Skip to main content
sharethis

สนทนากับสมชาย ปรีชาศิลปกุล ในวาระ 27 ปีเหตุการณ์พฤษภา 35 หลายสิ่งเปลี่ยนไป แต่เรื่องพื้นฐานบางอย่างแทนที่จะจบ กลับไม่จบ สำหรับเขา มันมีหลายปัจจัยที่ทำให้ 27 ปีก่อนกับ 27 ปีหลังต่างและเหมือนกัน มันน่าผิดหวังที่ ณ ตอนนั้น สังคมไทยไม่เคลียร์ให้ชัดเจน จนเราต้องวนเวียนกับหัวข้อเดิมๆ ทางการเมือง

ดัดแปลงภาพจาก นิตยสารอาทิตย์-ข่าวพิเศษ, Way Magazine โดย กิตติยา อรอินทร์

  • เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 คือการเปลี่ยนแปลงจากประชาธิปไตยครึ่งใบสู่การเลือกตั้งแบบรัฐสภาที่ถูกขัดขวางโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และการเติบโตของชนชั้นกลางในการมีส่วนร่วมทางการเมือง
  • หลายเหตุการณ์ ทั้งก่อนและหลังพฤษภาคม 2535 ได้ทิ้งร่องรอยหลายอย่างที่ปรากฏขึ้นหลังจาก 27 ปีผ่านไป
  • หลังพฤษภาคม 2535 สังคมไม่ได้ถกเถียงเรื่องพื้นฐานและโครงสร้างมากเพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนมา หลายสิ่งจึงวนกลับมาอีกครั้ง

เมื่อ 27 ปีก่อนในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สมชาย ปรีชาศิลปกุล ยังเป็นนักศึกษาปริญญาโทนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนี้เขาเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันนั้นเขาเข้าร่วมการชุมนุมโดยอาศัยบุญเก่าจากการเป็นรุ่นพี่ที่ทำกิจกรรมมาก่อนและเป็นเพื่อนกับปริญญา เทวานฤมิตรกุล เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาในสมัยนั้น

การขับไล่พลเอกสุจินดา คราประยูรจบลงด้วยคราบน้ำตา รอยเลือด และชัยชนะ ส่วนการเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งจบลงด้วยนายกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างอานันท์ ปันยารชุน และการแก้ไปรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ดูเป็นเรื่องราวที่ชวนสับสนและขัดแย้งพิกล

27 ปีต่อมา เสมือนสังคมไทยยังไปไม่พ้นปลักหล่มเดิมๆ หลักการพื้นฐานที่น่าจะยอมรับร่วมกันและจบไปแล้ว กลับไม่จบ วนเวียนเป็นหนังฉายซ้ำซากให้ตัวละครทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่เข้ามาเล่น

การสนทนากับสมชายในวาระ 27 ปีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มันคือการถามหาความหมาย ผลลัพธ์ ความไม่คงเส้นคงวา และร่องรอยบางประการจากอดีตสะท้อนสู่ปัจจุบันที่ตกตะกอนเป็นความไม่พึงพอใจและความผิดหวัง

“มันน่าผิดหวังมั้ย ผมคิดว่ามันน่าผิดหวัง เป็นความผิดหวังเพราะคนที่ทำหน้าที่เป็นปัญญาชนสาธารณะอาจจะละเลยประเด็นที่มีความสำคัญหรือมีความหมายต่อการผลักดันให้เกิดระบอบประชาธิปไตย”

สมชาย ปรีชาศิลปกุล (แฟ้มภาพ ประชาไท)

สำหรับคุณซึ่งมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ พฤษภา 35 มันมีความหมายอย่างไร?

เวลานึกถึงพฤษภาคมปี 2535 ในทางประวัติศาสตร์การเมืองมันมีความหมายอะไร ถ้าเรามองฉากใหญ่ทางการเมือง ผมคิดว่าความหมายของพฤษภาคม 2535 คือความเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบสู่รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งกำลังเริ่มขยายอำนาจเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เข้ามาขวางความเปลี่ยนแปลงนี้

