หากกล่าวถึงกระแสอาเซียนนับว่าเป็นคำฮอตฮิตที่ไม่มีใครไม่รู้จัก เตรียมพร้อมเข้าสู่อาเซียนจึงเป็นคำที่กระตุ้นในเชิงรุกทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า กระแสของกระเซียนเป็นที่สนใจของบรรดานักธุรกิจ นักวิชาการ นักศึกษาและหน่วยงานภาครัฐซึ่งต่างก็มีมุมมองต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมดังกล่าวที่แตกต่างกันไป แต่ทว่าสำหรับผู้เขียนแล้วหากจะเปรียบกระแสอาเซียนใหม่ (New Asian) ที่เกิดขึ้นเข้ากับกระแสโลกาภิวัฒน์ก็คงจะไม่ผิดมากนัก เพียงแต่อาเซียนจะเป็นคำที่ค่อนข้าง scope ไปที่ตัวอาณาบริเวณ หรือขอบเขต พื้นที่ การรวมตัวของกลุ่มประเทศที่มีพื้นที่ติดต่อ มีระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน หรือ อาจจะเป็น (Cultural Zone) ขณะที่โลกาภิวัฒน์คือ กระแสการไหลเวียนทุนและทรัพยากรที่กว้างขว้าง ไม่ว่าจะเป็นทุน (capital) สินค้า (goods) แรงงาน (Labor) เทคโนโลยี (Technology) ดังนั้นหากจะกะเทาะเปลือกของอาเซียน ในฐานะการรวมกลุ่มประเทศเพื่อร่วมมือกันในการสร้างศักยภาพและการแก้ไขปัญหาที่กลุ่มประเทศเผชิญนั้นอาจจะต้องพิจารณาเป็นรายประเด็นไป
ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ ที่การรวมกลุ่มอาเซียนต้องขบคิดร่วมกันคือ การไหลเวียนแรงงาน และผู้คนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน แรงงานที่ผู้เขียนหยิบยกมาถกเพื่อเปิดประเด็นให้คิดต่อหากการรวมกลุ่มประเทศเกิดขึ้น คือ การไหลเวียนของแรงงานผู้หญิงขมุในงานภาคบริการ เมื่อเรากล่าวถึงงานภาคบริการคือ งานประเภทพนักงาน ร้านอาหาร ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการท่องเที่ยว ผู้เขียนใช้คำว่า ไหลเวียน (Flows) มากกว่าที่จะใช้คำว่า การอพยพ (Migration) เพราะคำว่า การอพยพนั้น ต้องรู้ถึงสาเหตุของการผลักดัน หรือ แรงผลัก และแรงดึงดูดโดยเฉพาะแรงผลักที่มาจากผลด้านการเมือง เช่น การอพยพของแรงงานพม่า แรงงานไทใหญ่ แรงงานกัมพูชา และแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมาก หรือ กระทั่งต่อมาใช้คำว่า การเคลื่อนย้าย (Mobility) แต่กระบวนการโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดการไหลเวียนซึ่งเป็นไปด้วยความสมัครใจมากกว่า แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่น่าขบคิดว่า ความสมัครใจนี้ก็ยังคงมีแรงผลักอยู่ลึกๆ เช่นเงื่อนไขของการดำรงชีพ การไหลเวียนในที่นี่ก็แตกต่างกับ การไหลเวียน หรือ เคลื่อนย้ายแรงงานในอดีต ยุคทาส ประการแรกคือ การเคลื่อนย้ายแรงงานในสมัยอดีต มักจะเป็นไปโดยมีผู้นำ เช่น การเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศแม่เพื่อไปทำงานยังพื้นที่ต่างๆโดยการควบคุมของนายทาส เช่นเดียวกันกับการที่คนงานหรือแรงงานในอดีตของไทยนั้นต้องมีสังกัด เจ้าขุนมูลนาย ประการที่สอง การเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นความไม่สมัครใจ แต่ถูกกดบังคับจากนายทาส และประการที่สาม การเคลื่อนย้ายแรงงานที่เกิดขึ้นในกรณีของแต่การเคลื่อนย้ายแรงงานขมุก็เกิดขึ้นเป็นระลอก ซึ่งส่วนใหญ่ยุคของการดำเนินที่ภาคเหนือของไทยเปิดการสัมปทานป่าไม้ ช่วงนี้คนขมุโดยเฉพาะชายมักจะเข้ามาเป็นแรงงานโดยการควบคุมของหัวหน้าคนงาน หรือ นายฮ้อย คือ คนขมุที่มีประสบการณ์จากการเดินทางเข้ามาในไทยก่อน
แต่เมื่อหลังจากหมดยุคของกิจการทำไม้สัก การเคลื่อนย้ายแรงงานของคนขมุจากลาวสู่ประเทศไทยเป็นไปโดยไม่มีนายหน้าที่ควบคุมแรงงาน แต่เป็นการไหลเวียนที่เข้ามาโดยเงื่อนไขของชีวิต ณ ต้นทาง และการพัฒนาที่แตกต่างกัน ณ ประเทศปลายทาง ฉะนั้นก่อนที่คนขมุซึ่งเข้ามาทำงานในไทยจะพบกับนายจ้างที่ควบคุมแรงงานจริงๆนั้น จะมีนายหน้าหรือ broker ซึ่งเป็นคนที่เข้ามาอยู่ก่อน ในฐานะของเพื่อน หรือ ข่ายทางกลุ่มชาติพันธุ์เสียมากกว่า ลักษณะของการไหลเวียน จึงเกิดขึ้นโดยเหตุผลของตัวแต่ละปัจเจกและดำเนินการโดยตัวปัจเจก ปัจเจกกับปัจเจก กล่าวคือ ตัวแรงงานกับนายหน้ามากกว่าการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะแรงงานในภาคบริการ
โดยเฉพาะในระยะหลังบริบทของการพัฒนา เมื่อช่องว่างของการพัฒนาในชนบทและเมืองของสปป.ลาวกลายมาเป็นแรงผลักร่วมกับการที่ช่องว่างการพัฒนาพื้นที่สปป.ลาวมีข้อแตกต่างจากพื้นที่ของไทย แม้ในเมืองชายแดนเล็กๆอย่างเมืองเชียงของ ที่ผันตัวเองมาเป็นเมืองท่องเที่ยวนั้น การเปิด AEC หรือ สะพานที่ผ่านมาทำให้การขยายตัวของร้านรวง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นด้วยและนั่นคือที่มาของการเปิดรับแรงงานจากฝั่งลาวหน้าใหม่ที่เข้ามาทำงานในภาคบริการโดยเฉพาะร้านอาหารและร้านคาราโอเกะ ในที่นี่เรากลับพบว่าครัวเรือนขมุจากพื้นที่ลาวเทิงที่มีการดำรงชีพด้วยการทำไร่ นอกฤดูการทำไร่ ผู้หญิงครัวเรือนขมุนี้มักจะเข้ามาทำงานในภาคบริการของไทย ขณะที่ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมภายในประเทศไทยนั้น จะเป็นหน้าที่ของคนขมุที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในไทยและกลายเป็นคนไทยแล้ว การสร้างข่ายของคนขมุไทยในดินแดนไทยนั้น นับว่าเป็นฝางเส้นหนึ่งที่ทำให้เกิดข่ายที่ทำให้กระบวนการไหลเวียนแรงงานเป็นไปได้สะดวกขึ้น ผู้หญิงขมุส่วนใหญ่ใช้ข่ายดังกล่าวเป็นทางเชื่อมเพื่อเข้ามาทำงาน การทำงานในลักษณะที่ไหลเวียนอยู่ ณ พื้นที่ปลายทางได้ชั่วครั้งชั่วคราว พอหมดความสนใจในงานไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม จะพบว่าสิทธิในฐานะพนักงานหรือแรงงานนั้นไม่เท่าเทียมกับแรงงานประจำในพื้นที่ หลายครั้งเราจะพบว่าความเติบโตของธุรกิจประเภทบริการนักท่องเที่ยวขยายตัวอย่างกว้างขว้าง เพราะผลกำไรที่มาจากการอาศัยแรงงานจากเพื่อนบ้าน ซึ่งการไหลเวียนของแรงงานนี้ปรากฏชัดตลอดช่วงประวัติศาสตร์ แต่กระแสอาเซียนใหม่ทำให้ความเป็น Cultural Zone ที่ผูกกันทางด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม มาเป็นโซนที่เน้นการแลกเปลี่ยนเชิงธุรกิจ(Business Zone Exchange) มากกว่าที่จะเรียกว่าแลกเปลี่ยนกันทางด้านเศรษฐกิจเหมือนเช่นอดีต ซึ่งความเติบโตของความเป็น Business Zone link ตรงนี้สำคัญอย่างมากต่อความมั่นคงทางสังคมของผู้คน กลุ่มชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขงหรือความสัมพันธ์ทางสังคมในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน เพราะแทนที่จะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อประสานข้อเด่นข้อดีของกันและกัน แลกเปลี่ยนฝีมือแรงงาน กลับกลายเป็นว่า เกิดการเอาเปรียบเชิงแรงงานกันขึ้น เพื่อแสวงหากำไรจากเพื่อนบ้าน
ที่นี่จึงเป็นจุดที่น่าตระหนักว่าอาเซียนควรจะมีบทบาทอย่างไรต่อประเด็นการไหลเวียนแรงงานโดยเฉพาะแรงงานเด็กและผู้หญิง อันที่จริงอาเซียนเป็นการรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นมานับตั้งแต่ 20 กว่าปีที่ผ่านมา แต่กระแสอาเซียนกลับบูม ภายใต้การลงทุนและการไหลเวียนที่เพิ่มมากขึ้น ทว่าการที่จะร่วมมือกันเพื่อกระตุ้นหรือ ถกเถียง หรือ ตระหนักผลพ่วงของการไหลเวียนผู้คนที่ก้าวข้ามไปมาหากันได้สะดวกมาขึ้นนี้ยังคงเป็นประเด็นที่จะต้องมีการเปิดเวที และลงรากลึกถึงระดับนโยบายที่จะขับเคลื่อนสังคม อันสามารถใช้ได้จริง ไม่เช่นนั้นอาเซียนจะกลายเป็นเพียงกระแสที่ Boom เพราะความเห็นพ้องต้องกันของบรรดาประเทศผู้นำที่ได้รับผลประโยชน์ไม่ว่าจะในด้านของการท่องเที่ยวก็ดี ด้านเศรษฐกิจก็ดี ด้านวัฒนธรรม การร่วมมือทางด้านการศึกษาก็ดี แต่ความร่วมมือที่จะตระหนักในปัญหายังคงขาดการปฏิบัติ เช่นนี้แล้วกระแสอาเซียนก็ยังคงเป็นเพียงสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า การสร้างแรงกระเพื่อมให้ประเทศสมาชิกยิ่งสร้าง เพื่อต้อนรับการไหลเวียน เลื่อนไหลของผู้คน แรงงาน สินค้า และทุนต่างๆจำนวนมาก หมุดหมายนั้นก็คือการลดระดับแรงเสียดทานด้านการเมือง แต่กระแสอาเซียนใหม่ หรือ New Asian นี้ ก็เป็นเพียงแก่นที่ไร้แกน ที่กระตุ้นให้แต่ละประเทศนำเสนอประเทศตัวเองในเชิงของอัตลักษณ์ชาติ (National Identities) มากกว่าที่จะเน้นด้านความมั่นคงด้านสังคมหลากชาติพันธุ์หรือการยอมรับเพื่อนบ้าน ดังนั้นสามเสาหลักที่อาเซียนกำหนดขึ้นตั้งแต่แรกเริ่ม เราก็ยังคงเห็นเสาของเศรษฐกิจเป็นตัวเด่น และเป็นเศรษฐกิจแบบที่ส่งเสริมให้ทุนใหญ่ ทุนระดับกลางเคลื่อนย้ายได้สะดวกขึ้น ขณะที่ทุนระดับเล็กยังคงกระเบียดกระเสียนตัวเองภายใต้การไหลเวียนของทุนทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อเสาด้านความมั่นคงทางด้านสังคมไม่ได้รับการเหลียวแล แล้วความมั่นคงด้านการเมืองและเศรษฐกิจ (การกระจายทรัพยากร) จะยั่งยืนได้เพียงไร
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เขียนแล้วกระแสอาเซียนใหม่ที่ผลักให้เกิด Business Zone ที่ไม่ได้ดำเนินไปเฉพาะการดำเนินงาน แต่เป็นอาการทางด้านธุรกิจที่เพื่อนบ้านด้วยกันพร้อมที่จะเอาเปรียบหรือหาช่องทางที่จะแสวงหากำไรจากทรัพยากรเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะแรงงานหญิง นั่นทำให้เกิดสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่าภาวะความไม่มั่นคงในด้านการดำรงชีพ (non livelihood security)ของบรรดาแรงงานหญิงข้ามแดน ที่ต้องเผชิญกับสภาพงาน และความขัดแย้งของการบริหารจัดการแรงงานภาคท้องถิ่นและแรงงานไหลเวียน ทั้งด้านที่พักอาศัย ด้านสุขภาพ กฎหมายที่จะต้องรองรับเพื่อให้สิทธิแก่แรงงานไหลเวียนเหล่านี้ และเมื่อใดก็ตามที่เป็นงานในพื้นที่ภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ ซึ่งมีความซับซ้อน สุ่มเสี่ยง ผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ก็ยังคงตกอยู่ในภาวะความไม่มั่นคงในสภาพชีวิต แม้ว่าพวกเธอจะได้ค่าจ้าง และการหาช่องทางในพื้นที่งานใหม่ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า พวกเธอจะไม่ถูกเอาเปรียบทางสังคม ปัญหาด้านการติดเชื้อ HIV จะลดลง พวกเธอจะได้รับความคุ้มครองและได้รับการยอมรับจากท้องถิ่น
จากบทความเดิมชื่อ แรง “กระเพื่อม” ของกระแสอาเซียนใหม่: จากโซนวัฒนธรรมสู่โซนธุรกิจบนปฏิบัติการไหลเวียนแรงงานหญิงในภาคบริการ
แปลจาก New Asian and the Business Zone of Women labor Flow issue โดย Sasipar Khamkam
MA Ethnicity and Development Program Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University
แสดงความคิดเห็น