Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 “คุณกำลังดำเนินชีวิตอย่างไม่มีหลักประกันใดใดเลย  คุณไร้ซึ่งอำนาจในการกำหนดชี้ขาดความเป็นไปของทรัพย์สิน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งชีวิตของคุณเอง ความฉิบหาย ความโชคร้าย และหายนะที่ถาโถมใส่คุณมิได้เกิดด้วยน้ำมือของเหล่าศัตรูต่างชาติภายนอกแต่อย่างใด มันเกิดจากเอกศัตรูที่คุณเองนั่นแหละมีส่วนช่วยให้เขาผงาดขึ้นมามีอำนาจ เพื่อเขาคนนั้น คุณประกาศกร้าวว่าจะรบอย่างไม่ขลาด เดชะอำนาจของเขายิ่งใหญ่เกินต้านทานจนคุณพร้อมที่จะพลีกายและชีพได้ เราลืมไปแล้วหรือว่า เขาผู้เป็นเจ้าชีวิตเราก็มีเพียงแต่สองตา สองมือ และหนึ่งกาย ไม่มากไม่น้อยไปกว่าสามัญชนผู้ยากไร้ที่สุดในเมืองที่คุณอาศัยอยู่ อำนาจที่เขามีก็ไม่ได้มากไปกว่าอำนาจที่คุณมอบให้แก่เขาเพื่อให้เขาใช้ทำลายคุณเอง เขาจะเอาหูตาจากที่ไหนมาสอดส่องคุณ ถ้าหากคุณไม่หยิบยื่นให้เขาเสียเอง?”

(de la Boetie 2006, 117-8)

 

I.ความคิดเรื่องการต่อต้านในยุครุ่งอรุณแห่งปัญญา

แนวคิดว่าด้วยการขัดขืนต่อต้าน (resistance) นั้นดำรงอยู่ควบคู่กับแนวคิดอื่นๆทางรัฐศาสตร์อาทิ อำนาจอธิปไตย ประชาชน และความเป็นพลเมืองมาช้านาน ในงานเขียนสั้นๆของเพลโตที่ชื่อว่า Crito (2000) เราอาจถือได้ว่า การที่โสเครตีสปฏิเสธที่จะหลบหนีและยอมรับโทษประหารชีวิตด้วยการดื่มยาพิษถือเป็นการอารยะขัดขืนอย่างหนึ่ง  โสเครติสให้เหตุผลกับครีโต มิตรผู้มาเชิญชวนให้เขาแหกคุกว่า เขาเกิด เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเอเธนส์มากว่าเจ็ดสิบปี ในฐานะพลเมืองของเอเธนส์ เขามีหน้าที่เคารพกฏหมายแห่งเอเธนส์ หากเขาไม่พอใจกฏเกณฑ์ต่างๆ เขาทำได้แค่ “โน้มน้าวชักจูง”ให้พลเมืองคนอื่นๆเห็นพ้องตามเขา  เขาไม่สามารถฝ่าฝืนกฏหมายได้ แม้ว่ากฏหมาย หรือผู้ใช้กฏหมายจะไม่มีความเป็นธรรมก็ตาม (49-51) นอกจากนี้ โสเครติสยังมองว่าชีวิตหลังการหลบหนีไม่ใช่ชีวิตที่ดี และการหลบหนีเป็นการตอกย้ำว่าเขาทำความผิดจริง ในฉากการไต่สวน ซึ่งเพลโตเขียนไว้ใน Apology (2000) โสเครตีสพูดต่อหน้าลูกขุนชาวเอเธนส์ว่า “ฉันขอยอมตายหลังจากได้ให้การไปตามนั้น มากกว่าที่จะมีชีวิตอยู่เพราะให้การเป็นอย่างอื่น” (40) ในแง่นี้ เราอาจถือได้ว่า การปฏิเสธที่จะหลบหนีและยอมตายเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ถูกต้องของโสเครตีสคือการขัดขืนแบบตั้งรับ (passive disobedience) ประเภทหนึ่ง (48) อย่างไรก็ดี บทสรุปที่เราได้จากทั้ง Apology และ Crito ก็คือ อย่าว่าแต่การใช้กำลังลุกฮือต่อต้านรัฐเลย พลเมืองไม่มีสิทธิ์ขัดขืนคำสั่งของกฏหมาย ดังที่เพลโตได้เขียนเอาไว้ว่า “ถ้าหากการใช้ความรุนแรงต่อพ่อแม่เป็นเรื่องเสื่อมทรามเนรคุณมากเพียงไหน การใช้ความรุนแรงต่อชาติย่อมเสื่อมทรามเนรคุณมากกว่ายิ่งนัก” (52)

เวลาล่วงไปจนถึงยุคทศวรรษที่16 เอเตียน เดอลาโบตี (Etienne de la Boetie) (1530-1563) นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสได้เขียนงานที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Discourse on Voluntary Servitude ในงานชิ้นนี้ เขาได้พูดถึงการขัดขืนต่อต้านผู้ปกครองในลักษณะที่เป็น “เชิงรุก” มากขึ้นเมื่อเทียบกับการพลีชีพเพื่อความถูกต้องของโสเครตีส อาจเรียกได้ว่า สิ่งที่เดอลาโบตีได้เขียนถึงในงานเขียนนี้ได้ถูกพัฒนาจนกลายมาเป็นแนวคิดเรื่อง อารยะขัดขืน การต่อต้านแบบสันติวิธี รวมไปถึงอนาธิปไตยนิยมที่เราเข้าใจกันในยุคปัจจุบัน อนึ่ง แรงบันดาลใจที่ผลักดันให้เดอลาโบตีเขียนงานชิ้นนี้ออกมาก็คือ เขารู้สึกฉงนใจเหลือเกินว่าเหตุใดคนจำนวนมากจึงสยบยอมให้กลุ่มคนไม่กี่คน หรือคนเพียงคนเดียวปกครอง กดขี่ ตีตรวนแต่โดยดี (113)

เดอลาโบตีมองว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมอิสรภาพ อีกนัยหนึ่ง อิสรภาพคือสภาวะธรรมชาติ คือสิ่งที่แฝงฝังอยู่ในความเป็นมนุษย์ของเรา ดังนั้น “เราไม่เพียงแต่ครอบครองมัน [อิสรภาพ] หากแต่ต้องหวงแหนปกป้องมันด้วย” (120) เดอลาโบตีบรรยายไว้อย่างสวยงามว่า มนุษย์ย่อมต้องต่อสู้ขัดขืนมิให้ตัวถูกพรากอิสรภาพไป ไม่ต่างจาก สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ที่ดิ้นรนต่อสู้ด้วย “กรงเล็บ เขา จะงอย อุ้งเท้า” เมื่อพวกมันถูกจองจำในกรงขัง สำหรับเดอลาโบตีแล้ว ชีวิตภายใต้การกักขังควบคุมแท้ที่จริงแล้วมิใช่ชีวิต สัตว์เหล่านี้ดำรงชีวิตต่อไปพร้อมๆกับการ “อาลัยอาวรณ์อิสรภาพที่มันสูญเสียไป” มากกว่า “สำราญใจในสภาวะจำยอมที่เป็นอยู่” (2006, 121)

น่าสังเกตว่า ในขณะที่นักคิดนักทฤษฏีการเมืองทั่วไปมักจะเชิดชูมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่อยู่เหนือสัตว์ โดยมีเหตุผลว่ามนุษย์มีความสามารถทางภาษา มีเหตุผล หรือเป็นสัตว์การเมือง ในทางตรงกันข้าม งานของเดอลาโบตีกลับมีกลิ่นอายที่ต่อต้านการถือมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เขาเขียนว่า มีเพียงแค่มนุษย์นี่แหละที่ เมื่อเวลาล่วงเลยไป กลับหลงลืมอิสรภาพที่หอมหวนและยินยอมที่จะเป็นข้าทาสบริวารของผู้ปกครองแต่โดยดี อีกนัยหนึ่ง มนุษย์ยอมให้ประสบการณ์มาเปลี่ยนสภาวะธรรมชาติของตน แรกเริ่มเราอาจจะถูกบังคับด้วยกำลัง แต่เวลาผ่านไป เรายอมจำนนต่ออำนาจเพราะความเคยชินและความสมัครใจของเราเอง  (124) จากบังคับฝืนใจ มาเป็นเคารพเชื่อฟัง และกลายเป็นเชิดชูสรรเสริญอย่างเสียสติในที่สุด (139)

อย่างไรก็ดี เดอลาโบตียืนกรานว่า ท่ามกลางหมู่คนที่ยอมจำนนต่อการกดขี่ด้วยความสมัครใจ ย่อมมีมนุษย์ผู้ “เลี้ยงไม่เชื่อง” พวกเขาสัมผัสได้ถึงน้ำหนักของแอกบนคอตน “ต่อให้อิสรภาพจะสูญสิ้นไปจากโลก พวกเขาก็จะสรรค์สร้างมันขึ้นมาใหม่” (129) สำหรับแนวทางการขัดขืนต่อสู้ของเดอลาโบตีนั้น เนื่องจากเดอลาโบตีมองว่า อำนาจของผู้ปกครองเผด็จการหรือกษัตริย์ที่ฉ้อฉลวางอยู่บนการยินยอมและแรงสนับสนุนของมวลชนผู้ถูกปกครอง เขาจึงนำเสนอแนวทางการล้มอำนาจเจ้าผู้ปกครอง ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดว่าด้วยอารยะขัดขืน ดังต่อไปนี้:

