Skip to main content
sharethis

ราเจซ เด ที่ปรึกษาทั่วไปของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) เผยบริษัทไอทีหลายแห่งรับรู้เรื่่องโครงการสอดแนม และให้ความร่วมมือตามกฎหมายกับพวกเขา ขัดกับคำกล่าวก่อนหน้านี้ของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งที่บอกว่าไม่มีส่วนรู้เห็นหรือไม่ทราบเรื่องโครงการสอดแนมมาก่อน

20 มี.ค. 2557 นักกฎหมายอาวุโสของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่าบริษัทไอทีในสหรัฐฯ ต่างทราบถึงเรื่องโครงการสอดแนมที่มีการเก็บข้อมูลจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในวงกว้าง ซึ่งการเปิดเผยล่าสุดนี้ขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างของกลุ่มบริษัทไอทีก่อนหน้านี้ซึ่งปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่องการสอดแนมมาก่อน

ราเจซ เด ที่ปรึกษาทั่วไปของ NSA กล่าวว่าบริษัทต่างๆ รับทราบเรื่องราวการสอดแนมข้อมูลและนิยามข้อมูล (metadata) โดย NSA ภายใต้กฎหมายการสืบราชการลับปี 2551 ทั้งโครงการที่ชื่อ "ปริซึม" (PRISM) และการรวบรวมข้อมูลที่เรียกว่า "อัพสตรีม" (upstream)

เมื่อถามว่าการสอดแนมดังกล่าว "เป็นไปโดยบริษัทต่างๆ ได้รับทราบและมีการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในแง่การให้ข้อมูลหรือไม่" เดตอบคำถามเพียงว่า "ใช่"

ก่อนหน้านี้ในเดือน มิ.ย. 2556 สำนักข่าวเดอะการ์เดียน และวอชิงตันโพสต์นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับโครงการปริซึม โดยอาศัยข้อมูลจากเอกสารที่นำออกมาเปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ในตอนนั้นบริษัทต่างๆ ที่ถูกระบุไว้ในรายนามของโครงการเช่น ยาฮู แอปเปิล กูเกิล ไมโครซอฟท์ เฟซบุ๊ก และ เอโอแอล อ้างว่าพวกเขาไม่ทราบเกี่ยวกับปฏิบัติการสอดแนมที่ทำให้ NSA สามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าพวกเขาจำนวนมาก บางบริษัทเช่นแอปเปิลกล่าวว่าพวกเขาไม่เคยได้ยินชื่อโครงการปริซึ่มมาก่อน

เด อธิบายในจุดนี้ว่า เดิมทีคำว่าปริซึ่มเป็นชื่อโครงการที่รู้กันภายในเฉพาะรัฐบาลจนกระทั่งมีการเปิดโปงข้อมูลออกมาทำให้คำนี้กลายเป็นที่รู้จักต่อสาธารณะ เดยืนยันว่าการเก็บข้อมูลภายใต้โครงการดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการข้อบังคับของกฎหมาย ในแง่การขอความร่วมมือบริษัทต่างๆ

เด บอกว่าการรับทราบข้อมูลเดียวกันและการให้ความร่วมมือตามกระบวนการกฎหมาย ยังถูกนำมาใช้กับการเก็บข้อมูลการสื่อสารที่ไม่ได้เป็นของบริษัทนั้นๆ โดยตรง แต่เป็นการสื่อสารข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยอาศัยอำนาจจากมาตรา 702 ของกฎหมายสื่บราชการลับ (FISA)

เดอะการ์เดียนระบุว่าการเปิดโปงเรื่องโครงการปริซึ่มทำให้เกิดแรงสะเทือนต่อวงการเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตอย่างมหาศาล บรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีพากันดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อให้คำมั่นต่อผู้ใช้ว่าข้อมูลของพวกเขาจะปลอดภัย อีกทั้งยังประสบความสำเร็จในการกดดันให้รัฐบาลโอบามาอนุญาตให้มีการเปิดเผยเรื่องปริมาณและประเภทของข้อมูลที่รัฐบาลร้องขอได้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กอ้างว่าเขาได้ติดต่อกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เพื่อกล่าวถึงเรื่องความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการสอดแนมของรัฐบาล

โดยฝ่ายบริษัทไอทียังไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ ในเรื่องที่ถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ของ NSA

ในตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยชัดเจนว่ารัฐบาลดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายอย่างไรในการใช้อำนาจขอข้อมูลเนื้อหาและนิยามข้อมูลจากบริษัทไอที แต่จากเอกสารที่ถูกเปิดโปงโดยสโนว์เดนระบุว่า NSA มีความสามารถเข้าถึงข้อมูลของบริษัทได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง

ในมาตรา 702 ของกฎหมายสืบราชการลับปี 2551 อนุญาตให้ NSA เก็บข้อมูลการสื่อสารของคนที่เชื่อว่าไม่ใช่ชาวอเมริกัน และอาศัยอยู่นอกสหรัฐฯ ได้ แต่ห้ามการเก็บข้อมูลจากประชาชนชาวอเมริกัน หรือผู้อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ

ต่อมามีการเปิดเผยคำตัดสินของศาลสืบราชการลับต่างประเทศ (FISA court) เมื่อปี 2554 ว่า NSA ได้เก็บข้อมูลการสื่อสารทางอีเมลของชาวอเมริกัน ไว้หลายหมื่นฉบับ ซึ่งศาลตัดสินว่าเป็นการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ แต่ทาง NSA บอกว่าการได้รับข้อมูลอีเมลเหล่านั้นเป้นปัญหาทางเทคนิคที่ไม่สามารถแก้ไขได้

และเมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2555 มีการแก้ไขมาตรา 702 ของกฎหมายสืบราชการลับอนุญาตให้ NSA ค้นข้อมูลของชาวอเมริกันที่ถูกเก็บเอาไว้ก่อนหน้านี้ได้ท่ามกลางการคัดค้านของวุฒิสมาชิก รอน ไวเดน และมาร์ค อูดัลล์

เด และคณะทำงานของเขาได้ให้การต่อคณะกรรมการกำกับดูแลด้านสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพพลเมือง (Privacy and Civil Liberties Oversight Board) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระในฝ่ายบริหารของรัฐบาลสหรัฐฯ พวกเขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าศาลได้ให้อำนาจการสืบค้นข้อมูลชาวอเมริกัน โดยอ้างว่าการต้องไปขอศาลทุกครั้งเพื่อขออนุญาตให้ค้นหาข้อมูลที่มีอยู่เองถือเป็นภาระมาก

เด กล่าวอีกว่าพวกเขาต้องได้รับคำสั่งศาลสืบราชการลับแบบรายปีเท่านั้นถึงจะสามารถให้นักวิเคราะห์ค้นหาข้อมูลได้ เด ยืนยันอีกว่าพวกเขาดำเนินงานโดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของชาวอเมริกัน ขณะที่มีการสืบค้นข้อมูล และข้อมูลที่สืบค้นได้จะต้องถูกส่งให้รัฐบาลพิจารณาก่อน โดยที่ NSA ไม่ได้รับอนุญาตให้ค้นหาข้อมูลของชาวอเมริกัน จากอินเทอร์เน็ตได้โดยตรงเนื่องจากความเสี่ยงเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว

ก่อนหน้านี้วอชิงตันโพสต์ได้นำเสนอเอกสารจากสโนว์เดนที่ระบุว่า NSA ได้ดึงข้อมูลจากทางผ่านของข้อมูลระหว่างศูนย์ข้อมูลของกูเกิลและยาฮู ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่ได้รับอำนาจจากมาตรา 702 แต่มาจากคำสั่งปฏิบัติการที่ 12333

 

 

เรียบเรียงจาก

US tech giants knew of NSA data collection, agency's top lawyer insists, The Guardian, 19-03-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/mar/19/us-tech-giants-knew-nsa-data-collection-rajesh-de

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net