ฉากความเปลี่ยนแปลงนี้ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นบนพื้นฐานที่เรียกว่า คนในสังคมก็รู้สึกว่าไม่ค่อยยอมรับหรือไม่เอากับประชาธิปไตยครึ่งใบแล้ว เพราะว่ามันอยู่ภายใต้รัฐราชการมานานตั้งแต่ช่วง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐราชการทำงานมาก แต่ในขณะเดียวกันพอพลเอกเปรมลง มันเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่เป็นรัฐสภา ปัญหาที่ผมคิดว่าเกิดขึ้นและเป็นรากฐานที่ทำให้ผู้คนโดยเฉพาะชนชั้นกลางคือพอรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ มา มันเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งตอนนั้นเรียกกันว่าบุฟเฟต์คาบิเน็ต รัฐมนตรีมีจุดมุ่งหมายเพื่อมาแสวงหาผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว

ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือชนชั้นกลางในสังคมไทยไม่ไว้วางใจประชาธิปไตยที่มาจากระบบรัฐสภา เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นในตอนแรก ถ้าเทียบรัฐประหารปี 2534 กับรัฐประหารปี 2557 ผมคิดว่ารัฐประหารปี 2557 มีคนคัดค้านมากกว่ารัฐประหารปี 2534 ด้วยซ้ำ รัฐประหารปี 2534 กลุ่มเดียวที่ออกไปคัดค้านอย่างชัดเจนคือสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ส่วนกลุ่มอื่นๆ ผมไม่เห็นเลย แรงงานเพิ่งจะมาสมทบภายหลัง ปรากฏการณ์แบบนี้สะท้อนว่าผู้คนจำนวนหนึ่งอาจจะไม่ได้ชมชอบรัฐประหาร แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความไม่พึงพอใจสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีการต่อต้านหรือคัดค้านอย่างกว้างขวาง นี่คือฉากใหญ่ของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ

ทีนี้ อีกประเด็นที่สำคัญคือท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เราเห็นคนกลุ่มใหม่ในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือม็อบมือถือหรือชนชั้นกลาง ผมคิดว่านี่คือคนที่เป็นคนกลุ่มใหม่ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าเราคิดเปรียบเทียบเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 จะเห็นได้ว่าแกนหลักคือนักศึกษา กรรมกร ชาวนา แต่ส่วนใหญ่คือนักศึกษา แต่พอตอนพฤษภาคม 2535 นักศึกษาอาจจะเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การคัดค้านการรัฐประหารในปี 2534 แต่การคัดค้านของนักศึกษาตอนนั้นไม่สู้จะมีพลังมากเท่าไหร่ ผมจำได้ ชุมนุมที่สนามหลวง เราเห็นคนมาชุมนุมสักสามสี่ร้อยคน เราดีใจกันน้ำหูน้ำตาไหล ทำไมผู้คนมากมายขนาดนี้ แต่จะยังไงก็ตามผู้มาชุมนุมก็อยู่หลักประมาณนี้ ไม่ถึงหลักพันด้วยซ้ำ เป็นข่าวไหม เป็น แต่มีพลังในทางสังคมไหม ผมคิดว่าไม่มาก

จวบจนกระทั่งมีนักการเมืองเข้ามา คุณจำลอง ศรีเมืองเข้ามา ทำให้การเคลื่อนไหวมันขยายวงมากขึ้น เราจะเห็นการเคลื่อนไหวที่จำนวนคนค่อยขยับขึ้นจากหลักพันเป็นหลักหมื่น หลักแสน เพราะฉะนั้นในแง่นี้สิ่งที่เราเห็นคือชนชั้นกลางปรากฎตัวอย่างชัดเจนในทางการเมืองไทย ผมคิดว่าตรงนี้น่าสนใจเพราะเป็นชนชั้นกลางที่ส่วนหนึ่งน่าจะเกี่ยวข้องสัมผัสหรืออยู่ในบรรยากาศ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยซ้ำ ผมคิดว่าเราเห็นฉากความเปลี่ยนแปลงของผู้คนที่เข้ามาร่วม อันนี้เป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ

แล้วผลที่ตามมาจากเหตุการณ์พฤษภา 35?

พฤษภาคม 2535 ทำให้เกิดอะไรขึ้น ผมคิดว่ามันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการขยายตัวของระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการทำให้ระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจหรือมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในทางการเมือง ซึ่งเราดูได้จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง แก้ไขให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ซึ่งพวกนี้แสดงให้เห็นว่านี่คือความพยายามที่จะผลักดันหรือทำให้สถาบันที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเหนือกว่าระบบราชการ เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีข้อกำหนดว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง พอไม่มีข้อกำหนดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือพลเอกเปรมก็นั่งเป็นนายกฯ ได้ รวมถึงมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเหมือนกัน ก็คล้ายๆ กับสมัยนี้ เป็นการแต่งตั้งทหารและเพื่อนเข้าไปเป็นส่วนใหญ่ อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

