ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ (25): ข้อถกเถียงเรื่องกรรมสิทธิ์เสียงและกำเนิด 'สิทธิเชิงกลไก'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“เราควรจะปรบมือดีมั้ย? ไม่มีใครอยู่บนเวทีเลย มีแต่เครื่องจักร”
Erich Steinhard นักวิจารณ์ดนตรีชาวเยอรมันพูดถึงการแสดงสดของเปียโนอัตโนมัติ (1926)

แนวคิดว่า “เสียง” เป็นสิ่งที่มี “กรรมสิทธิ์” เป็นสิ่งที่อยู่นอกกรอบคิดของคนอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยสิ้นเชิง ซึ่งนี่อาจจะไม่ได้ต่างจากที่ผู้คนในต้นศตวรรษที่ 21 ก็ไม่คิดว่ารหัสพันธุกรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีกรรมสิทธิ์ในเชิงนามธรรม หรือจะนับเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา” ได้

ในยุคที่สาธารณชนเพิ่งคุ้นเคยกับ “เสียง” ที่ได้รับบรรจุใส่ภาชนะที่เรียกกันว่า “วัสดุบันทึกเสียง” เสียงที่ถูกบรรจุส่วนใหญ่ไม่ใช่ “เสียงดนตรี” อย่างทุกวันนี้ แต่เป็นเสียงพูด ในแง่นี้คนก็จึงมองว่าสิ่งบันทึกเสียงรวมๆ เป็นเรื่องของการบันทึกการสื่อสาร ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์ ก็คงไม่ได้ต่างจากทุกวันนี้ที่คนมองว่าการบันทึกบทสนทนาหรือการบรรยายลงในเครื่องบันทึกเสียงหรือสมาร์ทโฟนก็ไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ดีเมื่อย่างเข้าศตวรรษที่ 20 เทคโนโลยีการบันทึกเสียงก็ค่อยๆ พัฒนามาทีละน้อยและเสียงดนตรีก็เริ่มถูกนำมาบันทึกเสียงในรูปแบบต่างๆ และนำมาขายในท้องตลาดมากขึ้น คำถามก็เริ่มเกิดขึ้นว่า “เสียง” ที่ถูกบันทึกลงไปนั้นถือว่ามีลิขสิทธิ์หรือไม่?

อเมริกาเริ่มคุ้มครองลิขสิทธิ์บทประพันธ์ทางดนตรีมาตั้งแต่ปี 1831 และปี 1897 สภาครองเกรสได้ขยายขอบเขตลิขสิทธิ์คุ้มครอง “การนำแสดงต่อสาธารณะ” ไปด้วย ดังนั้นเหล่านักแต่งเพลงก็มีสิทธิ์ในการควบคุมการแสดงดนตรีของตนในที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งในตอนนั้นหลักๆ ก็คือ พวกร้านอาหาร ผับ และบาร์ ซึ่งสิทธิ์นี้ในทางปฏิบัติก็คือสิทธิ์ในการเก็บค่าลิขสิทธิ์ทุกครั้งที่มีผู้อื่นนำงานดนตรีของตนไปแสดง เช่น ถ้านักดนตรีในผับเอาเพลงของนักแต่งเพลงไปเล่น เขาก็มีสิทธิ์คิดค่าลิขสิทธิ์ เป็นต้น

นี่เป็นมาตรฐานของกฎหมายลิขสิทธิ์ในโลกตะวันตกทั่วๆ ไปในตอนนั้น อย่างไรก็ดีสิ่งที่เป็นมาตรฐานเช่นกันก็คือ กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ใดๆ ในโลกในยุคนั้นมันก็ไม่ได้รวมเอาเสียงดนตรีที่ถูกสร้างขึ้นจากเครื่องจักรมาไว้เป็นส่วนหนึ่งของขอบเขตการคุ้มครองทางลิขสิทธิ์ด้วย ซึ่งนี่ชัดเจนมากในการลงนามอนุสัญญาเบิร์น (ที่อเมริกาไม่ได้เข้าร่วม) ในปี 1886 ที่ชาติยุโรปยอมรับร่วมกันว่าการสร้างเสียงดนตรีในเชิงจักรกลจากเครื่องจักรไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะการยืนยันอย่างแข็งขันของเจ้าภาพการประชุมอย่างสวิตเซอร์แลนด์นั่นเอง เพราะทั้งกล่องเพลง (music box) และนาฬิกาดนตรี (music watch) ที่ทำการสร้างเสียงดนตรีด้วยกระบวนการเชิงกลไกดังกล่าวก็ล้วนเป็นสินค้าส่งออกของสวิส

