Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในที่สุด การเคลื่อนไหวของม็อบฝ่ายขวาต่อต้านประชาธิปไตย ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็นำมายกระดับสู่ความรุนแรง ในเหตุการณ์วันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม โดยเวทีแห่งความรุนแรงก็คือ สนามราชมังคลาสถาน หัวหมาก ไปจนถึงบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งน่าจะทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์อันน่าเสียใจอย่างยิ่ง

เหตุการณ์เริ่มต้นจากการที่ฝ่าย นปช. (แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ได้จัดชุมนุมประชาชนคนเสื้อแดง ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน เป็นต้นมา เพื่อแสดงจุดยืนของประชาชนส่วนข้างมาก ที่สนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้บริหารประเทศต่อไป สาเหตุของการใช้สนามราชมังคลาก็คือ สนามกีฬาแห่งนี้มีขนาดใหญ่ที่จะจุคนได้จำนวนมาก และยังมีรั้วรอบขอบชิด โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.ได้แถลงว่า การจัดชุมนุมในสนามกีฬาก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า คนเสื้อแดงไม่ต้องการจะเผชิญหน้ากับม็อบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ถนนราชดำเนิน และตั้งใจจะระดมให้คนมาเข้าร่วมให้มากที่สุดในวันที่ 30 พฤศจิกายน เพื่อแสดงย้ำในเป้าหมายในการคัดค้านม็อบนกหวีดของนายสุเทพ

แต่ดูเหมือนว่า ฝ่ายม็อบนกหวีด และแนวร่วม คือ กลุ่ม คปท. (เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย) ต้องการจะยุยงให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกับกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่สนามราชมังคลา ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน ได้มีการรวมกลุ่มนักศึกษาและเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งจัดการชุมนุมที่บริเวณหอนาฬิกา หน้ามหาวิทยาลัย เพื่อคัดค้านการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยนายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มาร่วมกิจกรรมในที่ชุมนุมด้วย และเริ่มมีการปลุกเร้ากันว่า นักศึกษารามคำแหงถูกคนเสื้อแดงทำร้าย

ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน ได้มีการเรียกระดมการชุมนุมของนักศึกษารามคำแหงที่บริเวณหอนาฬิกาอีกครั้ง ได้มีการโหมกระพือข่าวเรื่องนักศึกษาหญิงถูกคนเสื้อแดงถอดนกหวีดและตบหน้า และกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงฉีกทำลายรูปพ่อขุน นายอภิมุข สินไชย อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงขึ้นเวทีปราศรัยเรียกร้องให้ผู้กำกับ สน.หัวหมาก มารับหนังสือจากนักศึกษาเพื่อหาคนเสื้อแดงที่กระทำผิดมาลงโทษ และยังกล่าวด้วยว่า ถ้าหากไม่สามารถเอาการ์ดเสื้อแดงที่ทำร้ายนักศึกษาหญิงได้ นักศึกษาก็จะไปปิดทางเข้าสนามกีฬา ทั้งที่ข้อกล่าวหาทั้งหมดที่นำมาปลุกเร้าน่าจะเป็นข้อมูลเท็จ เพราะก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนแต่อย่างใดเลย

จากนั้น ในเวลาเย็น ก็ได้เริ่มมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งไปตั้งกลุ่มดักทำร้ายคนเสื้อแดงที่นั่งรถผ่านหน้ามหาวิทยาลัย ไปตั้งกลุ่มตรวจคนเสื้อแดงที่หน้าวัดเทพลีลา ได้มีการทุบทำลายรถเมล์สาย 145 คันหนึ่ง และพยายามสกัดรถแท็กซี่ที่บรรทุกคนเสื้อแดง และนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งพยายามเคลื่อนไปทางสนามราชมังคลา ทำให้สถานการณ์ตึงเครียด ต่อมาเวลาตกค่ำ เหตุการณ์จึงลุกลามเป็นการปะทะกัน และนำมาสู่การเสียชีวิตคือฝ่ายนักศึกษาเสียชีวิต 1 คน ชื่อ นายทวีศักดิ์ โพธิแก้ว ส่วนฝ่ายคนเสื้อแดงเสียชีวิต 3 คน คือ  นายวิโรจน์ เข็มนาค พลทหารธนสิทธิ์ เวียงคำ และ นายพิษณุ เภาภู่

และผลจากความรุนแรงเช่นนี้ ทำให้ฝ่าย นปช.ตัดสินใจที่จะปิดการชุมนุมในเวลาเช้าของวันที่ 1 ธันวาคม เพื่อจะป้องกันไม่ให้มีการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงอีกต่อไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและมีความรับผิดชอบ เพราะส่วนหนึ่งเป้าหมายในการชุมนุมเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนเสื้อแดงจำนวนมากสนับสนุนรัฐบาลก็บรรลุเป้าหมายแล้ว

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายสนับสนุนม็อบสุเทพ ก็ได้สร้างข่าวและเผยแพร่ข่าวในทิศทางตรงข้าม เช่น ออกข่าวว่า กลุ่มคนเสื้อแดงเผาร้านค้าที่รามคำแหง 24 และสุมยางรถยนต์ด้านหลังมหาวิทยาลัย บ้างก็ออกข่าวว่า คนเสื้อแดงอาวุธครบมือ เปลี่ยนเป็นชุดปกติห้อยนกหวีดกระจายกันไปทำร้ายผู้ชุมนุม บ้างก็ว่ากำลังของคนเสื้อแดงไปปิดล้อมดักทำร้ายนักศึกษาที่ออกจากมหาวิทยาลัย บ้างก็อ้างว่า คนเสื้อแดงมีอาวุธร้ายแรงจำนวนมากที่เตรียมมาก่อความวุ่นวาย และได้มีการรายงานข่าวถึงนักศึกษาที่เสียชีวิต โดยไม่กล่าวถึงการเสียชีวิตของฝ่ายคนเสื้อแดงเลย

ดังนั้น นักวิชาการเช่น พวงทอง ภวัครพันธุ์ จึงตั้งประเด็นให้เห็นว่าความรุนแรงไม่น่าจะเกิดจากฝ่ายคนเสื้อแดง ด้วยคำถามว่า “ถามจริงๆ เพื่อนๆ ที่สนับสนุนม๊อบนกหวีด ไม่เห็นหรือว่า ฝ่าย นปช.ชุมนุมอยู่แต่ในสนามกีฬา ไม่ได้สั่งเคลื่อนคนไปไหน ไม่ได้สั่งให้ไปล้อมใคร ไม่เห็นหรือว่าฝ่ายไหนสั่งระดมคนให้ไปรวมตัวที่ราม พยายามบุกเข้าไปในรัชมังคลา ไล่ทำร้ายคนที่เดินผ่านหน้าราม”

อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมด้วยว่า ถ้าฝ่ายคนเสื้อแดงต้องการก่อกวนแล้ว เหตุใดเล่าเมื่อม็อบของฝ่ายสุเทพชุมนุมมานานกว่าเดือนแล้ว คนเสื้อแดงยังไม่เคยไปก่อกวนแม้แต่ครั้งเดียว ข้ออ้างที่ว่าคนเสื้อมีอาวุธร้ายแรง ทำไมจึงไม่ใช้ตอบโต้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นฝ่ายนักศึกษาและม็อบสุเทพคงบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากมายไปแล้ว ทั้งที่ฝ่าย นปช.สั่งสลายการชุมนุมไปหมดแล้ว ทำไมยังเชื่อกันว่า คนเสื้อแดงไปล้อมมหาวิทยาลัยรามคำแหง จนนักศึกษามือเปล่านับพันคนไม่สามารถออกจากมหาวิทยาลัยได้ ต้องให้ทหารไปช่วย

ผลของการสร้างข่าวและเผยแพร่ข่าวลักษณะเช่นนี้ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ภายในสังคมไทยดีขึ้นเลย แต่กลับเป็นการโหมกระพือให้เกิดความเกลียดชังต่อฝ่ายคนเสื้อแดงให้มากยิ่งขึ้น และจะยิ่งทำให้สังคมไทยแตกแยกกันมากยิ่งขึ้น ถ้าตระหนักในความจริงที่ว่าฝ่ายคนเสื้อแดงก็มีจำนวนมาก และอาจจะมากกว่ามวลชนของฝ่ายนายสุเทพที่เคลื่อนไหวก่อความวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ด้วยซ้ำ

ในท่ามกลางภาวะเช่นนี้เห็นได้ว่า สังคมไทยกลายเป็นสังคมเลือกเชื่อ กลุ่มชนชั้นกลาง สลิ่ม กลุ่มเกลียดทักษิณ พากันเลือกเชื่อแต่ข้อมูลที่สอดคล้องกับจริตของตนเอง และปิดรับข้อมูลด้านอื่น จากนั้น ก็อธิบายสร้างดราม่ากันในกลุ่มที่เชื่อแบบเดียวกัน วิธีการเช่นนี้ไม่ได้เจริญสติปัญญา แต่จะยิ่งนำไปสู่ความคับแคบทางความคิดมากยิ่งขึ้น

จนถึงขณะนี้ กลุ่มของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ตั้งเป็นคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ก็ยังคงเคลื่อนไหวยึดและปิดล้อมสถานที่ราชการหลายแห่งต่อไป ทั้งที่เป้าหมายและวิธีการดำเนินงานทั้งหมดก็ไม่ถูกต้องเลย แต่กลุ่มราชนิกูล ชนชั้นกลาง และพวกสลิ่มเหล่านี้ ก็ยังหาเหตุผลสนับสนุนกันต่อไป

ดังนั้น คงต้องถามกันอีกเรื่องหนึ่งว่า เคยคิดล่วงหน้ากันไหมว่า ถ้าหากว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการม็อบนกหวีดชนะในการต่อสู้ครั้งนี้ การเมืองไทยข้างหน้าจะดำเนินไปอย่างไร ภายใต้ระบอบอะไร และสถานะของประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในระบบการเมืองของโลก และสำหรับเหตุการณ์ในประเทศ จะจัดการอย่างไรกับกลุ่มคนเสื้อแดง และฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอบได้เลยว่า ถ้าคุณสุเทพเป็นฝ่ายชนะ ก็คงต้องใช้ความรุนแรงในการปราบปรามเช่นที่เคยทำมา ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วบ้านเมืองไทยจะสงบได้หรือ

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ โลกวันนี้ ฉบับ 441 วันที่ 7 ธันวาคม 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net