เหตุการณ์ตอนนั้นคือการขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และเรียกร้องนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นกลับได้คุณอานันท์ ปันยารชุนมาเป็นนายกฯ ทั้งที่ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

พอพฤษภาคม 2535 ผ่านไป มันมีงานวิทยานิพนธ์ของคุณกิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ เป็นงานที่ศึกษาทัศนะของหนังสือพิมพ์และปัญญาชนสาธารณะที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงปี 2535-2540 มี 2 เรื่องที่เขาตั้งประเด็นไว้และผมคิดว่าน่าสนใจ ประเด็นแรกคือตอนที่เรียกร้องนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง สโลแกนที่เราเรียกร้องตอนนั้นคือนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ปมปัญหาคือหลังจากที่คุณสุจินดาออกไป ปรากฎว่าประธานสภาผู้แทนราษฎร คุณอาทิตย์ อุไรรัตน์ เสนอชื่อคุณอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกฯ รอบ 2 สิ่งที่คุณกิตติศักดิ์ตั้งคำถามคือพอเสนอชื่อนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวซึ่งเคยเรียกร้องนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง เท่าที่ผมนึกได้และไปเปิดเอกสารต่างๆ ดู ผมพบว่าไม่มีเสียงคัดค้านคุณอานันท์เลย ในแง่หนึ่งต้องให้เครดิตกับอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่ชี้ไว้ว่า นี่คือความไม่คงเส้นคงวาของขบวนการ ยิ่งไปกว่านั้นคุณอาทิตย์ถูกยกย่องเป็นวีรบุรุษประชาธิปไตย

ประเด็นที่ 2 ที่คุณกิตติศักดิ์เสนอคือเอาเข้าจริงการเคลื่อนไหวทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม เราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่าความเป็น Royalist ของปัญญาชนสาธารณะไทยจำนวนไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่นก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม หมอประเวศ วะสีและนักวิชาการอีกจำนวนมากได้ถวายฎีกาถึงในหลวง หลังเหตุการณ์พฤษภาคม ชัยอนันต์ สมุทวณิช ยื่นฎีกาขอให้พระราชทานสภากระจก ถ้าเราไปนั่งดูรายชื่อของคนที่ร่วมถวายฎีกา เราจะเห็นปัญญาชนสาธารณะจำนวนไม่น้อยที่มีรายชื่ออยู่ในนั้น มันสะท้อนให้เห็นว่าในช่วงระยะเวลานั้นปัญญาชนสาธารณะของไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อมั่นหรือมีความหวังว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองไทยได้

ยิ่งถ้าเกิดเราไปดูบทความของปัญญาชนที่มีชื่อเสียงหลายคนในเวลานั้น เราก็จะพบว่ามันเป็นแบบนั้นจริง คือมีความเชื่อแบบนี้อยู่ไม่น้อย จุดนี้เป็นเค้าลางที่ทำให้เราพอจะตอบคำถามได้ว่าทำไมความเป็น Royalist จึงมาปรากฎตัวในการเคลื่อนไหวขับไล่คุณทักษิณ

แฟ้มภาพประชาไท

นี่เรียกว่าเป็นมรดกจากพฤษภา 35 ได้หรือเปล่า?

คำอธิบายของผม ผมคิดว่าถ้าเราย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ 2530 สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือ ข้อมูลที่ผมอ่านเกี่ยวกับข้อถกเถียงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ ผมพบว่ารัฐธรรมนูญ 2534 ซึ่งร่างขึ้นโดย รสช. ได้เปลี่ยนสถานะและบทบาทของพระมหากษัตริย์อย่างสำคัญและกลายเป็นรากฐานให้กับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ตัวอย่างเช่นการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์จากเดิมรัฐธรรมนูญไทยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ในรัฐธรรมนูญ 2534 เปลี่ยนจากให้ความเห็นชอบเป็นแจ้งเพื่อทราบ หมายความว่าถ้าเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลแล้ว ก็นำชื่อเชื้อพระวงศ์ที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แจ้งแก่รัฐสภาเพื่อทราบ พอรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็เดินตามรอยนี้