พูดง่ายๆ คือชาติยุโรปเห็นร่วมกันว่า หากเพลงไปเล่นตามร้านอาหารผู้เล่นก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ แต่ถ้ามีบริษัทเอาบทประพันธ์ทางดนตรีดังกล่าวไปทำเสียงเพลงของกล่องเพลง ทางบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์หรือขออนุญาตนักแต่งเพลงใดๆ ทั้งนั้น [1]

ในวิธีคิดของมนุษย์ยุคที่เพิ่งจะมีเทคโนโลยีบันทึกเสียง เอาจริงๆ การผลิตเสียงซ้ำในเชิงกลไกนั้นมันก็คือการ “ผลิต” เสียงขึ้นใหม่จริงๆ ณ ตรงนั้น และมันไม่มี “เสียง” ดั้งเดิมที่เป็นกรรมสิทธิ์ของใครทั้งนั้นไม่ว่าคนจะบันทึกมันลงไปในกระบอกเสียงหรือแผ่นเสียงหรือไม่ ในทางเทคนิค “เครื่องจักรพูดได้” ทั้งหลายมันก็จะรับความสั่นของเสียงผ่านเครื่องไปที่เข็มที่จรดอยู่บนวัสดุบันทึกเสียง (ไม่ว่าจะเป็นกระบอกเสียงหรือแผ่นเสียง) พอรับความสั่นไปเข็มมันก็จะกดลงบนวัสดุบันทึกเสียงให้เป็นร่องตามความถี่เสียง และการขูดร่องบนวัสดุบันทึกเสียงนี่แหละคือการบันทึกเสียง และพอนำวัสดุที่ได้บันทึกเสียงไปแล้วมาเล่นกับ “เครื่องจักรพูดได้” เสียงที่บันทึกไว้ก็จะดังขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ราวกับเวทย์มนตร์ในสายตาคนยุคนั้น

มองในทางกายภาพ มันไม่ได้มี “เสียง” ใดได้เข้าไปสิงสู่ในวัสดุบันทึกเสียงเลย วัสดุบันทึกเสียงมีเสียงได้ก็เพราะโดนเข็มขูด ซึ่งมันขูดเพราะ “เครื่องจักรพูดได้” มัน “ได้ยินเสียง” แล้วแปลง “ข้อมูล” ลงไปในวัสดุบันทึกเสียงในรอบของการขูดเขียนอีกที เสียงที่ได้ยินมาก็ไม่มีกฎหมายใดๆ ในโลกที่บอกว่ามันเป็นทรัพย์สินของใครทั้งนั้น ซึ่งในยุคนั้นก็ยังไม่มีใครกล่าวอ้างเป็นจริงเป็นจังว่าตนเป็นเจ้าของ “เสียง” หนึ่งๆ ที่ถูกบันทึกลงไปในสิ่งบันทึกเสียง

นอกจากนี้คำถามที่ว่าใครเป็นเจ้าของเสียงที่ถูกบันทึกลงมาก็ไม่ใช่ตอบง่ายๆ ในยุคนั้น เพราะภายใต้รูปแบบการผลิตใหม่ของเครื่องบันทึกเสียงที่ประกอบไปด้วยหลายฝ่ายถึงจะเกิดการบันทึกเสียงได้ กล่าวคือ ในการบันทึกเสียงหนึ่งๆ ใครจะเป็น “เจ้าของ” เสียงกันแน่? ผู้ส่งเสียงให้บันทึก? ผู้ทำการบันทึกเสียงลงในเครื่องบันทึกเสียงโดยการเดินเครื่อง? เจ้าของเครื่องบันทึกเสียงนั้นๆ? เจ้าของสิทธิบัตรเครื่องบันทึกเสียงนั้นๆ? หรือถ้าจะให้ยุ่งกว่านั้นไปอีกถ้าสิ่งที่บันทึกเสียงลงไปเป็นเสียงดนตรีที่เชื่อมโยงกับบทเพลงบนบรรทัดห้าเส้น ก็จะมีคำถามอีกว่าตัวนักแต่งเพลงที่แต่งบทเพลงนั้นมาจะเป็นเจ้าของตัวบทเพลงที่บันทึกเสียงมาหรือไม่?

ในบรรดาผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี “บันทึกเสียง” ดูจะมีนักแต่งเพลงเท่านั้นที่พอจะถูไถอ้าง “ลิขสิทธิ์” เหนืองานดนตรีของตนที่ถูก “บันทึก” ได้ เพราะในมุมของนักดนตรี การ “บันทึก” ดนตรีลงในกระดาษก็เป็นสิ่งที่ลิขสิทธิ์คุ้มครองมานมนานแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย (ในกรณีของอเมริกาก็ตั้งแต่ปี 1831) ดังนั้นก็จึงไม่แปลกที่นักดนตรีจะอ้างว่าการ “บันทึก” เสียงลงในสิ่งอื่นก็อยู่ในขอบเขตอันชอบธรรมของลิขสิทธิ์งานดนตรีของเขา ดังนั้นในมุมของนักดนตรี รอยขูดบนแผ่นเสียงก็ไม่ใช่แค่รอยขูด แต่เป็นบทประพันธ์ของเขาที่ถูกบันทึกในรูปแบบที่ต่างออกไปจากเดิม

อย่างไรก็ดีในช่วงแรกศาลก็ไม่เคยได้ตัดสินใจว่ารอยขูดบนแผ่นเสียงมีลิขสิทธิ์หรือไม่ ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์อเมริกันที่เขียนมาในยุคที่โลกยังไม่มีเทคโนโลยีบันทึกเสียง ทว่าศาลก็ได้เผชิญหน้ากับคำถามทำนองเดียวกันนี้ในกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ “เปียโนโรล” (piano roll) อันโด่งดัง [2]

“เปียโนอัตโนมัติ” (player piano) เป็นสิ่งประดิษฐ์จากกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งหากจะให้อธิบายอย่างสั้นๆ แล้ว มันก็คือเปียโนที่สามารถเอากระดาษเจาะรูไปใส่ให้มัน “อ่าน” กล่าวคือก็คือให้มันเล่นออกมาได้ ซึ่งถ้าเทียบกันกับสมัยนี้ก็คงจะเหมือนการเอาไฟล์เพลงแบบ MIDI ไปใส่คีย์บอร์ดหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้เล่นให้ฟัง ซึ่งกระดาษทรงกระบอกที่เอาไว้ใส่ให้ “เปียโนอัตโนมัติ” เล่นออกมาเป็นเพลงคือสิ่งที่เรียกว่า “เปียโนโรล” [3]

เปียโนอัตโนมัติมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 แต่กว่าจะมาเป็นสินค้ายอดฮิตก็มาตอนปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่บรรดา “วัสดุบันทึกเสียง” เริ่มมีจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค และช่วงที่มูลค่าทางเศรษฐกิจมันเริ่มสูงนี่เอง สิ่งที่ไม่เคยนับว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ก็เริ่มถูกโวยวายว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยบริษัทพิมพ์โน้ตเพลงแห่งหนึ่งก็ได้ฟ้องว่าบริษัทผลิตเปียโนโรลนั้นละเมิดลิขสิทธิ์โน้ตเพลงที่ทางบริษัทเป็นเจ้าของ และคดีก็ดำเนินขึ้นไปถึงศาลสูงสุงของสหรัฐอเมริกา [4]

ผลสุดท้ายศาลตัดสินไปตามตัวบทกฎหมายในตอนนั้นที่ไม่อาจถือว่าการนำโน้ตเพลงมาทำเปียโนโรลจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้แต่อย่างใด ซึ่งสิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือในยุคนั้น แนวคิดลิขสิทธิ์นั้นควบคุมแต่สิ่งที่สามารถ “มองเห็น” ได้ว่าเป็นการละเมิดเท่านั้น นี่เป็นรากฐานแนวคิดลิขสิทธิ์จากศตวรรษที่ 18 และ 19 อย่างชัดเจนมากเพราะตามขนบของลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการสร้างสิ่งที่ “ดูเหมือน” สิ่งที่มีลิขสิทธิ์ขึ้นมาเท่านั้น ไม่ว่ามันจะเป็นหนังสือ แผนที่ โน้ตเพลง งานวิจิตรศิลป์ รูปปั้น หรือภาพถ่าย ในกรณีนี้ ศาล “ไม่เห็น” ว่ารูบนเปียโนโรลจะเป็นสิ่งเดียวกันกับโน้ตเพลงได้ แม้ว่าจะสามารถ “เล่น” ออกมาเป็นเพลงเดียวกัน

นี่อาจเป็นสิ่งที่ดูวิปริตในกรอบของทุกวันนี้ เพราะถ้าเชื่อมตรรกะของศาลในบริบทปัจจุบัน ก็หมายความการนำงานดนตรีมา “เปลี่ยนฟอร์แมต” เช่นการอัดเพลงจากวิทยุลงในคาสเซ็ตต์เทปหรือกระทั่งนำไฟล์ซีดีมาบีบอัดเป็น MP3 ก็ไม่น่าจะนับว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ (ซึ่งจริงๆ การกระทำเหล่านี้นับว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งนั้นในมาตรฐานปัจจุบันที่การกระทำใดๆ นอกข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่กล่าวชัดเจนในกฎหมายล้วนถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งนั้น) อย่างไรก็ดีคำตัดสินของศาลในตอนนั้นก็ได้รับคำชื่นชมจากวารสารวิชาการทางกฎหมายชั้นนำด้วยซ้ำว่าเป็นการตัดสินที่ซื่อตรงต่อตัวบทกฎหมายซึ่งไม่ได้ให้อำนาจศาลในการกำหนดซี้ซั้วหรือใช้กระบวนการ “ตุลาการภิวัตน์” เองเพื่อกำหนดว่าอะไรมีหรือไม่มีลิขสิทธิ์ [5]

แม้ว่าคำตัดสินบนฐานของการให้เหตุผลว่าลิขสิทธิ์ “ครอบคลุมเฉพาะสิ่งที่มองเห็น” เท่านั้นจะทำให้เราอนุมานได้ว่าศาลก็ยอมไม่เห็นว่า “เสียง” ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นจะมีลิขสิทธิ์ได้ อย่างไรก็ดีปัญหาว่า “เสียง” ควรจะมีลิขสิทธิ์หรือไม่ก็ถูกยกขึ้นมาอภิปรายอย่างเข้มข้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1900 ที่ทางสภาคองเกรสมีมติจะยกร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ และเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสารพัดมาให้ความเห็นต่อกฎหมายตามขนบการออกกฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา

ผลก็คือกฎหมายลิขสิทธิ์ปี 1909 ที่เป็นกฎหมายลิขสิทธิ์หลักของสหรัฐฯ มาอีกเกือบ 70 ปี (ก่อนจะถูกยกเลิกไปหลังการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ปี 1976) ก็ได้บัญญัติเพื่อแก้ปัญหาที่นักแต่งเพลงพยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเสียงด้วยการบัญญัติใว้ในกฎหมายว่า “...เมื่อใดที่เจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีได้ใช้ ได้อนุญาต หรือได้ยอมรับการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์กับส่วนของเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตซ้ำงานดนตรีออกมาในเชิงกลไกแล้ว ผู้อื่นก็จะสามารถใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ในแบบเดียวกันได้ในเงื่อนไขที่เขาจะต้องจ่ายเงินแก่เจ้าของลิขสิทธิ์จำนวนสองเซนต์ต่อการผลิตชิ้นส่วนของเครื่องมือออกมา 25 ชิ้น...” และสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนของเจ้าของลิขสิทธิ์นี่เองที่ภายหลังเรียกกันว่า “สิทธิเชิงกลไก” (mechanical right) ซึ่งในยุคดิจิทัลสิทธินี้ก็ยังมีอยู่แม้ว่าจะไม่มีอะไรเป็น “กลไก” ในความหมายเดิมแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเราในยุคนี้ก็คือถ้ามองว่ากฎหมายนี้สะท้อนมุมมองของคนยุคนั้นออกมา คนยุคนั้นไม่ได้มองว่า เปียโนโรล กระบอกเสียง หรือแผ่นเสียง เป็นวัตถุที่มีเอกเทศ แต่ทั้งหมดถือว่าเป็น “ชิ้นส่วนของเครื่องมือ” เปียโนโรลถือเป็นชิ้นส่วนของเปียโนอัตโนมัติ ซึ่งถ้าเรามองจากยุคสมัยของเรา การบอกว่าเทปคาสเซ็ตต์ “เป็นชิ้นส่วนหนึ่ง” ของเครื่องเล่นเทป หรือบอกว่าซีดี “เป็นชิ้นส่วนหนึ่ง” ของเครื่องเล่นซีดีก็คงจะเป็นสิ่งที่พิลึกพิลั่นอยู่ ทว่านี่ก็เป็นมุมมองของยุคนั้นว่าการผลิต “ส่วนของเครื่องมือ” นั้นไม่ได้นับว่าเป็นสิ่งที่เจ้าของลิขสิทธิ์มีอำนาจควบคุมก็จริง แต่เจ้าของลิขสิทธิ์ก็มีสิทธิ์ได้ส่วนแบ่งอันเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด และพร้อมกันนั้นอัตราส่วนตอบแทนนี้ก็ไม่ได้มากเกินไปที่จะไปกีดขวางการผลิต “ชิ้นส่วนของเครื่องมือ” ของผู้อื่นโดยเสรี

