Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถ้าในศตวรรษที่ 18 ลิขสิทธิ์ในอังกฤษเป็นกฎหมายที่ไม่มีใครสนและ “งานคุณภาพ” ก็เกิดขึ้นมาได้ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีลิขสิทธิ์ เราก็จะเห็นได้ว่าปรากฎการณ์ทำนองเดียวกันเกิดในโลกภาษาเยอรมันในศตวรรษที่ 18 ที่ระบบอภิสิทธิ์ผูกขาดการพิมพ์วรรณกรรมนั้นมีก็เหมือนไม่มี

ระบอบอภิสิทธิ์วรรณกรรมที่สำนักพิมพ์สามารถยื่นเรื่องขอสิทธิ์ในการผูกขาดการพิมพ์หนังสือกับกษัตริย์หรือเจ้าครองนครนั้นเป็นสิ่งที่รัฐในยุโรปช่วงสมัยใหม่ตอนนั้นมีเป็นปกติ ไม่ว่าอังกฤษหรือฝรั่งเศสก็เคยใช้ระบบนี้ แต่ในกรณีของ “โลกภาษาเยอรมัน” นั้นดูจะต่างออกไปบ้าง เพราะสำหรับโลกภาษาเยอรมัน ระบบนี้ไม่ได้ถูกรวมศูนย์ดังเช่นอังกฤษและฝรั่งเศส

ในอังกฤษและฝรั่งเศส อภิสิทธิ์ที่ออกโดยราชสำนักนั้นมีผลบังคับใช้ทั้งราชอาณาจักร แต่ในโลกภาษาเยอรมัน ราชสำนักของจักรพรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้มีอำนาจออกอภิสิทธิ์แบบเดียวกันที่มีผลบังคับใช้ได้ทั้งจักรวรรดิ์ เพราะแต่ละรัฐในโลกภาษาเยอรมันก็ถือว่ามีอำนาจในการออกอภิสิทธ์ในการผูกขาดการตีพิมพ์ในรัฐของตนทั้งสิ้น และอภิสิทธิ์ที่รัฐออกนั้นก็ไปสิ้นสุดที่พรมแดนของรัฐแต่ละรัฐเท่านั้น

ในกรอบแบบนี้ การที่สำนักพิมพ์ผู้พิมพ์หนังสือจะได้อภิสิทธิ์คุ้มครองผูกขาดการพิมพ์ทั่วโลกภาษาเยอรมัน สำนักพิมพ์ก็ต้องไปไล่ขออภิสิทธิ์ผูกขาดการพิมพ์จากราชสำนักทีละรัฐจนหมด (ซึ่งระบบนี้คล้ายกับระบบสิทธิบัตรทุกวันนี้ที่การได้สิทธิบัตรในรัฐหนึ่งก็ไม่ใช่หลักประกันว่ารัฐอื่นๆ จะยอมรับสิทธิบัตรนั้นๆ เสมอ) และนี่ดูจะเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐทั้งหมดในโลกภาษาเยอรมันมีราว 300 รัฐ และถึงรัฐใหญ่ๆ ที่จะเป็นตลาดสำคัญของหนังสือจะมีไม่ถึงสิบรัฐก็ตาม การไปไล่ขออภิสิทธิ์ให้ครบก็ไม่ใช่กระบวนการที่จะทำได้ง่ายๆ เร็วๆ ดังนั้นการถูก “สำเนาเถื่อน” อย่างถูกกฎหมายทุกประการจึงเป็นประสบการณ์ปกติของพ่อค้าหนังสือในโลกภาษาเยอรมัน

ในครึ่งหลังศตวรรษที่ 18 รัฐโปรเตสแทนท์ทั้งหลายที่มักจะอยู่ทางเหนือของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พำนักของเหล่านักเขียนและสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ผลิตงานเขียนภาษาเยอรมันมามากมายด้วยหลายๆ เงื่อนไข [1] รัฐพวกนี้ถ้าพูดในภาษาปัจจุบันก็น่าจะถือได้ว่าเป็นประเทศที่ “ส่งออก” สินค้าทางศิลปวัฒนธรรมอย่างอย่างหนังสือมากกว่าที่จะ “นำเข้า” ซึ่งต่างจากรัฐทางใต้ที่มีนักคิดนักเขียนน้อยกว่าและมีแนวโน้มที่จะบริโภคหนังสือที่ผลิตจากรัฐทางเหนือ 

ในเงื่อนไขแบบนี้พ่อค้าหนังสือของรัฐทางใต้ก็จึงมีแรงจูงใจที่จะตีพิมพ์หนังสือที่ขายดีในรัฐทางเหนือมาขายเองทางใต้ และนี่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายด้วยเพราะในศตวรรษที่ 18 ก็ไม่มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศใดๆ ที่จะสร้างพันธผูกพันให้แต่ละรัฐเคารพ “ลิขสิทธิ์” ของกันและกันด้วย และที่ยิ่งกว่านั้นออสเตรียซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง (แต่เพียงในนาม) ของจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์อย่างกรุงเวียนนาก็มีการสนับสนุนให้มีการตีพิมพ์หนังสือของรัฐอื่นๆ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ผ่านการออกอภิสิทธิ์การพิมพ์ให้พ่อค้าหนังสือในเวียนนาผูกขาดการตีพิมพ์ซ้ำหนังสือที่ตีพิมพ์มาแล้วในรัฐอื่น ซึ่งนี่ก็เป็นแหล่งรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำของท้องพระคลัง เพราะการออกอภิสิทธิ์แต่ละครั้งก็ตั้งมีการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับทางราชสำนัก [2]

สิ่งที่ต้องเข้าใจคือในกรอบคิดของศตวรรษที่ 18 การกระทำแบบนี้ไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์ดังทุกวันนี้ เพราะในโลกภาษาเยอรมันเองความคิดเรื่อง “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” เองก็ยังไม่ปรากฏแพร่หลาย และไม่ใช่แนวคิดที่จะอยู่ในกรอบคิดของรัฐแน่ๆ ในมุมของออสเตรีย การกระทำแบบนี้คือการแข่งขันทางการค้าอย่างชอบธรรมระหว่างรัฐ เพราะมันก็ไม่มีข้อกำหนดใดๆ ที่จะข้ามรัฐข้างเคียง “ผลิต” สินค้าแบบเดียวกันมาขาย และยามปราศจากแนวคิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์กำกับ การผลิตหนังสือเล่มเดียวกันมาขายก็ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่านั้น นอกจากนี้แล้วการผลิตหนังสือในท้องถิ่นเพื่อทดแทนการนำเข้าหนังสือก็ดูจะสอดคล้องกับแนวคิดพาณิชย์นิยม (Mercantism) อันเป็นแนวนโยบายทางเศรษฐกิจหลักของรัฐยุโรปยุคนั้นด้วย พูดง่ายๆ คือกิจกรรมที่ทุกวันนี้น่าจะจัดว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แน่นอนอย่างพิมพ์หนังสือจากชาติอื่นซ้ำโดยไม่ขออนุญาติ นั้นเป็นกิจกรรมที่ทำได้อย่างชอบธรรมทุกประการในศตวรรษที่ 18 และมันก็เป็นแหล่งรายได้ของรัฐด้วยซ้ำ

นี่ทำให้เกิดปรากฎการณ์อันน่าสนใจที่เป็นเอกลักษณ์ของโลกภาษาเยอรมัน ในศตวรรษที่ 18 เหล่าปัญญาชนของรัฐทางเหนือตั้งแต่ปรัสเซียยันไวมาร์ หรือตั้งแต่เมืองโคนิกส์เบิร์กยันเมืองเจนาพร้อมใจกันประสานเสียงยืนยันว่า การตีพิมพ์หนังสือของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นสิ่งผิดที่มีนัยยะในเชิงศีลธรรม และสนับสนุนการปราบปราม “หนังสือเถื่อน” ในแทบทุกรูปแบบ

นี่เป็นปรากฎการณ์ที่แปลกเพราะแนวคิด “ลิขสิทธิ์” ไม่ใช่แนวคิดที่ปัญญาชนยุโรปเห็นร่วมกันเป็นฉันทามติ เพราะอย่างน้อยๆ ในประเทศที่ปัญญาชนถกเถียงกันเรื่องนี้มาก่อนไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือฝรั่งเศส มันก็มีปัญญาชนทั้งฝั่งที่เห็นด้วยกับ “ลิขสิทธิ์” และไม่เห็นด้วย ซึ่งในภาพรวมสิ่งที่เกิดขึ้นในท้ายที่สุดก็คือสมดุลระหว่างกรรมสิทธิ์เอกชนเหนืองานเขียนกับกรรมสิทธิ์ของสาธารณชนเหนืองานเขียน

ในเยอรมันแนวคิดว่าสาธารณชนควรจะมีส่วนเป็นเจ้าของงานเขียนทุกๆ ชิ้นที่ออกมาแทบจะไม่อยู่ในสารบบวิธีคิดของเหล่าปัญญาชน เพราะแม้แต่นักปรัชญาคนสำคัญอย่าง Immanuel Kant และ Johann Gottlieb Fichte ก็เข้าร่วมขบวนการถล่มหนังสือเถื่อน [3] โดยไม่มีการแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ระบบกฎหมายนั้นก็ควรจะมีที่ทางให้ “คลังทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ” ด้วยดังนักคิดของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะมันไม่มี “สาธารณชน” (Public) ในโลกภาษาเยอรมันก็ได้ ซึ่งต่างจากทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสที่ ณ เวลาต้องมีต้องมีการบัญญัติกฎหมายลิขสิทธิ์ ตัว “สาธารณชน” ก็ได้เปิดเผยตัวมาก่อนแล้วในการปฏิวัติของทั้งสองประเทศ [4] และสามารถชนก็เป็นสิ่งที่รัฐต้องเกรงใจ จะออกกฎหมายใดๆ ข้ามหัวดื้อๆ ไม่ได้ ซึ่งอย่างน้อยๆ ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสก็มี “สาธารณ”รัฐเกิดขึ้นก่อนกฎหมายลิขสิทธิ์ และนี่เป็นประสบการณ์ที่โลกภาษาเยอรมันไม่เคยผ่านยามที่สังคมเรียกร้องให้มีลิขสิทธิ์

แม้ว่าปัญญาชนเยอรมันจะยืนยันอย่างแข็งขันและเป็นระบบสอดคล้องกับระบบปรัชญาอันใหญ่โตของพวกเขา (อย่างน้อยๆ Kant ก็โยงแนวคิดการต่อต้านการสำเนาเถื่อนกับแนวทาง “การใช้เหตุผลสาธารณะ” ของเขา และ Fichte ก็ให้เหตุผลถึงความเลวร้ายของการทำสำเนาเถื่อนโดยโยงกับปรัชญาว่าด้วย “ตัวตน” (I) ของเขา) แต่แนวทางเหล่านี้ก็ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรโดยตรงนักกับแนวทางพัฒนาการของกฎหมายลิขสิทธิ์ในโลกภาษาเยอรมัน เพราะสุดท้ายคนที่มีอิทธิพลกับแนวทางของกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลกภาษาเยอรมัน ดูจะเป็น “พ่อค้าหนังสือแห่งการรู้แจ้ง” ผู้เป็นอริกับ Kant อย่าง Friedrich Nicolai เสียมากกว่า [5]

 

อ้างอิง

  1. ตั้งแต่ลักษณะการปรับโครงสร้างรัฐที่ทำให้ “ระบบราชการ” ขยายตัวไปพร้อมๆ กับการผลิตและบริโภคหนังสือโดย “ข้าราชการ” อันเป็นปรากฎการณ์ทั่วไปของรัฐโปเตสแทนท์ ไปจนถึงระบบเซ็นเซอร์ที่ถือว่าผ่อนปรนกว่าเช่นในกรณีของปรัสเซียที่ลือชื่อว่าเป็นรัฐที่สามารถพิมพ์งานที่ไม่สามารถตีพิมพ์ในรัฐอื่นได้
  2. อย่างไรก็ดี หากจะกล่าวอย่างเป็นธรรมแล้ว นี่ก็เป็นสิ่งที่รัฐแต่ละรัฐปฏิบัติกันเป็นปกติเพราะแม้แต่ปรัสเซียที่ต่อมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการสถาปนาระบอบลิขสิทธิ์ในโลกภาษาเยอรมันก็เคยมีประวัติการเอาหูเอานาเอาตาไปไร่ของการ “ละเมิดอภิสิทธิ์” หนังสือที่พิมพ์นอกปรัสเซียเป็นปกติ การที่ออสเตรียมักจะถูกกล่าวถึงในการ “ละเมิดอภิสิทธิ์” การพิมพ์หนังสือของรัฐอื่น ก็น่าจะเป็นเพราะตลาดหนังสือของออสเตรียมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดารัฐทางใต้ เพราะอย่างน้อยๆ เวียนนาก็เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลกภาษาเยอรมันในช่วงนั้น ดู Friedemann Kawohl, “The Berlin Publisher Friedrich Nicolai and the Reprinting Sections of the Prussian Statue Book of 1794” in Privilege and Property: Essays on the History of Copyright, Ronan Deazley, Martin Kretsmer and Lionel Bently (eds.), (Cambridge: OpenBook Publishers, 2010), p. 207
  3. ข้อถกเถียงมีมาอย่างยาวเหยียดในช่วงปี 1773-1794 และคนที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อถกเถียงก็มีทั้งนักกฎหมาย เจ้าของสำนักพิมพ์ กวี นักเขียน นักปรัชญา ดู Martha Woodmansee, The Author, Art, and the Market: Rereading the History of Aesthetics, (New York: Columbia University Press, 1994), p. 47
  4. การไม่คำนึงถึงสาธารณชนของนักคิดนักเขียนในโลกภาษาเยอรมันนั้นชัดเจนมากๆ ถ้าเทียบกับนักเขียนทางฝรั่งเศสรุ่นเดียวกัน นักเขียนฝรั่งเศสจะเขียนอะไรโดยคำนึงถึงผู้อ่านตลอดจนหลายๆ ครั้งก็ถูกมองว่าข้อเขียนไม่มีความลึกซึ้ง ซึ่งนี่ต่างจากนักเขียนจากโลกภาษาเยอรมันที่ความลึกซึ้งของงานเขียนมากับลักษณะของการเขียนที่หลายๆ ครั้งดูจะเกิดความหมกมุ่นทางความคิดที่แสดงงออกมาราวกับว่าผู้เขียนจะเป็นผู้เดียวที่อ่านแล้วเข้าใจ นี่เป็นความเห็นทั่วๆ ไปที่แม้แต่นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่อย่าง Goethe ตอนบั้นปลายชีวิตก็ยังเห็นด้วยแถมยังเสริมว่าลักษณะเฉพาะของนักเขียนเยอรมันคือความหมกมุ่นกับความคาดเดาเชิงปรัชญา (philosophical speculation) มากเกิน ซึ่งลักษณะแบบนี้ของนักเขียนเยอรมันก็ดูจะเกิดจากอิทธิพลของการครุ่นคิดกับตัวเองแบบนิกายโปรแตสแทนท์ไปพร้อมๆ กับการที่นักเขียนในโลกภาษาเยอรมันเองไม่มี “สาธารณชน” ที่ชัดเจนให้ใส่ใจเนื่องจากสำนึกร่วมของชาติเยอรมันก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฎแพร่หลายในศตวรรษที่ 18 ดู W. H. Bruford, Germany in the Eighteenth Century: The Social Background of The Literary Revival, (Cambridge: Cambridge University Press, 1935), pp. 301-302
  5. Nicolai ดูจะเป็นปัญญาชนเยอรมันที่ทุกวันนี้ผู้คนหลงลืมไปแล้ว แต่ในยุคสมัยของเขา เขาเป็นผู้นำของกระแส “ยุคแห่งการรู้แจ้งของประชาชน” (popular enlightenment หรือ Volkaufklarung) ที่เป็นอริกับแนวทางของยุคแห่งการรู้แจ้งแบบปัญญาชนของ Kant และเขาก็โจมตีตลอดว่า Kant ไปจนถึงพวกสานุศิษย์เขียนหนังสืออ่านไม่รู้เรื่อง และชอบหลงเข้าใจว่าหนังสือของพวกตนนั้นขายดี ซึ่งเขาแทบจะไม่ยอมให้งานที่มีลักษณะแบบนี้มาอยู่ในสารบบของงานของสำนักพิมพ์ของเขาที่มีทั้งหนังสือและวารสารเกี่ยวกับหนังสือ กล่าวคือตัว Nicolai เองนั้นเป็นทั้งปัญญาชนที่เขียนหนังสือ บรรณาธิการวารสาร เจ้าของสำนักพิมพ์ ยันเจ้าของร้านหนังสือ ซึ่งก็ทำให้อิทธิพลของเขาล้นหลามมากในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 อ่านเรื่องราวของ Nicolai ได้ที่ Pamela Eve Selwyn, Everyday Life in the German Book Trade: Friedrich Nicolai As Bookseller and Publisher in the Age of Enlightenment, 1750-1810, (Pennsylvania: The Pennsylvania State University Press, 2000)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net