ไม่มีความจำเป็นใดใดที่เราจะต้องไปต่อสู้ด้วยพลกำลังเพื่อโค้นล้มทรราชย์เพียงคนเดียว ทั้งนี้ก็เพราะเขาย่อมปราชัยไปโดยปริยายหากคนในชาติปฏิเสธที่จะยอมทำให้ตัวเองเป็นทาส เราไม่จำเป็นต้องพรากอะไรไปจากเขา เพียงแค่ไม่ต้องมอบสิ่งใดให้แก่เขาก็พอ (It is not necessary to deprive him of anything, but simply to give nothing) (116)

เดอลาโบตีถือเป็นนักคิดรุ่นแรกๆที่ริเริ่มพัฒนาไม่เพียงแต่ความคิดว่าด้วยการขัดขืนต่อต้านของคนทั่วไปอย่างเป็นระบบ หากแต่ยังรวมถึงทฤษฏีว่าด้วยสถานะและอำนาจของผู้ปกครองซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับอำนาจของประชาชนผู้ถูกปกครอง  นักคิดสายสัญญาประชาคมรุ่นต่อๆมาโดยเฉพาะยุคแสงสว่างทางปัญญา เช่น Brutus[1], Althusius[2] และ John Locke[3] ต่างให้สิทธิความชอบธรรมต่อการลุกฮือขึ้นโค่นล้มผู้ปกครองผู้ลุแก่อำนาจของประชาชน ด้วยเหตุผลที่ว่า แท้ที่จริงแล้ว อำนาจสูงสุดในการสถาปนาและปกครองรัฐ หรือที่เราเรียกว่า อำนาจอธิปไตย เป็นของประชาชน ผู้ปกครองมีและใช้อำนาจผ่านการยินยอมของประชาชน ดังนั้น ประชาชนจึงมีสิทธิถอดถอนการยินยอม ซึ่งอาจนำไปสู่การขัดขืน ต่อต้าน หรือแม้กระทั่งการฆ่าผู้ปกครองได้ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ขึ้นสู่อำนาจโดยปราศจากการยินยอมของประชาชน ไม่ว่าจะด้วยการสืบสายเลือด ใช้กำลังเข้ายึดครอง หรือการใช้ความรุนแรงบังคับขู่เข็ญให้เชื่อฟัง 

ยิ่งเวลาผ่านเลยและแนวคิดทฤษฏีได้รับการพัฒนามากขึ้น จากทฤษฏีที่ใช้อธิบายการขัดขืนต่อต้านก็กลายมาเป็นทฤษฏีว่าด้วยการปฏิวัติเพื่อการปลดปล่อยด้วยการใช้อาวุธ ควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมวลชนที่ถูกกดขี่ ทั้งการปฏิวัติฝรั่งเศส อเมริกา เฮติ และการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ  อย่างไรก็ดี น่าสังเกตว่า การขัดขืนต่อต้านโดยคนธรรมดากลับถูกแทนที่ด้วยขบวนการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ที่มีผู้นำ โครงสร้างองค์กร แผนการ และรูปแบบการต่อสู้ที่ชัดเจน นักคิดสายมาร์กซิสต์ต่างเน้นย้ำถึงความจำเป็นของขบวนการต่อสู้ที่ต้องมีการนำอย่างเป็นระบบไม่ว่าจะผ่านพรรคการเมือง กลุ่มปัญญาชน หรือชนชั้นกรรมาชีพ   ทฤษฏีว่าด้วยการปฏิวัติของ วี ไอ เลนินสะท้อนพัฒนาการทางความคิดข้างต้นได้เป็นอย่างดี ในยุคปัจจุบัน สลาวอย ชิเชค (Slavoj Zizek) เดินตามแนวทางของเลนินพร้อมยืนกรานว่ามวลมหาประชาชน (the multitude) จำเป็นต้องพึ่งพรรคการเมืองหรือผู้นำ มิฉะนั้น พวกเขาก็รังแต่จะ “ขัดขืนต่อต้านในระดับชีวิตประจำวัน” หรือไม่ก็ ลุกฮือแบบ “แฟลชม็อบ” โดยไม่ได้ท้าทายทำลายโครงสร้างอำนาจทุนนิยมแม้แต่น้อย อีกนัยหนึ่ง ชิเชคมองว่ารูปแบบการต่อสู้เช่นนี้ไม่ถึงราก (radical) มากพอ ในเชิงทฤษฏี ชิเชคค่อนข้างกังขาต่อการขัดขืนต่อต้านโดยสามัญชนคนธรรมดา ในทุกๆการต่อต้าน หากขบวนการไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะยึดอำนาจรัฐ ก่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และสถาปนาระเบียบใหม่ มันก็เป็นการต่อต้านที่ล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม (2013, 187)



II.เรื่องหลังม่านและอาวุธของคนยาก (Hidden Transcripts and Weapons of the Weak)

รูปแบบการต่อต้านที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน (everyday forms of resistance) มิได้ปรากฏในพาดหัวข่าว ดังหินก้อนกรวดเล็กๆใต้ท้องทะเลจำนวนนับล้านที่มีอยู่อย่างสะเปะสะปะและก่อตัวขึ้นเป็นแนวปะการังด้วยความบังเอิญ การขัดขืนต่อต้านและบ่ายเบี่ยงนับไม่ถ้วนที่กระทำโดยชาวนาก็เช่นกัน มันก่อร่างขึ้นเป็นแนวหินปะการังทางการเมืองและเศรษฐกิจ....และเมื่อใดก็ตามที่นาวารัฐแล่นชนหินโสโครกดังกล่าว ทุกความสนใจกลับพุ่งตรงไปที่ปรากฏการณ์เรือล่ม    แทนที่จะสนใจการสะสมเพิ่มพูนอย่างมหาศาลของการกระทำเล็กๆน้อยๆที่เป็นสาเหตุของหายนะดังกล่าว

(Scott 1985, xvii)


ข้อวิจารณ์ของชิเชคต่อการขัดขืนต่อต้านอาจจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล หากเรามองว่าเป้าหมายการโจมตีของชิเชคคือสังคมทุนนิยมประชาธิปไตยเสรี ทั้งนี้ก็เพราะสังคมเหล่านี้เปิดโอกาสให้สมาชิกใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านขัดขืนได้อย่างเต็มที่ โครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองรูปแบบนี้มิได้มองว่าข้อคิดเห็นหรือการกระทำเหล่านี้เป็นภัยคุกคาม มิหนำซ้ำยังเปิดแขนต้อนรับอย่างเป็นมิตร กลุ่มคนที่ชิเชคมุ่งโจมตีน่าจะหมายถึงเหล่าผู้ต่อต้านกระฎุมพีผู้สนุกสนานกับการแสดงออกทางอัตลักษณ์ผ่านการแต่งตัวที่แหวกแนว ใช้สินค้าออแกนิคเพื่อต่อต้านบรรษัทข้ามชาติ หรือร่วมกิจกรรมไอซ์บัคเก็ตชาเล้นจ์ ชิเชคต้องการจะบอกให้ผู้ต่อต้านเหล่านี้พึงสำเหนียกว่า การกระทำของพวกเขามิได้มีความสลักสำคัญใดใดนอกจากจะทำให้ตัวผู้กระทำรู้สึกดีกับตัวเองในขณะที่ช่วยสืบสานระบอบทุนนิยมที่กดขี่ให้ดำรงอยู่ต่อไป

อย่างไรก็ดี  ภายใต้บางบริบททางสังคมและการเมือง เสรีภาพขั้นพื้นฐานไม่ได้เป็นสมบัติของทุกคน และการจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเผชิญหน้ากับศัตรูทางการเมืองอย่างเปิดเผยมีต้นทุนที่สูงเกินไป  เจมส์ ซี สก็อต (James C. Scott) เป็นนักคิดผู้ชักจูงให้พวกเราย้อนกลับคิดถึงการขัดขืนต่อต้านแบบที่เดอลาโบตีเคยนำเสนอ[4] ในงานเขียนเรื่อง Weapons of the Weak: Everyday Forms of Peasant Resistance (1985) และ Domination and the Arts of Resistance: Hidden transcripts (1990) สก็อตต่อว่านักคิดสายมาร์กซิสต์และเหล่าผู้เชี่ยวชาญเรื่องขบวนการทางสังคมว่า พวกเขามักจะสนใจไปที่การชุมนุมประท้วงที่มีการจัดตั้งและแนวทางการต่อสู้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะขบวนการมวลชนที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจโดยรวม ในขณะที่การต่อต้านที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันผ่านการแสดงออกทางภาษา หรือการลอบบ่อนทำลายโดยผู้ต่อต้านสามัญชนนิรนามไม่กี่คนกลับถูกมองข้ามหรือสบประมาทว่าไม่ใช่การกระทำทางการเมืองเพราะไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจได้ สก็อตมองว่านักคิดผู้ฝันถึงการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่มองข้ามไปว่ามีกลุ่มคนชั้นล่างจำนวนมากผู้ไม่มีต้นทุนมากพอที่จะใช้วิธีประเภท “แลกหมัดด้วยหมัดหรือมึงด่ามากูด่ากลับ” (1990, xii) ด้วยเหตุนี้ สก็อตจึงประกาศกร้าวว่าเขาอยากจะศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนยากผู้ปราชัย (the struggle of a handful of history’s losers) (1985, 27)

ใน Weapons of the Weak สก็อตศึกษาการต่อต้านขัดขืนรูปแบบต่างๆของชาวนายากจนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของประเทศมาเลเซียเพื่อคลี่ให้เห็นถึงการทำงานของอำนาจและรูปแบบการต่อต้านที่หลากหลาย ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น สก็อตขยายกรอบการกระทำที่ถือว่าเป็นการต่อต้านให้มีลักษณะที่ครอบคลุมมากขึ้น (ดูตาราง 1) ในด้านหนึ่ง สก็อตยืนกรานว่า เราไม่ควรวัดความสำเร็จของการต่อต้านโดยดูจาก “ผลทางการเมือง” เช่น สามารถปฏิวัติโค่นล้มอำนาจเดิมได้โดยทันที ตรงกันข้าม ความสำเร็จของการต่อต้านสะท้อนออกมาผ่าน “การยืนหยัดไม่ยอมแพ้และจินตนาการอันสร้างสรรค์” ของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาต่างหาก (1985, 33) ในอีกด้านหนึ่ง สก็อตก็ไม่ได้มองว่าการต่อต้านเล็กๆน้อยๆเหล่านี้จะเป็นการกระทำที่สูญเปล่าเลยเสียทีเดียว ดังหินปะการังที่ค่อยๆก่อตัวและซ่อนอยู่ใต้น้ำ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม มันอาจจะเป็นสาเหตุทำให้นาวารัฐล่มครืนลงก็เป็นได้ สำหรับสก็อตแล้ว รูปแบบการต่อสู้แบบนี้ก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมืองในแบบที่ต่างไปจากการเผชิญหน้าแบบตาต่อตาฟันต่อฟันกับผู้มีอำนาจ (32) ในหนังสือเล่มต่อมา สก็อตถึงกับกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ทุกๆการต่อสู้ที่ปะทุออกมาอย่างเปิดเผยย่อมมีพื้นฐาน (infrapolitcs) มาจากการดิ้นรนขัดขืนเล็กๆน้อยๆแทบทั้งสิ้น
 

ตาราง 1

กบฏและปฏิวัติ

รูปแบบการต่อต้านในชีวิตประจำวัน                            

- ขบวนการประท้วงขนาดใหญ่ที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ

- มีผู้นำ โครงสร้างองค์กร ข้อเรียกร้องที่ชัดเจนและเป็นทางการ

- มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในระดับรัฐ

- สรรเสริญเชิดชูวีรบุรุษ วีรสตรีอย่างเฉพาะเจาะจง

- มิใช่การดิ้นรนต่อสู้เพื่อปากท้อง

สถานที่: บนเวทีหรือที่สาธารณะ

-  การลักเล็กขโมยน้อย ลอบวางเพลิง ใส่ร้ายป้ายสี อ้อยอิ่ง ทำเป็นพิธี หลอกลวง แกล้งโง่ (xvi)

-  ไม่จำเป็นต้องมีแผนการ หากแต่เน้นทักษะการเอาตัวรอดของปัจเจกบุคคล

-  หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจให้ได้มากที่สุด

-  ไม่มีวีรบุรุษ วีรสตรี

-  การต่อสู้เชิงภาษาและสัญลักษณ์เพื่อช่วงชิงการให้ความหมาย เช่น ซุบซิบนินทา ข่าวลือ ให้ฉายา หรือแม้กระทั่ง การนิ่งเงียบแล้วมองดูด้วยความสมเพช

สถานที่: ลับหลัง ในพื้นที่กึ่งส่วนตัวที่ห่างไกลจากการสอดส่องของผู้มีอำนาจ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่สก็อตรับรู้และให้ความสำคัญต่อการกระทำทางการเมืองของคนเล็กคนน้อย เขาจึงปฏิเสธความคิดที่เชื่อว่ามีการครอบงำของอำนาจทั้งทางกายและทางความคิดอย่างสมบูรณ์ สำหรับสก็อตแล้ว กลุ่มอภิสิทธิ์ชนคนรวยต่างมีอำนาจให้คนอื่นทำตามใจตนเพียงแค่ในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น ต่อหน้าคนพวกนี้ ชนชั้นล่างผู้ถูกกดขี่อาจจะพูดตามบทที่เขียนไว้ หรือทำท่าทางประหนึ่งว่าเคารพเชื่อฟัง โดยที่ไม่ได้มีใจรักหรือเชื่อในการกระทำนั้นๆเลย (1985, 26) ดังนั้น ก่อนที่เราจะประเมินถึงการทำงานของอำนาจแห่งการครอบงำ เราจำเป็นที่จะต้องเบนความสนใจออกจากการกระทำที่ถูกรับรู้ในที่สาธารณะทั่วไป สิ่งเหล่านี้มิได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงทั้งหมด ในบางสังคมที่เราคิดว่าผู้ปกครองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อย่างไรก็ดี หากเราเพ่งมองพื้นที่ที่คลุมเครือมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น มุมมืดของห้องขัง เสียงก่นด่าหลังไมค์ ฉายานามแฝงต่างๆ หรือแม้กระทั่งข้อความระบายความคับแค้นตามผนังกำแพง มันล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ชนชั้นผู้ถูกปกครองไม่ได้ถูกอำนาจครอบงำทั้งกายและใจโดยสมบูรณ์ ในตอนท้ายของหนังสือ สก็อตสรุปเอาไว้ว่า กลุ่มคนชั้นล่าง โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกกดขี่ข่มเหงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่มีทางที่จะตกอยู่ภายใต้การครอบงำทางอุดมการณ์ของชนชั้นปกครอง พื้นที่เสรีภาพในการต่อต้านยังหลงเหลืออยู่เสมอ นอกจากนี้ การต่อต้านไม่จำเป็นต้องเกิดจากการแตกหักอย่างถึงรากกับอุดมการณ์ความเชื่อชุดเดิมๆ ตรงกันข้าม อุดมการณ์ครอบงำที่ผู้ปกครองใช้เพื่อสถาปนาอำนาจอาจจะกลายมาเป็นอาวุธที่ผู้ต่อต้านฉกฉวยมาใช้ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น การที่ผู้ปกครองล้มเหลวที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามภาพมายาคติที่พวกเขาวาดไว้ (1985, 324-339)

สก็อตพัฒนาความคิดเรื่องการต่อต้านอย่างมีระบบมากขึ้นใน Domination and the Arts of Resistance (1990) เขายกเอากรณีตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ต่างๆที่สะท้อนความไม่เท่าเทียมกันทางอำนาจอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็น ระหว่างนายทาสและทาส เจ้าศักดินาและไพร่ ชนชั้นวรรณะพราหมณ์และพวกจัณฑาล (21) ก่อนที่จะพูดถึงการต่อต้าน สก็อตเริ่มงานเขียนด้วยการแนะนำให้เรารู้จักกับ “เรื่องสาธารณะ (public transcripts)” ในฐานะเทคนิคการครอบงำทางอำนาจของชนชั้นผู้ปกครอง เรื่องสาธารณะคือแบบแผนปฏิสัมพันธ์ที่ช่วยสืบสานความเหนือกว่าของผู้ปกครองและความต้ำต้อยด้อยค่าของผู้ถูกปกครอง สก็อตอธิบายว่า เรื่องสาธารณะมักอธิบายสภาพความเป็นจริงที่โหดร้ายด้วยถ้อยคำที่สวยงาม (euphemisms) ยกตัวอย่างเช่น การใช้คำว่า “รักษาความสงบร่มเย็น (pacification) แทน การโจมตีและยึดครองด้วยอาวุธ” หรือ “ค่ายอบรมเพื่อปรับทัศนคติ (reeducation camps) แทน คุกที่กักขังศัตรูทางการเมือง” (53) ในขณะเดียวกัน เรื่องสาธารณะก็ตราหน้า (stigmatize) บุคคลที่ท้าทายต่อระบบว่าเป็น “อาชญากร” หรือ “คนบ้า” การใช้เทคนิคเชิงภาษาและสัญลักษณ์ของผู้มีอำนาจกระทำไปควบคู่กับการควบคุมและตรวจตราอย่างเคร่งครัด ยกตัวอย่างเช่น กฏที่ว่า “ห้ามทาสจำนวนห้าหรือมากกว่าห้าคนขึ้นไปชุมนุมกันโดยปราศจากผู้ดูแลผิวขาวอย่างเด็ดขาด” (63) ซึ่งเป็นกฏที่สหรัฐอเมริกาใช้เมื่อกว่าสองร้อยกว่าปีที่แล้ว สก็อตกล่าวสรุปว่า เทคนิคการครอบงำมีเป้าหมายเพื่อลดโอกาสการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ถูกปกครองให้ได้มากที่สุดและแบ่งแยกพวกเขาให้เป็นกลุ่มย่อยๆ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้พื้นที่เสรีภาพทางสังคมที่อยู่เหนือการควบคุมเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ดี สก็อตบอกว่า นี่คือความพยายามที่ “สิ้นหวังและเป็นไปไม่ได้ (hopelessly utopian)” (127) เพราะทุกๆเรื่องสาธารณะย่อมผลิต “เรื่องหลังม่าน (hidden transcripts)” ที่หลากหลายในหมู่ผู้ถูกปกครองกดขี่ สก็อตนิยามว่า เรื่องหลังม่านคือ ชีวิตทางการเมืองของคนผู้ถูกกดขี่ที่ไม่ใช่ทั้งการต่อสู้อย่างเปิดเผยรุนแรงและการสยบยอมต่ออำนาจแต่โดยดี (136) ในแง่หนึ่ง เรื่องหลังม่านนี้ก็คือ “อาวุธของคนยาก” ที่สก็อตพูดถึงในงานเขียนก่อนหน้านี้ สก็อตบอกว่า เรื่องหลังม่านสามารถเกิดขึ้นได้สองทาง ทางแรกคือเมื่อมีช่องว่างทางกายภาพระหว่างผู้มีอำนาจและผู้ด้อยกว่า ทางที่สองคือเมื่อมีช่องว่างทางสัญลักษณ์ระหว่างกลุ่มคนทั้งสอง

การต่อต้านในแบบแรกจะเน้นไปที่ตำแหน่งแห่งที่ของผู้ต่อต้านที่อยู่ไกลจากรัศมีการสอดส่องของอำนาจ เช่น มุมมืดในโรงทาส หรือโรงเหล้าของกรรมกร เมื่อผู้ถูกกดขี่มีโอกาสปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในที่ลับตา เรื่องหลังม่านที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับเรื่องสาธารณะย่อมพรั่งพรูออกมาไม่มีที่สิ้นสุด สก็อตยังพูดถึงตลาดในสมัยยุคกลางว่าเป็นสถานที่ที่รวมเอาผู้คนชนชั้นล่างไร้ฐานันดรเข้าด้วยกันอย่างบังเอิญ ท่ามกลางความวุ่นวายในตลาด “พิธีกรรมและการเชิดชูสรรเสริญเจ้านายและพระสงฆ์กลายเป็นสิ่งที่ผิดที่ทาง ความเป็นอภิสิทธิ์ไม่มีความหมายในที่แห่งนี้” (122)

เรื่องหลังม่านในแบบที่สองมิได้เกิดขึ้นในที่ลับ หากแต่กระทำในที่สาธารณะต่อหน้าผู้มีอำนาจ รูปแบบที่มันถูกถ่ายทอดออกมาคือสเน่ห์ของการต่อต้านประเภทนี้ กล่าวคือ ผู้ต่อต้านเล่นการเมืองเรื่องการพรางตัว (politics of disguise) เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจ (138) ไม่ว่าจะเป็น การประชดเสียดสี บ่นพึมพำ ซุบซิบนินทา หรือการแสดงออกทางสัญลักษณ์ผ่านภาษาหรือการกระทำที่เป็นที่รู้กันเฉพาะในหมู่ชนชั้นที่ถูกกดขี่ สก็อตรวมเอาการชุมนุมของฝูงชนอย่างไม่เป็นระเบียบ ไร้ผู้นำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองเรื่องการพรางตัวด้วย ทั้งนี้ก็เพราะจำนวนกลายเป็นอาวุธปกปิดตัวตนของผู้ต่อต้าน และส่งผลให้ผู้มีอำนาจมีความยากลำบากในการชี้นิ้วเอาผิดศัตรูของเขา (151) อาจเรียกได้ว่า ในขณะที่เนื้อหาของข้อความหรือการกระทำมีความคลุมเครือ (ในสายตาผู้มีอำนาจ) เราอาจสามารถระบุตัวตนของผู้ต่อต้านได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าข้อความหรือการกระทำมีความชัดเจนว่ากำลังโจมตีผู้ปกครอง ตัวตนของผู้กระทำก็จะมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน

สก็อตมองว่าเป็นธรรมชาติของเรื่องหลังม่านที่จะทดสอบท้าทายกรอบความเป็นไปได้ของการต่อต้านทีละเล็กทีละน้อย เมื่อถึงวันที่เรื่องหลังม่านกลายมาเป็น “วัฒนธรรมย่อย (subculture)”ของชนชั้นล่างจำนวนมาก เรื่องหลังม่านก็จะค่อยๆหลุดรอดเข้ามาปนเปื้อนพื้นที่สาธารณะและท้าทายเรื่องสาธารณะของผู้มีอำนาจ เสียงก่นด่าที่คลุมเครือ ถ้อยคำและท่าทางที่แฝงฝังความหมายใหม่ๆ กลับกลายเป็นอาวุธของสามัญชนที่แพร่กระจายดังไฟลามทุ่ง ผู้มีอำนาจต่างรู้สึกได้ถึงความตึงเครียด หน้าไหว้หลังหลอก และกลิ่นอายแห่งการปฏิวัติแข็งข้อ พวกเขาอาจจะตอบโต้ด้วยการระดมยัดเยียด “เรื่องสาธารณะ” ที่ตอกย้ำความเลิศเลอยิ่งใหญ่ของตน หรือหันหน้าหาความรุนแรง ไล่ล่า ปราบปรามผู้ต่อต้านคนเล็กคนน้อยอย่างไร้เหตุผล ปฏิกิริยาเหล่านี้ล้วนแต่สะท้อนถึงภาวะ “จนตรอก” ของชนชั้นผู้ปกครอง บางสิ่งบางอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในจิตสำนึกของผู้ถูกปกครองและมันไม่สามารถแก้ไขให้กลับไปเป็นเช่นอดีตได้ สก็อตได้อ้างถึงคำพูดของทาสผู้หนึ่งที่ลุกขึ้นสู้กับนายทาสเพื่ออธิบายประสบการณ์ทางจิตสำนึกข้างต้น

ก่อนหน้านี้ฉันเป็นสิ่งที่ไร้ค่า ตอนนี้ฉันเป็นคน....หลังจากที่ฉันได้ลุกขึ้นสู้กับเขา ฉันรู้สึกอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน มันเหมือนตายแล้วเกิดใหม่....ฉันมายืนอยู่ตรงจุดที่ฉันไม่กลัวที่จะตายอีกต่อไป จิตสำนึกเช่นนี้ทำให้ฉันเป็นเสรีชน ทั้งๆที่ภายนอกฉันจะยังเป็นทาสอยู่ แต่เมื่อทาสไม่ยอมที่จะถูกเฆี่ยนตี เขาก็เสรีไปแล้วกึ่งหนึ่ง (208)

สิ่งที่บทความชิ้นนี้ต้องการนำเสนอก็คือ ไม่ว่าเวลาจะล่วงผ่านมากี่ยุคสมัย การดิ้นรนต่อสู้ของคนธรรมดาสามัญก็ยังเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ควบคู่กับการกดขี่และอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ประวัติศาสตร์การต่อสู้ไม่เพียงสะท้อนออกมาในรูปแบบเรื่องราวข้อเท็จจริง หากแต่ผ่านการวิเคราะห์จากมุมมองทางการเมือง แม้ว่านักคิดอย่าง เดอ ลา โบตีและสก็อตจะเกิดคนละยุคสมัยกัน สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองมีร่วมกันก็คือ การขยายขอบเขตความเข้าใจเรื่องการเมือง (politics) และการต่อต้าน (resistance) ให้ครอบคลุมถึงอาณาบริเวณที่อยู่นอกเหนือสถาบันทางการเมืองแบบทางการ เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาเชื่อว่าการยืนหยัดไม่จำยอมของสามัญชนนิรนามคือเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ

 

อ้างอิง

De la Boetie, Etienne.2006. The Discourse of Voluntary Servitude. In Politics of Obedience and Etienne de La Boetie: The Discourse of Voluntary Servitude, ed. Paul Bonnefon. Blackrose.

Plato. 2000. The Trial and Death of Socrates, trans. G.M.A. Grube. Cambridge: Hackett

Scott, James C. 1985. Weapon of the Weak: Everyday Forms of Peasant Resistance. New Haven: Yale University Press.

_____. 1990. Domination and the Arts of Resistance: Hidden Transcript. New Haven: Yale University Press.

Zizek, Slavoj. 2013. Answers Without Questions. In The Idea of Communism. Vol. 2. London and New York: Verso.

 

[1] ดู Stephanus Junius Brutus, the Celt. 1994. Vindiciae, contra tyrannos or, concerning the legitimate power of a prince over the people, and of the people over a prince, ed. George Garnett. Cambridge: Cambridge University Press.
[2] ดู Althusius,Johannes.1964. The Politics of Johannes Althusius, trans. Frederick S.Carney.Boston: Beacon Press.

[3] ดู Locke, John. 1980. Second Treatise of Government, ed. C.B. Macpherson. Cambridge: Hackett.

[4] ไม่น่าแปลกที่ในบทที่หนึ่งของ Domination and the Arts of Resistance: Hidden Transcripts สก็อตได้ยกเอาข้อเขียนของเดอลาโบตีมาเป็นฉากเปิดก่อนที่จะนำเสนอแนวคิดว่าด้วยการครอบงำและต่อต้านของตัวเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net