แหล่งผลิตปัญญาชนกับการผลิตซ้ำประวัติศาสตร์บาดแผล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

โครงการร้องเพลงมหาวิทยาลัย ภาคภูมิใจนเรศวร ประจำปี 2557 หรือ Power cheer 2014 ในชื่อ "The Great King: กษัตรามหาราช ตอน พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจขององค์การนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจัดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ จุดประสงค์เพื่อแสดงความสามัคคีของเหล่านิสิตใหม่

ประเด็นที่สำคัญของงานคือ การใช้เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก มาเป็นศูนย์รวมจิตใจของเหล่านิสิตใหม่ มีการโฆษณาเพื่อสรรเสริญองค์กษัตริย์เมื่อประมาณสี่ร้อยกว่าปีที่แล้วอย่างแข็งขันด้วยตัวของเหล่านิสิตและเจ้าหน้าที่ของทางมหาวิทยาลัย ในการแสดงครั้งนี้จะมีการจำลองสงครามการรบ และการยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงของพระนเรศวร  ซึ่งการจัดงานในปีก่อนหน้านั้น ธีม (Theme) ของงานเองก็จะหลุดไม่พ้นจากสงครามระหว่างอยุธยากับหงสาวดีในสมัยของพระนเรศวร อยู่ที่ว่าจะหยิบเรื่องราวส่วนไหนมาเป็นจุดโฟกัส ผลของงานดังกล่าวนี้ล้วนแล้วแต่สร้างการผลิตซ้ำ และสร้างความเคารพ ความเชื่อ อีกทั้งความหลงใหลในประวัติศาสตร์กระแสหลักอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ดี เรื่องราวดังกล่าวนี้จะถือว่าเป็นตำนาน (Myth) เสียมากกว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ (History) แต่ได้ถูกทำให้เป็นประวัติศาสตร์ชาติ เพื่อตอบสนองกับลัทธิชาตินิยม ซึ่งอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริได้อธิบายเรื่องดังกล่าวนี้ว่า ในอดีตที่ผ่านมา ลัทธิชาตินิยมได้สร้างประวัติศาสตร์ของชาติให้เป็นประวัติศาสตร์ "บาดแผล" ใช้ "ความเกลียด" ต่อชาติเพื่อนบ้าน เพื่อที่จะสร้าง "ความรัก" และ "ความคลั่ง" ในชาติของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่า การผลิตซ้ำดังกล่าวนี้เท่ากับเป็นการย้ำบาดแผลของประวัติศาสตร์ เพื่อตอบสนองต่อลัทธิชาตินิยม และเพื่อใช้ลัทธิดังกล่าวหลอมรวมนิสิตภายในรั้วมหาวิทยาลัยให้เป็นหนึ่งเดียว โดยปราศจากการโต้แย้ง

แต่สิ่งแรก เราควรจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปของมหาวิทยาลัยนเรศวรกันก่อน เนื่องมาจากสาระสำคัญส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530 - 2534) ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภูมิภาคและชนบท ประกอบกับนโยบายของรัฐบาล จึงทำให้เกิดการกระจายความเจริญมาสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เกิดการสถาปนามหาวิทยาลัยขึ้นตามท้องที่ต่างๆ ทำให้ความเจริญและสถานศึกษาระดับสูงไม่จำกัดตัวหรือกระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพมหานครฯ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าได้มีมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เกิดขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไร่นาได้กลับกลายมาเป็นพื้นที่สร้างมหาวิทยาลัย และกลายมาเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจในภายหลัง ด้วยเหตุนี้เองมหาวิทยาลัยนเรศวรจึงได้ถือกำเนิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยนเรศวรเองนั้นไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดใหม่ แต่เราจะถือว่าเกิดมาจากการยกระดับขึ้นมากกว่า เดิมวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2510 เพื่อจุดประสงค์ในการมุ่งผลิตสายวิชาชีพครู ต่อมา เมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรได้ถูกยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก ซึ่งเป็นเครือข่ายของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ก็ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก และพัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร แม้ว่าจะถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่แยกตัวออกอย่างเป็นเอกเทศ แต่ในเรื่องของวัฒนธรรม ธรรมเนียมต่างๆ นั้นก็ยังคงมีกลิ่นอายของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒอยู่พอสมควร

เมื่อเกิดการแยกตัวออกมาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒแล้ว จะทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความเป็นตัวเองให้มากที่สุด และจะใช้อะไรเป็นอัตลักษณ์ ท้ายที่สุดก็เกิดการเลือก "เจ้า" ขึ้นมาให้เป็นศูนย์รวมจิตใจ ใช้ประวัติศาสตร์กระแสหลักของชาตินิยมมาเป็นตัวอธิบายการอยู่รวมกันและรวมจิตใจของเหล่านิสิต โดยอาจารย์รังสรรค์ วัฒนะ ได้จดบันทึกไว้ในอนุทินของการเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร เกี่ยวกับชื่อนเรศวรไว้ว่า ชื่อ "นเรศวร" นั้นส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นชื่อของค่ายทหารหรือค่ายตำรวจ แต่ยังไม่มีสถาบันทางการศึกษาใดเลยที่จะนำพระนามของพระองค์ท่านมาตั้งเป็นชื่อสถาบันการศึกษา และคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยก็เห็นชอบกับการอัญเชิญพระนามของสมเด็จพระนเรศวร อีกทั้งชื่อดังกล่าวนี้ยังได้รับความเห็นชอบ และได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ใช้พระนาม "นเรศวร" ได้อีกด้วย (ดู รังสรรค์,2547)

อย่างไรก็ตาม การเลือกอัตลักษณ์ดังกล่าวให้ขึ้นมาเป็นจุดร่วมของพื้นที่ทางการศึกษา ค่อนข้างที่จะมีปัญหาอย่างแน่นอน เนื่องจากการใช้มหาบุรุษซึ่งเป็นผลพวงมากจากประวัติศาสตร์กระแสหลักภายใต้แนวคิดชาตินิยม มาเป็นสิ่งที่ควรยกย่องในพื้นที่ทางการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ควรจะหลุดพ้นจากการครอบงำทั้งปวง ทำให้เกิดกรอบบางอย่างขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะคอยกำหนดให้นิสิตควรทำหรือไม่ควรทำอะไรขึ้น ด้วยเหตุผลว่า เพราะเราเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อมาจากกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ แน่นอนว่ากรอบแนวคิดนี้ได้ทำให้พระองค์นั้นลอยตัวอยู่เหนือศาสตร์วิชาทั้งปวงภายในมหาวิทยาลัย แม้กระทั่งวิชาประวัติศาสตร์เองที่เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถที่จะแตะต้องพระองค์อย่างตรงไปตรงมาได้ นี่เองจึงเป็นจุดที่ทำให้มีการผลิตซ้ำประวัติศาสตร์บาดแผลภายในแหล่งผลิตปัญญาชนแห่งนี้ออกมาอยู่อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน เรื่องราวของกษัตริย์ผู้กล้าหาญพระองค์นี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่อย่างมากมาย ไม่สิ้นสุด ทั้งในเรื่องของความเป็นไปได้และในเรื่องของเอกสารทางประวัติศาสตร์ แต่การรวบยอดเรื่องราวของประวัติศาสตร์กระแสหลักของลัทธิชาตินิยมได้ทำให้เรื่องราวที่เป็นตำนานที่มีเพียงแค่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงโต้เถียงกันอย่างไม่มีข้อยุติ กลายเป็นประวัติศาสตร์ชาติ และความเชื่อที่โต้แย้งไม่ได้ ซึ่งน่าแปลกใจที่กิจกรรมร้องเพลงมหาวิทยาลัยดังที่กล่าวถึงข้างต้น เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ แต่แม้กระทั่งนิสิตและอาจารย์สายวิชาประวัติศาสตร์ ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะลุกขึ้นมากระตุ้นเตือน แต่ในทางตรงกันข้าม หลายๆ คนออกจะสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวนี้อย่างออกหน้า

การใช้องค์สมเด็จพระนเรศวรมาเป็นวาทกรรมในการบังคับหรือหลอมรวมนิสิต ทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้นยังคงได้ผลดี มีการประกาศผ่านสื่อออนไลน์ในการที่จะระดมให้นิสิตเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เช่น

          "...มาร่วมเป็น 1 ในทหารของสมเด็จพระนเรศวร เพื่อศักดิ์ศรีของเราลูกนเรศ... "

ด้วยแนวคิดดังกล่าวนี้ เราควรที่จะตระหนักได้แล้วว่า เรานั้นค่อนข้างที่จะมีปัญหาอยู่พอสมควรเกี่ยวกับการเข้าใจประวัติศาสตร์ และนำประวัติศาสตร์มากำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์กระแสหลักซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลแนวคิดของลัทธิชาตินิยม ดังนั้น มหาวิทยาลัยที่ควรจะเป็นที่รองรับความคิดใหม่ๆ และควรจะมีเสรีภาพทางความคิดและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จึงกลับกลายเป็นว่า ต้องถูกกดภายใต้กฎระเบียบ ซึ่งเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ชาตินิยม โดยทุกคนเลือกที่จะมองข้ามสิ่งเหล่านี้ และเดินไปตามที่สังคมได้กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการบังคับให้เดินไปโดยความสัมพันธ์เชิงอำนาจจากรุ่นพี่และคณะผู้บริหาร รวมทั้งบรรดาคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้วย

แม้กระทั่งเครื่องหมายหรือตึกเรียนต่างๆ ซึ่งก็ได้ถูกตั้งชื่อหรือออกแบบให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์กระแสหลักแบบชาตินิยม อันเป็นการผลิตซ้ำที่อยู่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนและชีวิตประจำวันของนิสิต ดังเช่น เครื่องหมายองค์สมเด็จฯ ที่นิสิตต้องประดับไปเรียนอยู่ทุกครั้ง ชื่ออาคารธรรมราชา อาคารเอกาทศรถ อาคารปราบไตรจักร เป็นต้น เป็นการผลิตซ้ำและปลูกฝังแนวความคิดดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อีกประการหนึ่งของการผลิตซ้ำที่ค่อนข้างอันตรายอยู่พอสมควรคือ การเกิดแนวคิดที่ยกสถานะสมเด็จพระนเรศวรให้มีสถานะเป็น "พ่อ" และแทนนิสิตทุกคนหรือบุคลากรต่างๆ ที่ได้เข้ามาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่าเป็น "ลูก" ซึ่งตามค่านิยมของวัฒนธรรมไทยแล้ว ผู้น้อยย่อมเป็นการยากที่จะโต้แย้งผู้ใหญ่ การยกสถานะดังกล่าวนี้ยิ่งทำให้นิสิตยากที่จะตั้งข้อสงสัยหรือโต้แย้งอะไรได้เลย ถึงแม้ว่าสมเด็จพระนเรศวรจะไม่ได้เป็นผู้ใช้วาทกรรมดังกล่าวนี้ แต่การที่ใครก็ได้ที่มีอำนาจจะมาใช้วาทกรรมดังกล่าวนี้ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายมาก

ดังนั้น เราควรพิจารณาด้วยว่า การที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในสถาบันการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ และถามผู้ที่รักและเคารพสมเด็จพระนเรศวร ว่าท่านทนได้หรือไม่ที่ยอมให้มีคนมาแอบอ้างพระนเรศวรเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เพราะท่านมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 400 กว่าปีที่แล้ว ไม่มีใครเคยพบเห็นท่านจริงๆ หรือได้ยินสิ่งที่ท่านพูด แล้วท่านจะเอาอะไรเป็นตัววัดความประสงค์ของพระองค์ท่าน สิ่งที่มีคนกล่าวอ้างว่าท่านประสงค์อย่างนู้นอย่างนี้  ความประสงค์นั้นแท้จริงแล้วท่านคิดว่ามันเป็นของใคร

เป็นที่แน่นอนว่ากิจกรรมดังกล่าวนี้ได้รับความเห็นดีเห็นชอบจากผู้หลักผู้ใหญ่ต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ผ่านไปปีแล้วปีเล่า การผลิตซ้ำของประวัติศาสตร์บาดแผลเช่นนี้ ได้ทำให้แหล่งผลิตปัญญาชนแห่งนี้กลับกลายเป็นเบ้าหลอมของลัทธิชาตินิยมและความคลั่ง สิ่งที่นิสิตเหล่านี้จะได้รับคือความภาคภูมิใจในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ท่ามกลางความเกลียดชังและอคติ เพราะถึงแม้ว่าเราจะตระหนักดีแล้วว่าเรื่องราวเหล่านี้มันได้ผ่านมาแล้วหลายร้อยปี แต่การผลิตซ้ำก็เปรียบเสมือนเป็นการกรีดแผลซ้ำไปซ้ำมา และการลงมีดครั้งแล้วครั้งเล่าภายใต้แนวคิดของลัทธิชาตินิยมอาจจะหนักและบอบช้ำมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ เราควรที่จะตระหนักได้แล้วว่าประวัติศาสตร์บาดแผลนี้มันสร้างอันตรายได้อย่างมากมาย มันสามารถที่จะใช้สร้างความชอบธรรมให้กับสถานะของผู้มีอำนาจ และสามารถใช้ล้มล้างฝ่ายตรงข้ามได้อย่างไม่เป็นธรรม ดังที่เห็นได้จากอดีตที่ผ่านมาแล้วหลายกรณี

อย่างไรก็ตาม มันเป็นความย้อนแย้ง (Paradox) ในตัวของมหาวิทยาลัยเอง ที่มุ่งมั่นปรารถนาที่จะนำสถาบันการศึกษานี้เข้าไปอยู่ใน AEC อย่างภาคภูมิ ถึงกับลงทุนปิดภาคเรียนนำร่องเพื่อปรับเวลาให้ตรงกับประเทศในอาเซียน มีการแลกเปลี่ยนต่างๆ อย่างมากมายในเรื่องของวัฒนธรรม มีนิสิตต่างชาติและอาจารย์ชาวต่างชาติที่เป็นชาวอาเซียนอยู่พอสมควร การหยิบยกประวัติศาสตร์บาดแผลมาเป็นสิ่งหลอมรวมจิตใจนิสิตใหม่นี้ มันไม่เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกันไปหน่อยหรือ เพราะอย่างไรก็ตามเมื่อเปิด AEC เมื่อไหร่ นิสิตที่เป็นชาวต่างชาติก็จะยิ่งมีมากขึ้น ดังนั้น คำถามจึงเกิดขึ้นว่า มหาวิทยาลัยจะยังใช้กลยุทธ์ชาตินิยมแบบเดิมที่หยิบยกประวัติศาสตร์บาดแผลมาหลอมรวมนิสิตได้อีกหรือไม่ อีกทั้งมหาวิทยาลัยจะจัดการอย่างไรกับอคติที่มีผลมาจากประวัติศาสตร์ชาตินิยมเหล่านี้ ที่ทางมหาวิทยาลัยได้มีส่วนเสริมสร้างมันขึ้นมา และผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย เห็นได้จากกิจกรรมที่จัดติดต่อกันทุกปีในช่วง 4 ปีหลังมานี้ 

          ปี 2554 ได้แก่งาน Spirit Cheer ซึ่งมีการแสดงการจัดทัพ 10 ทัพของสมเด็จพระนเรศวร มีการแบ่งฝ่ายออกเป็นทหารอยุธยาและฝ่ายหงสาวดี และเข้าสู้รบกัน โดยฝ่ายอยุธยาได้รับชัยชนะ

          ปี 2555 ได้แก่งาน Power Cheer ซึ่งมีการแสดงการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวร

          ปี 2556 ได้แก่งาน Power Cheer ซึ่งมีการแสดงเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ สนามกีฬากลาง มหาวิทยาลัยนเรศวร

          ปี 2557 ได้แก่งาน Power Cheer ซึ่งมีธีมงานว่า The Great King กษัตรามหาราช มีการแสดงชื่อตอนว่า พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง

นิสิตเหล่านี้เปรียบเสมือนอนาคตของชาติเรา ดังนั้น หากพวกเขายังคงมีอคติต่อประเทศเพื่อนบ้านอยู่อย่างนี้ พวกเขานั้นจะสามารถไปได้ไกลแค่ไหนในโลกของ AEC ความภาคภูมิใจในมหาบุรุษผู้เก่งกาจ เรื่องราวชัยชนะต่างๆ ของพระองค์นั้นชวนที่จะหลงใหล มีการผลิตภาพยนตร์ ละคร หรือการ์ตูนผ่านสื่อต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อย้ำในความเป็นเรา และความภาคภูมิใจที่เราควรจะเคารพสักการะ แต่ความหลงใหลดังกล่าวนี้ก็เปรียบเสมือนยาเสพติด ซึ่งยิ่งเสพไปมากเท่าไหร่ มีความสุขความภาคภูมิใจในเรื่องดังกล่าวอยู่มากเท่าไหร่ โลกทัศน์ของเราก็ยิ่งแคบไปมากเท่านั้น มีแต่อคติและความเกลียดชังที่มีแต่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น

แนวทางการแก้ไข ผู้เขียนขอนำคำของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า ในปัจจุบันและอนาคต ประวัติศาสตร์เหล่านี้สมควรที่จะต้อง "ชำแหละ" และ "ชำระ" เพื่อที่จะสร้าง "สันติภาพ" และ "ประชาคมของมนุษยชาติ" โดย "คนรุ่นใหม่" แหล่งผลิตปัญญาชนและปัญญาชนจะต้องหลุดพ้นจากประวัติศาสตร์กระแสหลักของลัทธิชาตินิยมและความเกลียดชัง อีกทั้งหลุดพ้นจากเส้นเขตแดนรัฐชาติที่แยกเขาแยกเรา พื้นที่ของมหาวิทยาลัยควรจะเป็นพื้นที่ทางวิชาการ เป็นแหล่งผลิตปัญญาคืนสู่สังคมที่ได้เสียภาษีทุกบาททุกสตางค์ เพื่อที่จะกลับไปช่วยฉุดพวกเขาออกจากความยากลำบาก ฉุดพวกเขาออกจากอคติและความเกลียดชัง ทำให้มนุษย์ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหนสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ ปราศจากอคติ และความเกลียดชัง เพื่อให้เรานั้นสามารถยืนได้อย่างทัดเทียมกันในเวที AEC

 

            

อ้างอิง

รังสรรค์ วัฒนะ.(2547). อนุทินของการเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร. กรุงเทพฯ :พัฒนาศึกษา .

Facebook : https://www.facebook.com/charnvitkasetiri.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท