Skip to main content
sharethis

‘โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม’ และ ‘นันทิดา รักวงษ์’ อดีตทีมกฎหมายของกลุ่มคนเสื้อแดง (นปช.) เล่าย้อนถึงกระบวนการให้สัตยาบัน ICC ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน รวมถึงข้อติดขัดทางการเมืองที่ทำให้ไทยไม่สามารถนำเรื่องการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ ICC ได้ 

  • ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เป็นศาลระหว่างประเทศที่ช่วยปกป้องบุคคลจากการก่ออาชญากรรมร้ายแรงของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐและติดตามดำเนินคดีผู้กระทำความผิดที่แม้จะมีการนิรโทษกรรมก็ไม่ช่วยทำให้การกระทำความผิดพ้นไปได้
  • ICC ถูกจัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญกรุงโรม 2002 โดยประสงค์จะให้เป็นส่วนเสริมของระบบยุติธรรมที่แต่ละประเทศมีอยู่ จึงมีเขตอำนาจเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขเท่านั้น เช่น กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศนั้นไม่มีเจตจำนงในการดำเนินคดี หรือไม่มีความสามารถเพียงพอในการดำเนินคดี
  • ICC จึงเป็นหนึ่งในกลไกที่ใช้คัดง้างกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ICC ทำให้ไทยไม่สามารถใช้กลไกดังกล่าวในการนำตัวผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองและการสังหารหมู่ประชาชนที่เกิดขึ้นแทบทุกๆ 10 ปีมาลงโทษได้
  • โอกาสนี้ ‘โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม’ และ ‘นันทิดา รักวงษ์’ อดีตทีมกฎหมายของกลุ่มคนเสื้อแดง (นปช.) เล่าย้อนถึงกระบวนการให้สัตยาบัน ICC ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ไล่เรียงตั้งแต่เหตุผลที่ตัดสินใจว่าความให้คนเสื้อแดง ความรู้สึกเมื่อได้พบปะกับมวลชน ขั้นตอนการทำงานของทีมทนายความ รวมถึงข้อติดขัดทางการเมืองที่ทำให้ไทยไม่สามารถนำเรื่องการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ ICC ได้ 

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 65 เวลา 20.00 น. ทางทวิตเตอร์สเปซ มีการเสวนาในประเด็น ‘ICC ความยุติธรรมของคนตาย’ ร่วมพูดคุยโดย ‘นันทิดา รักวงษ์’ อดีตคนเสื้อแดงและทีมกฎหมาย ‘โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม’ อดีตทนายความของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไล่เรียงตั้งแต่เหตุผลที่ตัดสินใจว่าความให้คนเสื้อแดง ความรู้สึกเมื่อได้พบปะกับมวลชน ขั้นตอนการทำงานของทีมทนายความ รวมถึงข้อติดขัดทางการเมืองที่ทำให้ไทยยังไปไม่ถึงการให้สัตยาบัน ICC ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนากล่าวย้ำตลอดพูดคุยว่า การออกมาพูดในครั้งนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวในมุมคนที่ทำงานด้านกฎหมาย ไม่มีใครจ้างให้มาพูดและก็ไม่ได้พูดในนามพรรคการเมืองใด โดยต้องการเพียงเล่าถึงเรื่องขั้นตอนการทำงานในอดีตและประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น

‘โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม’ คือใคร

โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม (กลาง) นันทิดา รักวงษ์ (ขวา) และจตุพร พรหมพันธุ์ (ซ้าย) ภาพเมื่อวันที่ 19 พ.ค.56 ในกิจกรรมรำลึกสลายการชุมนุมเสื้อแดง

โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม หรือ ‘บ็อบ’ ทนายความจากสำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศมากว่า 40 ปี คดีที่ทำส่วนมากเป็นคดีการเมือง เคยได้รับการว่าจ้างจากทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือคดีทางการเมืองของกลุ่มนปช. ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาและได้หมดสัญญาจ้างในปี 2557 ส่วนบทบาทของเขาในปัจจุบัน คือ การให้คำแนะนำรัฐบาลประเทศต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมาย รวมถึงบริษัทข้ามชาติเกี่ยวกับคดีที่มีข้อพิพาททางกฎหมาย นอกจากนี้ยังทำงานด้านกฎหมายหลายเคสที่ทำโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ทำไมจึงเลือกทำคดีให้คนเสื้อแดง

