ประชาชนชุมนุมจุดเทียนไว้อาลัยผู้เสียชีวิตวอนหยุดความรุนแรง เดินหน้าเลือกตั้ง

กลุ่มประชาชนประมาณ 80 คน จัดกิจกรรม “พอกันที! หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง!” วอนถนนทุกสายมุ่งสู่การเลือกตั้ง 2 ก.พ. ชี้เป็นทางออกที่สันติและเสมอภาค ขณะที่อื่นร่วมแชร์ภาพจุดเทียนไว้อาลัย

ภาพกิจกรรมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ

วานนี้(27 ธ.ค.) เวลา 17.00 น. กลุ่มประชาชนประมาณ 80 คน รวมตัวกันที่หน้า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ จากการนัดหมายกันทางเฟซบุ๊กภายใต้ชื่อกิจกรรม “พอกันที! หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง!” เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงอันเกิดจากการปลุกปั่นของแกนนำ กปปส. และเครือข่าย พร้อมทั้งเรียกร้องให้หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง เสนอให้ถนนทุกสายมุ่งสู่การเลือกตั้ง 2 ก.พ.นี้ ซึ่งถือเป็นทางออกที่สันติและเสมอภาค

ทั้งนี้กิจกรรมประกอบด้วยการล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การร่วมกันร้องเพลงและเวลาประมาณ 19.20 น. จุดเทียนพร้อมนร่วมอ่านแถลงการร่วมกัน ก่อนที่จะยุติการชุมนุม นอกจากการชุมนุมที่หน้าหอศิลป์ฯ แล้ว ยังมีผู้ร่วมกิจกรรมจากต่างจังหวัด และสถานที่อื่นๆ ร่วมกิจกรรมด้วยการจุดเทียนในเวลาเดียวกันและโพสต์รูปผ่านเฟซบุ๊กด้วย เช่นที่  ร้านหนังสือ book re:public จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

ภาพกิจกรรมที่ร้านหนังสือ book re:public จ.เชียงใหม่ ภาพโดย ขนมด้วง อีดอกดวง

โดยแถลการณ์ระบุว่า “เรา คนธรรมดาที่ไม่เอาความรุนแรงทุกรูปแบบ เรา อดทนเคารพสิทธิชุมนุมของพวกท่านมวลมหาประชาชน เรา เฝ้าดู ทนฟังคำประกาศชัยชนะของพวกท่านครั้งแล้วครั้งเล่า  เรา เฝ้านับวันที่จะได้ใช้สิทธิใช้เสียงเพียงหนึ่งเดียวที่เรามีอยู่ในมือเปล่า เส้นความอดทน ของเราขาดผึง ทันทีที่เสียงปืนดังขึ้นนัดแรก พรากชีวิตคนคนหนึ่งไปจากครอบครัวญาติพี่น้องของเขา สมรภูมิเลือดที่รามคำแหง สนามไทย-ญี่ปุ่นดินแดง  จนล่าสุด เหตุการณ์รุมทำร้ายกันที่ถนนวิภาวดี อีกกี่ศพถึงจะพอ”

“พวกท่านเรียกร้องในสิ่งที่ไม่มีวันได้ไป นั่นคือหัวใจรักประชาธิปไตยของคนอีกมากมายมหาศาลที่ไม่ก้มหัวศิโรราบให้พวกท่าน ประเทศไทยไม่ใช่ของพวกท่านมวลมหาประชาชน พอกันที”

“ความรุนแรงผลักเราออกมา ความรุนแรงที่เกิดจากการสร้างเงื่อนไขของเหล่าแกนนำ เราออกมาและจะไม่มีวันกลับไป ตราบที่พวกท่านยังไม่เลิกใส่ร้ายป้ายสี บิดเบือนความจริง ปลุกปั่นยุยง เกลียดชังทำร้ายคนที่เห็นต่างจากพวกท่าน หยุดได้แล้ว หยุดปั่นหัวกันจนคลุ้มคลั่ง อย่าให้มีศพต่อไปอีกเลย ออกมาจากพื้นที่แห่งความเกลียดชัง อย่าให้ชีวิตมีค่าของพวกท่านกลายเป็นเพียงเบี้ยบนเกมกระดานของแกนนำ พอกันที”

“เหล่าผู้มีอำนาจ มีอาวุธ และสื่อในมือ หรือพวกท่านหวังเพียงชัยชนะบนซากศพของผู้อื่น ผู้ชุมนุมคัดค้านที่อยู่ใน กปปส. และเครือข่ายก็เป็นพลเมืองเช่นกัน การเหมารวม บิดเบือนและป้ายสี ไม่อาจเปลี่ยนแปรหัวใจที่ใฝ่ฝันถึงสิ่งดีงามของพวกเขาได้ รังแต่จะกระพือความผิดหวัง และความโกรธมากขึ้นเท่านั้น หยุดสร้างสถานการณ์และข่าวสารเพื่อความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเกินเหตุต่อผู้ชุมนุม พอกันที ถนนทุกสายต้องมุ่งสู่การเลือกตั้ง 2 กุมภา 57 เท่านั้น”

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ และจิตรา คชเดช  ภาพโดย Sora Wong

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ หนึ่งในผู้นัดหมายทำกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวถึงสาเหตุในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เริ่มจากเหตุการณ์เมื่อวันที 26 ธ.ค. ที่มีทั้งตำรวจและผู้ชุมนุมเสียชีวิต รวมไปถึงการรุมทำร้ายคนขับแท็กซี่ ภาพที่ติดตาคือเมียของตำรวจคนนั้นทีร้องไห้ จึงคุยกับกลุ่มเพื่อเล็กๆ เพื่อแสดงออกถึงการไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียอีก จึงเกิดเป็นกิจกรรมนี้ขึ้นมา ซึ่งไม่ได้เตรียมตัวมาก เพียงคิดว่าเราต้องออกมาพูดแล้ว เราต้องมีพื้นที่ที่แสดงออกถึงการไม่เอาความรุนแรง โดยหวังว่ากิจกรรมนี้จะเป็นตัวอย่างในการแสดงออกของคนอื่นด้วย

“ที่กลัวที่สุดตอนนี้คือกลุ่มเสื้อแดงจะออกมาใช้ความรุนแรง แล้วมันจะเกิดความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกัน ซึ่งมันทำลายเจตนารมณ์ ทำลายหลักการของแต่ละฝ่ายลงไปโดยไม่ได้คุยกันในเรื่องเหตุผลเป็นเรื่องเป็นราว มันจะกลายเป็นว่าไปคุยกันเรื่องใครยิงใครฆ่ากันมากกว่า ดังนั้นผมคิดว่ามันจึงมีกิจกรรมที่แสดงออกได้อีกเยอะ ไม่จำเป็นต้องจุดเทียนก็ได้ ที่เราจะบอกว่าเราไม่เอาความรุนแรง ยังยืนยันที่เราต้องการอยู่ได้เพื่อที่เราจะได้คุยกันได้จริงจังมากกว่านี้” กิตติชัย กล่าว

สำหรับข้อเสนอให้ทุกฝ่ายหันมาเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.นี้ กิตติชัย กล่าวว่า “การเลือกตั้งมันเป็นการแก้ปัญหาควมขัดแย้งที่ฟังเสียงทุกๆคนในประเทศ คิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เราละเลยเสียงของคนอื่นไม่ได้จริงๆ” เขากล่าวด้วยว่า การให้เกิดการปฏิรูปนั้นเชื่อว่าเราทำได้แน่นอน โดยยกตัวอย่างปรากฏการณ์ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง แสดงให้เห็นถึงพลังที่ประชาชนที่สามารถกดดันรัฐบาลได้ เพราะแม้แต่คนเสื้อแดงจำนวนมากก็ไม่ได้เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทยทั้งหมด ดังนั้นการเลือกตั้งจึงต้องเกิดขึ้นเพราะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความขัดแย้งที่สันติที่สุด

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ คนขับรถแท็กซี่ และบิดาน้อง ”เฌอ” สมาพันธ์ ศรีเทพ ที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 53 เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ มองว่า “ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการยั่วยุปลุกปั่นซึ่งการชุมนุมโดยสงบสันติมันทำได้ แต่ว่าการที่เคลื่อนขบวนออกไปเผชิญหน้าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเรามองภาพรวมในเชิงกระบวนการประเทศไทยเราจะเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่ นั่นคือการคืนสิทธิคืนเสียงให้กับประชาชนทุกคนที่จะมาร่วมกันตัดสินใจว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปทางไหน ในฐานะที่ผมขับแท็กซี่ผมรู้สึกว่าการขับรถถอยหลังมันอันตราย เพราะฉะนั้นเราไปข้างหน้ากันเถอะครับ ประเทศไทยควรไปข้างหน้าด้วยการเลือกตั้ง 2 ก.พ.นี้”

สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่ม กปปส. ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งนั้น พันธ์ศักดิ์ เห็นว่า ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ อีกทั้งฝ่ายที่ต้องการเรียร้องให้มีการปฏิรูปในตอนนี้เป็นการเรียกร้องที่ยังไม่มีรูปธรรม อยู่ๆ ก็เสนอขึ้นมา แม้กระทั่งข้อเสนอของรัฐบาลที่จะตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่จะสรรหาคนมาทำสภาปฏิรูปก็ยังไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกคนจริงๆ ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งที่ทุกคนสามารถเลือกได้ว่าต้องการพรรคอะไร หรือนโยบายอะไรที่จะดีกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นจึงมองว่าในการจัดลำดับความสำคัญแล้วการเลือกตั้งจึงสำคัญกว่า และหลังจากนั้นค่อยปฏิรูป โดยพรรคการเมืองที่ชูธงปฏิรูปหากได้เสียงข้างมากก็เดินหน้าปฏิรูปได้เลย

“เราต้องว่ากันตามกติกาหลักก่อน ไม่ใช่คิดกติกาขึ้นมาใหม่แล้วก็จะเล่นแบบนี้เลย มันก็จะฉุดประเทศให้ไม่ไปไหน” พันธ์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงานและผู้สมัครพรรคพลังประชาธิปไตย หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้กล่าวว่า คิดว่ากิจกรรมนี้เป็นการเปิดพื้นที่สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงที่ผ่านมาได้แสดงออกประกาศจุดยืนถึงความรุนแรง โดยเฉพาะการใช้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรม เช่น รับสมัครเลือกตั้ง ดังนั้น กปปส.และคปท. ต้องหยุดการเคลื่อนคนไปพื้นที่ที่คนอื่นจัดกิจกรรม เพราะความรุนแรงเกิดจากการเคลื่อนเข้าหาคนอื่น ต่างจากเหตการณ์ปี 53 นปช.อยู่ในที่ตั้ง แต่ทหารเป็นผู้เข้ามาสลายการชุมนุม จึงกล่าวได้ว่าความรุนแรงเกิดจากฝ่ายผู้เคลื่อนเข้าหาหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมหรือชุมนุมโดยสงบของกลุ่มอื่นเป็นหลัก และจะเห็นว่าในครั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นการตั้งรับ เพราะเจ้าหน้าทั่รัฐไม่ได้บุกเข้าไปนที่ชุมนุมของ กปปส.หรือคปท.

การเลือกตั้งเป็นทางออกที่สันติและเห็นหัวคนอื่น ส่วนการปฏิรูปนั้นทำหลังหรือระหว่างการเลือกตั้งได้ ผ่านการเสนอนโยบายของพรรคการเมือง โดยเฉพาะผู้ชุมนุมที่ประกาศมาโดยตลอดว่ามีจำนวนหลายล้าน ดังนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งก็จะมีโอกาสผลักดันการปฏิรูปเป็นวาระหลักของประเทศด้วย

สำหรับข้อกังวลว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์รักษาการแล้วจะทำให้ไม่เกิดความยุติธรรมนั้น หากย้อนไปดูการเลือกตั้งเมื่อปี 54 ก็รักษาการโดยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เช่นกัน โดยไม่เห็นมีใครหรือแกนนำผู้ชุมนุมคนไหนคัดค้านว่าการรักษาการของคุณอภิสิทธิจะทำให้การเลือกตั้งไม่ยุติธรรม อีกทั้งมายาคติเรื่องการซื้อสิทธขายเสียงนั้นก็เสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าการซื้อสิทธิขายเสียงมีผลต่อการเลือกตั้งน้อยลง เมื่อเทียบกับนโยบายที่มีอิทธิพลต่อการเลือกมากขึ้น

“เขาอาจไม่ได้กังวลเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น เขาอาจไม่ได้กังวลว่าการเลือกตั้งไม่บริสุทธิยุติธรรม แต่เขาอาจกังวลว่าเสียงประชาชนที่สนับสนุน กปปส. ไม่มากพออย่างที่เขาประกาศอยู่ทุกวันจริง กลัวว่าเลือกตั้งแล้วคนของตัวเองจะไม่มากพอ เขาอาจจะกลัวเสียงของมวลมหาประชาชนทั้งประเทศที่แท้จริง กลัวว่า กปปส. ไม่ใช่เสียงสวนใหญ่ของประเทศที่แท้จริง” จิตรา กล่าวถึงข้อกังวลของ กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์

จิตรากล่าวด้วยว่า คนที่ไม่เห็นด้วยกับ กปปส. นั้นไม่ใช่เพียงผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและ นปช. แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากในประเทศนี้ที่ยังไม่ได้แสดงตัวออกมา ซึ่ง กปปส. เองก็อาจจะไม่แนใจว่าคนกลุ่มนั้นจะเลือกใคร

สำหรับข้อเสนอสภาปฏิรูปที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ พึ่งเสนอมานั้น จิตรา มองว่าไม่ได้ครอบคุมตัวแทนคนทั้งหมด 11 คนในคณะกรรมการสรรหาสภาปฏิรูป มีตัวแทนหอการค้าที่เป็นตัวแทนของนายทุน แต่ไม่มีตัวแทนของคนงานหรือชาวนาที่เป็นคนส่วนหญ่ของสังคม แต่คณะกรรมสรรหามีตัวแทนของทหารหลายตำแหน่ง แม้อาจอ้างว่า 11 คนนั้นเป็นเพียคนสร้างเงื่อนไข แต่คนที่สร้างกติกาและเงื่อนไขนั้นมีความสำคัญมากที่สุดที่จะคัดเลือกคนและดำเนินการตามเงื่อนไขต่อไป จึงกล่าวได้ว่าการข้อเสนอสภาปฏิรูปนี้เป็นเผด็จการแม้คุณยิ่งลักษณ์จะเป็นนายกที่มาจากการเลือกตั้งและประชาธิปไตยก็ตาม

จิตรา กล่าวด้วยว่า สมาชิกสภาปฏิรูปที่ทั้งคุณยิ่งลักษณ์และคุณสุเทพเสนอว่ามาจาก ตัวแทนสาขาอาชีพ นอกจากยังไม่ได้ข้อสรุปจากคนทั้งประเทศแล้ว ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากในสาขาอาชีพก็มีความเหลื่อมล้ำแตกต่าง เพราะตัวอย่างเช่น อาชีพผลิตตัดเย็บเสื้อผ้าก็อาจจะมีตั้งแต่นายเจ้าข้องกิจการ ผู้จัดการ ผู้รับเหมา คนงานตัดเย็บ หรือเจ้าของกิจการประเภทเดียวกันขายไก่มีตั้งแต่ขนาดเล็ก SMEs ไปถึงซีพี ดังนั้นเขาเหล่านั้นมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกันแต่ถูกจัดอยู่ในสาขาอาชีพเดียวกัน การเป็นตัวแทนสาขาอาชีพอาจไม่ได้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ที่แท้จริง

ภาพโดย Sora Wong

ภาวิณี ชุมศรี ทนายสิทธิมนุษยชน ผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า ขณะนี้รัฐมีความชอบธรรมในการใช้มาตรการป้องกันเหตุไม่ให้เกิดความรุนแรงไปมากกว่านี้ เพราะมองว่าขณะนี้รัฐถอยมากจนไม่มีมาตรการตามหลักสากลที่จะใช้กับกลุ่มที่มั่วสุมทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แม้ผู้ชุมนุมจะบอกว่าการชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่การจัดตั้งกลุ่มที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายที่เกิดขึนมาเป็นภาพรวมของการชุมนุมอย่างน้อยๆ ของ คปท. เพราะสามารถคาดการณ์ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะแกนนำว่าถ้าไปในพื้นที่อย่างที่มีการรับสมัครรับเลือกตั้งนั้นก็อาจก่อให้เกิดการปะทะได้อยู่แล้ว

ภาวิณี กล่าวด้วยว่า ผู้ชุมนุมเขามีสิทธิที่จะชุมนุมโดยสงบในขณะเดียวกันเขาก็สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่คาดการณ์ได้ ยิ่งมีข้อเท็จจริงว่ามีการใช้อาวุธทำร้ายจนเสียชีวิต แม้ยังไม่ทราบว่าฝ่ายได้ แต่การเคลื่อนไปในพื้นที่เสี่ยงก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดการปะทะ ผู้นำการชุมนุมการควรหลีกเลี่ยง ดังนั้นเพื่อให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้รัฐบาลควรบังคับใช้กฏหมายด้วยมาตรการตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลและตามหลักการใช้กำลังสากลในการควบคุมการชุมนุมที่จะก่อให้เกิดความวุนวาย

“การเลือกตั้งมันไม่ใช่ใช่ทางออกด้วยซ้ำ แต่ตลอดเวลามันเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ ยังไงยุบสภาก็ต้องมีการเลือกตั้ง มันไม่ใช่ทางออกด้วยซ้ำไป ทางออาจอาจหมายถึงการนำนโยบายปฏิรูปมาคุยกัน และเสนออย่างเป็นรูปธรรม อันนี้อาจเป็นทางออกของกลุ่มต่างๆ รวมทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน กปปส. การเลือกตั้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่เกิดมันก็ขัด กกต.ก็มีความผิด” ภาวิณี กล่าว

รวมภาพจุดเทียนที่อื่นๆที่ร่วมแชร์ในเฟซบุ๊ก :

ภาพจากคุณ Jittra Ying Padungsak จ.เลย

ภาพจากคุณ Ladybug Jubujubu

ภาพจากคุณ Ich Liebe Mich Selbst ที่  เยอรมัน

ภาพจาก ดอกไผ่บาน พยานแห่งรัก

ภาพจาก Mangmua Jing

ภาพจากFaikham Harn.

ภาพจาก Wanida Jiamram

ภาพโดย Lily Cu

ภาพโดย Chotechote Vindavamara

 

ภาพโดย Yoy Indy

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท