมือนทุกวันนี้) ก็คงจะดีไม่น้อยแต่ก็เป็นไปไม่ได้เป็นอันขาด เพราะกระบวนทัศน์หลักที่รัฐได้สอดใส่ไว้ในสมองของคนไทยจำนวนมากไว้แล้วคือใบอนุมัติสั่งประหารรัฐบาลซึ่งไม่สามารถเป็นไปตามบรรทัดฐานที่รัฐได้วางไว้ให้

นอกจากนี้กลุ่มที่ออกมาประท้วงกลุ่มที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณซึ่งคุณธรรมทางการเมืองก็ไม่แตกต่างจาก พ.ต.ท.ทักษิณหรือบางกลุ่มที่นำโดยพลตรีจำลอง ศรีเมืองซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้นก็คงเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกได้บ้างว่ารัฐไทยได้อำพรางความชั่วของตนที่มีมานานอยู่โดยอาศัยภาพเงาอันน่ากลัวของพตท.ทักษิณ  เราควรจะมองว่ารัฐมีความแยบยลในการสับขาหลอกหรือการบงการให้จักรกลสำคัญของตนคือประชาชนดำเนินเป็นไปอย่างที่ตัวเองโดยเข้าใจว่าคือการใช้สิทธิตามประชาธิปไตยเพื่อประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยที่มองไม่เห็นกลไกการเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้นและอิทธิพลอันซ้อนเร้นของชนชั้นปกครองอื่น  ที่สำคัญคือมองไม่เห็นกลไกความฉ้อฉลและความรุนแรงของรัฐ  สิ่งนี้ผู้เขียนใคร่เรียกว่า Imagined democracy หรือประชาธิปไตยที่ถูกสร้างจำลองขึ้นมาในความคิดของตัวเองผ่านกระแสวัฒนธรรมแบบประชานิยม  เช่นคนประท้วงจำนวนมาก (ไม่ได้ว่าทั้งหมด) กล่าวด่าหรือปลุกระดมให้ล้มรัฐบาลแบบเอามันผ่านเฟซบุ๊คโดยผ่านข่าวลือหรือการนินทากันแบบดารา  เช่นเดียวกับประชาชนอียิปต์เป็นล้านๆ ที่ออกมาประท้วงอดีตประธานาธิบดีมูหะหมัด มอร์ซี แต่หดหัวอยู่กับบ้านเมื่อทหารทำการเข่นฆ่าประชาชนเป็นพันๆ คนเพียงเพราะคน เหล่านั้นเป็นพวกภราดรภาพมุสลิม เช่นเดียวกับเมืองไทยซึ่งน่าละอายใจที่ผู้ประท้วง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมบางกลุ่มหันไปเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากทหารซึ่งเป็นองคาพยบชิ้นสำคัญของรัฐที่มือเปื้อนเลือดและใช้กฏหมายนิรโทษกรรมในการล้างผิดให้กับตัวเองตลอดมา

อนึ่งความฉ้อฉลโกงกินหรือความรุนแรงที่รัฐไทยมีต่อประชาชน ในขณะที่ประชาชนในทุกภาคส่วนก็มีการติดเชื้อลามกันไปทั่วในเรื่องขอการฉ้อฉลและการใช้ความรุนแรงต่อกันทั่วหน้า ดังนั้นจึงดูเป็นขัดแย้งในตัวเอง (irony) ที่ประชาชนซึ่งคุ้นชินและเป็นส่วนหนึ่งของ 2 ความชั่วร้ายดังกล่าวได้ประท้วงหรือด่าทอคนแบบเดียวกันอย่างสนุกสนาน  ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องที่วิเคราะห์ได้ไม่ยากว่าเกิดจากความรู้สึกกังวลใจของคนที่ออกมาประท้วงเพื่อเป็นสิ่งรับประกันว่าถึงแม้ตนจะชั่วร้ายประการใด ตนจะไม่มีทางกลายเป็นเนื้อร้ายที่รัฐต้องกำจัดออกไปกลายเป็นคนไร้รัฐ เหมือน พ.ต.ท.ทักษิณเป็นอันขาด เช่นเดียวกับการออกมาระบายความรู้สึกผิดข้างในลึกๆ ที่ว่า รัฐสมัยใหม่มีความต้องการที่ขัดแย้งภายในตัวเองคือในขณะที่ประชาชนเป็นพวกตื่นรู้ทางการเมือง ไปพร้อมๆ กับการเป็นทาสที่ดีของรัฐ   ดังนั้นผู้เขียนจึงขอพอเดาเอาว่าความรู้สึกเช่นนี้กลายเป็นแรงผลักดันให้คนเป็นจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อนหรือสนใจการเมืองเพียงน้อยนิดออกมาประท้วงด้วยประเด็น (agenda) ที่หดเหลือแค่คำว่า "ทักษิณ" ซึ่งเป็นการมองประเด็นของความผิดของรัฐที่คับแคบจนน่าเสียดาย ซึ่งในที่สุดเมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลงไป คนเหล่านั้นก็พร้อมจะกลับเป็นพวกการเมืองแบบไพร่ฟ้าแบบสับสนตามที่อุดมการณ์หลักของรัฐไทยได้วางไว้เหมือนเดิม


กฎหมายจะมีความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไปหรือไม่ ?
 
มีคนสงสัยว่าหากทักษิณสามารถ set zero ได้สำเร็จ ต่อไปกฎหมายจะมีความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไปหรือไม่เพราะอาจมีผู้มีอำนาจทางการเมืองที่คาดหวังว่าอาชญากรรมที่ทางการเมืองของตนในท้ายที่สุดจะได้รับการทำให้เป็นศูนย์ในที่สุด ผู้เขียนไม่ได้ไม่เชื่อว่ากฎหมายเมืองไทยทุกวันนี้ขาดความศักดิ์สิทธิ์และจะขาดความศักดิ์สิทธิ์ในอนาคต เพราะความศักดิ์สิทธิ์ไม่มีจริง แต่เป็นสิ่งที่ถูกรัฐสร้างขึ้นมาเพื่อให้กฎหมายเป็นตามบริบทที่ตัวเองกำหนดไว้   เช่นในฉากหน้าจะมีการบัญญัติหรือสร้างตัวหนังสือไว้บรรยายการสนับสนุนสิทธิเสรีและเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างงดงามก็ตาม แต่รัฐก็สามารถอาศัยบริบทอื่นเพื่อเข้ามากำหนดอำนาจที่มีอย่างจำกัดของกฏหมายเสียใหม่เช่นวัฒนธรรมทางการเมืองที่รัฐได้ปลูกฝังไว้ให้กับประชาชนเช่นการนิยมความรุนแรง การสร้างบรรยากาศ “ฝุ่นตลบ” หรือการพรางตาไม่ให้ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐในเวลานั้นไม่ถูกลงโทษ (ไม่ใช่รักใคร่อะไรแต่เป็นการรักษาระบบของรัฐไม่ให้เกิดการรวนหรือเสียหาย) อย่างเช่นการทำรัฐประหารที่ผู้ทำรัฐประหารออกกฏหมายเพื่อไม่ให้ตัวเองถูกลงโทษทั้งที่เป็นการก่ออาชญากรรมอย่างร้ายแรง สมมติว่าทักษิณสามารถ set zero ได้ก็จะเป็นการตอกย้ำวัฒนธรรมแห่งการหนีจากความผิดของผู้มีอำนาจซึ่งมีอย่างดาดดื่นในสังคมไทยเท่านั้น  แต่นั้นก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะสนับสนุนให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ผ่าน ยิ่งไปกว่านั้นแม้แต่ในอนาคต ถ้ากองทัพหรือกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มอื่นจะพยายามทำเช่นนี้บ้าง ประชาชนก็ควรจะออกมาประท้วงเต็มถนน เป่านกหวีดหรืออริยะขัดขืน หรืออย่างน้อยเมื่อนักการเมืองซึ่งเต็มไปด้วยกรณีทุจริตและฆาตกรรมอย่างเช่นนายสุเทพ เทือกสุบรรณกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็ขอให้คนไทยทุกคนหยุดงานและไม่ยอมจ่ายภาษีบ้าง


เราควรทำอย่างไร ?
 
ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพราะจะเป็นการตอกย้ำและสานต่อวาทกรรมของความฉ้อฉลและความรุนแรงซึ่งไม่ใช่เฉพาะของทักษิณเท่านั้นแต่ยังเป็นรัฐตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยที่จะมีการประท้วงที่จะลดความจริงลงเหลือเพียงตัวทักษิณ จะเป็นสิ่งอันประเสริฐยิ่งหากว่าเราควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิวัติหรือการสะสางความรุนแรงที่รัฐได้ใช้กับประชาชนย้อนหลังไปให้ได้มากที่สุดรวมไปถึงการพิจารณารื้อฟื้น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับอื่นที่รัฐเคยออกมาอย่างสบายๆ อีกด้วยไม่ใช่ปล่อยให้รัฐสับขาหลอกเพื่อคงเราไว้เป็นทาสเช่นนี้ไปเรื่อยๆ 
 
 



หมายเหตุ: มีการแก้ไขข้อความเมื่อ  17 พฤศจิกายน 2556 เวลา 13.37 น.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net