อดีตทนายความของกลุ่มนปช. เล่าถึงเหตุผลที่ตัดสินใจว่าความให้คนเสื้อแดงว่า เขาประทับใจในการต่อสู้ที่กล้าหาญของมวลชนรากหญ้ากลุ่มนี้ หลังจากที่มีเหตุการณ์สังหารประชาชนในปี 2553 เพื่อนของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ติดต่อมาให้เป็นทนายความให้คดีของคนเสื้อแดง ซึ่งเขาก็รับงานนี้เพราะอยากช่วยคนเสื้อแดงอย่างแท้จริง ไม่ได้เกี่ยวกับว่านายจ้างเป็นทักษิณแต่อย่างใด

"ประมาณวันที่ 14 พ.ค. ในปีเดียวกันนั้น ผมตัดสินใจเดินทางเข้าประเทศไทย ตอนที่เดินทางมาถึง ผมได้กลายเป็นพยานรู้เห็นด้วยตาของตัวเอง ว่าตอนนั้นในโซนที่เสื้อแดงอยู่กลายเป็นพื้นที่อันตรายเพราะว่าทางทหารได้จัดเป็นโซนแยกต่างหาก ใครเข้าไปก็จะโดนยิง

"คืนแรกในกรุงเทพ แกนนำคนเสื้อแดงได้ติดต่อผมมาว่าจะมีรถตู้มารับที่โรงแรม แล้วจะพรางตัวด้วยการห่อตัวผมในเสื่อ รถตู้จะวิ่งด้วยความเร็วสูงมากเพื่อเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

"ตอนนั้นผมไม่มีความรู้มากเท่าไหร่เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมืองไทย แต่ว่าตอนที่ผมเดินไปรอบๆ บริเวณที่ชุมนุม ก็เห็นว่าทหารมีอาวุธครบมือซึ่งอาวุธเหล่านั้นเป็นแบรนด์อเมริกา"

อดีตทนายความของกลุ่ม นปช. เล่าถึงเหตุการณ์ที่นักข่าวคนไทยที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมบอกกับเขาว่า "คนเสื้อแดงคือคนที่ถูกทักษิณจ้างมา" เขาจึงถามคนเสื้อแดงผ่านล่ามว่าพวกคุณถูกจ้างมาจริงหรือเปล่า ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันหมดว่า "มาด้วยตัวของเขาเอง" เหตุผลก็เพราะว่ารัฐบาลของทักษิณมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคแล้วก็เป็นรัฐบาลแรกที่ยอมรับคนจนว่าเป็นคนที่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่รัฐบาลอื่นๆ ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีนโยบายนี้มาก่อน หลังจากนั้นเขาได้เจอและหารือกับแกนนำหลังเวที โดยมุ่งหวังที่จะให้การประท้วงครั้งนี้จบลงอย่างสันติ ทั้งนี้ก็ยังได้พูดคุยกับคนเสื้อแดงว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมทหารถึงใช้อาวุธสงครามมาทำร้ายประชาชนที่ไม่มีอาวุธ หลังจากได้พูดคุย สิ่งที่เขาเข้าใจโดยเร็วก็คือ ฝ่ายทหารได้ก่อตั้งกลุ่มชายชุดดำขึ้นมา โดยใช้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ‘False Flag’ หมายถึงการให้ทหารปลอมตัวเข้ามาปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุมแล้วก่อความวุ่นวายขึ้น เพื่อที่จะให้มีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุม ตัวเขาประทับใจในความกล้าหาญของคนเสื้อแดง มาทราบทีหลังว่าคนที่เข้ามาคุยกับเขาในที่ชุมนุม บางคนเสียชีวิตหลังจากนั้น บางคนได้รับบาดเจ็บสาหัส และเขามีโอกาสพูดคุยกับครอบครัวของผู้เสียหายจากการสังหารหมู่ครั้งนี้ด้วย 

"กองทัพไทยได้จัดให้มีกลุ่มทหารลับ พลซุ่มยิงสไนเปอร์ กระจายตัวทั่วกรุงเทพ และสังหารคนเสื้อแดงคนหนึ่งที่กำลังให้สัมภาษณ์กับนักข่าวนิวยอร์กไทม์อย่างเลือดเย็น’"

