Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




การแบ่งระบบภาษีอเมริกัน เป็นการแบ่งในลักษณะ 2 มิติ

มิติที่หนึ่ง ได้แก่ แบ่งการจัดเก็บตามพื้นที่ คือ ภาษีที่เก็บเข้าท้องถิ่น (state taxes และ local taxes) อย่างเช่น เข้ารัฐ เป็นต้น โดยมีฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาท้องถิ่นทำหน้าที่อนุมัติจัดสรรเบิกจ่ายในเบื้องต้น และภาษีที่เก็บเข้าส่วนกลาง (federal tax)  คือ ภาษีที่เก็บเข้าส่วนกลางและบริหารจัดการโดยส่วนกลาง โดยมีฝ่ายนิติบัญญัติทั้ง 2 สภา ทำหน้าที่อนุมัติ
ในการกระจายเงินภาษีหรือเงินงบประมาณในเบื้องต้น 

มิติที่สอง ได้แก่ แบ่งตามลักษณะลักษณะหรือประเภทของภาษี ซึ่งก็คล้ายกับระบบการจัดเก็บภาษีของอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก คือ การเก็บภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาและการจัดเก็บภาษีสำหรับนิติบุคคล แม้จะมีการจัดเก็บ “ภาษีประเภทอื่น”แทรกอยู่ด้วยก็ตาม

การจัดเก็บภาษีประเภทอื่นดังกล่าว อย่างเช่น ภาษีเงินได้หักจากเพย์โรลล์เช็ค (payroll  taxes)  ภาษีอสังหาริมทรัพย์ (property taxes)  ภาษีจากการขาย (sale taxes) ภาษีจากการให้ของขวัญของที่ระลึกโดยเสน่หา (gift taxes) เป็นต้น ซึ่งในแต่ละรัฐอัตราการจัดเก็บภาษีเหล่านี้จะไม่เท่ากัน บางรัฐอาจไม่มีการจัดเก็บ  ขึ้นกับการบริหารจัดการรายได้ของแต่ละรัฐหรือแต่ละรัฐบาลท้องถิ่นที่จะบริหารจัดการรายได้ของตัวเอง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ

การยกเว้น ไม่เก็บภาษีบางประเภทของรัฐ (state) หรือรัฐบาลท้องถิ่นอื่นๆ เช่น เค้าน์ตี้ (county) เมือง (city) ส่วนใหญ่เกิดจากความต้องการสร้างแรงจูงใจให้เศรษฐกิจของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นไปด้วยดี ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี เกิดการพัฒนาและการกระจายของรายได้ ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลท้องถิ่นต้องสร้างแรงจูงใจในการลงทุนจากนักลงทุนที่อยู่ในท้องถิ่นหรือรัฐอื่นๆ โดยเป็นเรื่องที่รัฐบาลของแต่ละท้องถิ่นสามารถดำเนินการกำหนดอัตราภาษีเองได้ 

การให้อำนาจกับรัฐบาลท้องถิ่น โดยกฎหมายกลาง (federal law) ทำให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการจัดเก็บภาษีอย่างเหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นนั้นๆ  เช่น บางท้องถิ่นอาจไม่มีการจัดเก็บภาษีอีกประเภทหนึ่ง แต่ไปดำเนินการจัดเก็บภาษีอีกประเภทหนึ่ง  เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นไปของแต่ละท้องถิ่นที่มีลักษณะทางด้านเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน เช่น รัฐเนวาดา ไม่มีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเข้ารัฐ เพื่อต้องการดึงดูดให้ผู้คนไปทำงานในรัฐทะเลทรายแห่งนี้ แต่ขณะเดียวรัฐเนวาดาก็มีรายได้จาก “ทางอื่น” เช่น จากภาษีนิติบุคคล คือ สถานประกอบการเอกชนที่เข้าไปลงทุน เช่น คาสิโน เป็นต้น เป็นการทำให้วงจรเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ดี เพราะผู้ประกอบการธุรกิจเองเมื่อมีรายได้ที่รัฐนี้ ก็ไม่ต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐ คงเหลือต้องจ่ายให้รัฐบาลกลางคือ กระทรวงการคลังอเมริกัน (department of the treasury) เท่านั้น ดังนั้น แม้รัฐเนวาดา จะมีลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์ที่ไม่โดดเด่นเท่ารัฐอื่นๆ แต่ก็มีแรงจูงในการลงทุนค่อนข้างสูง

ผมมีข้อสังเกตถึงการจัดเก็บภาษีของระบบอเมริกัน ดังนี้ครับ

1. ระบบการจัดเก็บภาษีอเมริกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของฐานของรายได้ของพลเมืองอเมริกัน  จึงเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า แต่ยังคงระบบการสร้างแรงจูงใจด้วยการปล่อยให้ท้องถิ่นดำเนินการจัดเก็บภาษีตามความต้องการของท้องถิ่นนั้นๆ เอง โดยสภาท้องถิ่น อย่างเช่น state assembly  สามารถกำหนดนโยบายภาษีและอัตราภาษีได้เอง ตามที่เห็นสมควร โดยไม่ขัดกับกฎหมายภาษีกลาง (federal taxation law) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดแรงกระตุ้นทางด้านเศรษฐกิจ ดังกรณีการไม่เก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (income taxes) ของบางรัฐ แต่เปลี่ยนไปเก็บภาษีทางด้านธุรกิจประเภทอื่นๆ แทน

ประเด็นการเก็บและไม่เก็บภาษี รวมถึงอัตราภาษีที่เหมาะสม มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานในสังคมอเมริกันระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมนำโดยพรรครีพับลิกัน กับฝ่ายเสรีนิยมนำโดยพรรคเดโมแครต โดยฝ่ายแรกต้องการให้ลดอัตราภาษีลงเพื่อให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น ความหมายคือ หากอัตราภาษีอยู่ในระดับที่ต่ำ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมคาดหวังว่าจะมีการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้นก็เป็นเหตุที่ทำให้พลเมืองสามารถสร้างรายได้มากขึ้นไปด้วย รัฐเองก็พลอยได้รับผลดีจากฐานภาษีที่ขยายกว้างออกไปมากขึ้นอีกด้วย ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมมองว่า การลดอัตราภาษีมากเกินไปทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากขึ้น และเป็นเหตุให้คนรวยที่มีฐานทางเศรษฐกิจดีอยู่แล้ว ได้เปรียบคนจนมากขึ้น  การคงอัตราภาษีในระบบก้าวหน้าเอาไว้ในระดับที่เหมาะสม ถือเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนมีรายได้น้อยกับคนมีรายได้มาก ฝ่ายเสรีนิยมในอเมริกายังมองด้วยว่า สังคมอเมริกันต้องวางระบบภาษีแนวสังคมนิยม คือ รัฐต้องจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าที่สูงพอสมควร เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ด้านสวัสดิการสังคมให้มากขึ้น สวนทางกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มองว่า การนำเงินภาษีไปเพื่อการสวัสดิการสังคม เป็นการไม่ยุติธรรมกับผู้จ่ายภาษี และจะให้แรงจูงใจในการลงทุนลดลง  

2. ระบบการจัดเก็บภาษีอเมริกัน มีความยุติธรรมค่อนข้างสูง เป็นการเก็บภาษีโดยถ้วนหน้าและเสมอภาคกัน โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นบุคคลสำคัญหรือบริษัทใหญ่มีชื่อเสียงหรือไม่ก็ตาม  หน่วยงานเฉพาะทางด้านภาษี คือ สรรพากรอเมริกัน หรือที่รู้จักกันภายใต้ชื่อ “IRS” (Internal Revenue Service) จะดำเนินการจัดการเก็บภาษีอย่างละเอียดถี่ถ้วนและครอบคลุม แม้จะเป็นธุรกิจขนาดเล็กเพียงใดก็ตาม ทั้งนี้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปในอเมริกาว่า หน่วยงาน IRS มีความน่าเกรงขามเพียงใด

3. ระบบการจัดเก็บภาษีอเมริกันมาจากจิตสำนึกเรื่องงบประมาณที่มาจากภาษีของพลเมืองมีความสำคัญทุกบาททุกสตางค์ ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินประมาณจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่น มีการตรวจสอบงบประมาณการเดินทางของประธานาธิบดี เช่น ดูว่ามีความจำเป็นต้องเดินทางไปหรือไม่ หรือหากเดินทางไปแล้วมีค่าใช้เท่าไรและอย่างไร เป็นต้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีอเมริกันถูกวิพากษ์ ตรวจสอบ และจับตาจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับการใช้งบประมาณซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนในการเดินทางตลอดเวลา

4. การทำงานของ IRS เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากสมรรถภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่และเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถสืบสวนสอบสวนด้านภาษีได้อย่างรวดเร็ว ลึกและละเอียด IRS จึงเป็นหน่วยงานของรัฐบาลอเมริกันหน่วยงานหนึ่งในไม่กี่หน่วยงานที่มีอิทธิพลสูง เนื่องจากกฎหมายได้ให้อำนาจไว้มาก

5. การวางโทษที่รุนแรงสำหรับผู้ที่เบี้ยวไม่จ่ายภาษีให้กับรัฐ แต่ในด้านตรงกันข้าม ความเป็นพลเมืองดีตามแบบอย่างวัฒนธรรมอเมริกันส่วนหนึ่งก็คือการจ่ายภาษีตามหน้าที่ บุคคลผู้จ่ายภาษีให้กับรัฐตามหน้าที่มาตลอดมีโอกาสที่จะได้ผลประโยชน์จากรัฐ เช่น สวัสดิการ มากกว่าบุคคลที่ไม่สำนึกในหน้าที่ความเป็นพลเมืองผู้ต้องจ่ายเงินภาษี ซึ่งเป็นไปตามหลักการเดียวกับหลักการผลประโยชน์นิยม

6. การได้รับสิทธิลดหย่อนทางด้านภาษีขึ้นกับการทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมหรือสังคม เช่น การบริจาคเงิน หรือการทำกิจกรรมไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งเป็นทั้งมาตรการจูงใจและมาตรการบังคับทางด้านภาษีให้บุคคลที่เป็นเอกชน(nonprofit organizers) เอาใจใส่ต่อสังคม แทนที่รัฐจะต้องลงไปดูแลเองทั้งหมด เป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมสำหรับเอกชนผ่านระบบภาษี  แต่มีข้อแม้ว่าเอกชนดังกล่าวจะต้องแจ้งรายละเอียดหรือจัดทำบัญชีแจงรายรับรายจ่ายให้ IRS ทราบเป็นระยะๆ

7. สำนึกในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รัฐสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในฐานะหน่วยงานที่นำเงินงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนไปใช้ เป็นเรื่องที่พลเมืองผู้เสียภาษีทุกคนสามารถทำได้ โดยจัดเป็นแนวทางหนึ่งในการแสดงเจตจำนงของพลเมืองที่มีต่อนโยบายและการทำหน้าที่ของรัฐ ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการตรวจสอบความโปร่งใสของการใช้เงินภาษีของพลเมืองไปในตัวด้วย

จารีตการเมืองอเมริกันนั้นเป็นไปตามหลักสิทธิและหน้าที่ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย บนหลักการเสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ

มิใช่รัฐเอาแต่จัดเก็บภาษี แต่ปิดปากประชาชนไว้ไม่ให้แสดงความคิดเห็นทั้งในเชิงนโยบายและการตรวจสอบ โดยไม่รู้ว่ารัฐเอาเงินของพลเมืองไปใช้จ่ายเพื่อการใด เพื่อใคร อย่างไร และตรงตามความเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net