Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เราต่างคุ้นเคยกับภาพฝูงศพเดินได้ เสื้อผ้ารุ่งริ่ง โชกเลือก พูดไม่เป็นภาษา คอยรุมขย้ำเหล่าตัวละครเอกในภาพยนตร์ ภาพยนตร์เหล่านี้อาจเรียกสั้นๆได้ว่าคือภาพยนตร์ซอมบี้ (zombie films) ซึ่งในรอบสองทศวรรษ (ทศวรรษที่ 2000-ปัจจุบัน) ที่ผ่านมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนอาจเรียกได้ว่าซอมบี้ได้กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมสมัยนิยม (popular culture) ในยุคโลกาภิวัตน์ สำหรับหลายๆคน ภาพยนตร์ซอมบี้จัดได้ว่าเป็นภาพยนตร์ประเภทสยองขวัญแฝงความรุนแรงที่สร้างความตื่นเต้น หวาดกลัว และความบันเทิงให้แก่ผู้ชม อย่างไรก็ดี หากมองจากแง่มุมของการเมืองเชิงวิพากษ์แล้ว ภาพยนตร์ซอมบี้ให้อะไรมากกว่าแค่ความเร้าใจและความสนุกเพลิดเพลิน ซอมบี้ถือเป็นภาพสะท้อนของวิกฤตทางสังคมในแต่ละยุคสมัยและภาพยนตร์ซอมบี้ก็มักนำเสนอมุมมองเชิงวิพากษ์ต่อสภาพสังคมที่เป็นอยู่ ในส่วนแรกของบทความนี้ ผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปสำรวจนัยยะเชิงวิพากษ์ที่ภาพยนตร์หรือสื่อบันเทิงแนวซอมบี้ได้ให้แก่ผู้ชม รวมถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาแบบกระชับของซอมบี้ ในส่วนถัดไป ผู้เขียนหยิบยกเอาภาพยนตร์ซอมบี้สัญชาติไทยใหม่ล่าสุด “ซอมบี้อีสาน (2023)” โดยมุ่งนำเสนอว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวแม้จะมีองค์ประกอบหลายประการที่เป็นสามารถสะท้อนเสียงวิพากษ์วิจารณ์สังคมได้อย่างแหลมคม แต่สุดท้ายแล้วภาพยนตร์โดยภาพรวมไม่สามารถส่งสารเชิงวิพากษ์ดังกล่าวได้ อีกทั้งยังผลิตซ้ำความคิดอุดมการณ์หรืออคติของสังคมอีกด้วย


ภาพยนต์ซอมบี้ในฐานะภาพสะท้อนปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม[1]

ซอมบี้เกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคม กล่าวคือ ซอมบี้มีที่มาจากตำนานของคนในแอฟริกาตะวันตกซึ่งแรกเริ่มเดิมที่มีชื่อว่า nzambi โดยเรื่องเล่าท้องถิ่นฉายภาพ nzambi ว่าคือคนที่ตายไปแล้วฟื้นขึ้นมาหาครอบครัวของพวกเขา เมื่อโลกเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคมและการค้าทาส นิทานปรัมปรานี้ก็เดินทางข้ามมหาสมุทรไปพร้อมๆกับคนพื้นเมืองแอฟริกาที่ถูกจับไปเป็นทาสในทวีปอเมริกา ภายใต้การตกเป็นอาณานิคมของทั้งฝรั่งเศสและอเมริกา คนพื้นเมืองในเฮติต่างมีเรื่องเล่าว่าซอมบี้คือคนตายที่ถูกมนต์ดำปลุกให้ฟื้นขึ้นมาเพื่อเป็นทาสรับใช้นายทาสต่อไป ผีครึ่งเป็นครึ่งตายนี้ไม่มีความทรงจำ ภาษา อัตลักษณ์ หรือพละกำลังใดใด พวกเขาหาใช่ภัยคุกคาม หากแต่ใกล้เคียงกับสัตว์ที่น่าสมเพชเสียมากกว่า[2] อาจกล่าวได้ว่า ต้นกำเนิดของซอมบี้เกี่ยวพันกับการกดขี่ขูดรีดอย่างลึกซึ้ง ซอมบี้สะท้อนแรงงานที่ถูกพรากจิตสำนึก จิตวิญญาณ เสียงและสิทธิ์ พร้อมกับถูกบังคับให้ใช้แรงงานชั่วนิจนิรันดร์ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนตั้งข้อสังเกตว่า “ประวัติศาสตร์ของการล่าอาณานิคมคือกระบวนการทำให้คน [ในพื้นที่] เป็นซอมบี้”[3] อีกนัยหนึ่ง ซอมบี้คือภาพสะท้อนประสบการณ์การถูกล่าอาณานิคม นั่นคือ การถูกยึดครองร่างกาย ถูกพรากสิทธิ์ เสียง อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และถูกควบคุมทางกายภาพเพื่อสร้างผลผลิตและผลกำไร ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ต้นกำเนิดของซอมบี้สะท้อนแง่มุมเชิงวิพากษ์ต่อระบบเศรษฐกิจแบบทุน ลัทธิล่าอาณานิคม และการเหยียดชาติพันธุ์