ผมคิดว่าช่วงทศวรรษ 2530 เป็นช่วงทศวรรษที่สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยขยายหรือแผ่ความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอย่างกว้างขวาง ในแง่นี้จึงไม่แปลกใจ ถ้าความศักดิ์สิทธิ์ที่แผ่ขยายนี้มันจะครอบคลุมมาถึงความคิดของปัญญาชนสาธารณะของไทยด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่อาจต้องเป็นหมายเหตุไว้คือประเด็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญไทยปี 2534 มันไม่ได้ถูกถกเถียงหรือมีใครมองเห็นเลย ผมคิดว่าประเด็นนี้เพิ่งมาถูกมองเห็นในภายหลังด้วยซ้ำ

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกมองข้ามคือเรื่องระบบกฎหมายกับการรัฐประหารหรือการใช้ความรุนแรงของรัฐ หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิต เขามีการรวมตัวเป็นคณะกรรมการญาติวีรชน แล้วก็ฟ้องคดีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็จะมีนายกรัฐมนตรี ผู้นำเหล่าทัพที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ในช่วงนั้นมีการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรม คือหมายความว่าคุณสุจินดาก่อนจะพ้นจากตำแหน่งได้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมออกมาฉบับหนึ่งเพื่อยกเลิกความผิดที่กระทำลงไป ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชน มันก็เกิดข้อถกเถียงว่าการออกแบบนี้มีผลในทางกฎหมายมากน้อยขนาดไหน หลังเหตุการณ์พฤษภาคม มีการชุมนุมรัฐสภาเกิดขึ้น ผลปรากฏว่าสภาไม่ผ่านพระราชกำหนดฉบับนี้ กฎหมายก็ตกไป ก็เถียงกันว่าถ้าอย่างนั้นคนที่ทำความผิดต้องรับผิดชอบหรือเปล่า

ผลปรากฎว่าคณะกรรมการญาติวีรชน นำโดยคุณอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ได้ฟ้องศาลยุติธรรม ทั้ง 3 ศาลพิพากษาตรงกันให้พระราชกำหนดที่สภาไม่อนุมัติให้มีผลใช้บังคับได้ หมายความว่าคดีที่เป็นความรุนแรงที่รัฐปฏิบัติต่อประชาชนไม่ได้ถูกเอาเข้าพิจารณาเลย คือศาลยกฟ้องเนื่องจากมีพระราชกำหนดนิรโทษกรรมออกมายกเลิกความผิดไปหมดแล้ว ศาลจึงไม่ต้องพิจารณาต่อไปว่ามีการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนจริงหรือไม่

ศาลให้เหตุผลกับคำพิพากษานี้ว่าอย่างไร?

ศาลให้เหตุผลว่า สมมติว่าเขาประกาศใช้วันที่ 1 แต่ไปยกเลิกวันที่ 30 ศาลก็บอกว่าผลของมันระหว่างวันที่ 1 ถึง 30 มันใช้ได้ แต่พอหลังวันที่ 30 มันใช้ไม่ได้แล้ว ซึ่งผมคิดว่าจุดนี้มีปัญหาข้อถกเถียงในทางข้อกฎหมายอย่างมาก ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นหลักหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าสถาบันตุลาการของไทยมีแนวโน้มที่จะตีความกฎหมายในด้านเป็นคุณกับอำนาจรัฐมากกว่า แต่ในช่วงทศวรรษนั้นนอกแวดวงนักกฎหมายประเด็นนี้ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไหร่ สังคมไทยยังมีความเชื่อว่าสถาบันตุลาการยังพอมีความยุติธรรมและมีความเป็นกลางทางการเมือง นี่แหละที่ทำให้สถาบันตุลาการไม่กี่ปีหลังจากนั้นกลายเป็นองค์กรที่ได้รับอำนาจจากรัฐธรรมนูญแล้วเข้ามามีบทบาททางการเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ 2540

ผมคิดว่าถ้าตอนนั้นมีความระแวดระวังหรือตั้งคำถามกับบทบาทหน้าที่ของศาล โดยเฉพาะในความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน เราอาจจะระแวงหรืออาจต้องจับตามองหรือตั้งข้อสงสัยกับศาลมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่อันนี้ไม่ใช่ประเด็นสาธารณะในช่วงนั้น จึงเป็นการเปิดทางให้ฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาททางการเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น

พูดได้หรือเปล่าว่าสภาพการเมืองไทยตอนนี้ย้อนหลังกลับไปสู่เรื่องเดิมๆ เมื่อ 27 ปีก่อน อย่างหลักการว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง?

ผมคิดว่ามันไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ทำไมการรัฐประหารปี 2534 อยู่เพียงปีเดียวต้องจัดการเลือกตั้ง ขณะที่รัฐประหารปี 2557 ลากยาวมาได้ถึง 5 ปี ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดผลแบบนี้เพราะสังคมไทยแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน โดยฝักฝ่ายหนึ่งซึ่งมีเสียงดังในทางการเมืองหรือทางสังคมคือชนชั้นกลางหรือคนในเมืองไม่สู้จะไว้ใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งแตกต่างจากพฤษภาคม 2535 ที่แทบมองไม่เห็นคนที่ยืนอยู่ข้างคณะรัฐประหาร นอกจากเครือข่ายและพวกพ้องที่เกี่ยวข้อง แต่รัฐประหาร 2557 ไม่ใช่ ทุกวันนี้เราก็ยังเห็นคนที่ยังให้การสนับสนุน ทั้งที่เราเห็นว่าคณะรัฐประหารชุดนี้ดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยมากขนาดไหน แต่คนกลุ่มหนึ่งก็ยังยอมรับกับสภาพนี้อยู่ ผมคิดว่ามันเป็นความแตกต่างพื้นฐานที่ทำให้ทำไมเราจึงติดอยู่กับรัฐประหาร 2557 ค่อนข้างยาวนาน

อีกด้านหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลังพฤษภาคม 2557 เราเห็นเครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย เราเห็นกลุ่มคนที่เข้ามาเป็นเครือข่ายที่ปฏิเสธประชาธิปไตย แบบที่ตอน รสช. เราไม่เห็น เครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาก็เช่นองค์กรอิสระ เราเห็นองค์กรอิสระไม่ว่าจะ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ป.ป.ท. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำหน้าที่ให้การรับรองและความชอบธรรมกับคณะรัฐประหารสืบมาอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยแสดงให้เห็นถึงกลุ่มคนและสถาบันที่เกี่ยวข้องที่กว้างขวางมากกว่าตอนสมัย รสช. ซึ่งตอนนั้นเครือข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยไม่กว้างขวางและเป็นสถาบันมากขนาดนี้

เมื่อเป็นแบบนี้พอเกิดปัญหาขึ้น มันไม่ได้พุ่งไปที่คณะรัฐประหารโดยตรง แต่จะกระจายไปยังสถาบันและองค์กรต่างๆ เช่น จัดเลือกตั้งไม่ดี กกต. ก็โดนด่า จะยุบพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นคนทำ มันทำให้การตกเป็นเป้าในทางการเมืองกระจายออกไป คณะรัฐประหารก็เลยถอยฉากออกไปในทางการเมืองได้

ทำไมชนชั้นกลางไทยเปลี่ยนไปจากเมื่อ 27 ปีก่อน?

ที่ชนชั้นกลางไทยไม่แฮปปี้กับการเลือกตั้ง ผมคิดว่าหลังจากผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐธรรมนูญ 2540 สืบเนื่องมา สิ่งที่ชนชั้นกลางไทยพบก็คือเมื่อเอาคะแนนทั่วประเทศมารวมกันแล้ว เขากลายเป็นคนเสียงข้างน้อย ก่อน 2540 ชนชั้นกลางไทยยังสามารถล้มรัฐบาลได้ง่ายๆ แต่พอหลังรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะรัฐบาลทักษิณหรือคุณยิ่งลักษณ์ มาชุมนุมกันเป็นแสนยังไล่ไม่ได้ ผมคิดว่าชนชั้นกลางไทยเริ่มตระหนักว่าการเลือกตั้งไม่ใช่สถาบันการเมืองที่เราจะสามารถมีอำนาจเหนือได้ แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับคนที่ชนชั้นกลางไทยคิดว่าโง่กว่า ทั้งที่เรามีการศึกษาดีกว่า

ถ้าเราดูจากนโยบาย โดยเฉพาะเริ่มต้นจากคุณทักษิณเป็นต้นมา ผมคิดว่ามันทำให้ชนชั้นกลางไทยกำลังหวั่นวิตกว่าบัดนี้งบประมาณกำลังถูกแชร์ไปยังกลุ่มอื่นๆ อย่างกว้างขวาง รวมถึงกระจายอำนาจด้วย พวกนี้ทั้งหมดมันสะเทือนสถานะและความมั่นคงของชนชั้นกลางมากพอสมควร พอถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่ชนชั้นกลางไม่สู้จะแฮปปี้กับนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งสักเท่าไหร่ หรือเอาเข้าจริงๆ พวกเขาจำนวนมากไม่สู้จะไว้ใจระบบการเลือกตั้ง

คุณคิดว่าเป็นการถอยหลังหรือเปล่า?