(บุคคลดังกล่าว คือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ ‘เสธ.แดง’ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ถูกยิงเข้าที่ศีรษะระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศบริเวณลิฟต์ขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลมฝั่งสวนลุมพินี เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2553) 

โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ภาพเมื่อวันที่ 19 พ.ค.56 ในกิจกรรมรำลึกสลายการชุมนุมเสื้อแดง

อดีตทนายความของกลุ่ม นปช. เสริมว่า ณ เวลานั้น เขาและทีมงานกระจายตัวไปสัมภาษณ์นายทหารที่รับไม่ได้กับการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มคนเสื้อแดง แล้วก็รับรู้ว่าจริงๆ แล้ว กลุ่มเป้าหมายหลักที่ทหารจ้องเล่นงานคือนักข่าวและเจ้าหน้าที่กู้ภัย เพราะว่าคนเหล่านี้คือพยานสำคัญที่เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่ทหารกระทำต่อคนเสื้อแดง คนเหล่านี้จะเป็นคนที่กระจายข้อมูลไปสู่สังคมภายนอก

สังหารโหดปี 53 เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

"ตอนที่ผมพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ผู้พิพากษาจากศาล ICC บินมาที่กรุงเทพ แล้วก็มาบอกว่าผมโง่" อดีตทนายความของกลุ่ม นปช. กล่าว และเล่าว่า พฤติกรรมการสังหารโหดประชาชนในปี 2553 เป็นการเข้าองค์ประกอบของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยในตอนแรกเขาทราบว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกของ ICC ทำให้ไม่สามารถที่จะยื่นคำร้องต่อ ICC ได้ในแนวทางทั่วไป

ม.ค. 2554 หลังจากทีมกฎหมายรวบรวมพยานหลักฐานที่ประเทศไทย ทางสำนักงานกฎหมายร่วมกับนปช.ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาล ICC เข้ามาทำการสอบสวนอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในไทย โดยระบุว่าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเกิดที่อังกฤษจึงถือสัญชาติอังกฤษ สืบเนื่องจากกฎหมายสัญชาติอังกฤษปี 1948 (British National Act 1948) ที่ระบุไว้ว่าด้วยบุคคลที่เกิดในประเทศอังกฤษก็จะได้สัญชาติอังกฤษยกเว้นแต่ว่าบุคคลนั้นจะสละสัญชาติเอง ซึ่งอังกฤษเป็นรัฐสมาชิกของศาล ICC จึงเป็นเหตุผลให้ศาล ICC มีอำนาจในการสอบสวน

ภาพเมื่อวันที่ 19 พ.ค.56 ในกิจกรรมรำลึกสลายการชุมนุมเสื้อแดง

"ตามมาตรา 12b(2) ตามธรรมนูญกรุงโรมแห่งศาล ICC ระบุว่า ถ้าหากผู้กระทำความผิดมีสัญชาติของประเทศที่ให้สัตยาบัน ICC จะทำให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีนั้นๆ ได้ ผมจัดงานแถลงข่าวที่โตเกียวเรื่องที่ว่าจะนำคดีสังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2553 ไปยื่นต่อศาล ICC โดยตอนที่จัดงานแถลงข่าว ในช่วงแรกผมยังไม่ได้บอกทุกคนว่าอภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษ ทำให้บางกอกโพสต์ที่เป็นสื่อที่เข้าข้างรัฐบาลประณามว่าผมเป็นคนหลอกลวง ผมก็เลยถามกลับไปว่าทำไมเป็นถึงหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ แต่ไม่ได้ไปหาข้อมูลเหรอว่านายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นคนที่มีสัญชาติอังกฤษด้วย

อดีตทนายความของกลุ่ม นปช. กล่าวเสริมว่า ในตอนนั้นอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้ยอมรับว่าตัวเองมีสัญชาติอังกฤษหลังจากนั้นเขาจึงโพสต์หลักฐานที่ระบุว่านอกจากอภิสิทธิ์จะเป็นคนอังกฤษแล้ว ยังเคยใช้สิทธิในฐานะคนอังกฤษในการเลือกตั้งสมัยที่เป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หลังจากที่ยื่นคำร้องจำนวนหลายร้อยหน้าไปที่ ICC ก็มีการพบปะกับอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ และอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าศาล ICC จริงจังกับประเด็นของไทยมาก

"ผมขอชื่นชม คารวะในความกล้าหาญของคนเสื้อแดง เพราะการจะนำคำร้องไปยื่นต่อศาล ICC นี่มีความเสี่ยงมากโดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่คนที่อยู่ต่างประเทศแบบผม ในตอนนั้นนอกจากการสังหารหมู่ก็มีการควบคุมโดยทหารซึ่งก็เป็นสถานการณ์ที่อันตราย" อดีตทนายความของกลุ่ม นปช. กล่าว

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ความยุติธรรมคืบหน้า แต่ไม่ถึงศาล ICC

ข้อมูลจากประชาไทเรียบเรียงไว้ว่า เมื่อเดือนก.ค. 2554 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเข้ามาแทนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ด้วยเสียงข้างมาก เมื่อมีรัฐบาลของประชาชน กระแสการถกเถียงในประเด็นการเยียวยาผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารหมู่ปี 53 ก็กลับมาอีกครั้ง การรณรงค์ให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบัน ICC ก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะแรงกดดันจากผู้สูญเสียอย่างกลุ่มนปช. และรัฐบาลไทยยังถูกทวงถามการเข้าร่วมเป็นภาคีบนเวทีการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) ที่สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรุงเจนีวา ในปีเดียวกันด้วย แต่รัฐบาลไม่มีการตอบอะไรในเรื่องนี้ 

เมื่อรัฐบาลยังนิ่ง โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม จึงดำเนินการเอง โดยทำข้อมูลเหตุการณ์สลายการชุมนุมและยื่นคำร้องต่ออัยการ ICC เพื่อให้ดำเนินการสืบสวนเบื้องต้น และเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยื่นฟ้องต่อ ICC อีกทางหนึ่ง แต่ความพยายามเหล่านี้ก็ติดอุปสรรคสำคัญคือ ตราบใดที่รัฐบาลไทยยังไม่ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีกับ ICC ก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรต่อได้

เมื่อปี 2555 ฟาตู เบนโซดา (Fatou Bensouda) อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยและเข้าพบกับสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับขั้นตอนการยอมรับเขตอำนาจ ICC ท่ามกลางข้อถกเถียงว่า การให้สัตยาบันต้องผ่านความเห็นชอบของสภาก่อนหรือไม่ ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 แต่สุดท้ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่ดำเนินการอะไร จนกระทั่งถูกรัฐประหารไปเมื่อพ.ค. 2557

อย่างไรก็ดี ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ คดีของผู้เสียชีวิตเข้าสู่กระบวนการไต่สวนการตายได้ถึง 30 กว่าศพ แม้ยังไม่มีคดีใดฟ้องเป็นคดีอาญา แต่ระหว่างขั้นตอนไต่สวนการตายก็มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการของทหารและชื่อของทหารและผู้เกี่ยวข้องกับปฎิบัติการในหลายคดี บางคดีศาลวินิจฉัยว่าเป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของทหารด้วย เช่น คดีของพัน คำกองและ 6 ศพวัดปทุมวนาราม

รัฐประหาร 57 และความยุติธรรมที่หยุดนิ่ง

อดีตทนายความของกลุ่มนปช. กล่าวว่า หลังจากที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายปีทำให้มองว่ากระบวนการตุลาการในประเทศไทยไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเป็นกระบวนการที่มาจากกฎหมายที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัฐประหารในปี 2557 เป็นความพยายามของกองทัพที่จะหยุดกระบวนการยุติธรรม เพราะหัวหน้าคณะรัฐประหารที่มีความต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีส่วนร่วมในการสังหารคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 แน่นอนว่าเขาย่อมไม่ให้กระบวนการยุติธรรมนี้มันดำเนินต่อไปได้ อีกหนึ่งปัญหาคือศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือของฝ่ายชนชั้นนำเสมอมา เราจะต้องประณามนักกฎหมายที่พยายามจะสร้างความชอบธรรมให้กับเผด็จการ โดยที่ไม่ได้ปฏิบัติหลักกฎหมายตามหลักสิทธิมนุษยชน 

ยุติวัฒนธรรมทำผิดแล้วลอยนวลของรัฐ เหตุผลสำคัญที่ไทยควรลงนาม ICC

อดีตทนายความของกลุ่มปนช.กล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่ไทยควรลงนาม ICC ว่าประเทศไทยไม่มีวัฒนธรรมการรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ (Accountability) ฉะนั้นการเข้าร่วม ICC จะช่วยวางหลักการนี้ เพราะชนชั้นนำของประเทศไทยรวมถึงพล.อ.ประยุทธ์จะรู้ว่าพวกเขามีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี ดังนั้นการเข้าร่วม ICC ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตามจะช่วยวางหลักการเรื่องการรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในกรณีรัฐประหารและการสังหารหมู่ประชาชนที่เกิดขึ้นในเมืองไทยแทบจะทุกๆ 10 ปี’ 

เขากล่าวเสริมอีกว่า ในปัจจุบันมีกฎหมายแมกนิตสกี (Global Magnitsky Act) ของสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้รัฐบาลสหรัฐฯ คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างชาติทั่วโลกที่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดด้านสิทธิมนุษยชน ระงับทรัพย์สินของตน และห้ามไม่ให้เข้าสหรัฐฯ โดยสามารถที่จะคว่ำผู้นำเป็นรายคนได้ เช่น ประยุทธ์ เป็นต้น ซึ่งในตอนที่ทำคดีเสื้อแดงยังไม่มีกฎหมายตัวนี้ออกมา อีกกรณีนึงคือเราต้องเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการค้าอาวุธกับกองทัพไทย เพราะไทยมีประวัติการใช้อาวุธมาสังหารประชาชน 

ในช่วงที่ทำคดีให้คนเสื้อแดง ทนายบ็อบมีโอกาสได้คุยกับฝั่งทหาร ชนชั้นนำ หรือรัฐบาลไทยมากน้อยแค่ไหน

โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม กล่าวว่า เขาพยายามที่จะคุยกับทหาร แต่ฝั่งนั้นเหมือนไม่อยากที่จะคุยด้วย แต่ก็จะมีทหารบางคนที่ทำงานช่วยทีมกฎหมายโดยที่เอาข้อมูลมาให้ ส่วนถ้าพูดถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์เนี่ยไม่สนใจที่จะคุยด้วยเลย ที่จริงแล้วรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้สนใจจะแก้ปัญหาด้วยการใช้สันติวิธีอยู่แล้ว ซ้ำยังมีความมุ่งหมายที่จะกำจัดขบวนการเสื้อแดงไปให้สิ้นซาก ทำเหมือนคนเสื้อแดงไม่ใช่มนุษย์

เปิดอุปสรรค ทำไมไทยยังไปไม่ถึง ICC 

นันทิดา อดีตคนเสื้อแดงและทีมกฎหมาย ผู้ร่วมทำงานให้กับทีมกฎหมายของโรเบิร์ตตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2553 กล่าวถึงอุปสรรคในแง่กระบวนการทำงานว่า ความยากในการทำคำร้องคือการต้องสัมภาษณ์พยานผู้อยู่ในที่เกิดเหตุและเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งหลายๆ คนต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากที่จะเอาเรื่องนี้มาให้ปากคำกับเรา หลังจากที่มีการรวมรวมคำร้องโดยทีมกฎหมายของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมแล้ว เราก็ต้องยื่นต่อศาล ICC และต้องสื่อสารกับอัยการเยอะมากในเรื่องของคนเสื้อแดงเพราะคนต่างชาติไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ด้วยความที่สื่ออย่างเดอะเนชั่นหรือบางกอกโพสต์ที่เป็นสื่อภาษาอังกฤษก็เขียนประนามคนเสื้อแดงว่าเป็นผู้ก่อการร้าย คนต่างชาติที่อ่านเพื่อที่จะเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยเขาก็มองว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ร้าย ฉะนั้นการที่เราจะสื่อสารกับอัยการว่าคนเสื้อแดงเป็นประชาชนธรรมดาที่มาเรียกร้องประชาธิปไตย จึงค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร ทั้งนี้ศาล ICC ก็มีทรัพยากรที่จำกัด ศาลรับผิดชอบหลายคดี เขาก็ต้องเลือกทำเฉพาะคดีที่มูล

ส่วนอุปสรรคด้านการเมืองที่ทำให้ไทยยังไม่ได้เข้าร่วม ICC เธอกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ประมุขของรัฐหรือกษัตริย์สามารถถูกดำเนินคดีในศาล ICC ได้ ทำให้ฝ่ายการเมืองมัวแต่กังวลว่าธรรมนูญกรุงโรมจะกระทบกับการคุ้มกันประมุขของประเทศตามรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่เธอก็ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายไปทางพรรคเพื่อไทย กรณีปี 53 อภิสิทธิ์และสุเทพเป็นผู้ลงนามสั่งการปราบปรามทั้งหมด ไม่มีการลงปรมาภิไธย ฉะนั้นการฟ้องร้องจะไม่ได้เกี่ยวข้องประมุขของรัฐแต่อย่างใด ทั้งนี้การลงนามยอมรับอำนาจศาล ICC ชั่วคราวตามมาตรา 12(3) ธรรมนูญกรุงโรมคือคำแถลงฝ่ายเดียวเป็นการกระทำของฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นการกระทำที่มีผลผูกพันรัฐที่จะกระทำหรืองดเว้นการกระทำบางอย่าง ดังนั้นรัฐบาลจึงสามารถลงนามได้เลยไม่ต้องผ่านสภา 

รายชื่อบุคคลที่ถูกฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

รายชื่อบุคคลที่ถูกฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ มี 15 คน รวมถึง อภิสิทธิ์ สุเทพ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ที่มีบทบาทในการทำรัฐประหารปี 57 

"ถามว่ามันมีเหตุผลอะไรที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนั้น ไม่ลงนามมาตรา 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรม ศาล ICC ถ้าพูดมันก็เป็นความเห็นส่วนตัว เพราะเราก็ไม่รู้แน่ชัดว่าทำไม เพราะเรารู้สึกว่า… มันก็อาจจะยากก็ได้ เพราะมันไปเกี่ยวกับผู้มีอำนาจหลายฝ่าย เขาอาจจะกลัวว่ากษัตริย์จะโดนฟ้องร้องได้ เพราะตามมาตรา 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรม ศาล ICC กษัตริย์ก็ไม่ถูกยกเว้น แต่ว่ารายชื่อของคนที่เราส่งไปมันไม่ได้มีรายชื่อคนทางวัง จะมีแค่รายชื่อของทางทหารแล้วก็ทางการเมืองอย่างเดียว

อดีตคนเสื้อแดงและทีมกฎหมายกลุ่มนปช. กล่าวเสริมว่า ชนชั้นนำไทยกลัวการให้สัตยาบัน ICC เพราะพวกเขากลัวเรื่องการรับผิด พวกเขาต้องการที่จะออกมาสังหารประชาชนได้โดยที่รู้ว่าฆ่าไปวันนี้ก็ไม่ต้องเข้าคุก อาจจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือตำแหน่งใหญ่โตได้ แต่ถ้ามีการนำหลักการ ICC เข้ามาใช้ มันก็จะเป็นการวางหลักการแล้วว่าคุณทำแบบนั้นไม่ได้ในระดับนานาชาติ

‘ดีลนิรโทษกรรมเหมาเข่ง’ ขัดแย้ง ‘หลักการ ICC’

ในช่วงปลายปี 2556 มีกระแสการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง หรือนิรโทษกรรมแบบสุดซอย ของพรรคเพื่อไทย ทำให้เกิดการจัดตั้งกลุ่ม ‘ม็อบนกหวีด’ หรือ กปปส. มาต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ลามไปถึงการสนับสนุนให้กองทัพออกมาทำรัฐประหารเพื่อล้มประชาธิปไตย

โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมและ นันทิดา รักวงษ์ ภาพเมื่อวันที่ 19 พ.ค.56 ในกิจกรรมรำลึกสลายการชุมนุมเสื้อแดง

นันทิดา เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่เธอเดินทางไปพบอัยการศาล ICC โดยที่พาทั้งญาติผู้เสียชีวิต แกนนำนปช. อ.ธิดา (ธิดา ธาวรเศรษฐ แกนนำนปช.) และ อ.ธงชัย (ธงชัย วินิจจะกูล อดีตแกนนำขบวนการนักศึกษาปี 2519 และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน) ไปกับเธอด้วย เหตุผลที่ต้องพาคนเหล่านี้ไปด้วย ก็เพราะต้องการอธิบายกับ ICC ว่าการสังหารหมู่ประชาชนไม่ใช่แค่มีร้อยศพ แต่มันเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยนับตั้งแต่สมัยเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 มาจนถึงทุกวันนี้ แม้จำนวนผู้เสียชีวิตไม่ได้เป็นจำนวนมากเหมือนอย่างประเทศในแอฟริกา แต่ก็เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นอยู่เสมอ ไม่เคยมีใครถูกลงโทษซ้ำยังได้รับการเลื่อนตำแหน่ง หลังจากนั้น ICC จึงเข้าใจว่าคดีของไทยมีความร้ายแรงจริง จากนั้นเธอจึงถามทางรัฐบาลไทยไปว่าอยากเข้าพบเพื่อที่จะคุยถึงความเป็นไปได้ในการลงนาม มาตรา 12(3) ที่ระบุกรณีรัฐซึ่งไม่ให้สัตยาบันต่อ ICC สามารถยอมรับเขตอำนาจศาลชั่วคราวได้ ทางด้านคุณสุรพงษ์ (สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตอนนั้นก็มาเข้าพบอัยการ ICC ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แล้วก็มีการส่งสัญญาณจากทางอัยการว่าเขามีความสนใจ แต่ว่าเขาไม่มีอำนาจจนกว่ารัฐบาลของไทยจะลงนามตามมาตรา 12(3) หลังจากเข้าพบอัยการ เธอก็พยายามจะขอเข้าพบคุณสุรพงษ์เพื่อถามถึงความคืบหน้าว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่ก็ไม่ได้เข้าพบคุณสุรพงษ์อีกเลยและมีการหลีกเลี่ยงการพูดคุยในประเด็นมาตรา 12(3) มาตลอด ไม่รู้เพราะเหตุใด 

"อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะ น่าจะมีการเจรจากันอะไรบางอย่าง เขาอาจจะมองว่าไปเหมาเข่งให้ทุกคนรอด เพราะมันง่ายดี ซึ่งตอนนั้นเราก็รู้สึกคัดค้านมาก คนเสื้อแดงไม่ได้ทำความผิดอะไร ทำไมต้องเอานิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ก็คือนิรโทษกรรมคนเสื้อแดงทั่วไปได้ อาจจะไม่ได้นิรโทษแกนนำหรือผู้นำทางการเมือง ก็ให้ไปต่อสู้ทางคดีกันเอาเอง"

ทั้งนี้ เธอกล่าวเสริมในประเด็นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า คนในพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้คิดเห็นไปเป็นเสียงเดียวกันเสียทั้งหมด มี ส.ส.จำนวนหนึ่งที่แม้ไม่ใช่จำนวนมากแต่ก็อยากผลักดันเรื่อง ICC ด้วยกัน รวมถึงแกนนำนปช. อย่างอาจารย์ธิดาก็มีความเห็นต่างจากคนในพรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยกับดีลเหมาเข่งเพราะมองว่าทำให้เกิดการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยซึ่งนั่นหมายถึงการกลบศพเพื่อนแล้วไปอุ้มศัตรู

"การนิรโทษกรรมในลักษณะที่เป็นแบบเหมาเข่งก็เป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศอยู่แล้ว เรื่องกรณีนี้ ICC ไม่ยอมรับ ต่อให้คุณมานิรโทษกรรมเหมาเข่ง โดยยกเว้นความผิดให้ผู้ก่อการต่างหากประชาชนอย่างนี้ ไม่มีผลอะไรต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

ส่วนประเด็นมาตรา 8 (ที่ระบุว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ หรือมาตรา 6 ตามรัฐธรรมนูญ 2560) ซึ่งฝ่ายประชาธิปไตยที่ไม่เห็นด้วยกับการให้สัตยาบัน ICC มักจะเอาเหตุผลของฝั่งอนุรักษ์นิยมสุดโต่งมาผลิตซ้ำเพื่อโต้แย้งกับฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเอง นันทิดากล่าวว่า เป็นเรื่องพื้นฐานที่พรรคการเมืองจะต้องให้ความสนใจ เพราะเป็นเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนไทยทั้งสังคม หน้าที่ของพรรคการเมืองก็คือการปกป้องประชาชน ฉะนั้นก็ต้องเลือกว่าจะปกป้องประชาชนทั้งประเทศหรือจะปกป้องคนเพียงคนเดียว

"การป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐวันดีคืนดีออกมายิงประชาชน พรรคการเมืองมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ฉะนั้นส่วนตัวมองว่ามาตราใดในรัฐธรรมนูญที่มันปกป้องผลประโยชน์ของประชนชน คุณก็ต้องต่อสู้เพื่อประชาชน ฉะนั้นเราก็ต้องเลือกว่าเราจะปกป้องชีวิตของประชาชน หรือปกป้องไม่ให้กษัตริย์ต้องรับผิดถ้าหากกระทำความผิด ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ปกป้องประชาชน คุณก็ต้องไปแก้" นันทิดา กล่าว

ถ้าตอนนั้นไทยลงนามมาตรา 12(3) ภูมิทัศน์ทางการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร

เธอมองว่า ถ้าไทยลงนามตามมาตรา 12(3) เมืองไทยจะไม่มีรัฐประหาร รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะยังอยู่และมีการเปลี่ยนผ่านตามระบอบประชาธิปไตย นอกจากนั้นก็จะเป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไทยที่ว่าไม่เคยมีชนชั้นนำคนไหนได้รับการลงโทษ เป็นการวางหลักการที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถออกมาฆ่าประชาชนได้ตามอำเภอใจ ถ้าคุณทำเช่นนั้นคุณจะถูกลงโทษ อีกส่วนหนึ่งคือชนชั้นนำไทยและทหารค่อนข้างกลัวประชาคมโลกประณาม สังเกตได้จากพวกเขามักใช้ใช้วาทกรรม ‘อย่าให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง’ หรือ ‘รับเงินต่างชาติมาทำลายประเทศตัวเอง’ มาโจมตีฝ่ายตรงข้าม เพราะว่าลึกๆ พวกเขากลัวการถูกประณามจากประชาคมโลก 

"ถ้าวันนั้นเราเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ คนรุ่นใหม่คงไม่ต้องออกมาประท้วงและโดนทำร้ายร่างกายจากเจ้าหน้าที่รัฐ มันเป็นเรื่องน่าเสียใจมากที่เราเข้าใกล้จุดนั้นมากแล้ว แต่มันไม่เกิดขึ้น

"แต่ว่าเราก็ต้องถามต่อไปว่า ทำไมมันถึงไม่เกิดขึ้น และใครต้องรับผิดชอบกับตรงนี้ มันไม่ใช่แค่เกี่ยวกับเรื่องสังหารหมู่ปี 53 แต่มันยังเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ ที่รัฐไทยก็ไม่แคร์ จับกุมดำเนินคดีกับคนรุ่นใหม่ด้วยข้อหาบ้าๆ บอๆ เช่น ข้อหาแต่งกายเลียนแบบพระราชินีอะไรเนี่ย คือเขารู้สึกว่าเพราะมันไม่มีหลักการไง เขาถึงทำอะไรก็ได้ ส่งคนไปทำร้ายนักกิจกรรมในต่างแดน หรืออย่างกรณีคุณวันเฉลิม เขาก็กล้าทำ

"ถ้าไทยลงนามตามมาตรา 12(3) ชนชั้นนำไทยจะคิดหนักมากก่อนจะทำร้ายประชาชน" อดีตทีมกฎหมายของคนเสื้อแดงกล่าวทิ้งท้าย


หมายเหตุ

  • คำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) กรณีสังหารหมู่ปี 53 ฉบับภาษาไทยและอังกฤษ ในเอกสารมีการกล่าวถึงหลักกฎหมาย คำให้การพยานจากฝั่งทหารและประชาชนในเหตุการณ์ https://drive.google.com/drive/u/0/mobile/folders/1ktu37n5eEz76I5sndTG6b7yu1wJT-8st?usp=sharing

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net