Skip to main content
sharethis

'สุทธิชัย หยุ่น' ยื่น สปช.ชุดปฏิรูปสื่อ สอบกรณี บ. SLC ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของสปริงส์ นิวส์ เข้าถือหุ้นในเนชั่นฯ หวั่นเกิดการครอบงำการทำหน้าที่สื่อ


6 ม.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่รัฐสภา นายสุทธิชัย หยุ่น ประธานกรรมการ บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป เข้ายื่นหนังสือต่อนายจุมพล รอดคำดี ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และขอให้พิจารณาตรวจสอบกรณีที่บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1989) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC เข้าซื้อหุ้นใน บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) 

นายสุทธิชัย กล่าวว่า ตามที่บริษัท SLC ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท สปริงส์ นิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ได้เข้าถือหุ้นในบริษัทเนชั่น ในลักษณะที่เข้าข่ายเทคโอเวอร์อย่างไม่เป็นมิตรนั้น ทางเนชั่น กรุ๊ป จึงอยากขอให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน

นายสุทธิชัย ระบุว่า เนื่องจากพฤติกรรมของนักลงทุนกลุ่มดังกล่าว รวมทั้งกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังนั้น ได้นำมาซึ่งความกังวลว่า จะก่อให้เกิดการครอบงำสื่อ อันจะมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดี มีอิสระในการตรวจสอบ รวมทั้งอาจขาดความเป็นกลาง ความน่าเชื่อถือ และกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของสื่อมวลชน

ดังนั้นจึงขอให้คณะกรรมาธิการฯเร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและเพื่อรักษาสถาบันสื่อสารมวลชนให้สามารถทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์บนบรรทัดฐานของจริยธรรม

ขณะที่นายจุมพล รอดคำดี ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา เพราะการปฏิรูปสื่อก็ถือเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิรูปประเทศเช่นกัน

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การประกอบกิจการสื่อมวลชนต้องได้รับการคุ้มครอง รวมถึงวิชาชีพสื่อต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกครอบงำจากกลุ่มทุนหรือกระบวนการที่เข้ามาเป็นเจ้าของอย่างเป็นนัยสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมวิชาชีพสื่อมวลชนต้องได้รับการคุ้มครองและมีการทำงานอย่างเป็นอิสระ หากพบว่ามีช่องทางในการกระทำผิดต่อหลักการประชาชนสามารถเข้าชื่อและยื่นต่อศาลที่เกี่ยวข้องโดยตรงได้

ในส่วนของการปฏิรูปสื่อมวลชน แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ

1.เมื่อกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง จากนั้นจะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

2.เมื่อกรรมาธิการยกร่างฯต้องมีการเขียนบทบัญญัติ หรืออกเป็น พ.ร.บ.คุ้มครองกิจการสื่อสารมวลชนและวิชาชีพสื่อ กรรมาธิการยกร่างฯก็จะเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

3.ในส่วนของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมี 1 มาตรา ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการคุ้มครองสื่อมวลชน จะมีการพิจารณาเมื่อการประชุมในส่วนของรายมาตราในเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์นี้

ทั้งนี้จะมีการเขียนกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย นอกจากนี้กระบวนการตรากฎหมายจะมีผลย้อนหลังด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net