ถอยหลังหรือเดินหน้า ผมคิดว่าตอบได้ยาก แต่ถ้าคิดจากบริบทที่เป็นภาพกว้างมากกว่าสังคมไทย ผมคิดว่าเราจะเห็นกระแสฝ่ายขวากลับมาในหลายประเทศ เอาเข้าจริงประชาธิปไตยก็สร้างปัญหาชุดหนึ่งที่เป็นปัญหาที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งเคยมีฐานะและความมั่นคงในทางสังคมรู้สึกว่าแบบนี้ไม่โอเค มันถอยหลังหรือเปล่า ผมว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทยที่เดียว หลายที่เราเห็นผู้นำแบบอำนาจนิยมเกิดขึ้น ผมคิดว่าระบอบประชาธิปไตยที่ใช้การเลือกตั้งเป็นฐาน พอถึงจุดหนึ่งมันก็เกิดปัญหาที่ทำให้เราต้องทำความเข้าใจและจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ถ้ามีระบบการเลือกตั้งที่เปิดกว้าง เสรี และเป็นธรรม รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งก็ต้องเอาใจคนเลือกตั้ง สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือการกระจายทรัพยากรออกไปให้ถึงคนที่มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ในสังคมไทยเสียงของคนไม่เท่ากัน มันก็มีเสียงของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าแบบนี้ไม่ได้ และเสียงกลุ่มนี้เคยเป็นเสียงหลักและสำคัญมาตลอด บัดนี้มันค่อยๆ ถูกลดทอนความสำคัญลง

ในแง่หนึ่งมันก็เป็นการทดสอบหลักการประชาธิปไตยในสังคมไทยว่า คนในสังคมไทยอาจจะไม่ได้เชื่อว่าคนเท่ากันมากเสียเท่าไหร่ ดังนั้น สิ่งที่ผมคิดว่าต้องผลักดันต่อ สู้กันต่อ คือวางหลักการนี้ในสังคมไทย ถามผม ผมก็ว่ามันไม่ได้ถอยหลังกลับไปแบบจอมพลสฤษดิ์ แต่มันน่าพึงพอใจไหม ก็ไม่หรอก แต่ผมคิดว่ามันไม่ได้อยู่บนเงื่อนไขเดียวกันทั้งหมด มันมีความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน เราอยู่ในสังคมช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เรียกว่าชนชั้นนำในระบบราชการสร้างสถาบันที่มีความสำคัญ มีอำนาจทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น เกาะกลุ่มกันมากขึ้น

ถ้าถามในมุมส่วนตัว จากที่เคยร่วมในเหตุการณ์ ตอนนี้สังคมไทยก็ยังวนอยู่แต่กับหลักการพื้นฐานเดิม คุณรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เคยลงแรงไปหรือเปล่า?

ผมไม่อยากใช้คำว่าเสียใจ แต่ผมพึงพอใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่หรือเปล่า ผมไม่พึงพอใจ เพราะในแง่หนึ่งแทนที่เราน่าจะขยับไปถกเถียงกันในเรื่องอื่นๆ ได้ แต่เราต้องกลับมาถกเถียงกันในเรื่องพื้นฐาน เอาเข้าจริง เพราะก่อนหน้านี้เราไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เช่น เราไม่เคยระแวดระวังสถาบันตุลาการ เราไม่เคยให้ความสำคัญกับการศึกษาสถาบันพระมหากษัตริย์ เราไม่สนใจเสนอการปฏิรูปสถาบันทหารในเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน พอเป็นแบบนี้ หลังพฤษภาคม เรารู้สึกว่าเราประสบชัยชนะแล้ว ไล่คุณสุจินดาได้แล้ว แต่โครงสร้างทั้งหมดยังเหมือนเดิม มันก็จะยังวนเวียนกลับมาได้ แต่ตอนนั้นคนไม่ค่อยตระหนักหรือสนใจ มันเป็นเพราะว่าเรายังไม่ได้ถกเถียงหรือทำความเข้าใจกับประเด็นต่างๆ อย่างมากพอที่จะทำให้นำไปสู่การปรับเชิงโครงสร้างหรืออุดมการณ์ มันน่าผิดหวังไหม ผมคิดว่ามันน่าผิดหวัง เป็นความผิดหวังเพราะคนที่ทำหน้าที่เป็นปัญญาชนสาธารณะอาจจะละเลยประเด็นที่มีความสำคัญหรือมีความหมายต่อการผลักดันให้เกิดระบอบประชาธิปไตย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net