Skip to main content
sharethis

ถกปัญหาสารพัดประเด็นเรืองการศึกษาไทยที่ต้องรองรับสารพัดแนวคิด ทั้งหน้าที่พลเมือง  AEC โตไปไม่โกง ฯลฯ ฟังนักวิชาการด้านการศึกษาจาก คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ สำรวจการปัญหาศึกษาไทยที่ คสช. ยังไม่รู้

 

 

หลังจาก คสช. ประกาศจะยกเครื่องหลักสูตรการศึกษาไทยโดยการแยกวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมืองออกมาจากกลุ่มสาระสังคมศาสตร์เพื่อเปิดสอนเป็นวิชาเฉพาะ และจะบรรจุลงไปในหลักสูตรภาคการศึกษาปลายที่จะถึงนี้ อาจารย์อรรถพล อนัตวรสกุลจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟสบุ๊กส่วนตัวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อแนวทางดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมาโดยให้เหตุผลว่าเป็นนโยบายที่ขาดการศึกษาอย่างรอบด้าน และเป็นการเพิ่มภาระให้อาจารย์ และนักเรียนโดยใช้เหตุ ในโอกาสนี้ประชาไทจึงได้ทำการสัมภาษณ์อาจารย์เพิ่มเติมถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับการศึกษาไทยภายใต้การทำงานของ คสช. รวมไปถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่เราอาจไม่เคยรู้

ประชาไท: อาจารย์คิดว่าการที่ คสช. ออกมาแถลงว่าจะแยกวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมืองออกมาจากกลุ่มสาระสังคมศาสตร์สะท้อนปัญหาอะไร

อรรถพล: ผมคิดว่ามันแสดงให้เห็นถึงการไม่สื่อสารกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับสังคมวงกว้าง ทำให้เกิดความคิดคลาดเคลื่อนว่าทุกวันนี้เยาวชนไม่ได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ กับหน้าที่พลเมืองเหมือนในอดีต ทั้งๆ ที่ทั้งสองวิชาก็มีการเรียนการสอนอยู่เป็นปกติ และหลักสูตรการศึกษาปี 2544 ก็ให้ความสำคัญกับวิชานี้เพราะเป็นการสร้างสำนึกพลเมืองให้กับนักเรียน แต่เราขาดการสื่อสารกับสังคม พอสังคมมีประเด็นปัญหาก็มาเรียกร้องจากระบบการศึกษา นอกจากนี้ นโยบายของ คสช. ยังแสดงให้เห็นถึงการแทรกแซงระบบการศึกษาโดยฝ่ายการเมือง ทุกวันนี้เมื่อเกิดกระแส หรือมีประเด็นน่าสนใจเราก็มาโยนให้การศึกษา เช่นอาเซียน โตไปไม่โกง บังคับให้โรงเรียนสร้างหลักสูตรใหม่ขึ้นมารองรับ แทนที่จะบูรณาการควบคู่การเรียนการสอนตามหลักสูตรปกติ อีกทั้ง คสช. เป็นเพียงแค่รัฐบาลชั่วคราวที่จะบริหารประเทศแค่ 15 เดือนเท่านั้น หากรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเขาไม่เห็นด้วยกับหลักสูตรของ คสช. ก็ต้องเปลี่ยนหลักสูตรใหม่อีก คนที่ต้องแบกรับภาระก็คือนักเรียนกับครูผู้สอน ผมคิดว่าสังคมไทยชอบโทษการศึกษามากเกินไป ทั้งๆ ที่ปัญหามันอยู่ที่ผู้ใหญ่ด้วย อยากให้เด็กโตไปไม่โกง มีความปรองดอง ยอมรับความเห็นต่าง เชื่อในหลักการประชาธิปไตย แต่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองกลับมีพฤติกรรมตรงข้ามแบบนี้จะปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาอย่างไรก็คงแก้ไขอะไรไม่ได้เพราะสิ่งที่ให้เด็กเรียนมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เขาเจอ เรามักจะคิดว่าการแก้ปัญหาที่การศึกษาคือแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่มันจะเพียงพอได้อย่างไรในเมื่อปัญหามันบานปลายเป็นความขัดแย้งแบ่งขั้วไม่มีใครฟังใครของผู้ใหญ่อยู่อย่างนี้

ประชาไท: หาก คสช. ยังคงเดินหน้าผลักดันประเด็นนี้ต่อไปอาจารย์คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น

อรรถพล: ผมมีความกังวลว่าหลักสูตรที่ออกมาจะไม่มีประสิทธิภาพ เพราะ คสช. ประกาศว่าจะผลักดันและประชุมกับทุกฝ่ายเพื่อเร่งร่างหลักสูตรใหม่ และบรรจุลงไปในภาคการศึกษาปลายที่จะถึงนี้ซึ่งมีเวลาไม่ถึง 4 เดือน คำถามคือมันจำเป็นต้องรีบขนาดนั้นเลยหรือ? โดยปกติเวลาเราจะทำหลักสูตรใหม่ เราต้องค่อยๆ ไล่ทำไปตั้งแต่ ป.1-ป.4-ม.1-ม.4 ต้องมีโรงเรียนนำร่องใช้เพื่อดูว่าหลักสูตรเหมาะสมหรือไม่ มีการประเมินผล ติดตามผลกันเป็นปีๆ กว่าจะได้หลักสูตรที่สมบูรณ์ แต่นี่ เรากำลังจะร่างหลักสูตรใหม่ที่ใช้พร้อมกันทั้งประเทศ ทุกระดับชั้น ทั้งโรงเรียนรัฐ เอกชน หรือแม้แต่โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งเป็นการไม่คำนึงถึงความหลากหลายของเด็กเลย เด็กที่โตในเมือง กับเด็กที่โตมาในชนบทก็ไม่วัฒนธรรมที่ต่างกันแล้ว เด็กแต่ละภูมิภาคก็แตกต่างกันอีก ถ้า คสช. ให้ความสำคัญกับการศึกษาจริงๆ ทำไมไม่ให้เวลากับมันหน่อย แถมต่อให้มาแก้ปัญหาที่เด็ก แต่ผู้ใหญ่ยังคงทะเลาะกันหรือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่เด็กปัญหามันก็ยังคงอยู่ เพราะสิ่งที่ คสช. ต้องการจะแก้มันเริ่มมาจากผู้ใหญ่ทั้งสิ้น

ประชาไท: บทบาทของการศึกษาไทยในความคิดของอาจารย์ควรจะเป็นอย่างไร

อรรถพล: โรงเรียนระดับประถมศึกษษต้องทำงานใกล้ชิดกับชุมชน และโรงเรียนในระดับมัธยมควรจะมีอำนาจในการจัดการตนเองมากขึ้น อาจารย์ต้องเป็นผู้เตรียมหลักสูตรเองแทนการรับหลักสูตรจากส่วนกลาง โรงเรียนต้องเป็นศูนย์รวมของชุมชน ต้องเป็นตัวกลางในการทำให้สังคมวงกว้างสามารถรับรู้ถึงปัญหาภายในชุมชนได้ ส่วนในระดับมหาวิทยาลัย อาจารย์หรือนักวิชาการต้องเป็นปัญญาให้กับสังคม ต้องบอกให้รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิดในเชิงวิชาการ เพราะเขาคือผู้ที่เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เขาศึกษามาเป็นอย่างดี แต่สิ่งทีเกิดขึ้นทุกวันนี้คือเราพยายามปิดปากนักวิชาการ ทั้งจากรัฐและจากการเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะกลัวว่าถ้าวิพากษ์วิจารณ์ก็จะโดนจัดหมวดหมู่ว่ามีวาระทางการเมืองซ้อนเร้นซึ่งมันไม่เหมาะสม สังคมควรจะรับฟังในวิชาการไม่ใช่ในฐานะสื่อที่มีขั้วทางการเมือง แต่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เขาศึกษา หากนักวิชาการไม่สามารถพูดในสิ่งที่เขาศึกษามาตลอดทั้งชีวิตได้มันจะมีประโยชน์อะไร สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่อยู่ด้วยกันโดยใช้อารมณ์ปราศจากเหตุผล ไม่ตรวจสอบแยกแยะข้อเท็จจริงเลือกฟังแต่ความเห็นทางการเมืองที่สนับสนุนความเชื่อของตนซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมาก สังคมที่ยอมรับความเห็นต่างต่างหากที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้

