[คลิป] สื่อเยาวชน: ก้าวที่ขยับของคนรุ่นใหม่

คลิปจากเวที 10 ปี 'สื่อทางเลือก' ทบทวนและท้าทาย ช่วงเวทีแลกเปลี่ยน "สื่อเยาวชน: ก้าวที่ขยับของคนรุ่นใหม่" รัชพงศ์ โอชาพงศ์: ค่ายเพลงไม่แสวงหากำไรแห่งแรกในประเทศไทย พุฒิพงษ์ ธรรมวัตร: เสียงเยาวชนอีสาน เยาวชนคือสื่อที่ดีที่สุด เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์: หลักสูตรภาพยนตร์ สำหรับคน..ไม่ทำภาพยนตร์ โตโต้ : รวมกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา-ช่างกล ทำหนังสือ ก่อนปิดตัวหลังรัฐประหาร และ กรกฤช สมจิตรานุกิจ: เว็บเด็กหลังห้อง "ถึงจุดหนึ่งเราต้องหลุดออกจากคำว่าเยาวชน"

 

 

27 ม.ค. 2558 - เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ในเวที "10 ปี 'สื่อทางเลือก' ทบทวนและท้าทาย" จัดที่โรงแรมเอทัส ลุมพินี โดยมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน โครงการศูนย์การเรียนรู้สื่อ และเว็บไซต์ประชาไทนั้น ในช่วงเช้ามีเวทีแลกเปลี่ยน หัวข้อ "สื่อเยาวชน: ก้าวที่ขยับของคนรุ่นใหม่" วิทยากรประกอบด้วย รัชพงศ์ โอชาพงศ์ Triple H Music พุทธิพงค์ ธรรมวัตร ศรีสะเกษติดยิ้ม เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ Young Film ปิยรัฐ จงเทพ กลุ่มการศึกษาปริทรรศน์ กรกฤช สมจิตรานุกิจ เว็บไซต์เด็กหลังห้อง ดำเนินรายการโดย เทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

000

รัชพงศ์ โอชาพงศ์: ค่ายเพลงไม่แสวงหากำไรแห่งแรกในประเทศไทย 

รัชพงศ์ โอชาพงศ์ จากค่ายเพลง Triple H Music เล่าให้ฟังถึงควาหมายของ 3 H คือ Head Hand Heart ซึ่งเป็นนิยามของการแต่งเพลงที่ดี กลุ่มนี้เริ่มต้นจากวงสลึงของ ม.มหิดล เปิดให้เยาวชนมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเพลง เช่น เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เกิดขึ้นได้อย่างไร ฯลฯ เพื่อปลูกฝังทัศนคติรับใช้สังคมให้กับเยาวชน จากนั้นจึงพัฒนาโครงการไปอีกขั้นโดยการสนับสนุนของ สสส. นำเยาวชนลงพื้นที่ที่มีปัญหา ศึกษาปัญหาแล้วสะท้อนออกมาในบทเพลง เช่น สถานสงคราะห์คนพิการ คนไร้บ้าน เหมืองแร่

“แต่ละปีเราเจอนักดนตรีรุ่นใหม่เยอะ มีคนที่สนใจเพลงที่มีเนื้อหารับใช้สังคม เมื่อก่อนเรียกว่าเพลงเพื่อชีวิต แต่ถ้าพูดคำนี้เด็กๆ อาจจะว่าเรารุ่นใหญ่ไป สมมติใครอยากทำรณรงค์เรื่องงดเหล้า เพลงที่มารับใช้คือเพลงที่สนับสนุนการงดเหล้า ปัญหาปีที่ผ่านมาคือ ผลิตแล้วทิ้ง ไม่มีที่ให้ไปต่อ ไม่มีทุน เอ็นจีโอ แอ็คทิวิสต์ไม่ค่อยอยากได้เพลง ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็พูด 'ขอบคุณมากที่น้องทำเพลงให้พี่แต่พี่ก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร' ทั้งนี้ ตั้งแต่หลังทศวรรษ 2520 เพลงกับการรณรงค์มันห่างหายกันไปมาก เราอยากทำให้เกิดการใช้เพลงเยอะขึ้น เราจึงจะเซ็ทองค์กรระยะยาว เป็นค่ายเพลงไม่แสวงกำไรแห่งแรกของประเทศไทย”

000

พุฒิพงษ์ ธรรมวัตร: เสียงเยาวชนอีสาน เยาวชนคือสื่อที่ดีที่สุด

พุฒิพงษ์ ธรรมวัตร กลุ่ม 3D ศรีสะเกษติดยิ้ม ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมและภาพยนต์สั้นจาก จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า กลุ่มสามดี มาจากความหมายดังนี้  หนึ่ง ภูมิดี (ภูมิปัญญา) สอง สื่อดี (สื่อที่น้องได้สร้างสรรค์ขึ้น) สาม พื้นที่ดี (พื้นที่ที่ไม่ใช้สารเคมีในการเกษตร และน้องๆ ก็ทำจริงในโรงเรียน)

รูปแบบทำกิจกรรมกับเยาวชน แต่ก่อนเริ่มจากเด็กและเยาวชนในโรงเรียนส่งผลงานเข้าประกวดในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา พัฒนากันต่อเรื่อยมา ผลงานนักเรียนเป็นเรื่องเกษตรอินทรีย์ และปัญหาของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปัจจุบัน พ่อแม่ทิ้งลูกเข้าทำงานใน กทม. ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง ไม่ค่อยได้มาเยี่ยมบ้าน เด็กๆ เลยแต่งเพลงเพื่อบอกพ่อแม่ว่าไม่ได้ต้องการเงินทองแต่ต้องการชีวิตที่ครบอบอุ่น ดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพระราชดำริ

"ผลงานมีการทำสื่อออกมาหลายแบบ มีการนำนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคามมาสอนน้องๆ ทำหนังสั้น นอกจากนี้ยังมีละครหุ่นมือ ละครเร่ ช่องทางการเผยแพร่ คือ การจัดฉายในงานมหกรรมต่างๆ และขึ้นยูทูปด้วย"

"น้องๆ มองว่า ตัวเองคือสื่อที่ดีที่สุด ตัวเองสามารถเป็นแบบอย่างที่ให้รุ่นน้องเดินตามรอยเขาได้ในเรื่องสร้างสรรค์และเรื่องที่ดี"

พุฒิพงษ์ หวังว่า ต่อไปหากสังคมให้บทบาทและจัดให้เด็กมีเวทีสำหรับเด็กสำหรับสร้างสื่อที่สร้างสรรค์สร้างแรงจูงใจให้คนอื่นได้จะเริ่มจากจุดเล็กๆ นี้เข้าสู่ระดับประเทศและเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้

000

เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์: หลักสูตรภาพยนตร์ สำหรับคน..ไม่ทำภาพยนตร์

เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ จากกลุ่ม Young Film เล่าว่า กลุ่มเริ่มเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าไม่มีพื้นที่สำหรับคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ จึงตั้งกลุ่มขึ้นโดยใช้ชื่อนี้เพราะเวลาพูดถึงคนทำหนังไม่ได้อยู่ที่ผู้กำกับอย่างเดียว กระบวนการทำหนังเอื้อให้กับทุกคน คนดู นักวิจารณ์ คนตัดต่อ ฯลฯ

เมื่อเกิดกลุ่มก็พยายามทำให้คนที่อยากทำหนังสั้นได้ทำ เช่น เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่มีกล้อง อยากได้ทักษะ จึงทำเป็นค่ายอบรม พอทำมาสามสี่ปี พบว่าเขาไม่มีความจำเป็นต้องเรียนกับเราก็ได้ เปิดยูทูปฝึกเองได้ ดังนั้นจึงต้องถามตัวเองว่าคุณค่าหลักคืออะไรกันแน่ เมื่ออบรมหลายพันครั้งก็เริ่มรู้สึกว่า เด็กๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำหนังต่อด้วย เราจึงพยายามพัฒนาหลักสูตรให้มีประโยชน์กับคนที่ไม่ได้อยากทำหนังด้วย เรียกว่า “กระบวนการภาพยนตร์ที่เอามาพัฒนาศักยภาพชีวิต”

“ค่ายระยะหลังไม่มุ่งให้คนกลายเป็น เจ้ย อภิชาตพงษ์ หรือจีทีเอช แต่มุ่งเน้นให้เด็กมีวุฒิภาวะทางปัญญา”

“ที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่มักถูกเขียนหรือสร้างค่านิยมผ่านคนรุ่นเก่า การเติบโตของสื่อรุ่นใหม่ทำให้เด็กมีโอกาสเขียนตัวเองว่าเขาจะดำรงชีพอย่างไรในสังคมนี้ เราจึงพยายามอย่างยิ่งที่หลีกหนีการขอทุน แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธเงิน อย่างไรก็ตาม เราพบว่าองค์กรให้ทุนในไทยย่อมมีจุดประสงค์ของเขา ไม่ผิดแปลก แต่มันกำหนดให้เราในฐานะเด็กรุ่นใหม่ที่ควรกำหนดจุดประสงค์เอง...เด็กบางกลุ่มขอทุนทำกิจกรรมเก่งจนแทบเขียนหนังสือช่องทางรวยได้เลย”

000

โตโต้ : รวมกลุ่มนักเรียน-นศ.-ช่างกล ทำหนังสือ ก่อนปิดตัวหลังรัฐประหาร

ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ จากกลุ่มการศึกษาปริทรรศน์ เล่าว่า แรงจูงใจในการทำหนังสือเริ่มจากเขียนลงที่อื่นแล้วโดนแบน เมื่อเจอเนติวิทย์จึงคิดว่าทำสื่อกันเองดีกว่า จะได้นำเสนอแนวคิดคนรุ่นใหม่ โดยไม่ถูกเซ็นเซอร์หรือครอบงำความคิดจากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

"เริ่มต้นปีที่แล้ว ประชุมแล้วตัดสินใจภายในสามวัน ยังไม่รู้จะเอาเงินจากไหน จึงลองขายน้ำดื่มในการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ที่ธรรมศาสตร์ ได้กำไรเกือบ 2 หมื่น จึงนำมาทำฉบับแรก รวบรวมนักศึกษานักเรียนที่อยากทำสื่อของตัวเองจากหลายสถาบัน นักเรียนที่ไปเรียนรต่างประเทศก็มี เด็กช่างกลก็มี เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องภายในสถาบันของตัวเอง และมุมมองต่อระบบการศึกษา"

มีนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา บางคนเขียนเรื่องการรณรงค์วิ่งในโรงเรียน มีครูบอกว่าถ้าไม่วิ่งขอให้อ้วน ไม่วิ่งขอให้ไม่ติดจุฬา ซึ่งเขาคิดว่าไม่ถูกต้องเลยเขียนวิจารณ์ ปรากฏว่าขายดีมาก ขายได้เป็นร้อยเล่ม

"คนออกแบบกราฟฟิค เด็กช่างกลทั้งนั้น เขาได้ลองทำ และปรับปรุงได้ดีขึ้นในเล่มสองเล่มสาม อย่างไรก็ดี พบว่าพิมพ์แล้วใช้เงินเยอะ จึงคิดว่าน่าจะทำออนไลน์ โดยทดลองกับเฟซบุ๊คก่อน จากนั้นเนติวิทย์ก็ขอทุน สสส. แล้วพิมพ์ได้อีกสองเล่ม"

ที่น่าสนใจคือ หลังรัฐประหารมีโทรศัพท์มาบอกว่าให้สงบนิดหนึ่ง บางบทความขอให้ส่งตรวจก่อน เราคิดว่าขอรักษาจุดยืนเราโดยการหยุดไปก่อนดีกว่า แล้วหลังรัฐประหารเราจะกลับมาใหม่

000

กรกฤช สมจิตรานุกิจ: เว็บเด็กหลังห้อง "ถึงจุดหนึ่งเราต้องหลุดออกจากคำว่าเยาวชน"

กรกฤช สมจิตรานุกิจ บก.เว็บไซต์เด็กหลังห้อง เล่าถึงที่มาของเว็บเด็กหลังห้องว่า เนื่องจากได้ฝึกงานกับประชาไทและได้รับการชักชวนให้ลองทำเว็บให้เยาวชนได้แสดงตัวตนได้เต็มที่ จึงชักชวนเพื่อนลองทำเว็บเด็กหลังห้องเพื่อสื่อสารเรื่องราว กิจกรรมของนักศึกษาเอง เน้นการทำข่าวด้วยเนื่องจากเห็นว่าการสื่อสารกับคนวงกว้างบางครั้งการนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบก็อาจได้ผลกว่าการให้ทัศนะเพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมาเน้นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการศึกษาและสิ่งที่กระทบกับชีวิตนักศึกษา เช่น มีการทำอินโฟกราฟฟิคเกี่ยวกับราคาห้องพัก อาหาร ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อกระตุ้นการตั้งคำถามและพลังการตรวจสอบของนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความต่อเนื่องของการทำงานสื่อเยาวชน เรื่องนี้ เป็นคำถามที่ตั้งอยู่ในใจตลอดมาเนื่องจากตนเองอยู่ปี 4 แล้ว หากจบไปแล้วจะยังทำสื่อในลักษณะนี้ได้อีกหรือไม่ จึงคิดว่าคำว่าเยาวชนเป็นดาบ 2 คม ทางหนึ่งเป็นการแสดงถึงความบริสุทธิ์ ไม่ขึ้นกับใคร แต่ตนไม่เห็นด้วยเพราะอย่างน้อยเยาวชนก็มีวาระของตัวเองอยู่ในใจอยู่ อีกทางหนึ่ง เขามองว่าเราเด็ก เขามองว่าเราอ่อนประสบการณ์ ยังไม่เรียนรู้โลกเพียงพอ บ้าอุดมการณ์ ไม่คิดึงหลักความเป็นจริง เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าหากเรายึดติดกับคำว่าเยาวชนมากเกินไปมันทำให้งานข่าวของเรามันไปได้ไม่สุด บางทีอาจถึงจุดที่เราต้องหลุดออกจากคำว่าเยาวชนเป็นข่าวเพื่อการศึกษา เป็นข่าวเพื่อแผนการในอนาคตของผู้ที่อยู่ในวงการศึกษา หรือข่าวที่เป็นกิจกรรมที่จัดโดยผู้ที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเสียมากกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท