Skip to main content
sharethis

"ก้าวต่อไป...ของเยาวชนสู่นักสื่อสารเพื่อสันติภาพ" คือชื่องานแสดงผลงานและพิธีมอบประกาศนียบัตรนักจัดรายการวิทยุและการสื่อสารเพื่อสันติภาพ ของสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน (Media Selatan) ร่วมกับสำนักข่าวประชาไท ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)

ในงานนี้ มีเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าอบรมถึง 40 คน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 เป็นต้นมา โดยทุกคนถูกบังคับให้จับคู่ผลิตรายการวิทยุคนละตอน รวม 20 ตอน ตอนละ 2 ชั่วโมง เพื่อนำไปออกอากาศจริง

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อให้พื้นที่สื่อแก่เยาวชนในจังหวัดชายแดนใต้ได้แสดงออก พัฒนาทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้ ที่นำไปสู่การสร้างสันติภาพ

ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของเยาวชนที่เข้าอบรมนักจัดรายการวิทยุเพื่อสันติภาพ พวกเขาอย่างสื่อสารอะไร ลองอ่านดู

มะนาเซ สาเร๊ะ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

นายมะนาเซ สาเร๊ะ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าวว่า เข้าร่วมอบรมครั้งนี้เพราะเพื่อนชวน แต่ที่สนใจเพราะเพิ่งเรียนวิชาสื่อสารมวลชนมา แต่เรียนแบบทฤษฏีไม่มีภาคปฏิบัติ จึงสนใจอยากเรียนภาคปฏิบัติเพิ่มด้วย

นายมะนาเซ บอกว่า หลังจากได้เข้าอบรมรู้สึกดีใจและภูมิใจมาก เพราะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เรียนรู้เทคนิค แนวคิดหรือทัศนคติของสื่อ เข้าใจว่าสื่อคืออะไร และได้อะไรสื่อมากขึ้น

“หลังเข้าอบรมทำให้มีความคิดที่จะสื่อสารเรื่องต่างๆออกมา จากเมื่อก่อนเวลาเรามีปัญหาอะไรก็มักจะเก็บไว้ ไม่ถ่ายทอดออกมา อาจเป็นเพราะเราไม่มีช่องทางหรือไม่กล้า ไม่รู้จะสื่อสารยังไง พอได้อบรมทำให้รู้ว่ามีวิธีที่สามารถสื่อสารได้ รู้ว่าต้องทำแบบไหน อย่างไร และได้รู้ขอบเขตในการทำสื่อด้วย” นายมะนาเซ กล่าว

 

ทำไมอยากเป็นนักสื่อสาร

นายมะนาเซ บอกว่า เหตุที่อยากเป็นนักสื่อสารเพราะนักสื่อสารสามารถทำให้คนๆ หนึ่งหรือกลุ่มเป้าหมายเห็นด้วยในประเด็นต่างๆ ที่เรานำเสนอ หรือเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รับรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ หรือทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราอยากรู้ด้วยจากการทำงานสื่อสาร เพราะนักสื่อสารจะพยายามนำความรู้ต่างๆ มาถ่ายทอด

นายมะนาเซ กล่าวว่า การทำสื่อมีทั้งยากและง่าย แต่ที่ยากมีมากกว่า เพราะจะสื่ออย่างไรให้คนเข้าใจและเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ความคิดเห็น เป็นความจริงที่เราไม่ได้สร้างขึ้นมาเอง เป็นสื่อที่ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่สื่อเพื่อกลบกลืนสถานการณ์หรือการแก้ตัว

“ที่ยากอีกอย่างคือ สารที่เราจะสื่อนั้น เราจะไปหาที่ไหน บางทีก็เข้าไม่ถึง บางทีก็ไม่รู้จะสัมภาษณ์ใคร อาจเป็นเพราะเราไม่มีเวลามากหรือเปล่า ส่วนความง่ายคือ เราสนุกไปกับมันด้วย รู้สึกว่าเราได้ทำตรงนี้เรามีความสุข ทำให้การทำงานคล่องตัวขึ้น อาจจะเป็นเพราะเรามีพื้นฐานบ้างก็ว่าได้”

ส่วนอยากพัฒนาตัวเองมากว่านี้หรือไม่นั้น นายมะนาเซ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่คิดอะไรมาก เพราะมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องทำอยู่เช่น เรื่องเรียน เรื่องสอบและอื่นๆ แต่ถ้ามีโอกาสก็จะพัฒนาเพิ่มอีก เพราะรู้สึกว่าได้ทำตรงนี้แล้วมีความสุข ถ้าเราได้อยู่กับอะไรที่มีความสุข เราจะอยู่ตรงนั้นได้นาน

 

หัวข้อนำเสนอ “แต่งงานในวัยเรียน”

นายมะนาเซ บอกว่า หัวข้อที่นำเสนอคือ การนิกะฮ(การแต่งงาน)ในวัยเรียน เหตุผลคือ ในสังคมมุสลิมปัจจุบันจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเยาวชนมีแฟนมันกันอย่างเปิดเผย ซึ่งต่างจากแต่ก่อนที่ใครมีแฟนแล้วจะรู้สึกอาย กลัวคนอื่นมองว่าทำผิด แต่เดี๋ยวนี้รู้เฉยๆ เหมือนเป็นปกติ

นายมะนาเซ กล่าวว่า ในเมื่อเรามีความรักก็ต้องแสดงออกถึงความรัก แต่บางคนอยากเก็บไว้ไม่อยากให้ใครรู้ บางคนก็แสดงออกในทางที่ผิดๆ โดยเฉพาะตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งเป้นความผิดที่ร้ายแรง แล้วจะแก้ปัญหาตรงนั้นได้อย่างไร ทำไมจึงไม่แต่งงานเสียเลย

“บางคนคิดว่าการแต่งงานในวัยเรียนนั้นไม่ดี แต่ถ้าไม่แต่งงานแล้วอยู่ด้วยกันแบบนั้นมันไม่ดียิ่งกว่าอีก เราไม่ได้ส่งเสริมให้แต่งงานในวันเรียน แต่ถ้าสามารถแต่งงานได้ก็ให้แต่งงานดีกว่า เพื่อป้องกันการทำผิดบาป” นายมะนาเซ กล่าว

“เราไม่ได้บังคับให้แต่งงาน แต่อยากให้สังคมยอมรับการแต่งงานในวัยเรียนมากขึ้น เพราะทำให้เยาวชนของเราห่างไกลจากฟิตนะห์ (การใส่ร้ายป้ายสี)ได้ และสังคมก็ไม่เลวร้ายไปกว่านี้ด้วย” นายมะนาเซ กล่าว

นายมะนาเซ เปิดเผยด้วยว่า จากสถิติตอนนี้พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแม่วัยใสเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย และเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ซึ่งประชากรไทยมีแค่ 60 ล้านคน น้อยกว่าประเทศอื่นๆ อีก มันเป็นอะไรที่น่าตกใจมาก

“แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากเท่าไหร่ แต่ไม่ได้ว่าเราจะสื่อสารเรื่องนี้แค่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น เราอยากสื่อสารกับคนทั่วไปทุกศาสนา เพื่อให้สังคมมองว่าเราได้ทำถูกหลักการแล้ว คิดว่าการสื่อสารเรื่องนี้สำคัญมากและให้ประโยชน์กับสังคมได้มากเลย” นายมะนาเซ กล่าว

ฟาตีลา เจ๊ะและ โรงเรียนอัครศาสน์วิทยา

ขณะที่นางสาวฟาตีลา เจ๊ะและ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอัครศาสน์วิทยา (มูลนิธิ) อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส กล่าวว่า วิทยุเป็นสื่อประเภทหนึ่ง คิดว่าสื่อมีพลัง เพราะสามารถเข้าได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลแค่ไหนก็สามารถรับรู้ข่าวสารต่างๆได้ผ่านสื่อ ดังนั้นควรบริโภคสื่ออย่างฉลาด เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ถ้าเราได้ทำสื่อเองก็จะทำให้รู้และแยกแยะว่าอันไหนคือสื่อที่มีประโยชน์และมีโทษ

นางสาวฟาตีลา บอกว่า หลังจากเข้าอบรมแล้วทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสื่อเยอะมาก ทำให้รู้ว่าสื่อมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การทำสื่อยังทำให้เรามีความกระตือรือร้นมากขึ้นด้วย และรู้สึกสนุกมาก เข้ากับคนอื่นได้ ทั้งที่ตอนแรกคิดว่าน่าเบื่อ เพราะเห็นหน้าคนทำสื่อแต่ละคนก็เครียดมาก

 

ทำสื่อยากไหม

นางสาวฟาตีลา บอกว่า การทำสื่อมันก็ยากในระดับหนึ่งสำหรับเด็กมัธยมปลาย แต่บอกไม่ได้ว่ายากแค่ไหน เพราะแต่ละคนมีศักยภาพไม่เหมือนกัน ระยะเวลา 2 ชั่วโมงในการจัดรายการวิทยุนั้นยากมาก แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ไปกับมันด้วย ทำให้เราได้สัมภาษณ์และพูดคุยกับคนในพื้นที่ ทำให้สนิทมากขึ้นและได้รู้เรื่องของท้องถิ่นเรามากขึ้น เราเข้าใจเรื่องราวมากขึ้น และได้เรียนรู้กระบวนการทำงาน ซึงไม่มีสอนในห้องเรียน

“อยากพัฒนาตัวเองมากกว่านี้ เพราะสำหรับเด็กมัธยมแล้วไม่มีหลักสูตรแบบนี้เปิดสอนในโรงเรียน ดังนั้นถ้ามีโอกาสก็อยากคว้าเอาไว้ พอเราได้พัฒนาตัวเอง ทำให้เรามีไหวพริบมากขึ้น เพราะว่าเวลาลงพื้นที่แต่ละครั้งจะมีบทเรียนไม่เหมือนกัน การทำสื่อเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ใช่เรื่องไกลตัว” นางสาวฟาตีลา กล่าวว่า

 

หัวข้อนำเสนอ “พิพิธภัณฑ์ขุนละหาร”

นางสาวฟาตีลา บอกว่า หัวข้อที่นำเสนอคือ “พิพิธภัณฑ์ขุนละหาร” อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เพราะตนเองเป็นคนที่นั่น แต่กลับไม่รู้อะไรเกี่ยวกับบรรพบุรุษในสมัยก่อนเลยว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร การใช้ชีวิตเป็นอย่างไร และข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์มันบอกประวัติของมัน บอกเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต

“จุดมุ่งหมายที่นำเสนอเรื่องนี้ก็เพราะว่าอยากให้ตระหนักถึงสิ่งของโบราณที่อยู่ใกล้ตัวเราว่า อย่าคิดว่าไม่มีค่า แต่มันมีค่าทางจิตใจมากกว่า ไม่ใช่ว่าถ้าตีเป็นราคาได้แล้วคงจะเอาไปขายหมด ไม่เก็บเอาไว้”

“หัวข้อนี้มีความสำคัญและเป็นประโยชน์มาก เพราะคนสมัยนี้จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากขึ้น จนละเลยสิ่งของเก่าๆ พอของใหม่มาก็ลืมของเก่า อยากให้ทุกคนเห็นว่าเราก็มีรากเหง้า อย่าให้คนอื่นเห็นความสำคัญของเราโดยที่เราไม่สนใจ อย่าให้สิ่งนี้ต้องสูญหายไปตามกาลเวลา” นางสาวฟาตีลา กล่าว

นูรยะห์ มอลอ ม.อ.ปัตตานี

นางสาวนูรยะห์ มอลอ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) บอกว่า ส่วนตัวเป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น ชอบและสนใจทุกๆ เรื่องก็ว่าได้ แต่ไม่ใช่สอดรู้สอดเห็น แต่ก่อนไม่ค่อยตระหนักเรื่องการสื่อสารเท่าไหร่ แต่พอเข้าอบรมจึงรู้ว่ามีความสำคัญอย่างไร

 

ได้อะไรจากการเข้าอบรมนักสื่อสาร

“ได้อะไรเยอะมากหลังจากเข้าอบรม อันดับแรกคือ จิตวิญญาณของนักสื่อสาร จิตวิญญาณของเรากำลังเพิ่มทีละนิดทีละน้อย จนไม่รู้ตัวว่าเรามีศักยภาพตรงนี้บ้างแล้ว ได้ทักษะการสัมภาษณ์ผู้อื่น รู้เรื่องเทคนิคการตัดต่อคลิปเสียงวิทยุ และการทำสคริปต์ต่างๆ เป็นต้น

นางสาวนูรยะห์ บอกว่า ต้องการฝึกฝนพัฒนาต่อไปอีก เพื่อให้เกิดความชำนาญมากขึ้น เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไกลมาก เราต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเรียนกับผู้อื่นหรือเรียนกับตัวเอง

 

 “บทบาทนักศึกษากับสันติภาพ”

นางสาวนูรยะห์ มอลอ บอกว่า หัวข้อที่เสนอคือ บทบาทนักศึกษากับกระบวนการสันติภาพ เหตุผลที่ทำหัวข้อนี้เพราะคิดว่า ปัจจุบันนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเด็นนี้ หรือมีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักศึกษาทั้งหมดใน ม.อ.ปัตตานีโดยรวม

“การเสนอหัวข้อนี้จะแสดงให้เราตระหนักถึงหน้าที่ตรงนี้บ้าง เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญมาก เป็นจุดเริ่มต้นของวัยหนุ่มสาวที่จะทำอะไรเพื่อสังคมเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาในพื้นที่ได้บ้างไม่ว่าจะด้านใดก็ตามที่ตัวเองถนัด จึงอยากให้ทุกคนในพื้นที่ ได้ทำเพื่อให้สังคมของเราเป็นสังคมที่ดีขึ้น”

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำนักสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ผนึกกำลังสร้างนักสื่อสารสันติภาพรุ่นใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net