สภาคองเกรสดูจะไม่ได้ “แก้ปัญหา” ว่าสรุปแล้ว “เสียง” มีลิขสิทธิ์หรือไม่ แต่ก็ได้ทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญส่วนที่มอบอำนาจในการ “สนับสนุนวิทยาศาสตร์และศิลปะที่มีประโยชน์” ในแง่ที่ว่าบัญญัติกฎหมายออกมาให้ความเป็นธรรมทั้งแก่ “เจ้าของลิขสิทธิ์” ในการได้รับการตอบแทนจากการใช้งานและผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ที่จะสามารถใช้งานได้อย่างอิสระโดย “เจ้าของลิขสิทธิ์” ไม่มีสิทธิ์มาห้าม พร้อมตั้ง “ราคา” ที่ชัดเจนสำหรับผู้ต้องการผลิตซ้ำ ซึ่งในทางปฏิบัติในยุคต่อมา ก็หมายถึงความสามารถในการทำการ “คัฟเวอร์” เพลงที่มีแผ่นเสียงออกมาขายในท้องตลาดแล้วได้โดยไม่ต้องไปขออนุญาตกับนักแต่งเพลงก่อน ซึ่งนี่ก็ดูจะสอดคล้องกับบทบัญญัติอัน “ศักดิ์สิทธิ์” บทหนึ่งของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาที่ว่าด้วย “เสรีภาพในการแสดงออก” ด้วย

 

[1]  Alex Sayf Cummings, Democracy of Sound: Music Piracy and the Remaking of American Copyright in the Twentieth Century, (New York: Oxford University Press, 2013), pp. 11-34
[2]  คดีนี้มีชื่อว่า White-Smith Music Publishing Company v. Apollo Company ดูรายละเอียดทั่วไปได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/White-Smith_Music_Publishing_Company_v._Apollo_Company
[3]  ผู้อ่านอาจไปชมสาธิตการใช้เปียโนโรลได้ด้วยการค้นคำว่า “Piano Roll” ในเว็บ www.youtube.com ซึ่งก็จะพบตัวอย่างคลิปเช่น http://youtu.be/BXFC8hiaRcI
[4]  นอกจากนี้ในมุมของนักดนตรีแนวคิด “เครื่องจักร” เล่นดนตรีก็ดูจะถูกต่อต้านมาตลอดศตวรรษที่ 20 ดู Trevor J. Pinch and Karin Bijsterveld, “ “Should One Applaud?”: Breaches and Boundaries in the Reception of New Technology in Music”, Technology and Culture, July, Vol. 44, (2003), pp. 536-559
[5]  นี่ดูจะเป็นขนบแบบอเมริกันมากๆ เพราะในกรณีฝรั่งเศส การขยายตัวของขอบเขตลิขสิทธิ์ตลอดศตวรรษที่ 19 เกิดจากการตีความกฎหมายของศาลเป็นหลัก ดู Frédéric Rideau, "Nineteenth Century Controversies Relating to the Protection of Artistic Property in France" in Privilege and Property: Essays on the History of Copyright, Ronan Deazley, Martin Kretsmer and Lionel Bently (eds.), (Cambridge: OpenBook Publishers, 2010), pp. 241-254

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท