Skip to main content
sharethis

12 ธ.ค.2556 วานนี้ (11 ธ.ค.) เวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดเชียงราย นัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.513/2555 ระหว่างฝ่ายโจทก์ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย กับฝ่ายจำเลย อรรถกร กันทไชย และพวก รวม 5 คน ซึ่งเป็นแกนนำและดีเจสถานีวิทยุของกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงราย ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จากกรณีเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553

โดยศาลแจ้งฝ่ายจำเลยว่า ขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป เนื่องจากศาลต้องส่งให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจคำพิพากษาก่อน ศาลและฝ่ายจำเลยจึงได้ตกลงกันเลื่อนฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 9.00 น.


กลุ่มคนเสื้อแดงเชียงรายมอบดอกไม้ให้กำลังใจฝ่ายจำเลย

คดีนี้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 ในขณะที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ และกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงรายได้รวมตัวกันที่ถนนหน้ากองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ก่อนจะพากันเดินไปยังศาลากลางจังหวัด เพื่อทำการยื่นหนังสือผ่านจังหวัด ขอให้รัฐบาลในขณะนั้นอย่าได้มีการใช้ความรุนแรงต่อคนเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์

จนเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.53 ทางสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงรายได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่แกนนำ 5 คน ได้แก่ นายอรรถกร กันทไชย, นายธนิต บุญญนสินีเกษม, นายวิทยา ตันติภูวนาท, นางพิมพ์นารา หนองหารพิทักษ์ และนายทรงธรรม คิดอ่าน โดยคดีแยกเป็น 2 ส่วน คือกรณีนายธนิต นายวิทยา และนางพิมพ์นารา ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 โดยชักชวนและจัดให้มีการชุมนุมและมั่วสุมกันของประชาชนตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง จากการปิดกั้นเส้นทางหลวง

ส่วนนายทรงธรรม และนายอรรถกร ไม่ได้ไปร่วมชุมนุม แต่ได้จัดรายการในสถานีวิทยุชุมชนคลื่น 107.5 MHz จึงถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรื่องการชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และเรื่องการเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว และทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ โดยฝ่ายจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 26 ก.ค. 2554 สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย ได้ออกคำสั่งไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย แจ้งให้ยุติการดำเนินคดีนี้แล้ว แต่ในภายหลังทางอัยการเชียงรายกลับยังคงดำเนินการสั่งฟ้องคดีนี้อยู่ (ดูเพิ่มเติม อัยการเตรียมสั่งฟ้องดีเจวิทยุชุมชนเสื้อแดงเชียงรายอีกครั้ง หลังเคยสั่งยุติดำเนินคดีไปแล้ว)

นายธนิต บุญญนสินีเกษม หนึ่งในจำเลยของคดี เล่าว่ากรณีนี้เกิดขึ้นในระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ในปี 2553 คนเสื้อแดงเชียงรายที่ไปชุมนุม ขากลับเสียชีวิตอยู่ 5 ราย เพราะอุบัติเหตุ และมีคนเชียงรายไปชุมนุมกันเยอะมาก ญาติพี่น้องก็ไม่อยากให้มีการบาดเจ็บล้มตายกันขึ้นมาจากการกระทำความรุนแรงของรัฐบาลในตอนนั้น จึงมีการรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐบาล ผ่านทางจังหวัด ขอให้ไม่ใช้ความรุนแรงและรักษาของชีวิตประชาชนไว้ โดยมีคนไปร่วมขบวนยื่นหนังสือราว 1,000 คน ไม่ได้มีการตั้งเวทีแต่อย่างใด และเมื่อยื่นหนังสือเสร็จแล้วก็กลับ

นายธนิตเล่าว่าทางฝ่ายจำเลยได้ต่อสู้คดีกันเองทั้งหมด โดยได้กลุ่มทนายความจากสำนักราษฎรประสงค์มาช่วยว่าความให้ และในคดีนี้ ได้เคยแถลงกับศาลว่าเราพูดกันไม่รู้เรื่อง โดยทางเจ้าหน้าที่รัฐพูดถึงอำนาจ การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่เราในฐานะประชาชน เราพูดถึงเรื่องสิทธิ การไปยื่นหนังสือเราทำในฐานะประชาชน ทำโดยเอามนุษยธรรมเป็นใหญ่ เพื่อจะรักษาชีวิตของประชาชนไว้ ไม่ให้ถูกใช้ความรุนแรง มันก็เลยเป็นการพูดกันคนละเรื่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net