ประชาไท: อาจารย์พูดถึงเรื่องโรงเรียนท้องถิ่นที่มีอำนาจในการจัดการตนเอง พอจะมีตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมหรือไม่

อรรถพล: เราจะพบเห็นโรงเรียนแบบนี้เยอะมากในต่างจังหวัด ทุกวันนี้หลายโรงเรียนสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้ สามารถเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน อาจมีเด็กน้อยแต่บริหารได้อย่างคล่องตัว กลายเป็นว่าพวกโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองลำบากกว่าเสียด้วยซ้ำ จึงไม่แปลกที่เมื่อมีกระแสความพยายามยุบโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทชาวบ้านจึงออกมาต่อต้าน เพราะโรงเรียนชุมชนคือสิ่งที่พวกเขาร่วมสร้างกันมาเป็นเครือข่ายภายในชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำเนินมาตลอดตั้งแต่การประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาปี 2544 หลักสูตรดังกล่าวยังได้ระบุไว้อย่างชัดเจน หลักสูตรควรมีความหลากหลาย และผลสอบจากข้อสอบวัดมาตรฐานจากส่วนกลางควรใช้เพื่อเป็นแค่ตัวชี้วัดในเชิงคุณภาพเพื่อให้เกิดการพัฒนา ไม่ใช่เครื่องวัดมาตรฐานโรงเรียน แต่ปัญหาก็คือโรงเรียนก็ยังพยายามที่จะใช้การผลิตเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัยมันเป็นเครื่องยกระดับโรงเรียนเพื่อตอบรับความคาดหวังของผู้ปกครองซึ่งมันขัดต่อ พรบ. การศึกษา ปี 2542 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป้าหมายการศึกษาคือเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

ประชาไท: อาจารย์มีความเห็นอย่างไรกับ พ.ร.บ. การศึกษาปี 2542

อรรถพล: ผมคิดว่าเป็นกฎหมายที่ค่อนข้างดี เพราะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีกฎหมายการศึกษาอย่างจริงจัง อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่เน้นความเป็นท้องถิ่นมากขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรจะทำมาตั้งนานแล้ว ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เด็กแม่ฮ่องสอนต้องเรียนรายละเอียดมากมายเรื่องทวีปออสเตรเลีย คำถามคือมันจะมีโอกาสซักกี่เปอร์เซ็นที่เด็กแม่ฮ่องสอนจะได้ไปออสเตรเลีย แล้วจะเรียนในรายละเอียดไปเพื่ออะไร ในขณะที่ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเช่นบรรพรุษของเขาเป็นใครมาจากไหน จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอะไรน่าสนใจบ้างแทบไม่ได้รับการพูดถึงเลย พ.ร.บ. การศึกษา 2542 จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นด้วย

แต่มันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน เพราะครูเคยชินกับการรับหลักสูตรจากส่วนกลางไปสอน แต่กฎหมายฉบับนี้เปลี่ยนให้ครูต้องเป็นผู้ทำหลักสูตรด้วยตัวเอง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับอาจารย์รุ่นเก่าที่ไม่เคยเรียนเรื่องการทำหลักสูตร แต่ตอนนี้เรามีความพร้อมมากขึ้น เพราะเราทยอยผลิตอาจารย์รุ่นใหม่ที่สามารถผลิตหลักสูตรเองได้ แต่อยู่ดีๆ คสช. กำลังจะบอกให้เรากลับไปใช้รูปแบบเดิม โดยรับหลักสูตรที่มีนักวิชาการส่วนกลางจัดทำขึ้นไปใช้ เราจะไม่เคารพอาจารย์เหล่านี้หน่อยหรือ? แค่นี้ภาระของอาจารย์ยังไม่พออีกหรือ? ทุกวันนี้อาจารย์ต้องสอนถึง 20-28 คาบต่อสัปดาห์ นั่นหมายถึง 3-4 คาบต่อวัน แค่นี้เขาก็ไม่มีเวลาจะเตรียมหลักสูตรแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้งานครูหนักมาก แล้วเรายังจะไปเพิ่มภาระให้พวกเขาอีกเพื่ออะไรกัน ไหนจะมีงานที่ไม่ใช่การสอนอีก เช่น งานธุรการ ประเมินวิชาชีพ เลื่อนวิทยฐานะ ครูอาจารย์ในเครือข่ายที่ผมรู้จักไม่มีใครเลยที่ทำหน้าที่สอนหนังสือเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้อาจารย์ไม่มีสมาธิกับการสอนแล้ว มันยังเป็นการพรากครูอาจารย์ออกจากนักเรียน ผมเชื่อว่าคนที่เลือกมาเป็นครูเขาไม่ได้สนใจเรื่องเงิน แต่เพราะเขามีความสุขที่ได้อยู่กับเด็ก ระบบการทำงานที่ดึงให้ครูมาจมอยู่กับกองเอกสารแบบนี้จึงเป็นการทำลายเป้าหมายของวิชาชีพครูเลย

ประชาไท: อาจารย์คิดอย่างไรกับการสอบ O-net

อรรถพล: ผมว่าเราต้องมองประเด็นนี้ในหลายแง่มุม ปัญหาของการศึกษาบ้านเราคือเด็กเรียนเยอะเกินไป แถมยังต้องเรียนในสิ่งที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอยากให้เรียน พอมีกระแสอาเซียนก็ต้องเรียน พอมีเรื่องภัยพิบัติแผ่นดินไหวก็ต้องเรียน มาวันนี้มีกระแสเรื่องหน้าที่พลเมือง กับประวัติศาสตร์ก็คงจะต้องเรียนอีก เราไม่เคยถามเด็กว่าเขาอยากเรียนไหม หรือเรียนไหวไหม มันจริงหรือที่ยิ่งเรียนเยอะแล้วจะยิ่งดี O-net ก็เป็นตัวชี้วัดทางการศึกษาได้อย่างหนึ่ง พอเด็กสอบไม่ผ่านกันครึ่งค่อนประเทศเราก็มาโทษว่าข้อสอบ O-net ไม่ได้มาตรฐาน แต่พอเราเอาข้อสอบต่างชาติมาใช้เราก็ยังตกอยู่ดี สุดท้ายปัญหามันอาจไม่ได้อยู่ที่ O-net ผมอยากจะให้คนที่ทำหลักสูตรลองไปนั่งเรียนกับนักเรียน หรือไปนั่งในห้องพักครูซักอาทิตย์หนึ่ง ให้เขารู้ว่าเด็กต้องเรียนหนักขนาดไหน และครูมีภาระหน้าที่เยอะขนาดไหน นี่ยังไม่นับเรื่องจำนวนเด็กต่อห้องที่ครูต้องรับผิดชอบ โรงเรียนดังๆ ในกรุงเทพฯ มีเด็กห้องละ 50 คน เป็นไปไม่ได้เลยที่ครูอาจารย์จะให้ความสำคัญกับเด็กทั้ง 50 คนได้อย่างทั่วถึงแค่ตรวจการบ้านในแต่ละวันก็ไม่ไหวแล้วสิ่งที่ครูอาจารย์หลายๆ คนทำทุกวันนี้ก็คือผลักดันเด็กที่พอจะมีหัว หรือเรียนเก่งเพียงไม่กี่คนให้ถีบตัวสูงขึ้นเพื่อจะได้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ และทิ้งเด็กที่เหลือไปเลย เรามักจะเห็นโรงเรียนดังๆ เอาป้ายมาติดหน้าโรงเรียนแสดงความยินดีกับนักเรียน 120 คนที่สามารถสอบติดมหาวิทยาลัยดังๆ ได้ คำถามคือแล้วนักเรียนอีกพันกว่าคนหายไปไหน ผมคิดว่าค่านิยมเรื่องการเข้ามหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่บ่อนเซาะการศึกษาไทยพอสมควร เพราะเด็กที่ถูกทิ้งเหล่านี้มีแต่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาไปเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้ก็ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานราคาถูก ไหนจะเรื่องค่านิยมของนักเรียนอาชีวะอีก ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหาเรื่องค่านิยมด้วย เราจะไปโทษหลักสูตร หรือโทษตัวข้อสอบอย่างเดียวไม่ได้

ประชาไท: ปัญหาของการศึกษาของไทยที่ควรเร่งแก้ไขคืออะไร

อรรถพล: จริงๆ แล้วปัญหามันมีเยอะมาก ถ้าจะให้พูดคงไม่หมด แต่ผมว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดคือโรงเรียนต้องเลิกเลือกปฏิบัติต่อเด็ก ทุกวันนี้เรามีห้อง Gifted เด็กที่พ่อแม่มีเงินสามารถนั่งเรียนในห้องแอร์ มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวใช้ แบบนี้เราจะสอนความเป็นธรรมทางสังคมให้กับเด็กได้อย่างไร เรากำลังจะผลิตเด็กที่เชื่อว่าเงินซื้อได้ทุกอย่างแม้กระทั่งการศึกษาซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคน เราลงทุนไปกับการศึกษาเยอะมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราให้เงินเดือนครูเพิ่มมากขึ้นเป็น 15,000 บาทแต่โรงเรียนให้เขาทำงานหนักกว่างานทั่วไปที่ได้ค่าจ้างเท่ากันครูต้องทำงานธุรการทั้งๆ ที่เขาอยากอยู่กับเด็ก แบบนี้ก็ไม่มีใครอยากเป็นครู ระบบการผลิตครูของไทยก็มีปัญหาเช่นกัน เรามีราชภัฏเต็มไปหมด เราผลิตครูทั้งประเทศ 50,000 คนต่อปี แต่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กลับรับบรรจุครูเพียงปีละ 5,000 คน เป็นอย่างมาก นั่นหมายความว่าเราผลิตครูมาตกงานปีละหลายหมื่นคน ราชภัฎบางแห่งมีอาจารย์ควบคุมหลักสูตรน้อยมากไม่สามารถดูแลนักศึกษาได้อย่างทั่วถึง ไม่สามารถการันตีคุณภาพของการฝึกสอนได้ สุดท้ายนักศึกษาฝึกสอนก็ถูกโยนงานมาให้สอนเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำใดๆ จากครูพี่เลี้ยง หรืออาจารย์นิเทศก์

ประชาไท: ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างไรในความคิดของอาจารย์

อรรถพล: ผมคิดว่าการที่คนเราจะเป็นพลเมืองที่ดีได้มันต้องเริ่มจากการตระหนักว่าเราเป็นคนของที่ไหน เราต้องรู้จักจังหวัดของเรา ภูมิภาคของเรา แล้วจึงขยายไปเป็นประเทศ กลุ่มประเทศ ทวีป และโลก การจะเป็นพลเมืองที่ดีได้เราจำเป็นต้องสร้างความรู้สึกเป็นคนของที่นั่น (sense of belonging) ให้กับคนในสังคมนั้นก่อนหลักสูตรการศึกษา 2544 จึงให้ความสำคัญกับท้องถิ่นมาก เด็กควรจะต้องรู้จักอัตลักษณ์ท้องถิ่นของตน เราจะได้ไม่รู้สึกแปลกแยกเมื่อไปเจอกับวัฒนธรรมอื่นๆ ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าการไปสอนเรื่องระบบการเมืองการปกครองซึ่งเป็นเรื่องที่ไกลตัวเด็ก ทุกวันนี้เราพูดถึงการศึกษาพลเมือง (Civic education)คือการศึกษาที่มันจะสร้างให้คนออกไปเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม เราต้องเริ่มจากสิ่งที่เขาจับต้องได้นั่นคือท้องถิ่นของเขา บรรพบุรุษของเขามาจากไหน มาจากชาติพันธุ์อะไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สอนอยู่แล้วในหลักสูตรทุกวันนี้ ไม่ได้ขาดหายไปเหมือนที่ คสช. กังวัล ส่วนตัวผมเองก็ดีใจที่ คสช. หันมาสนใจประเด็นเรื่องการศึกษา แต่ถ้าวิธีการของเขามันสร้างผลกระทบผมก็ต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ผมอยากให้ คสช. กลับไปไตร่ตรองดูว่าก่อนที่จะคิดเปลี่ยนแปลงอะไร แน่ใจแล้วหรือว่ารู้จักสิ่งนั้นดีพอ

ประชาไท: การศึกษาไทยควรจะพัฒนาอย่างไรให้สอดคล้องกับการเปิด AEC

อรรถพล: จริงประเด็นนี้ก็เหมือนเรื่องวิชาพลเมือง คือหลักสูตร 2544 มีการสอนเรื่องอาเซียนอยู่แล้ว เพียงแต่เราเรียนในมุมมองของภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ พอมันมีเรื่อง ASEAN community เราก็สามารถประยุกต์เนื้อหาเหล่านี้ลงไปในหลักสูตรที่มีอยู่เดิมได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือกระทรวงศึกษาธิการต้องการให้มีวิชาอาเซียนแยกออกมาและก็ไปสอนเด็กให้จำธงประจำชาติประเทศสมาชิกอาเซียน เพลงประจำชาติ ดอกไม้ประจำชาติ วิธีการกล่าวทักทายเป็นภาษาในอาเซียน สอนแบบนี้ไปมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาเพราะเด็กไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร เด็กไทยอาจจะพูด “มิงกะลาบา” ทักทายคนพม่าได้ แต่ตราบใดที่เรายังสอนเด็กว่าพม่าเผากรุงศรีฯ เอาทองไปสร้างเจดีย์เชวดากองแบบนี้เราจะรวมกันเป็นประชาคมที่ไว้เนื้อเชื่อใจกันได้อย่างไร เด็กไทยแทบไม่รู้เลยว่าทุกวันนี้เราต้องพึ่งพาแรงงานของพม่ามากขนาดไหน

วิชาประวัติศาสตร์เป็นอีกวิชาหนึ่งที่ต้องปรับปรุงหากเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้เป็นแบบท่องจำและสร้างความเป็นชาตินิยมให้กับเด็ก โดยไม่เคยให้เด็กตั้งคำถามหรือสืบค้นข้อมูล เด็กไทยรู้แค่ว่าพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ด้วยพระแสงของ้าวในการทำยุทธหัตถี แต่เด็กไม่เคยรู้เลยว่าพงศาวดารพม่าบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้อย่างไร เด็กของเราเรียนประวัติศาสตร์จากหลักฐานไทยฝ่ายเดียว ไม่เคยรู้ว่าเรื่องเดียวกันในหลักฐานของเพื่อนบ้านว่ากันไปคนละเรื่อง และเราก็ปล่อยให้เด็กต้องเกิดอาการช๊อคเมื่อมาเจอกับข้อเท็จจริงเหล่านี้ตอนเรียนมหาวิทยาลัย แบบนี้มันไม่ถูกต้อง เราต้องให้เด็กหัดคิดวิเคราะห์ตั้งแต่ระดับโรงเรียน เช่นเราอาจจะสอนเรื่องพระยาพิชัยดาบหักให้กับเด็กประถมได้ในฐานะเรื่องเล่า พอขึ้น ม.ต้น เด็กจะต้องรู้แล้วว่าตัวละครวีรบุรุษวีรสตรี เช่น ชาวบ้านบางระจัน เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างสำนึกชาตินิยมสมัย จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม และในระดับ ม.ปลาย เราต้องให้เด็กวิพากษ์วิจารณ์วิธีการดังกล่าวมันมีผลดีผลเสียอย่างไร ประวัติศาสตร์ที่เน้นความยิ่งใหญ่ของชนชาติไทย เอาแต่ท่องจำประโยคที่ว่าไทยไม่เคยเสียเอกราชให้ตะวันตก หรือทุกวันนี้ที่เราชอบพูดกันว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนมันไม่ได้ช่วยให้เด็กไทยเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเลย ตรงกันข้าม มันเป็นการสอนให้เด็กอยู่ในโลกของตัวเองมากกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net