“ทำไมความจริงยังไปไม่ถึงความยุติธรรม” เผยข้อค้นพบจากการสำรวจกลไกยุติธรรม เพื่อสร้างความพร้อมสู่สันติภาพ


งานแถลงผลสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านโต๊ะชูด/ทุ่งยางแดง
จาก Deep South Watch

 

มูลนิธิเอเชียมีผลงานสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นการนำหลักนิติวิทยาศาสตร์มาใช้คลี่คลายคดีความมั่นคงต่างๆ ในพื้นที่อย่างได้ผล ส่งผลให้เงื่อนไขของความรุนแรงที่เกิดจากการความอยุติธรรมทางคดีลดลงตามไปด้วย

แต่กรณีเหตุรุนแรงที่สังคมรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจใช้อำนาจเกินกว่าเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกฎหมาย จนรัฐต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาเป็นการเฉพาะในหลายกรณี แต่ก็ยังไปไม่ถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

กระทั่งกรณีล่าสุดที่มีการปิดล้อมตรวจค้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน ซึ่งคณะกรรมการที่รัฐตั้งขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ได้แถลงยืนยันแล้วว่าผู้เสียชีวิตไม่ใช่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและไม่เชื่อว่าอาวุธปืนที่พบที่ศพจะเป็นของผู้เสียชีวิต

แต่กระนั้นก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรณีนี้อาจเป็นเช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ ที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมา คือไปไกลสุดแค่การเยียวยาแต่ไปไม่ถึงการนำคนผิดมาลงโทษ หรือ ยิง ตาย จ่าย จบ

มูลนิธิเอเชียเองก็อยากรู้เช่นกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น จึงพยายามค้นหาคำตอบโดยศึกษาบทเรียนจากการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงหลายชุดในช่วงที่ผ่านมา ที่สำคัญคือ พยายามมองว่ากระบวนการค้นหาความจริงนั้นจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพได้อย่างไรบ้าง

เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม
แม้มูลนิธิเอเชียไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในการค้นหาความจริงจากหลายกรณีที่เกิดขึ้น แต่โครงการศึกษาเรื่อง “เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม : กรณีศึกษาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบริบทความขัดแย้งชายแดนใต้” ของมูลนิธิเอเชียก็พบเรื่องข้อเท็จจริงจากรายงานการศึกษาเบื้องต้นหลายประการ

โครงการนี้ดำเนินการระหว่างเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2557 โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการวิเคราะห์เนื้อหาจากเอกสารของคณะกรรมการค้นหาความจริงในแต่ละชุด ผู้ศึกษาหลักคือนางรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ซึ่งแม้ศึกษาเสร็จแล้วแต่ตัวรายงานผลการศึกษายังต้องรอแก้ไขปรับปรุงและคาดว่าจะสามารถเผยแพร่ได้ในเร็วๆ นี้

โครงการนี้เป็นการศึกษากรณีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ตั้งขึ้นในช่วงปี 2553 – 2557 เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกรณีที่สงสัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเกินกว่าเหตุหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกฎหมาย รวม 10 กรณี

นายสันติ นิลแดง เจ้าหน้าที่โครงการมูลนิธิเอเชีย เปิดเผยถึงโครงการศึกษานี้ว่า มี 2 ประเด็นหลักที่ต้องอธิบาย คือ 1.มูลนิธิเอเชียกับการศึกษาเรื่องคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในปริบทความขัดแย้งชายแดนใต้ และ 2.คณะกรรมการค้นหาความจริงในจังหวัดชายแดนใต้กับวัฒนธรรมคนผิดลอยนวล


สันติ นิลแดง

เพื่อหนุนสันติภาพและสำรวจกลไกยุติธรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่าน
นายสันติ อธิบายว่า เหตุผลที่มูลนิธิเอเชียให้มีการศึกษาเรื่องนี้ มี 2 ข้อด้วยกัน คือ
เหตุผลข้อที่ 1 เพื่อสนับสนุนกระบวนการเจรจาสันติภาพ เนื่องจากในช่วงนั้นรัฐบาลไทยได้แสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง (political will) และสื่อสารกับประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่อย่างชัดเจนว่าจะใช้วิถี “การเมืองนำการทหาร” โดยผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการขณะนั้น ซึ่งในช่วงที่ศึกษาเรื่องนี้ที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายชุด

เหตุผลที่ 2 คือ การริเริ่มสำรวจทบทวนกลไกยุติธรรมเชิงเปลี่ยนผ่าน หรือ transitional justice - TJ ที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งที่มีบทบาทในการเจรจาสันติภาพทั่วโลก เพื่อหาข้อมูลว่ากลไกไหนที่สามารถนำมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้

พบ 3 ประการ “ศักยภาพไม่พอ-องค์ประกอบไม่เหมาะ-ไปไม่ถึงคดี”
ผลการศึกษาของมูลนิธิเอเชียในเรื่องนี้ นายสันติ ระบุว่า มีข้อค้นพบหลักๆ อยู่ 3 ประการ ได้แก่

1.ศักยภาพของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ซึ่งยังขาดทักษะความสามารถอย่างเพียงพอ จึงควรมีเจ้าหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ เช่น ทักษะการซักถาม การเขียนรายงาน ความรู้และเข้าใจเรื่องพยานหลักฐานประเภทต่างๆ รวมทั้งพยานหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

2.องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ควรมีการตั้งคณะกรรมการถาวรขึ้นมาและมีขนาดไม่ใหญ่มาก คือ ประมาณ 5 - 7 คน และไม่ควรเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง แต่ก็ควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ญาติผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับผลกระทบมีบทบาทในการคัดเลือกกรรมการที่เป็นคนที่คนไว้ใจ และควรมีโอกาสได้ร่วมสังเกตการทำงานของคณะกรรมการด้วย

3.รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงถูกคาดหวังค่อนข้างสูงว่า น่าจะนำไปใช้ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ แม้หลายกรณีระบุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งคณะกรรมการคือการแสวงหาความจริงเบื้องต้นเท่านั้นก็ตาม

“ขณะเดียวกันก็มีข้อถกเถียงว่า รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังมีข้อจำกัดหลายประการ จะกลายเป็นการตัดสินคดีล่วงหน้าได้อย่างไร และเป็นการแทรกแซงการค้นหาข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติของประเทศได้หรือไม่”

ต้องขจัดวัฒนธรรมปล่อยคนผิดลอยนวล
จากผลการศึกษาดังกล่าว นายสันติให้ความเห็นในฐานะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วยว่า ถามว่ารายงานผลของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงควรจะนำไปสู่การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษหรือขจัดวัฒนธรรมคนผิดลอยนวลได้เลยหรือไม่ หรือทำไมข้อสรุปของรายงานจึงไปไม่ถึงคดีความ

เขาบอกว่า ในเรื่องนี้พบว่ายังมีความเห็นที่หลายฝ่ายมองต่างมุมกัน และมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก เช่น ในเชิงข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการนำผลของการค้นหาความจริงที่นอกเหนือจากกระบวนการยุติธรรมปกติมาใช้กับการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นต้น

“อย่างไรก็ตาม การขจัดวัฒนธรรมปล่อยให้คนผิดลอยนวล (Impunity) เป็นปัญหาสำคัญของกระบวนการยุติธรรมภาคใต้ที่มูลนิธิเอเชียพยายามทำงานทั้งกับภาครัฐและภาคประชาสังคมมาตลอด เช่น พยายามสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานในการนำพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองทั้งสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาและผู้เสียหายอย่างเท่าเทียมกัน แต่เราก็พบว่ามันยากจริงๆ”

“เหตุที่ยากเพราะมันเป็นทั้งประเด็นข้อกฎหมาย ทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักสำคัญจาก Political will ของรัฐบาล ความมุ่งมั่นของภาคประชาสังคมและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากหลายฝ่าย รวมทั้งสื่อด้วย”

แต่เส้นทางยาก-ต้องปลดล็อคกฎหมาย ป.ป.ช.
เขายกตัวอย่างกรณีที่เห็นได้ชัดในประเด็นนี้ ก็คือคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวภายในฐานทหาร ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อกระทำผิดต้องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ดำเนินคดี ซึ่งมีกระบวนการและขั้นตอนที่ยาวนาน และเป็นที่ทราบกันดีว่า ป.ป.ช.เองก็มีคดีค้างอยู่จำนวนมาก

“ยังไม่นับกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นทหาร ซึ่งต้องนำเข้าพิจารณาคดีในศาลทหารอีก ซึ่งแน่นอนว่าความล่าช้าของความเป็นธรรมก็ทำให้คนยิ่งรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม”

สันติบอกว่า ส่วนการนำรายงานการตรวจสอบของข้อเท็จจริงคณะกรรมการในรูปแบบนี้มาใช้ในการดำเนินคดีโดยอัตโนมัติ คิดว่าขณะนี้คงยังทำได้ยาก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็น่าจะเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับภาคประชาสังคมที่ผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งมูลนิธิเอเชียเองก็พยายามฟังทุกฝ่ายว่า ทิศทางการขับเคลื่อนควรเป็นอย่างไร

เขายกตัวอย่างแนวทางในการผลักดันเรื่องนี้ เช่น ควรเริ่มจากการศึกษาต่อเนื่องจากการศึกษาของรุ่งรวีอย่างไร หรือจะมีช่องทางใดบ้างที่ผลของกระบวนการค้นหาความจริงตามกลไกลักษณะนี้จะสามารถเชื่อมต่อหรือนำเข้าไปสู่การพิจารณาและดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้หรือไม่ หรือมีตัวบทกฎหมายใดที่เอื้อกับการนำผลรายงานนี้ไปใช้ได้บ้าง เป็นต้น

“เพราะฉะนั้น แม้คนจะคาดหวังมากที่การค้นหาความจริงแบบนี้จะนำคนผิดมาลงโทษให้ได้ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือใครก็ตามคงต้องอาศัยการผลักดันอีกมาก เช่น ให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอยู่ รวมถึงเปิดช่องให้การค้นหาความจริงลักษณะนี้นำไปสู่การดำเนินคดีได้ ถ้าต้องการลด Impunity (การปล่อยคนผิดลอยนวล) เพื่อสร้างสังคมนิติรัฐให้เกิดขึ้นจริงให้ได้” สันติ กล่าวทิ้งท้าย

ตั้งมาแล้ว 10 คณะ แต่ไปไกลสุดแค่เยียวยา
ขณะที่นางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ผู้ศึกษาหลักของเรื่องนี้ คณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงที่มีการตั้งขึ้นเฉพาะกิจนี้ ในภาษาอังกฤษมักเรียกกันว่า Fact-Finding Mission หรือ Commission of Inquiry (COI) COI เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกคณะกรรมการค้นหาความจริงที่ตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ ซึ่งมีมากกว่า 30 คณะในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2448 – 2555

COI หมายถึงคณะกรรมการค้นหาความจริงที่มิใช่กลไกของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจในสถานการณ์ความขัดแย้งเพื่อสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงและประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ในกรณีของภาคใต้ การตั้งคณะกรรมการนั้นอยู่ในระดับท้องถิ่นโดยหน่วยงานรัฐในพื้นที่ตั้งขึ้น เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใต้ ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ สภาที่ปรึกษาฯ ของ ศอ.บต. เป็นต้น

นางสาวรุ่งรวี ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2553-2557 มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 10 คณะ กรณีที่จดจำกันได้ดีคือ การเสียชีวิตในค่ายทหารของนายสุไลมาน แนแซ (แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จวันที่ 22 มิถุนายน 2553) กรณีการกราดยิงชาวบ้านในรถกระบะที่ ต.ปุโล๊ะปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี   (แต่งตั้ง 4 กุมภาพันธ์ 2555) กรณีสุดท้ายก่อนการรัฐประหาร คือกรณีกราดยิงครอบครัวนายเจ๊ะมุ มะมันที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส (แต่งตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2557)

ไม่เปิดเผยผลรายงาน–เสียโอกาสสร้างบทเรียนป้องกันซ้ำรอย
นางสาวรุ่งรวี กล่าวว่า ข้อสรุปจากการศึกษาเรื่องนี้ คือ กลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งในการทำความจริงให้ปรากฏ ซึ่งหลายๆกรณีเกิดขึ้นได้ยากในกลไกการสืบสวนสอบสวนปกติของตำรวจ แต่วัตถุประสงค์หลักของการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผ่านมาคือการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพื่อลดความรู้สึกไม่เป็นธรรม แม้บางคณะจะมีข้อเสนอในเชิงนโยบายด้วย แต่ก็มักจะไม่ได้ถูกผลักดันให้เป็นจริง

“แม้ว่ากลไกนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม แต่สามารถเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ต้องหา เพื่อเป็นการขจัดวัฒนธรรมผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ (Impunity) แต่น่าเสียดายที่ผู้ถูกคณะกรรมการระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำเกินกว่าเหตุหรือกระทำการนอกกฎหมายมักไม่ถูกดำเนินคดีอาญาในศาล

“มีกรณีเดียวที่มีการดำเนินคดีถึงชั้นศาล คือกรณีอาสาสมัครทหารพรานสองนายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกราดยิงครอบครัวมะมัน แต่ศาลชั้นต้นเพิ่งตัดสินยกฟ้องไปเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมาบนฐานว่าหลักฐานไม่เพียงพอ”

นอกจากนี้ รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน จึงทำให้เสียโอกาสที่จะใช้กรณีเหล่านี้เป็นบทเรียนในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

TJ คืออะไร เกี่ยวอะไรกับการค้นหาความจริง
แพทริค แบรอน ผู้อำนวยการภูมิภาค โครงการความขัดแย้งและการพัฒนา มูลนิธิเอเชีย อธิบายเรื่องนี้ในบทความของเขา ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่า TJ หรือ Transitional Justice คือชุดของกลไกชั่วคราวที่ช่วยรัฐและสังคมในการจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายภายหลังความขัดแย้ง ซึ่งแนวทางนี้ถูกนำมาใช้มากขึ้นในฐานะเครื่องมือหนึ่งในการสร้างสันติภาพ เช่น ในข้อตกลงสันติภาพในบังซาโมโร ประเทศฟิลิปปินส์, อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และติมอร์ ได้บรรจุเรื่อง TJ ไว้ในข้อตกลงสันติภาพทั้งสิ้น

TJ ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า การขาดความยุติธรรมคือสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้ง และหากจะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นก็ต้องจัดการกับความอยุติธรรม ดังนั้น TJ จึงมุ่งส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.ความยุติธรรมแบบแก้แค้นทดแทน (Retributive Justice) : มุ่งลงโทษผู้กระทำผิดโดยกระบวนการยุติธรรม 2.ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice): มุ่งชดเชยเยียวยาแก่ผู้สูญเสียจากการละเมิด และ 3.ความยุติธรรมเชิงกระบวนวิธี (Procedural Justice): แก้ไขปรับปรุงระบบยุติธรรมและการคุ้มครองความปลอดภัยเพื่อไม่ให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว TJ จะดำเนินการผ่าน 4 กลไก ได้แก่ 1.การดำเนินคดี (prosecutions) 2.กระบวนการค้นหาความจริง (truth-seeking) 3.การชดเชยเยียวยา และ 4.การปฏิรูปสถาบัน ซึ่งในที่นี้หมายถึงสถาบันด้านความมั่นคงและสถาบันด้านยุติธรรม

จะช่วยสร้างสันติภาพได้อย่างไร?
TJ จะช่วยสร้างสันติภาพได้อย่างไรนั้น แพทริค ระบุว่า ประการแรก คือ ช่วยส่งเสริมสันติภาพโดยการให้การชดเชยแก้ไขความเดือดร้อนคับข้องใจ (grievances) ของคนในพื้นที่ซึ่งสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดการต่อต้านรัฐได้
ประการที่สอง มีศักยภาพในการช่วยฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐ (State legitimacy) โดยแสดงให้เห็นว่ารัฐมีพันธะผูกพันที่จะต้องทำให้เกิดการปฏิรูป และประการสุดท้าย อาจเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ (confidence-building) ซึ่งจะช่วยเป็นตัวเชื่อมให้คู่กรณีฝ่ายต่างๆ เดินหน้าเข้าสู่การพูดคุยสันติภาพ

เหมาะสมกับบริบทชายแดนใต้หรือไม่?
แพทริค อธิบายว่า ประสบการณ์จากหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านช่วยเปลี่ยนผ่านจากสงครามไปสู่สันติภาพได้จริง ซึ่งจำเป็นต้องมีเงื่อนไขอย่างน้อยที่สุด 3 ประการ แต่ขณะนี้ยังไม่มีเงื่อนไขใดปรากฏในภาคใต้ของไทย

ประการแรก เจตจำนงทางการเมือง (Political will) ประการที่สอง ต้องไม่มีการกระทำผิดต่อเนื่อง ประการที่สาม ข้อตกลงระหว่างชนชั้นนำหรือการตกลงทางการเมือง คือระหว่างรัฐบาลและผู้นำทหารกับผู้ต่อต้านรัฐ

ถ้าอย่างนั้น จะทำอะไรได้บ้าง? แพทริค เสนอว่า สิ่งที่ทำได้ตั้งแต่ตอนนี้คือการเตรียมความพร้อมซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ในอนาคต ได้แก่

1.เริ่มศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาว่า กรอบกฎหมายไทยเปิดโอกาสให้นำเอากระบวนการยุติธรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านมาใช้ได้แค่ไหนและอย่างไร มีข้อกฎหมายใดที่เปิดช่องให้ดำเนินคดีย้อนหลัง หรือภายใต้เงื่อนไขใดที่การนิรโทษกรรมสามารถกระทำได้

2.เริ่มใคร่ครวญว่า จากประสบการณ์การใช้ความยุติธรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านในต่างประเทศ มีองค์ประกอบใดบ้างที่เหมาะสมกับบริบทของชายแดนใต้

3.ต้องเสริมสร้างศักยภาพของคนในพื้นที่เพื่อให้งานในอนาคตได้ เช่น การแสวงหาข้อเท็จจริงและการสร้างการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งงานด้านนี้มีการดำเนินการอยู่บ้างแล้ว แต่ยังมีอีกมากที่สามารถทำเพิ่มได้

4.การปฏิรูปสถาบันมีความสำคัญ เพราะมักถูกละเลยจนถึงช่วงระยะท้ายๆ ของกระบวนการสันติภาพ แต่การให้ความช่วยเหลือด้านหลักๆ เช่น การดำเนินคดีอาญา การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการดูแลความสงบในชุมชน สามารถเป็นฐานการปรับโครงสร้างสถาบันของรัฐในอนาคตได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท