‘ชัยวัฒน์ สถาอานันท์’ ปาฐกถา พิศ(ษ)ผู้หญิงในชีวิตของสันติวิธี

“ในสังคมไทยเอง ข้าพเจ้าเห็นเงาของความขัดแย้งยืดเยื้อ
อันตรายที่เคยทำให้เกิดความรุนแรงเป็นระยะๆ ในทศวรรษที่ผ่านมายังแผ่คลุมอยู่ทั่วไปในขณะนี้
ทั้งยังเห็นยาพิษแห่งความเกลียดชังแพร่ไปทั้งในโลกเสมือนจริงและโลกจริง
สิ่งเหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าถามตนเองว่า
สิ่งที่อาจารย์ป๋วยคิด สอน และพยายามนำเสนอต่อสังคมไทยตลอดมาเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว
ความคิด “สันติประชาธรรม” ความฝันที่หลายคนปรารถนา “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”
มีอะไรสำเร็จบ้างหรือไม่?

ชีวิตของอาจารย์ป๋วยเองเป็นชีวิตแห่งความสำเร็จหรือล้มเหลว
โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการเกื้อกูลสังคมไทยไปในหนทางสันติวิธี
ตามอิทธิพล ที่ได้รับจากคุณมาร์กาเร็ต?”

ปาฐกถาฉบับเต็ม ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.econ.tu.ac.th/econtuarchive/images/cover/eco/APueyFinal14forweb.pdf

9 มี.ค.2558 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดปาฐกถา ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นครั้งที่ 14 โดยผู้เป็นองค์ปาฐกในปีนี้ได้แก่ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ พิศ(ษ)ผู้หญิงในชีวิตของสันติวิธี การแสดงปาฐกถาในครั้งนี้มีผู้สนใจเข้ารับฟังเป็นจำนวนมาก และมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยร่วมรับฟังด้วย ก่อนเริ่มการปาฐกถามีการฉายวิดีโอคลิปชีวิตและผลงานของชัยวัฒน์ (ชมได้ที่นี่ https://www.facebook.com/video.php?v=621848557946028)

ชัยวัฒน์เริ่มต้นอย่างติดตลกว่าเขาเลือกที่จะพูดถึงสภาพการณ์ของโลกเพราะเกรงว่าหากพูดเรื่องรัฐประหารหรือรัฐธรรมนูญใหม่อาจทำให้คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้บริหารอื่นต้องไปปรับทัศนคติ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเสร็จสิ้นการปาฐกถา ชัยวัฒน์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่ากังวลและเป็นโจทย์ใหญ่ตอนนี้สำหรับสังคมไทยคือ ช่วงความเปลี่ยนแปลงข้างหน้า เราจะสามารถทำให้ผู้คนเห็นคนที่อยู่ตรงข้ามกับตนเองเป็นมนุษย์ เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ที่แชร์ชะตากรรมร่วมกันได้ไหม และการจะทำเช่นนั้นได้ เราจำเป็นต้องเป็นอิสระจากมายาคติที่ตอนนี้มัดเรามากเกินไปเสียก่อน

สำหรับการปาฐกถาเขาเริ่มต้นการมองสถานการณ์โลกโดยหยิบยกหนังสือ Capital in the Twenty-First Century ซึ่งอธิบายความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านรายได้ประชากรและทะเบียนการเสียภาษีได้อย่างน่าสนใจจนกลายเป็นหนังสือขายดี เรื่องความเหลื่อมล้ำที่มีรากฐานมาจากการสะสมทุนเป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นที่สนใจกันมานานในระดับนานาชาติ การปฏิรูปของไทยในปัจจุบันก็ดูจะถือความเหลื่อมล้ำเป็นศูนย์กลางปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่กล่าวให้ถึงที่สุด ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เพียงเป็นปัญหาเศรษฐกิจ แต่พยุงอยู่ด้วยความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจ ซึ่งดำรงอยู่แทบทุกอณูในสังคมไทย

ขณะที่ภาพยนตร์ The Walking Dead ก็เป็นภาพสะท้อนทางเดินต่อไปในศตวรรษที่ 21 ได้ดีเช่นกัน เป็นดิสโทเปียที่น่าสะพรึงกลัว ปราศจากกฎหมาย สถาบันทางสังคม และระบบ เศรษฐกิจใดๆ ถ้ามองจากมุมพุทธศาสนาก็คล้ายสภาพ “มิคสัญญี”ถ้ากล่าวจากมุมปรัชญาการเมือง ก็น่าจะเป็นภาพจำลองของชีวิตในสภาพธรรมชาติที่ Thomas Hobbes เคยเขียนไว้ ใน Leviathan (1651) ที่มนุษย์ตกอยู่ในสภาพ “สงครามระหว่างทุกคนกับทุกคน” และชีวิตก็ถูกทอนให้อยู่ในสภาพ “โดดเดี่ยว ยากจน โสโครก โหดเหี้ยม และสั้น” อันที่จริงสภาพในศตวรรษที่ 21 ก็เลวร้ายไม่แพ้กัน

ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มีเรื่องมากมายให้นึกถึง ให้เขียนถึง แต่เหตุใดจึงจะแสดงปาฐกถาเรื่องผู้หญิง? ชัยวัฒน์กล่าวว่า คำตอบอยู่ที่อาจารย์ป๋วยเองก็เคยเขียน “ผู้หญิงในชีวิตของผม-แม่” และเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในมโนสำนึกของเขา ในบทความเรื่องนั้นป๋วยได้กล่าวถึงภรรยาของเขา ‘มาร์กาเร็ต’ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดจิตใจของบุตรทั้งสามรวมทั้งตัวป๋วยเองด้วย โดยเฉพาะเรื่องการปฏิเสธความรุนแรง ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ทางวิชาการในระยะหลังของชัยวัฒน์ที่มักหยิบยกตัวอย่างของสตรีที่มีอิทธิพลในเรื่องนี้

ชัยวัฒน์กล่าวเสริมว่า เมื่อคิดถึงมาร์กาเร็ตในฐานะแห่งความเป็นแม่แล้ว ทำให้นึกถึงแม่ของใครต่อใครอีกหลายคน นึกถึงแม่ของตัวเอง รวมถึงแม่ของอาจารย์สมศักดิ์ด้วย ซึ่งทำให้เขารู้สึกเสียใจยิ่ง ความเสียใจเป็นมาตรวัดอารยธรรมมนุษย์ บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรควรเสียใจในฐานะตัวบุคคลหรือในฐานะสถาบัน แต่มหาวิทยาลัยควรจะเสียใจเมื่อเราเสียคนที่เป็นอาจารย์ที่ดีไป

จากนั้นชัยวัฒน์ได้หยิบยกงาน 3 ชิ้นเยี่ยมที่ทำให้งานวิชาการสันติวิธี/การไม่ใช้ความรุนแรงนานาชาติในปัจจุบันเข้มแข็ง มั่นคงขึ้น ซึ่งผลิตโดยนักวิชาการผู้หญิงที่โดดเด่น 4 คน คือ ‘Why Civil Resistance Works’ของ Erica Chenoweth ร่วมกับ Maria Stephan ซึ่งค้นพบว่า การต่อสู้/ต่อต้านด้วยสันติวิธีนั้นทำให้ผู้ใช้ประสบความสำเร็จยิ่งกว่าการใช้ความรุนแรงถึงสองเท่า เพราะสามารถระดมความสนับสนุนได้มากจากผู้คนพลเมืองทั่วไป ด้วยการใช้วิธีการต่อสู้แบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคัดค้าน คว่ำบาตร หรืออารยะขัดขืน ซึ่งทำหน้าที่แยกระบอบปกครองที่ผู้คนต่อสู้ด้วย ออกจากแหล่งที่มาแห่งอำนาจที่ดำรงอยู่

ต่อมาคือ งานของ Sharon Nepstad เขียนเรื่อง Nonviolent Revolutions: Civil Resistance in the Late 20th Century ซึ่งพบว่า พบว่าปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จในการปฏิวัติด้วยสันติวิธีคือ การที่ทหารหรือฝ่ายความมั่นคงถอนความภักดีที่มีให้กับระบอบการปกครอง ในขณะที่ก็พบว่าการคว่ำบาตรโดยต่างประเทศ บางครั้งก็ทำให้ขบวนการต่อต้านรัฐกลับอ่อนกำลังลง เพราะมักทำให้ฝ่ายเผด็จการมีพันธมิตรเพิ่มขึ้น

ชิ้นสุดท้ายคืองานของ Wendy Pearlmanซึ่งศึกษาขบวนการชาตินิยมปาเลสไตน์ โดยเปรียบเทียบกับขบวนการแบบเดียวกันในอัฟริกาใต้และไอร์แลนด์เหนือ ข้อค้นพบคือ ขบวนการที่มีความลงตัวทั้งในองค์กรและแนวทางปฏิบัติงาน มีโอกาสจะทำการต่อสู้ด้วยสันติวิธีได้ดีกว่า ในขณะที่ขบวนการชาตินิยมที่กระจัดกระจาย ไม่ลงตัวเป็นเนื้อเดียวกัน มีแนวโน้มจะยังให้เกิดความรุนแรง เธอเสนอว่า ขบวนการที่จะเป็นสันติวิธีได้ต้องอาศัยวินัย ทิศทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และการประสานงานกันภายในอย่างมีเอกภาพ

เขากล่าวต่อว่า บทบาทของผู้หญิงที่ดูจะมีมากขึ้นในโลกวิชาการ “สันติวิธี” นั้นก่อให้เกิดผลอย่างไรต่อสันติวิธีนั้นเอง? การตอบคำถามของเขาใช้วิธีเล่าเรื่องจากชีวิตของ 4 คนจาก 4 ประเทศซึ่งทำให้สันติวิธีมีความหมายอย่างลึกล้ำ

คนแรกคือ Jeannette Pickering Rankin (1890-1973) สมาชิกรัฐสภาหญิงคนแรกของสหรัฐฯ เธอเป็นสมาชิกรัฐสภาอเมริกันคนเดียวที่ลงคะแนนคัดค้านการเข้าร่วมสงครามโลกทั้งสองครั้ง  ท่ามกลางเสียงโห่ไล่ อื้ออึงในสภา เธอประกาศชัดถ้อยชัดคำว่า “ในฐานะที่เป็นผู้หญิง ฉันไม่อาจ เข้าร่วมสงครามได้ และฉันปฏิเสธที่จะส่งใครอื่นไปสงครามทั้งนั้น” หลังจากนั้นเธอถูกโจมตีอย่างหนัก เมื่อถึงยุคสงครามเวียดนาม เธอกลายเป็นบุคคลสำคัญในขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม

คนที่สองคือ Irena Sendler  ผู้หญิงชาวโปแลนด์นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกซึ่งช่วยเด็กชาวยิวให้รอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กว่า 2,000 คน ใช้สารพัดวิธีในการนำเด็กออกจากค่ายกักกัน เช่น นำเด็กออกมากับโลงศพและซ่อนไว้ในรถพยาบาล หรือแม้กระทั่งผ่านทางท่อระบายน้ำเสีย เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังได้ทำสูติบัตรปลอม ให้ชื่อปลอมแบบอารยันแก่เด็กเหล่านั้น และนำไปฝากไว้ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าของชาวคริสต์ ที่น่าทึ่งคือเธอได้เขียนชื่อจริงของเด็กๆ เหล่านี้ไว้ในขวดแล้วฝังดินไว้ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่พวกเขาจะได้รู้ชื่อที่แท้จริงของตัว ในที่สุดเธอถูกจับได้ พวกนาซีทรมานเธอเพื่อให้บอกที่ซ่อนของเด็กๆ แต่แม้จะถูกทรมานถึงขั้นทุบขาและเท้าทั้งสองจนแตก เธอก็ไม่ได้ปริปากบอกความลับเกี่ยวกับเด็กๆ เธอถูกตัดสินประหารชีวิต แต่เพื่อนๆ ติดสินบนทหารนาซี จนเธอสามารถหนีออกมาได้ในท้ายที่สุด

คนที่สามคือ Aminatou Haidar เป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนชาวซาห์ราวี และเป็นผู้สนับสนุนอิสรภาพของซาฮาราตะวันตก เธอมักถูกเรียกว่า “คานธีแห่งซาห์ราวี” เธอร่วมกับผู้คนอีกนับร้อยในการจัดการชุมนุมอย่างสันติเพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลโมร็อกโก เธอถูกจับและถูกคุมขังในคุกลับเป็นเวลา 4 ปี โดยปราศจากการดำเนินคดี ถูกทรมานอย่างหนักเช่น การช็อตด้วยไฟฟ้า การยัดปากด้วยผ้าชุบน้ำยาเคมี ตลอดระยะเวลาที่ถูกขังเธอยังถูกปิดตาตลอดเวลาด้วย 14 ปีต่อมา เธอร่วมประท้วงรัฐบาลอีกครั้งและถูกคุมขังที่ “คุกมืด” แห่ง El Aaiún ในบริบทการถูกทรมานภายใต้สภาพความเป็นอยู่ที่แสนลำบากของนักโทษในคุก เธอกับเพื่อนผู้ต้องขังชาวซาห์ราวี อีก 37 คนได้ต่อต้านความรุนแรงนี้ด้วยการร่วมกันอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 32 วัน เพื่อเรียกร้องให้ทางการสอบสวนการซ้อมทรมานในคุก และปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในคุก ตลอดจนเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด เธอถูกปล่อยตัวในเดือนมกราคม 2006 เธอกล่าวว่า “ความสุขที่ถูกปล่อย(ของฉัน)ไม่สมบูรณ์ เพราะนักโทษการเมืองชาว ซาห์ราวีทั้งหมดไม่ได้ถูกปล่อยมาด้วย และเพราะไม่มีการปลดปล่อย อาณาเขตของมาตุภูมิ ซึ่งยังอยู่ใต้การครอบครองของผู้กดขี่”

คนสุดท้าย คือ มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ นักพัฒนาเอกชนที่ต่อสู้เคียงข้างชาวบ้านในกรณีเขื่อนปากมูล เธอเห็นความยากจนเป็นปัญหา แต่เธอมองว่า “ความยากจน นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความเป็นธรรมชาติของมันเอง แต่ความยากจนเกิด จากความไม่เป็นธรรม การจัดสรรที่ไม่เป็นธรรม ขาดการแบ่งปันให้กัน และกัน ดิฉันคิดว่าคนยากจนทั้งหลายคือพลังที่ยิ่งใหญ่ของสังคม” อาจจะด้วยเหตุเช่นนี้ เธอจึงต่อสู้อย่างหนักด้วยสันติวิธี ร่วมกับประชาชนคนยากไร้ในเครือข่ายสมัชชาคนจน ที่สำคัญคือเธอมีแนวทางอหิงสาแบบคานธีและฐานคิดผู้นำสันติวิธีที่เห็นความสำคัญของชีวิตผู้คนที่เดินตามตนอย่างที่สุด

การพิจารณาทั้งสี่ชีวิตทำให้ได้เห็นความโดดเด่นของสันติวิธี 4 ประการคือ ความกล้าหาญ ความเอื้ออาทร การ ยอมเสียสละ และการให้ความสำคัญกับชีวิตแม้เพียงชีวิตเดียว โดยสำหรับเรื่องการให้ความสำคัญกับทุกชีวิตนั้น ชัยวัฒน์เน้นย้ำว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีประสบการณ์การต่อสู้ด้วยสันติวิธีอย่างเข้มข้นหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยเฉพาะในช่วงสิบปีมานี้ อาจเพราะปมความขัดแย้งบาดลึกเข้าไปในเนื้อในตัวของสังคม จนผู้คนฝ่ายต่างๆ ต้องรวมตัวกันต่อสู้เพื่อเป้าหมายทางการเมืองของพวกตน วิธีการสันติวิธีรูปต่างๆ ถูกนำมาใช้เป็นหลักในขบวนการประชาชนทั้งหลาย แม้บางกลุ่มบางพวกจะแซมด้วยกองกองกำลังป้องกันตนเองฝ่ายต่างๆ ที่ติดอาวุธ และบางครั้งก็ใช้ความรุนแรงด้วย คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า ขบวนการประชาชนขนาดใหญ่ที่ปะทะต่อสู้กันด้วยสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นสันติวิธีในเวลานี้ ต่างอย่างไรจากสันติวิธีของวนิดา ข้อแตกต่างสำคัญอยู่ที่วนิดาเห็นว่าทุกชีวิตที่เดินอยู่ในขบวนต่อสู้สันติวิธีที่เธอเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้นำอยู่ล้วนมีความหมายทั้งสิ้น นี่เองคือฐานคิดสำคัญของขบวนการสันติวิธีที่จะทำให้ขบวนการเช่นนี้ต่างจากขบวนการทางการเมืองอย่างอื่นๆ

เขายังกล่าวเพิ่มเติมถึงคุณลักษณะสำคัญเมื่อพิศผู้หญิงกับสันติวิธีอีกว่า Jeannette Rankin  ระบุว่าสิ่งสำคัญคือความสามารถในการรอ และเสนอด้วยว่าต้องแยกความเข้าใจระหว่าง “กำลัง” (force) กับ “อำนาจ” (power) ออกจากกัน เรื่องนี้สอดคล้องกับ Hannah Arendt นักปรัชญาการเมืองคนสำคัญที่ระบุว่า อำนาจและความรุนแรงอยู่ตรงข้ามกัน เมื่อสิ่งหนึ่งปรากฏ อีกสิ่งหนึ่งก็หายไป ความรุนแรงปรากฏเมื่ออำนาจสั่นคลอน ไม่มั่นคง ถ้าปล่อยให้ความรุนแรงดำเนินต่อไปตามครรลองของมัน อำนาจก็จะปลาสนาการไปสิ้น

ในช่วงท้ายของปาฐกถา เขากล่าวว่า “ในสังคมไทยเอง ข้าพเจ้าเห็นเงาของความขัดแย้งยืดเยื้อ อันตรายที่เคยทำให้เกิดความรุนแรงเป็นระยะๆ ในทศวรรษที่ผ่านมายัง แผ่คลุมอยู่ทั่วไปในขณะนี้ ทั้งยังเห็นยาพิษแห่งความเกลียดชังแพร่ไปทั้งในโลกเสมือนจริงและโลกจริง สิ่งเหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าถามตนเองว่า สิ่งที่อาจารย์ป๋วยคิด สอน และพยายามนำเสนอต่อสังคมไทยตลอดมาเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว ความคิด “สันติประชาธรรม” ความฝันที่หลายคนปรารถนา “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” มีอะไรสำเร็จบ้างหรือไม่? ชีวิตของอาจารย์ป๋วยเองเป็นชีวิตแห่งความสำเร็จหรือล้มเหลว โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการเกื้อกูลสังคมไทยไปในหนทางสันติวิธีตามอิทธิพล ที่ได้รับจากคุณมาร์กาเร็ต?

เรื่องราวสันติวิธีของผู้หญิงทั้งสี่คน คือ Rankin, Sendler, Haidar และวนิดา ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว? เพราะในที่สุดสหรัฐอเมริกา ก็เข้าร่วมสงครามโลกทั้งสองครั้ง, นาซีเยอรมันสังหารล้างเผ่าพันธุ์ชาว ยิวไปกว่า 6 ล้านคน ซาฮาราตะวันตกก็ยังอยู่ใต้การปกครองของ โมร็อกโก และเขื่อนปากมูลก็ยังคุกคามวิถีชีวิตของชาวปากมูนต่อไป ในทางวิชาการคงต้องตั้งคำถามว่า จะประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร อันเป็น โจทย์สำคัญในการวิจัยด้านสันติวิธีในปัจจุบัน”

ชัยวัฒน์สรุปโดยกล่าวถึงความล้มเหลวในมุมมองนักคิดหลายคน หนึ่งในนั้นคือ Slavoj Žižek ซึ่งหลายคนเห็นว่าเป็น “นักปรัชญาที่อันตรายที่สุด ในโลกตะวันตก” ซึ่งเสนอว่าที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะหวังได้ คือ พยายามเลือกความล้มเหลวให้ถูกเรื่อง และอย่าหมดแรงใจเมื่อเผชิญกับความพ่ายแพ้หรือเวลาที่เป้าหมายสูงส่งของตนถูกบิดเบือน ขณะที่ Albert Camus เห็นว่าความล้มเหลวมีความหมาย ในฐานะการสว่างรู้ถึงธรรมชาติของชีวิตแห่งการต่อสู้อันไม่มีวันจบสิ้น และเพียงการต่อสู้ดิ้นรนไปสู่เป้าหมายก็พอแล้วที่จะทำให้หัวใจของมนุษย์เต็มเปี่ยม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท