Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2558 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นประธาน ได้ผ่านความเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2558-2579 หรือแผน PDP 2015 ซึ่งถือได้ว่าแผนฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลเรียบร้อยแล้วโดยปริยาย เพราะขั้นตอนที่เหลือก็เป็นเพียงแค่การเสนอสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อรับทราบเท่านั้น และทางด้านพลเอกประยุทธ์ยังได้แสดงท่าทีสนับสนุนแผนฯ ฉบับนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น ทั้งยังห้ามปรามมิให้ประชาชนคัดค้านอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาแผน PDP 2015 ตามข้อมูลเท่าที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะเพียงบางส่วน ปรากฏว่าแผน PDP 2015 อาจถือเป็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับที่อัปลักษณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดทำแผนฯ เป็นต้นมา ทั้งในส่วนของเนื้อหาในแผนฯ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนฯ ที่ถอยหลังเข้าคลองอย่างสุดกู่ และสุดท้าย แผน PDP ฉบับนี้จะสร้างภาระผูกพันทางการเงินในระยะยาวนับหลายแสนล้านบาทที่ประชาชนต้องแบกรับโดยไม่จำเป็น

ผู้เขียนออกจะสงสัยอยู่ว่า หากอยู่ในสถานการณ์ที่เรามีรัฐบาลที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย มิใช่รัฐบาลจากการรัฐประหาร เทคโนแครตในกระทรวงพลังงานและ กฟผ. จะกล้านำเสนอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ใช้ข้อมูลบิดเบือนอย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้เพื่อขอรับการอนุมัติจากรัฐบาลหรือไม่ ? เพราะแผนฯ ฉบับนี้เต็มไปด้วยคำถามตัวโตๆ ที่ กฟผ. คงไม่สามารถหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลมาตอบกับประชาชนได้

ประการแรก ตัวเลขกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในแผนฯ สูงกว่าเกณฑ์กำหนดไปมากกว่า 2 เท่าตัวในระยะ 10 ปีแรกของแผน (พ.ศ.2558-2568) ทั้งนี้ ยังไม่ได้นับรวมกำลังผลิตที่ “ไม่พร้อมใช้งาน” อีก 6,200-9,800 เมกะวัตต์ในระยะดังกล่าว ซึ่งเทียบเท่ากับกำลังผลิตไฟฟ้าที่ป้อนให้กับภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสานรวมกัน กฟผ.อ้างว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก

1. อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ของสภาพัฒน์ ในระยะ 20 ปีข้างหน้ามีค่าเฉลี่ยลดลงจาก 4.41% ต่อปีเหลือ 3.94% ต่อปี

2. ผลของการประหยัดพลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานที่เพิ่มจาก 20% เป็น 100% เมื่อเทียบกับแผนเดิม
พูดง่ายๆ ก็คือ ผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้การใช้ไฟฟ้าลดต่ำลง ประกอบกับมีการดำเนินการตามแผนประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้โรงไฟฟ้าที่เหลือใช้ในระบบมีมากขึ้นจนเกินเกณฑ์ที่เหมาะสมไปมากมาย

แต่คำอธิบายดังกล่าวกลับย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเรานำตัวเลข “กำลังผลิตติดตั้ง” หรือกำลังผลิตทั้งหมดของโรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างขึ้นตามแผนพีดีพีฉบับเดิมและฉบับ 2015 มาเปรียบเทียบกัน สิ่งที่พบก็คือแผนพีดีพี 2015 จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าแผนพีดีพี 2010 Rev.3 เป็นจำนวนมากในช่วงปี 2558-2568 และนี่ต่างหากที่เป็นสาเหตุให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงเกินมาตรฐานไปอย่างมาก และถือเป็นการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ รังแต่จะเป็นภาระที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นของผู้บริโภค

ในเมื่อความต้องการไฟฟ้ามีปริมาณลดลง โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่บรรจุไว้ในแผนฯ ฉบับใหม่ก็ควรจะลดลงจากแผนเดิมมิใช่หรือ ?



ประการที่ 2 กฟผ.อ้างว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในช่วงปี 2558-2568 เป็น “โครงการที่มีภาระผูกพันและเพื่อความมั่นคงของระบบ” ซึ่งแปลความได้ว่า เป็นโครงการที่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้ว ยกเลิกไม่ได้ และโครงการที่ไม่สามารถยกเลิกได้เพราะระบบไฟฟ้าจะสูญเสียความมั่นคง ขัออ้างนี้มีประเด็นที่น่ากังขา 3 ประการคือ

1.โรงไฟฟ้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมในระหว่างปี 2558-2568 มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้นถึง 5,134 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ากับ 2 เท่าของกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าที่ป้อนภาคใต้ทั้งภาค หากโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่มีภาระผูกพันจริง นั่นหมายความว่าโครงการเหล่านี้มีการสร้าง “ภาระผูกพัน” ก่อนที่จะมีการจัดทำแผน PDP 2015 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ภายใต้แผนพีดีพีฉบับ 2010 rev.3 กฟผ.ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือภาระผูกพันอื่นใดก็ตาม เกินกว่าที่แผนฯ กำหนดไปมากถึง 5,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินลงทุนกว่า 2 แสน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องเป็นผู้แบกรับทั้งหมด ส่วน กฟผ. ไม่ต้องรับผิดชอบอันใดเลย

2. กฟผ. อ้างว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพา 1-2 รวม 2,800 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่มีภาระผูกพันแล้ว หมายความว่าอย่างไรกันแน่ ? เพราะโครงการทั้งสามนี้เป็นโครงการของ กฟผ. เอง ไม่ต้องมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะเป็นภาระผูกพันแต่อย่างใด ส่วนในด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โครงการทั้ง 3 นี้ก็ถือเป็นส่วนเกินที่สามารถยกเลิก หรือสามารถเลื่อนออกไปก่อนได้อย่างน้อย 10 ปี เพราะในช่วงปี 2558-2568 ระบบไฟฟ้าของเราก็ยังคงมีกำลังผลิตสำรองล้นเกินระบบอยู่ดี แม้ไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพาก็ตาม

3. โรงไฟฟ้าส่วนเกินจำนวนกว่า 5,000 เมกะวัตต์เหล่านี้มาจากไหน ? ปรากฏว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่ กฟผ.ได้ทำการเลื่อนกำหนดโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงเดิมที่จะหมดอายุให้เร็วขึ้นจำนวน 5 โรง อีกทั้งโรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 5 โรงที่จะก่อสร้างทดแทน ยังมีการเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นโรงละ 400 เมกะวัตต์ (รายละเอียดดังตาราง) คำถามในที่นี้ก็คือ เหตุใด กฟผ.จึงปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าเหล่านี้เร็วกว่ากำหนดเดิม เพื่อที่จะก่อสร้างโรงใหม่ให้ใหญ่ขึ้นในช่วงเวลาที่ระบบไฟฟ้าอยู่ในภาวะ over supply ?

 


ประการที่ 3 เกี่ยวกับ “โรงไฟฟ้าที่ไม่พร้อมใช้งาน” ขอให้พิจารณาภาพรวมของแผนพีดีพี 2015 (ปี พ.ศ. 2558-2579) ซึ่งจะเป็นดังนี้

ในปี พ.ศ. 2579 คาดว่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุดทั้งประเทศจะอยู่ที่ 49,655 เมกะวัตต์ ในขณะที่กำลังผลิตในระบบจะมีทั้งสิ้น 70,410 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่ระดับ 15.2 %

ตัวเลข 15.2% นี้ มาจาก “กำลังผลิตพึ่งได้” ของโรงไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งหมายถึงกำลังผลิตที่พร้อมใช้งาน เพราะโรงไฟฟ้าบางส่วนอาจไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ในช่วง peak load เนื่องจากถูกปิดซ่อม หรือสาเหตุอื่นๆ

จากตัวเลข 15.2% หมายความว่ากำลังผลิตพึ่งได้ในปี พ.ศ. 2579 จะมีอยู่เพียง 57,202 เมกะวัตต์ (โรงไฟฟ้าที่เดินเครื่อง 49,655 MW + กำลังผลิตสำรอง 15.2% อีก 7,547.56 MW) ในขณะที่กำลังผลิตติดตั้งมีอยู่ถึง 70,410 เมกะวัตต์ นั่นแสดงว่ากำลังผลิตที่ไม่พร้อมใช้งานมีมากถึง 13,207 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบได้เท่ากับโรงไฟฟ้าที่ป้อนให้กับประเทศไทยในปีปัจจุบันถึงครึ่งประเทศทีเดียว


ภาพที่เห็นนี้สะท้อนปัญหาที่ใหญ่โตไม่น้อย เหตุใดโรงไฟฟ้าที่ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานจึงมีจำนวนมากมายปานนี้ ?

ประการที่ 4 “ความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า” กับ “ภาระทางการเงิน”  เมื่อพูดถึงความมั่นคงพลังงานไฟฟ้า สิ่งที่ กฟผ.และกระทรวงพลังงานมักจะย้ำ (ขู่) กับประชาชนเสมอก็คือความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดจากวิกฤติพลังงานไฟฟ้า ไฟตกไฟดับ แต่เหรียญอีกด้านที่ไม่เคยพูดถึงเลยก็คือ ภาระทางการเงินที่ผู้บริโภคต้องแบกรับจากการลงทุนเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ข้อสังเกตทั้ง 3 ประการข้างต้นที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นว่า แผน PDP 2015 เป็นแผนที่มุ่งแต่จะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้เพิ่มมากขึ้น โดยเป็นการลงทุนที่ไร้ประสิทธิภาพ และจะกลายเป็นภาระที่ผู้บริโภคต้องแบกรับอยู่ในบิลค่าไฟอย่างไม่มีทางเลือก (จากการเปิดประมูลและลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนไว้ล่วงหน้ามากมาย การปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าของ กฟผ.ก่อนหมดอายุเพื่อสร้างโรงใหม่ที่ใหญ่ขึ้นในช่วงเวลาที่ยังมีโรงไฟฟ้าเหลือใช้จำนวนมาก และการมีโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอีกจำนวนมหาศาล เป็นต้น)

การสร้างความมั่นคงพลังงานถือเป็นหน้าที่ของ กฟผ. แต่ในขณะเดียวกัน การแบกรับภาระทางการเงินก็เป็นหน้าที่ของประชาชนควบคู่ไปด้วยเช่นกัน ทุกวันนี้เมื่อเราจ่ายค่าไฟฟ้า เราไม่ได้จ่ายเฉพาะค่ากระแสไฟฟ้าที่เราใช้เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องจ่ายต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่จะต้องมีไว้เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าด้วย จากกราฟที่นำมาแสดงนี้จะเห็นได้ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ระบบไฟฟ้าของเรามีกำลังผลิตที่แท้จริงสูงเกินเกณฑ์ที่เหมาะสม (15%) มาโดยตลอด  โดยผู้บริโภคได้จ่ายเงินเป็นค่าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เตรียมไว้เป็นกำลังผลิตสำรองไปมากมายหลายแสนล้านบาท บวกกับต้นทุนของโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างขึ้นมาเกินความจำเป็นอีกเกือบเท่าตัว

ในเมื่อผู้บริโภคไฟฟ้าได้รับภาระในการจ่ายเงินไปถึงขนาดนี้  สิ่งที่ควรได้รับก็คือ หลักประกันที่เราจะไม่ต้องเผชิญกับวิกฤติพลังงานไฟฟ้ามิใช่หรือ แต่กลับปรากฏว่า ในขณะที่ระบบไฟฟ้าของเรามีโรงไฟฟ้าเหลือเฟือเกินจำเป็นมาตลอด 20 ปี วิกฤติไฟฟ้าได้เกิดขึ้นหลายครั้งจากความบกพร่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของ กฟผ.ที่ชอบปิดซ่อมโรงไฟฟ้าในช่วงเดือนเมษายนที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ปตท.ที่ชอบปิดซ่อมท่อก๊าซในเดือนเมษายนเช่นกัน และในส่วนของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ไฟดับทั้งภาคใต้ในเดือนพฤษภาคม 2556 เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ถูกอ้างว่าเป็นเพราะฟ้าผ่า แต่ความเป็นจริงก็คือไฟดับหลังจากฟ้าผ่าไปแล้ว 1 ชั่วโมง ซึ่งเวลา 1 ชั่วโมงดังกล่าว ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้ามีศักยภาพที่จะควบคุมไม่ให้เกิดไฟดับเป็นบริเวณกว้างทั้งภาคใต้ได้

วิกฤติไฟฟ้าทุกครั้งที่เกิดขึ้น หน่วยงานทั้งสามไม่เคยต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด แต่ผู้บริโภคต้องรับภาระทั้งหมดผ่านค่าเอฟที จากการใช้ดีเซลหรือน้ำมันเตาเข้ามาเสริมเมื่อ กฟผ. และ ปตท. บริหารเชื้อเพลิงผิดพลาด (เช่น ปิดซ่อมท่อก๊าซในช่วง peak load) ส่วนธุรกิจต่างๆ ในภาคใต้ก็ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ตัวเองในเหตุการณ์ภาคใต้ไฟดับ

ในยุคที่ “การปฏิรูป” อะไรๆ ทั้งหลายกำลังเป็นวาระแห่งชาติอยู่ในขณะนี้ การปฏิรูปกิจการไฟฟ้าเพื่อให้เกิดระบบความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แทนที่จะผลักภาระสู่ผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรมผ่านค่าเอฟทีเพียงถ่ายเดียว น่าจะเป็นการคืนความสุขให้แก่ประชาชนได้ดีที่สุดในภาคส่วนของปัญหาโครงสร้างพลังงาน ส่วนข้อพิจารณาในเรื่องแผนพีดีพีฉบับใหม่นั้น จากข้อมูลเท่าที่มีการเปิดเผยออกมา ก็เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า ระบบไฟฟ้าของเราจะอยู่ในสภาพ over suply ต่อไปไม่ต่ำกว่า 10 ปี จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะเร่งรีบประกาศใช้แผนพีดีพีฉบับใหม่ในขณะนี้

สำหรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถจะมาทำความเข้าใจได้ว่าแผนพีดีพี 2015 มีความอัปลักษณ์มากมายเพียงใด ผู้เขียนใคร่ขอแนะนำท่านด้วยความปรารถนาดีว่า ถ้าไม่อยากเป็นนกแก้วนกขุนทองที่ท่องบ่นไปตามคำพูดของบรรดาเทคโนแครตฟอสซิล ขอให้ท่านอย่าได้พูดอะไรเรื่องแผนพีดีพีและโรงไฟฟ้าถ่านหินจะดีกว่า การปรับปรุงแผนพีดีพีฉบับใหม่นั้น ขอให้เป็นเรื่องของรัฐบาลชุดหน้าที่เข้าสู่อำนาจตามระบอบประชาธิปไตยเถิด
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net