เมื่อซอมบี้ได้ถูกหยิบฉวยมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสมัยนิยม มันก็ยังแฝงนัยยะการวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจสังคมอยู่ หนังซอมบี้ชื่อดังเรื่อง The Night of the Living Dead (1968) กำกับโดย George Romero ใส่ลักษณะความเป็น “ผีกินคน” ในความเป็นซอมบี้ลงไป แต่หนังเรื่องนี้ก็นำเสนอภาพซอมบี้ในฐานะภาพสะท้อนกลุ่มคนที่ถูกกดทับ ชนชั้นล่าง หรือคนชายขอบ ดังจะเห็นได้จากตอนจบของเรื่องที่พระเอกผิวสีสามารถเอาตัวรอดจากฝูงซอมบี้ที่มาล้อมบ้านและพยายามบุกเข้ามาขย้ำเขาได้แต่ในที่สุด เขากลับโดนยิงทิ้งโดยพวกมนุษย์คนขาวเหยียดผิวที่เข้าใจผิดว่าเขาก็คือหนึ่งในซอมบี้ เป็นเรื่องน่าตลกร้ายที่ ชีวิตของคนผิวสีไม่มีคุณค่าเทียบเท่ากับผีซอมบี้ที่ถูกยิงทิ้งยิงขว้างได้โดยไม่ผิด (ล่วงเข้ามาศตวรรษที่ 21 ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขในสหรัฐจนปะทุกลายเป็นความรุนแรง ประท้วง จลาจลอยู่เสมอ) จารีตของการนำเสนอภาพซอมบี้ในฐานะคนที่ถูกกดทับถูกสืบสานมาจนกระทั่งยุคซอมบี้ในศตวรรษที่ 21 ดังที่เราได้เห็นจากซอมบี้แรงงานต่างด้าวในตอน Backpacker ของภาพยนตร์ห้าแพร่ง (2009) ซอมบี้คนไร้บ้านและหญิงค้าบริการทางเพศใน Soeul Station (2016) หรือแม้กระทั่งซอมบี้เยาวรุ่นใน All of Us are Dead (2022) กรณีตัวอย่างสุดท้ายนี้นำเสนอบทวิพากษ์สังคมร่วมสมัยที่ทอดทิ้งเด็กๆ ให้อยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและเสื่อมโทรม

หากมองในเชิงชนชั้น ซอมบี้ส่องสะท้อนสภาวะ “ตายทั้งเป็น”ของแรงงานที่ถูกขูดรีดภายใต้ระบอบทุนนิยมได้ ดังที่คาร์ล มาร์กซ์ได้กล่าวเอาไว้อย่างทรงพลังว่า ชีวิตของแรงงานนั้นไม่เรียกว่าชีวิต ชีวิตของแรงงานเริ่มเมื่อเขาหยุดทำงาน ในแง่นี่เวลาการทำงานคือ “ความตายประเภทหนึ่ง, สภาวะไร้ชีวิต”[4]  ที่มาร์กซ์มองเช่นนี้ก็เพราะ แรงงานโดยเฉพาะแรงงานขั้นต่ำ ไร้ทักษะในโรงงานนรก ซึ่งยังมีอยู่จวบจนทุกวันนี้ พวกเขาถูกพรากอากาศและแสงแดด ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์จนไม่สำเหนียกอีกต่อไปว่าพวกเขาต้องการอะไรในฐานะมนุษย์ “แม้กระทั่งความต้องการ [พื้นฐาน] แบบสัตว์เดรัจฉานก็ไม่หลงเหลืออยู่”[5]  แรงกายของพวกเขาถูกทำให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี มีภาพยนตร์ซอมบี้จำนวนหนึ่งที่นำเสนอความหวังในการก้าวข้ามสภาวะ “ตายทั้งเป็น”ของพวกเราได้   ภาพยนตร์เรื่อง Seoul Station เป็นตัวอย่างที่ดี นางเอกของเรื่องประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ หล่อนถูกคนรักและหัวหน้าบังคับให้ทำงานและอยู่ในสภาวะ “ตายทั้งเป็น” ท่ามกลางวิกฤตซอมบี้ระบาดและเมื่อความหวังสุดท้ายดับแสงลง สุดท้ายทางออกอาจจะไม่ใช่การดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอด แต่คือการเปลี่ยนตัวเองเป็นซอมบี้เพื่อลุกขึ้นสู้เสียมากกว่า

สื่อบันเทิงซอมบี้ยังมีนัยยะวิพากษ์ระบบทุนนิยมโดยเน้นไปที่การบริโภคล้นเกินและความหิวกระหายในการรุกคืบและขยายตัวของทุน ห้างสรรพสินค้าจึงเป็นสถานที่เกิดเหตุสำคัญของภาพยนตร์ซอมบี้แนวนี้ อาทิ Dawn of the Dead (1978, 2004)[6] หรือ I am a Hero (2015) ซึ่งเป็นหนังซอมบี้ญี่ปุ่นที่มีฐานที่มั่นอยู่ในเวิ้ง Outlet ชานเมืองแล้ว น่าสนใจว่า ตัวซอมบี้นอกจากจะมีความหลอนมากกว่าซอมบี้เรื่องอื่นๆแล้ว มันยังย้ำคิดย้ำทำพูดแต่สิ่งที่ตัวเองหมกมุ่นมากที่สุดเมื่อครั้งเป็นมนุษย์อยู่เรื่อยไปเช่น หญิงซอมบี้ชอปปิ้งในห้าง ซอมบี้พนักงานขับรถโดยสารประจำทางยังท่องประโยค “ยินดีรับใช้ๆๆๆ”

ยุคศตวรรษที่ 21 ซอมบี้ได้อัปเกรดจากผีกินคนที่เดินเชื่องช้ากลายเป็นฝูงผีบ้านับไม่ถ้วนที่วิ่งพล่านไล่ขย้ำเหยื่ออย่างรวดเร็ว ในภาพยนตร์ชื่อ 28 Days Later (2002) เป็นครั้งแรกที่ซอมบี้กลายเป็นเชื้อโรคร้ายที่ระบาดภายในไม่กี่วินาที[7] อีกทั้งซอมบี้ในศตวรรษที่21นั้นทวีความดุร้าย รวดเร็ว และจำนวนที่มหาศาลมากกว่าซอมบี้ศตวรรษก่อนอย่างชัดเจน นักวิชาการบางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่ากระแสดังกล่าวสะท้อนความกังวลต่ออนาคตที่ไม่แน่นอนและความผันผวนของชีวิตปัจจุบัน[8] บ้างก็มองว่าซอมบี้คือภาพสะท้อนภัยความมั่นคงระหว่างประเทศร่วมสมัยอาทิ วิกฤตสิ่งแวดล้อม ภัยก่อการร้าย หรือโรคระบาด ภาพยนตร์ซอมบี้ไทยที่ชื่อว่า ขุนกระบี่ ผีระบาด (2004) ถือเป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากเชื้อซอมบี้ในเรื่องมีชื่อว่า “ซาร์สสี่ (Zars 4)” ซึ่งสอดคล้องกับการระบาดของโรคซาร์ส (SARS)ในสมัยนั้น Train to Busan (2016) ก็เป็นอีกกรณีที่ต้นเหตุของการแพร่เชื้อมาจากการปล่อยสารพิษของบริษัทเอกชนและทำให้สัตว์ป่าติดเชื้อก่อนจะแพร่กระจายมายังคน

นอกจากนี้ ภาพยนตร์ซอมบี้ส่วนใหญ่มักตีแผ่ วิกฤตซอมบี้ที่นำไปสู่การล่มสลายของสังคมและอารยธรรมมนุษย์เปรียบได้กับ “สภาวะธรรมชาติ”ที่นักรัฐศาสตร์โธมัส ฮอปส์ (Thomas Hobbes)ได้เคยบรรยายเอาไว้ ภาพยนตร์ซอมบี้อย่าง 28 Days Later รวมไปถึงละครซีรีส์อย่าง The Walking Dead ได้นำเสนอภาพชุมชนมนุษย์ที่ไร้รัฏฐาธิปัตย์ไว้อย่างเฉียบคม บ่อยครั้งมักจะสอดคล้องกับความคิดของฮอปส์ สภาวะซอมบี้ระบาดนั้น “มีแต่ความกลัวอันไม่รู้จบ และความตายอันโหดร้ายรุนแรงที่คืบคลานมาใกล้ๆอยู่เสมอ ชีวิตของมนุษย์นั้น เปล่าเปลี่ยว ยากจนข้นแค้น น่ารังเกียจ อำมหิตและแสนสั้น”[9] และดังที่ฮอปส์วิเคราะห์ต่อไปว่า มนุษย์ภายใต้สภาวะธรรมชาตินี้จะเปิดเผย“ธาตุแท้”ของตนออกมา ไม่ว่าจะเป็นการแข่งกันแสวงหาอำนาจ รักตัวกลัวตาย และเห็นแก่ตัว[10] ภาพยนตร์ซอมบี้ทำหน้าที่เชิงวิพากษ์โดยการเผยให้เราเห็นความเป็นไปได้ของด้านมืดของมนุษย์ และบ่อยครั้งเราอาจตั้งคำถามต่อไปด้วยซ้ำว่า เมื่อเผชิญกับสภาวะอนาธิปไตย เราที่เป็นมนุษย์นั้นอาจจะเลวร้ายกว่าซอมบี้เสียอีก ไม่ว่าจะเป็นการสถาปนาระบอบปิตาธิปไตยและกักขังผู้หญิงเป็นทาสกามารมณ์ หรือ การฆ่ามนุษย์ด้วยกันเพื่อกินเนื้อ (cannibalism) อีกนัยหนึ่ง ภาพยนตร์ซอมบี้กระตุ้นให้เราตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ของเราเอง เราจะมีชีวิตอยู่เพื่อ “หนีตายเอาตัวรอดหรือพยายามที่จะใช้ชีวิตที่ยังดำรงไว้ซึ่งศีลธรรม”[11] คำถามเช่นนี้คือคำถามรัฐศาสตร์พื้นฐาน ที่สำคัญที่เราอาจจะหลงลืมไป แต่มันคือหัวใจสำคัญของภาพยนตร์ซอมบี้หลายเรื่อง

สุดท้าย สื่อบันเทิงซอมบี้หลายเรื่องพยายามสลัดภาพความเปี่ยมอุดมการณ์เชิงวิพากษ์สังคม โทนเรื่องขึงขังจริงจัง ดราม่า แล้วใส่อารมณ์ขันตลกร้ายเข้าไปแทน ดังที่ Shaun of the Dead (2004) ได้บุกเบิกแนวพล็อตเรื่องแบบนี้ หนังซอมบี้ตลกร้ายเหล่านี้มักมีจุดยืนแบบ nihilism ซึ่งอาจนับเป็นการวิพากษ์ทางสังคมก็เป็นได้ กล่าวคือ ท่ามกลางวิกฤตโลกล่มสลายเพราะซอมบี้ สิ่งที่เราต้องการอาจไม่ใช่การอยู่รอด หรือแม้กระนั้นการรื้อฟื้นสร้างโลกใหม่ แต่เป็นการได้ไปดื่มในผับที่ตัวเองไปประจำ ดังที่Shaunดั้นด้นไปกับเพื่อนๆของเขา  การได้กินขนมเค้กนุ่มนิ่มทวิงกี้ หรือการหาสาวคู่ใจ (ดังเช่น ทัลลาฮัสซีและโคลัมบัสใน Zombieland 2009) การได้ร้องเพลงและทำให้เด็กสนุกสนานมีรอยยิ้มใน Little Monsters (2019)

อีสานซอมบี้: เมื่อทุนปะทะท้องถิ่น

       

อีสานซอมบี้ (2023) หนังซอมบี้ไทยเรื่องล่าสุดเปิดเรื่องมาด้วยองค์ประกอบหลายอย่างที่ต่อยอดมาจากหนังซอมบี้แนววิพากษ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ขาประจำซอมบี้หลายๆคนมีความหวังว่าหนังซอมบี้ไทยเรื่องนี้มีศักยภาพกลายเป็นหนังซอมบี้ระดับโลกอย่าง Train to Busan ได้ หนังพาผู้ชมไปรู้จักหมู่บ้านแห่งหนึ่งอันไกลพ้นในภูมิภาคอีสานของประเทศไทย ชุมชนที่ยังยึดในขนบวัฒนธรรมท้องถิ่น คนในพื้นที่ยังไม่ถูกความเป็นปัจเจกชนนิยมครอบงำจนต่างคนต่างอยู่ อิทธิพลของศาสนา ผู้นำท้องถิ่น งานเลี้ยงสนุกสนานยังมีบทบาทสำคัญในการรวมคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน กระนั้นก็ตาม ความเป็นสมัยใหม่ เทคโนโลยี และทุนก็เข้ามาปะทะ ผสมปนเปกับความเป็นพื้นถิ่น หรือบางครั้งก็ขึ้นมามีอำนาจบงการเหนือชีวิตท้องถิ่น หนังพาผู้ชมไปรู้จักกับซุปเปอร์มาเก็ตแฟรนไชน์แห่งหนึ่ง และนำเสนอพลวัตทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างพนักงานลูกจ้างในพื้นที่กับผู้จัดการที่เดินทางมาตรวจคุณภาพจากกรุงเทพ ฝ่ายหลังโกรธเป็นฝืนเป็นไฟที่ฝ่ายแรกไม่ให้ความสำคัญกับกฎระเบียบที่เคร่งครัด เตะถ่วง แอบเอาของไปขายต่อ “คุณอิฐ” (แสดงโดย พชร จิราธิวัฒน์) คือภาพแทนของทุนใหญ่ที่รุกคืบกลืนกินท้องถิ่น เขาสั่งให้มีการติดกล้องวงจรปิดเพื่อสอดส่องพฤติกรรมของลูกจ้างอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังกำชับให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องตรวจค้นตัวลูกจ้างหลังเลิกจ้างทุกครั้ง มาตรการจากส่วนกลางและการปรากฏตัวของเจ้านายสร้างความไม่พอใจกับพนักงานในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “ต้นนุ่น” (แสดงโดย ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง)ที่ก่อนหน้านี้มักแอบขโมยเนื้อสดหมดอายุออกจากร้านอยู่เสมอ แต่คุณอิฐจับได้และสั่งให้พนักงานทุกคนต้องเทสารเคมีใส่เนื้อที่ขายไม่ออกให้หมด เพื่อทำให้เนื้อเหม็น ป้องกันการนำเนื้อของบริษัทไปใช้ประโยชน์ต่อ

โครงเรื่องข้างต้นสอดคล้องกับธีมหนังซอมบี้สะท้อนสังคมหลายๆเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น Cargo (2017) หนังซอมบี้ออสเตรเลียตีแผ่ประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคม กดขี่ เอาเปรียบชนพื้นเมือง (Aboriginal people) การเข้ามาตั้งแท่นเจาะน้ำมันในเขตที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมือง จนสุดท้ายพวกเขากลายเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อรายแรกๆอันเป็นผลมาจากเชื้อปนเปื้อนในน้ำมัน นอกจากนี้ Cargo ยังนำเสนอภาพชนพื้นเมืองในฐานะผู้อยู่รอดและรับมือกับภัยซอมบี้ได้ดีกว่าคนขาวหรือคนในเมือง พวกเขาคือนักสู้ที่จะสร้างโลกหลังล่มสลาย และแน่นอนว่าเป็นโลกหลังทุนนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยวิถีชนพื้นเมือง (indigenous way of knowing) ที่ถูกกดทับมาอย่างยาวนาน 

กลิ่นอายการเมืองแบบหลังอาณานิคม (post-colonialism) และการวิพากษ์วัฒนธรรมจากส่วนกลาง มาตรฐานวิธีคิดของทุนจากภายนอก กลับหัวกลับหางคตินิยมการดูถูกวัฒนธรรมพื้นถิ่น ธีมภาพยนตร์ดังกล่าวนับว่าได้รับความนิยมในหมู่สื่อบันเทิงไทยในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ตระกูลไทบ้าน โดยเฉพาะ สัปเหร่อ (2023) เป็นตัวอย่างที่ดีในการสะท้อนความเป็นอีสานในลักษณะที่ไม่ได้มองจากมุมส่วนกลางคนกรุงเทพ อีสานซอมบี้เองก็ฉายแววเช่นนั้นในตอนต้นเรื่อง อย่างไรก็ตาม ตัวภาพยนตร์กลับไม่ได้เติมเต็มศักยภาพด้านโครงเรื่องที่ตัวเองมีเท่าที่ควร

ประการแรก แทนที่จะ empower ความเป็นพื้นถิ่น (ดังที่ Cargo หรือ สัปเหร่อได้ทำ) และนำเสนอว่า ความเป็นพื้นถิ่นคือทางออกหรือทางเลือกที่เรามีในโลกหลังซอมบี้ อีสานซอมบี้กลับชูความเป็นพื้นถิ่นในมิติที่ไม่ได้ซับซ้อน สอดคล้องกับภาพเหมารวมต่อความเป็นอีสาน ในช่วงกลางเรื่อง เราต่างได้ทราบว่า สาเหตุของเชื้อซอมบี้ที่ระบาดมีเหตุมาจากการที่คนในพื้นที่กลุ่มหนึ่งนั้นเป็นโรค “ปอบ” ชอบกินของดิบ ดังนั้น ต้นนุ่นจึงหาทางแอบเอาเนื้อจากซุปเปอร์ไปให้คนอนาถาเหล่านี้ แต่เมื่อเนื้อมาปนเปื้อนสารเคมีตามนโยบาย “คุณอิฐ” และถูกกินโดยปอบ ปอบจึงกลายพันธุ์เป็นซอมบี้ที่ดุร้ายและนำมาซึ่งความวุ่นวาย เลือดสาด และการกระจายของเชื้อซอมบี้ไปทั่วหมู่บ้าน ยิ่งไปกว่านั้น มีเพียงเพลง “หมอลำ” เท่านั้นที่จะสามารถหยุดความเกรี้ยวกราดของซอมบี้อีสานได้ เมื่อไรที่เปิดเพลงหมอลำออกลำโพง ซอมบี้อีสานก็จะหยุดกัดหรือทำร้ายมนุษย์และเริ่มเต้น ฟ้อน ส่ายสะโพกกันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ฉากซอมบี้เต้นอย่างเสียสติตามเพลงหมอลำคงเป็นฉากที่มุ่งสร้างเสียงหัวเราะในหมู่ผู้ชม แต่ผู้เขียนไปแน่ใจว่ามุกเช่นนี้จะยังใช้ได้ผลมากน้อยเพียงใด 

จะเห็นได้ว่า แทนกลิ่นอายหลังอาณานิคมนิยมและเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนชายขอบ ภาพยนตร์กลับฉายภาพความเป็นอีสานตามแบบฉบับการเหยียดและเหมารวม ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอภาพคนอีสานกินเนื้อดิบหรือปอบในฐานะเป็นผู้ติดเชื้อรายแรก (patient zero) หรือการเต้นฮาๆของซอมบี้อีสานตามเพลงหมอลำ อนึ่ง ในหนังซอมบี้ออสเตรเลียอีกเรื่องหนึ่ง Little Monsters (2019) เพลงก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการทำให้เหล่าเด็กๆอนุบาลรอดพ้นจากฝูงซอมบี้ได้ เพลงใน Little Monsters สะท้อนเพลงเพื่อชีวิตและอนาคตของคนรุ่นหลัง เด็กๆต่างร้องเพลงเพื่อยืนยันความเป็นมนุษย์สู้กับลัทธิทหารนิยมและฝูงซอมบี้ทหาร (patient zeroในLittle Monstersคือทหารในฐานทัพสหรัฐที่ตั้งในออสเตรเลีย) อีสานซอมบี้ไม่ได้นำเสนอเพลงหมอลำในฐานะอาวุธที่ทรงคุณค่ามากไปกว่าสร้างความขบขันต่อบรรดาหางเครื่องซอมบี้

ด้านหนึ่ง อาจโต้แย้งได้ว่า อีสานซอมบี้นำเสนอภาพคนอีสานในฐานะคนชายขอบที่ถูกกดทับจากระบบโครงสร้างอำนาจรัฐและทุน หนังกำลังเปรียบเปรยว่าคนอีสานกำลังถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นซอมบี้ผ่านการรุกคืบเข้ามาของทุน เทคโนโลยี และอำนาจจากส่วนกลาง ชีวิตของพวกเขาเปราะบาง เป็นได้เพียงแค่ลูกจ้างหาเช้ากินค่ำในร้านขายของแฟรนไชน์ อย่างไรก็ดี หนังเองก็ไม่ได้สานต่อมิติเชิงวิพากษ์นี้ไปจนสุดผู้เขียนนึกถึง ซอมบี้แรงงานต่างด้าวในเรื่อง Backpacker  ของห้าแพร่ง แรงงานที่มีชีวิตเปลือยเปล่าพลัดถิ่นฐานบ้านเกิด ถูกบังคับให้กลืนยาเสพติด และเบียดเสียดกันในรถบรรทุก พวกเขาตายทั้งเป็นมาตั้งแต่ก่อนเป็นซอมบี้ Backpackerไม่อ้อมค้อมต่ออุดมการณ์หลักของสังคม โดยฉายภาพซอมบี้ต่างด้าวกระโดดขย้ำคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น หนังปิดท้ายด้วยฉากซอมบี้เด็กไร้สัญชาติกำลังวิ่งเข้าโจมตีพระที่ออกบิณฑบาตในตอนเช้า

น่าตลกร้ายที่ฮีโร่ของอีสานซอมบี้กลับกลายเป็น “คุณอิฐ” หนุ่มพูดภาษากลางใส่สูทหน้าตาสะอาดสอ้าน ผู้เขียนพยายามคาดเดาว่าเมื่อไหร่คุณอิฐจะโดนกัดและรุมทึ้ง เพราะมันจะเป็นการแก้แค้นของเหล่าซอมบี้อีสานต่อทุนและอำนาจ การณ์กลับเป็นเช่นนั้นไม่ “คุณอิฐ” กลับกลายเป็นตัวละครที่มีสติที่สุด เขาช่วยให้ตัวละครลูกจ้างอีสานหลายคนรอดชีวิตจากซอมบี้ในขณะที่เหล่าลูกจ้างหญิง (และผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ต่างหวาดกลัวจนทำอะไรไม่ถูก แน่นอนว่าอิฐมีท่าทีที่อ่อนลงและไม่ใช่เจ้านายจากส่วนกลางที่บ้าอำนาจอีกต่อไป แต่นั้นอาจเป็นเพราะเขาเริ่มชอบพอกับต้นนุ่น หญิงลูกจ้างในพื้นที่ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันนี้ไม่ได้เปลี่ยนสถานะทางอำนาจระหว่างท้องถิ่นและรัฐ/ทุนส่วนกลางเลย

กล่าวโดยสรุป อีสานซอมบี้คือภาพยนตร์ซอมบี้เรื่องล่าสุดของไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากสื่อบันเทิงแนวซอมบี้ที่มีชื่อเสียงทั่วโลกในหลายมิติ เมื่อเทียบกับหนังซอมบี้แรกเริ่มอย่างขุนกระบี่ ผีระบาดเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว อีสานซอมบี้มีฉาก เทคนิคตัดต่อ แต่งหน้าที่สมจริง เรียกเสียงหวีดปนเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้ อย่างไรก็ตาม อีสานซอมบี้ยังถือว่าล้มเหลวในการส่งสารเชิงวิพากษ์ทางสังคม ตัวละครแบนราบ ขาดพัฒนาการ ไม่มีความซับซ้อนหลายมิติเท่าที่ควร ซ้ำร้าย เนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ยังผลิตซ้ำภาพสะท้อนเชิงลบและความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเมือง-ชนบท ส่วนกลาง-ท้องถิ่น หรือแม้กระทั่ง ชาย-หญิง 


 

อ้างอิง

[1] เนื้อหาในส่วนนี้เรียบเรียงมาจาก Khorapin Phuaphansawat, “Zombie Apocalypse and the Crisis of Global Capitalism: Class, Precarious Work, and Environment,” Journal of Contemporary Asia (2023): 11–15. https://doi.org/10.1080/00472336.2023.2252429

[2] David McNally, “Land of the Living Dead: Capitalism and the Catastrophes of Everyday Life,”in Catastrophism: The Apocalyptic Politics of Collapse and Rebirth (Toronto: PM Press, 2012), 115.

[3]อ้างใน  Mark Neocleous, The Universal Adversary: Security, Capital and ‘The Enemies of All Mankind’ (New York: Routledge, 2016), 50.

[4] เรื่องเดียวกัน, 112-3.

[5] Karl Marx, The Marx-Engels Reader (New York: W.W. Norton and Company, 1978), 94.

[6] David McNally, “Land of the Living Dead: Capitalism and the Catastrophes of Everyday Life,”in Catastrophism: The Apocalyptic Politics of Collapse and Rebirth (Toronto: PM Press, 2012), 117.

[7] Mark Neocleous, The Universal Adversary: Security, Capital and ‘The Enemies of All Mankind’ (New York: Routledge, 2016), 60.

[8] Sarah Juliet Lauro, “What Zombies Tell Us About Our Times,” Against the Grain, April 23, 2018,  https://kpfa.org/episode/against-the-grain-april-23-2018/.

[9] Thomas Hobbes, Leviathan, ed. C.B. Macpherson (New York: Penguin Books, 1968), 186.

[10]  เรื่องเดียวกัน, 161.

[11] Wayne Yuen, ed., The Ultimate Walking Dead and Philosophy: Hungry for More (Chicago: Open Court, 2016), 63.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net