Skip to main content
sharethis


ในวันกรรมกรสากล ซึ่งคนงานจะออกมารวมตัวจัดกิจกรรมเหมือนทุกปี อีกฟากหนึ่งที่รัฐสภา จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน การรวมตัวของคนงานอย่างวันนี้อาจต้องเปลี่ยนรูปแบบไป  

“ประชาไท” สัมภาษณ์ “ประภาส ปิ่นตบแต่ง” อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เขามองว่าการชุมนุมเป็นกลไกประชาธิปไตย ที่ คนจน คนด้อยโอกาส เคยใช้เพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง และร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จะปิดกั้นทรัพยากรทางการเมืองนี้


กฎหมายต้องคุ้มครอง ไม่ใช่ควบคุมชุมนุม
เมื่อถามเขาถึงความจำเป็นต่อการมีกฎหมายชุมนุม ประภาสบอกว่า ประเด็นหลักที่ควรพิจารณาคือ กฎหมายชุมนุมนั้นเป็นแบบไหน อยู่บนฐานคิดอะไร เขาบอกว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานวิจัยประเด็นนี้พบว่า ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยมาก เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนีก็มีกฎหมายชุมนุม

“แต่กฎหมายชุมนุมต้องอยู่บนฐานคิดที่มองการชุมนุมในฐานะเป็นกลไกสำคัญของประชาธิปไตย สำหรับฐานคิดแบบนี้จะออกมาเพื่อส่งเสริมให้การชุมนุมเป็นไปได้อย่างสะดวก ปลอดภัย เป็นการสนับสนุนให้เกิดการชุมนุม แต่ต้องสร้างกติกาบางเรื่องร่วมกัน เช่น ไม่ชุมนุมใกล้ราชวัง แต่กฎหมายชุมนุมไม่ได้ออกเพื่อไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมือง ผมคิดว่ากฎหมายนี้จะออกมาในลักษณะนี้ เพราะกฎหมายชุมนุมออกมาในช่วงที่ฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐบาล มีอำนาจ และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุม หรือต่อสู้ทางการเมืองกับอีกฝ่ายหนึ่ง ก็อย่าไปคิดว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มีความเป็นกลาง บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ในมิติทางการเมือง คิดแบบนี้ก็คงไม่ได้” ประภาสกล่าวและชี้ว่า รัฐบาลต่างๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่า รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช หรืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่างก็เคยมีความพยายามออกกฎหมายนี้

“แต่ว่าโชคดีที่อย่างน้อยรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย เมื่อกฎหมายแบบนี้เข้ามาก็จะมีข้อถกเถียงจากสื่อมวลชน ทุกคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ใช้การชุมนุมเป็นเครื่องมือในการปกป้องสิทธิตนเอง ก็ยังทำให้เกิดการส่งเสียงเข้ามาต่อรอง แสดงเหตุผล กฎหมายนี้ก็ตกไปทุกครั้ง แต่ครั้งนี้คงยาก เพราะเกิดขึ้นในยุคที่เป็นรัฐบาลเผด็จการแบบนี้ การถกเถียงก็ทำได้ยาก การเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านกฎหมายชุมนุมก็ทำได้ยากมาก เพราะอยู่ในช่วงกฎอัยการศึก คราวนี้ก็คงจะออก ถ้าดูโดยเนื้อหา จะกลายเป็นการออกกฎหมายเพื่อควบคุมสิทธิการชุมนุม”

เชื่อหยุดชุมนุมทางการเมืองไม่ได้
ประภาสชี้ว่า จุดประสงค์ของการออกกฎหมายนี้ก็เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่สามารถทำได้

“กฎหมายชุมนุมแบบนี้เราบอกได้ว่าจัดการไม่ได้ เห็นได้จากเรามี พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่เคยจัดการได้สักครั้ง ไม่สามารถเอาผิดได้จนสุดท้ายก็จะนำไปสู่การนิรโทษกรรม แต่ที่จะส่งผลกระทบก็คือ คนที่ต้องการใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น คนจน พี่น้องแรงงาน เป็นต้น สำหรับความขัดแย้งที่เป็นคดีใหญ่ๆ ทางการเมือง เช่น เหตุการณ์ปิดสนามบิน ปิดทำเนียบรัฐบาล ก็ไม่เคยจัดการได้ คนที่อยู่ในรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในช่วงนั้นทั้งสิ้นทำอะไรได้บ้าง” 

“ยิ่งความขัดแย้งทางการเมืองใหญ่ๆ การห้ามแบบนี้ไม่สามารถห้ามได้ การชุมนุมคือการที่ต้องการสื่อสารอย่างกว้างขวาง ต้องใหญ่โต ต้องไปในสถานที่ที่สำคัญ เข้าไปดำเนินการขัดขวางระบบปกติทางเศรษฐกิจ การเมือง ไม่มีใครชุมนุมไล่รัฐบาลที่ทุ่งกุลาร้องไห้หรอก ต้องไปยึดทำเนียบรัฐบาล ยอมถูกจับ เคลื่อนย้ายกลางคืน ต้องสร้างความกดดันทางการเมือง แต่สำหรับการชุมนุมเล็กๆ เช่น คนงาน สมัชชาคนจน เกษตรกร ที่ไม่มีการเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจทางการเมือง ก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ได้”

‘เรื่องเลยเถิด’ ทำการชุมนุมกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม
เมื่อถามว่า ทำไมการชุมนุมซึ่งประภาสบอกว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นกลไกสำคัญของระบอบประชาธิปไตยจึงกลายมาเป็นสิ่งแปลกปลอมที่จะต้องกำจัดสำหรับบางคน ประภาสมองว่า สาเหตุของความคิดนี้มาจากความขัดแย้งทางการเมืองขนาดใหญ่ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมือง เช่น การชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ยกระดับขึ้นโดยไม่ได้คำนึงว่าเป็นสิทธิ แต่กลายเป็นนำการชุมนุมมาใช้เป็นการต่อสู้กับอีกฝ่ายที่นิยามว่าพวกเขาเป็นพวกเลวร้าย จึงต้องนำไปสู่การชุมนุมที่เลวร้าย

ประภาสกล่าวว่า ถ้ามองว่าหลักการชุมนุมอยู่บนขอบข่ายของการขยายกลไกประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมต้องเคารพหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ก็คือการเคารพต่อกฎหมาย ถ้าหากทำผิดก็ต้องยอมรับโทษตามกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาไม่ทำ ทำให้เลยเถิดกันไปมาก ดังนั้นสังคมจึงต้องกลับมาคิดว่า ควรใช้สิทธิแค่ไหน เพื่อให้สังคมพออยู่กันได้

เขายกตัวอย่างเรื่อง “เลยเถิด” เช่น ประเด็นอารยะขัดขืน โดยชี้ว่า ไม่มีอารยะขัดขืนในสังคมประชาธิปไตยที่ไหนไม่ยอมรับผิดตามกฎหมาย แต่อาศัยการกระทำปลุกมโนสำนึกให้คนเห็นอกเห็นใจ เข้าร่วม และอาศัยการขยายเหตุผลของตัวเอง ประเด็นปัญหาของตัวเองให้คนเข้ามาสนับสนุน กดดันรัฐบาล

“ผมคิดว่าคนจนทำเรื่องพวกนี้ไว้ชัด พวกเขาชุมนุมเพื่อสื่อสารกับผู้คนในสังคม ขอแสดงออกให้เห็นว่าต้นตอปัญหามาจากไหน ทำไมรัฐบาลถึงไม่แก้ปัญหา รัฐบาลควรจะทำอะไร ปีนทำเนียบ สมัชชาคนจนก็ถูกจับ 225 คน ในที่สุด อัยการไม่ฟ้อง ไม่ได้หนีไปไหน ติดคุกติดตะราง ไม่เคยแหกปากร้องว่านี่เป็นการยกระดับขั้นสูงสุด ซึ่งนี่ผมว่ามันต้องขีดเส้น คนจนน่ะขีดเส้นเอาไว้”

“เราต้องเข้าใจว่า ในประเทศที่ประชาธิปไตยไปไกล การชุมนุมไม่ใช่แค่สิทธิทางการเมือง แต่การชุมนุมถูกมองว่าเป็นกลไกหรือพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่การมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชน ขยายไปมากกว่าสิทธิหรือช่องทางของการจัดการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ดังนั้นจึงควรส่งเสริมและรักษาให้ทุกคนใช้ แต่บ้านเรา ณ ตอนนี้เราพูดว่าเราจะสร้างประชาธิปไตย เราควรดูว่าอะไรควรสร้าง การชุมนุมก็ควรถูกมองว่าให้เป็นกลไกประชาธิปไตยที่สำคัญในเรื่องของการมีส่วนร่วม ต้องส่งเสริมไม่ใช่มาจำกัด เพราะฉะนั้นตัวกฎหมายนี้จะเป็นตัวทำลายกลไกประชาธิปไตยที่สำคัญ”

“ถ้าเรามองย้อนดูถึงปัญหาประชาธิปไตยของไทย ผมคิดว่าเราคงเห็นชัดว่า เราเคยมีประชาธิปไตยแบบตัวแทน สิทธิการหย่อนบัตรเลือกตั้ง เรามีประชาธิปไตยเต็มใบตั้งแต่ปี 2531 ปัญหาที่สำคัญคือช่องทางการมีส่วนร่วมมีไม่พอ โดยเฉพาะจากคนจน คนด้อยโอกาส การชุมนุมเป็นการขยายการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นการขยายประชาธิปไตยตัวแทน สิทธินี้ต้องได้รับการคุ้มครอง ผมอยากจะพูดว่ากลไกและพื้นที่ต้องได้รับการคุ้มครองและขยายให้คนได้ใช้”

ไม่เห็นด้วยห้ามชุมนุมในสถานที่ราชการ
“ถ้าหากไม่สามารถชุมนุมในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือราชการได้มันก็ไม่มีความหมายอะไร” ประภาส กล่าวและว่า ต้องมาสร้างกติการ่วมกัน โดยการถกเถียง และการเปิดกว้าง ถ้าเราอยู่บนฐานคิดของการสร้างประชาธิปไตยและมองว่าการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นกลไกสำคัญของประชาธิปไตย ต้องมาสร้างอยู่บนฐานคิดนี้ ซึ่งตอนนี้ไม่ได้เอื้อ เพราะปัจจุบันเราไม่ได้พูดถึงฐานคิดนี้ อะไรคือประชาธิปไตยของผู้มีอำนาจขณะนี้ ซึ่งไม่ตรงในทางวิชาการ ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แบบนี้กฎหมายชุมนุมออกมาเละเทะแน่

วิจารณ์ร่างกฎหมาย
โดยรวมแล้วกฎหมายนี้ออกด้วยการควบคุม การชุมนุมต้องขออนุญาต มีการพูดถึงการชุมนุมที่ไม่สงบ โดยการนิยามการชุมนุมที่ไม่สงบไว้กว้างมาก อำนาจในการตัดสินว่าการชุมนุมนั้นสงบหรือไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ หากชุมนุมไม่ได้ก็มีบทลงโทษด้วย เป็นการขัดขวางกีดกันไม่ให้ประชาชนเคลื่อนไหว พูดง่ายๆ ก็คือเจ้าหน้าที่สามารถให้ชุมนุมหรือไม่ให้ชุมนุมก็ได้ เส้นแบ่งบางมากที่จะบอกว่าอะไรสงบหรือไม่สงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเคลื่อนย้าย มีที่ไหนที่ห้ามเคลื่อนย้ายตอนกลางคืน ส่วนเรื่องแจ้งว่าจะชุมนุมภายใน 24 ชั่วโมงนั้น บางเหตุการณ์ไม่สามารถรอได้ ต้องชุมนุมเลย เช่น การขึ้นค่าเรียน หรือเหตุการณ์อื่นๆ ทางการเมือง เพราะเมื่ออำนาจอยู่ที่คนอนุญาตก็เป็นเรื่องยากแล้ว แล้วยังมีการกำหนดเรื่องแกนนำหรือผู้นำของการชุมนุมที่ต้องแจ้งและต้องอยู่ในที่ชุมนุม ซึ่งมองในแง่นี้เป็นการคุมการชุมนุมในทางปฏิบัติได้ง่ายที่สุด คนเป็นแกนนำหนีไม่ได้ ถ้ามีอะไร ซึ่งล่อแหลมก็ต้องรับโทษ คงไม่มีใครมากล้านำการชุมนุม พอมีการกำหนดโทษสำหรับการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องยากที่คนจะจัดชุมนุม เพราะกลัวเจอโทษหนัก

ห้ามจัดกิจกรรมตอนกลางคืน - "มันแห้งแล้งพิลึก"
เมื่อถามถึงการห้ามจัดชุมนุมตอนกลางคืน ประภาสไม่เห็นด้วย เขาอธิบายว่า การชุมนุมทางการเมืองเป็นกิจกรรมที่ต้องดึงผู้คนทางการเมือง ก็ต้องมีกิจกรรม ต้องสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการชุมนุมที่ไหนที่เก็บเวทีแล้วสร้างใหม่ เป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะกลางคืนเป็นเวลาที่ทำกิจกรรมและอยู่ร่วมกัน การชุมนุมมีชีวิตของมัน ต้องสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องสร้างความเข้าใจในปัญหาร่วมกัน เผชิญปัญหาทุกข์ยากร่วมกัน เวทีเป็นตัวสร้างกระบวนการร่วมกัน ให้เห็นถึงความคับแค้นร่วมกัน จึงต้องมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถจัดได้เฉพาะเวลากลางวัน มันมีมิติในแง่สังคมวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมคิดว่าคนที่ร่างกฎหมายไม่เข้าใจ

“มันแห้งแล้งพิลึก” ประภาสกล่าวและว่า คนที่มาชุมนุมไม่ได้มาแค่เพิ่มจำนวน แต่พวกเขาเป็นสมาชิกผู้เอาการเอางาน เป็นคนที่ร่วมชะตากรรมเดียวกัน อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน มีจุดหมายร่วมอะไรบางอย่าง

“คนที่ยังพอพูดได้ก็ควรพูด ผมยังคาดหวัง สปช. ที่กำลังปฏิรูป ถ้าคิดว่าตัวเองกำลังสร้างประชาธิปไตย แล้วไม่คัดค้านกฎหมายที่ไปทำลายพื้นที่การมีส่วนร่วมที่สำคัญที่ใช้มาโดยตลอด อย่างนี้ก็เป็นเรื่องลำบาก คนกลุ่มต่างๆ ควรออกมาพูด เช่น สถาบันวิชาการ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ กลุ่มองค์กรเคลื่อนไหวที่ใช้สิทธิเรื่องพวกนี้ บางทีกฎหมายนี้อาจจะเป็นกฎหมายแรกที่ร่วมมารณรงค์ว่า พื้นที่ เสรีภาพในมหาวิทยาลัย หรือเสรีภาพทางวิชาการมันหายมากเกินไปแล้ว พื้นที่ที่ทุกคนใช้มาโดยตลอดก็กำลังจะหายไป ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่าระบอบนี้มันทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องปกป้องพื้นที่และขอคืนพื้นที่คืนบ้าง”

“ผมเห็นแล้วเหนื่อย เรามาสู่จุดกันนี้ได้อย่างไร น่าตั้งคำถามกับสังคมไทย เรากำลังพูดถึงปัญหาประชาธิปไตย เราสร้าง เราจรรโลงประชาธิปไตย แล้วเราลากสังคมมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร กว่าที่การชุมนุมจะกลายเป็นทรัพยากรทางการเมืองที่คนจนใช้ได้ เป็นที่ยอมรับของผู้คน ไม่ถูกคนชั้นกลางในเมืองด่าเหมือนเมื่อก่อนว่าทำให้รถติด ได้รับการต้อนรับ...อย่างน้อยที่สุดก็คือไม่ไล่ และถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิการชุมนุม”

“เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง จุดซึ่งการชุมนุมถึงกลายมาเป็นเครื่องมือในการจัดการทางการเมือง กลายเป็นสิ่งซึ่งคนจนจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป” ประภาสกล่าวและว่า ขณะที่ม็อบหรือการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่จะไม่สนใจกฎหมายเหล่านี้ เพราะพอเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็จะมีการนิรโทษกรรม

“เรากำลังพูดถึงการสร้างประชาธิปไตย คนที่ได้รับผลกระทบที่สุดก็คือคนเหล่านั้น คนที่สร้างประชาธิปไตยด้วยขาของตัวเอง ด้วยตีนของตัวเอง กว่าจะได้สิทธิเรื่องพวกนี้ขึ้นมา พวกบ้าที่ไหนไม่รู้ทำให้เรื่องพวกนี้หายไปหมด ซึ่งมันน่าสมเพชนะ พวกที่ปฏิรูปกันอยู่ ถ้าไม่มาสนใจเรื่องพวกนี้ มันแย่” ประภาสกล่าวทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net