Skip to main content
sharethis


การประกาศเรียกรายงานตัว และการบุกจับ

การประกาศเพื่อเรียกบุคคลต่างๆ เพื่อเข้ารายงานกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)นั้น ใช้การประกาศผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ โดยให้ข้อมูลเพียง ชื่อและนามสกุล พร้อมระบุวันเวลาและสถานที่ ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศร์

จากการสอบถามผู้ที่เข้ารายงานตัวพบว่า จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในท้องที่ เข้าไปสอบถามข้อมูลตามที่พักตามทะเบียนบ้านของบุคคลที่ถูกเรียกด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการประกาศเรียกระบุเพียง ชื่อ-นามสกุล เท่านั้น ทำให้มีผู้ที่เดินทางมารายงานตัวซ้ำ เช่น  'ดวงใจ พวงแก้ว' ซึ่งถูกเรียกตามคำสั่ง คสช. 58/2557 เดินทางมารายงานตัววันที่ 10 มิ.ย. ซ้ำถึง 4 คน หรือวันก่อนหน้านี้ผู้มีชื่อ ‘จรรยา ยิ้มประเสริฐ’ มารายงานตัวเช่นกัน แต่เป็นคนละคนกับที่ คสช.ต้องการเรียกตัว

สำหรับผู้ที่ไม่มารายงานตัวตามกำหนดนั้น คสช. ดำเนินการ 2 แบบคือ 1. ใช้วิธีประกาศชื่อเรียกซ้ำ และ 2. ใช้วิธีการขออำนาจศาลทหารและศาลอาญาออกหมายจับ เช่นกรณี เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ได้ขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญา 10 คน ที่ไม่ได้ม่ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เป็นต้น

ที่สำคัญ มีปฏิบัติการควบคุมตัวผู้ที่ไม่ได้อยู่ในประกาศ คสช. ด้วย หลายราย เช่น นางสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยานายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พร้อมด้วยลูกชายและลูกสาว หลังจากที่บุกเข้าค้นบ้าน ยึดอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์รวม 21 รายการ รวมถึงการควบคุมตัว ‘กาแฟ’ ซึ่งเป็นทีมงานถ่ายทอดสดกับ ‘ม้าเร็ว’ สื่อมวลชนอิสระด้วยในระหว่างขับรถโดยทหารหลายนาย และนำตัวไปควบคุมที่ค่ายทหารโดยไม่มีใครทราบข่าวคราว จนกระทั่งได้ปล่อยตัวเมื่อครบ 7 วัน เป็นต้น

การเข้ารายงานตัวพร้อมผู้ติดตาม

กรณีการรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 44 นั้นส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมทั้งอดีตและปัจจุบัน นักวิชาการ รวมถึงผู้สื่อข่าว กระบวนการเริ่มจากการเข้าลงชื่อบริเวณหน้าประตูสโมสรทหารบก เทเวศร์ โดยมีการจำกัดผู้ติดตามผู้เข้ามารายงานตัวด้วย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ สห. จะเดินคุมตัวเข้าไปยังห้องประชุมจามจุรี และแยกผู้ติดตามกับผู้ถูกเรียกจากกัน

ผู้ถูกเรียกรายงานตัวเข้าลงชื่อกับเจ้าหน้าที่ทหารด้านในอีกทีพร้อมระบุเวลาเข้ารายงานตัว มีการยึดเครื่องมือสื่อสาร หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจกระเป๋าสัมภาระ หลังจากนั้นรอการเรียกชื่อเข้าห้องสอบสวนทีละคน หากไม่มีคิวต้องถูกเรียกในวันแรกก็จะถูกส่งตัวเข้า ‘สถานที่กักตัว’ ก่อน

การกักตัว

การส่งตัวเข้าสถานที่กักตัวนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมอาวุธปืนควบคุมตัวไปโดยรถตู้ ความกดดันของผู้ถูกควบคุมตัวและผู้ติดตามที่สำคัญคือการไม่อนุญาตให้สื่อสารกันก่อนนำตัวไป จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าจถูกนำตัวไปไว้ที่ไหน ทำอะไร อย่างไร จากการสอบถามกรณีอื่นๆ บางกรณีมีการปิดตาผู้ถูกควบคุมตัวด้วยระหว่างเดินทางเข้าสถานที่กักตัว

สถานที่กักตัวมีทั้งเรือนจำทหาร จังหวัดนครปฐม ค่ายทหารที่ราชบุรี ค่ายทหารที่ปราจีนบุรี ฯลฯ

สำหรับผู้ถูกเรียกตามคำสั่ง คสช.ที่ 44 นั้น ถูกควบคุมตัวทั้งหมดไปกักที่ค่ายฝึกทหารใหม่ที่ห่างจากสโมสรทหารบก เทเวศร์ ไม่เกิน 20 นาที แยกกักตัวระหว่างหญิงกับชาย

สำหรับห้องกักตัวชายนั้น เดิมทีเป็นห้องอาหาร มีการดัดแปลงโดยนำเอาเตียงนอนเหล็กมีเบาะและหมอน พร้อมผ้าห่มประมาณ 18 เตียงเข้ามา

ในห้องที่ค่ายฝึกทหารใหม่นั้น มีการปิดด้วยผ้าม่าน ด้านนอกปิดด้วยฟิวเจอร์บอร์ด สแลนท์ ล้อมด้วยรั้วลวดหนาม ทำให้ไม่สามารถเห็นสภาพภายนอกห้องได้ การออกด้านนอกห้องมีได้เพียงการเข้าห้องน้ำและการสูบบุหรี่เท่านั้น ซึ่งห้องน้ำจะอยู่ติดกับห้องนอน และการเปิดปิดประตูกระทำโดยทหารที่รักษาความปลอดภัยที่อยู่ด้านนอกห้องเท่านั้น

มีทหารสัญญาบัตร 3 นายคอยเข้ามาพูดคุยแนะนำการปฏิบัติตน โดยไม่มีการถามเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง นอกจากให้กรอกที่อยู่ ข้อมูลพื้นฐาน พร้อมทั้งวาดแผนที่ที่พักอาศัยของผู้ถูกกักตัว ตลอดระยะเวลาที่ถูกกักตัวทหารที่ดูแลจะให้เกียรติและพูดคุยกับผู้ถูกกักตัวด้วยความสุภาพ

นอกจากนี้ในห้องกักตัวจะมีโทรทัศน์ที่มีช่องฟรีทีวีและเคเบิลทีวีช่องต่างๆ ที่มีตรา “คสช.” กำกับอยู่ เหมือนที่รับชมได้ตามโทรทัศน์ในขณะนี้ทั่วไป มีอาหารตามสั่ง 3 มื้อ แม้แต่ผัดกะเพราก็สามารถสั่งรับประทานได้ มีกระติกน้ำร้อนสำหรับชงกาแฟและบะหมีกึ่งสำเร็จรูป พร้อมตู้น้ำเย็นและเครื่องปรับอากาศ กรณีผู้ที่ไม่ได้เตรียมเสื้อผ้ามาเผื่อไว้ ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้จัดเสื้อผ้าใหม่ไว้ให้ด้วย

การสอบสวน

กรณีที่ไม่ได้ถูกเรียกสอบในวันแรกนั้น เจ้าหน้าที่ทหารจะนำตัวจากสถานที่กักตัวเดินทางไปยังห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศร์ ตั้งแต่ช่วงสายเพื่อไปรอการเรียกชื่อสอบสวนทีละคน ระหว่างรอก็จะมีอาหารและกาแฟให้รับประทาน

คนที่ถูกสอบสวนแล้วก็จะถูกแยกจากคนที่ยังไม่ถูกสอบ โดยการเรียกเข้าสอบนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ทหาร สห. นำตัวไปยังห้องสอบ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากห้องจามจุรี

ด้านในมีคณะกรรมการสอบที่อ้างว่าเป็นหน่วยความมมั่นคง ประมาณ 10 คน ล้อมผู้ถูกสอบเป็นรูปตัว U โดยผู้ถูกสอบจะอยู่ตรงกลางเพียงลำพัง และ พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม เป็นประธานการสอบสวน มีการบันทึกวิดีโอระหว่างการสอบสวนด้วย

เนื้อหาการสอบสวนขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นๆ เช่น

1) ข้อมูลพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย การศึกษา การทำงาน ฯลฯ

2) ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อความมั่นคง การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยผู้สอบบางคนพยายามกดดันด้วยการอ้างว่าคนที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกสอบส่วนที่ถูกสอบสวนมาก่อนหน้าได้ให้ข้อมูลทุกอย่างหมดแล้ว จึงร้องขอให้ผู้ถูกสอบให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมา

3) ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงเครือข่ายผู้กระทำความผิด

4) ทัศนะคติเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

5) ทัศนคติเกี่ยวกับการรัฐประหาร

ผู้สอบสวนจะซักถามแบบกล่าวหา แบบยั่วอารมณ์ กระทั่งแบบแสดงความเข้าใจ รวมทั้งการแสดงเหตุผลโต้แย้งผู้ถูกสอบและแสดงเหตุผลถึงความจำเป็นของการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์และการทำรัฐประหาร

ภายหลังจากสอบสวนเสร็จแล้ว จะนำตัวผู้ถูกสอบไปอีกห้องเพื่อเซ็นชื่อบันทึกการให้ปากคำ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยพิมพ์เอกสาร และให้ผู้ถูกสอบสวนตรวจสอบก่อนลงชื่อรับรองบันทึกการให้ปากคำ

อำนาจในการปล่อยตัวนั้นขึ้นอยู่กับคณะสอบสวนหากคณะสอบสวนมีคำสั่งให้ปล่อยตัว ผู้ถูกกักตัวก็จะได้รับการปล่อยตัวทันทีหลังสอบเสร็จ แต่หากไม่มีคำสั่งก็จะต้องถูกกักตัว 7 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัว

ตรวจเฟซบุ๊ก

ในการสอบสวนหาความสัมพันธ์หรือเครือข่ายที่ผู้สอบคิดว่ามีนั้น มีผู้ถูกสอบสวนบางรายที่ต้องเปิดเฟซบุ๊คของตนเองเพื่อแสดงให้คณะกรรมการสอบสวนดูด้วย และมีอีกหลายรายที่ต่อมอบรหัสเฟซบุ๊กของตนเองให้กับเจ้าหน้าที่ บางรายหลังจากสอบแล้วมีการบุกเข้าตรวจค้นที่พักอาศัยเพื่อตรวจยึดคอมพิวเตอร์หรือหลักฐานอื่นๆ ด้วย

กรณีผู้ถูกสอบที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นดีเจจัดรายการวิทยุ คณะกรรมการสอบมีการนำคลิปเสียงแต่ละประโยคมาสอบถามว่าสิ่งที่พูดหมายความว่าอย่างไร เป็นต้น

ส่วนมากผู้ถูกสอบจะถูกสอบสวนเพียงครั้งเดียว ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงเศษ บางคนถูกสอตอนกลางวันแต่บางคนก็ถูกสอบในเวลากลางคืน

อย่างไรก็ตาม ในคำสั่งที่ 44 มีผู้ถูกสอบบางรายถูกสอบสวนถึง 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการสอบสวนผ่านเครื่องจับเท็จอีกด้วย

การปล่อยตัว

กรณีที่มีคำสั่งปล่อยตัวจากคณะกรรมการสอบสวน ผู้ถูกสอบสวนหรือถูกกักตัว จะได้รับการปล่อยตัวทันทีหรือถูกปล่อยในวันรุ่งขึ้น หากไม่มีคำสั่งปล่อยตัวจากคณะกรรมการสอบสวนก็จะต้องอยู่จนครบ 7 วัน แล้วจึงได้รับการปล่อยตัว

เจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลการกักตัวจะเป็นผู้ปล่อยตัว และก่อนปล่อยตัวทุกคนจะต้องเซ็นชื่อกับเอกสารการปล่อยตัว โดยมีเงื่อนไขด้วยว่า

1) จะไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากหัวหน้า คสช.

2) จะละเว้นการเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ

3) หากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวหรือดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ต้องยินยอมที่จะถูกดำเนินคดีทันทีและยินยอมถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน

รวมทั้งเซ็นชื่อยอมรับด้วยว่าระหว่างถูกกักตัวนั้น “ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มิได้ถูกทำร้ายหรือมิได้ถูกใช้กำลังบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ให้คำสัญญาหรือกระทำโดยมิชอบประการใดๆ”

เจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลระหว่างกักตัวจะส่งตัวถึงที่พักหรือสถานที่ๆ ผู้ถูกกักตัวร้องขอ โดยมีการคืนเครื่องมือสื่อสารที่ถูกยึดไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกเรียกตามคำสั่งที่ 44 นั้น แม้ครบ 7 วัน ก็ไม่ได้ถูกปล่อยตัวมาทั้งหมด มี 2 รายที่ถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา112 ของประมวลกฎหมายอาญาและถูกคุมขังที่เรือนจำต่อด้วย เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

 

 

เอกสารเงื่อนไขการปล่อยตัว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net