เสวนา: วิกฤตไฟฟ้า วิกฤตพลังงาน เรื่องจริงหรืออิงมายา

'ปิยสวัสดิ์’ จวกรัฐฯ ทำตื่นตระหนก ‘ขาดแคลนไฟฟ้า’ ชี้รู้ล่วงหน้าทั้งบวกค่าใช้จ่ายในค่าไฟ ตั้งแต่ ม.ค.แล้ว แจง ‘จำกัดโควตา’ – ออกใบ ‘รง.4’ ช้า อุปสรรค์ ‘พลังงานหมุนเวียน’ ด้านนักวิชาการพลังงานชี้ ‘วิกฤติธรรมาภิบาล’ ปัญหาแท้จริงของ ‘วิกฤติพลังงาน’

 
ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) จัดเสวนาพิเศษ หัวข้อ ‘วิกฤตไฟฟ้า วิกฤตพลังงาน เรื่องจริงหรืออิงมายา’ ล้อมวงตั้งคำถามต่อ ‘ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ‘ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน’ ผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าและพลังงานถึงสถานการณ์วิกฤตพลังงาน จากกรณีพม่าหยุดจ่ายก๊าซจากแหล่งยาดานาและเยตะกุนส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าหายไปจากระบบ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.56
 

‘อดีต รมว.พลังงาน’ จวกรัฐฯ ทำตื่นตระหนก ‘ขาดแคลนไฟฟ้า’

 
“เรื่องของไฟตก ไฟดับ ผมไม่เห็นว่ามีประเด็นที่อยู่นอกเหนือความสามารถของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และ ปตท.ที่จะบริหารจัดการได้ ไม่เห็นว่าเป็นประเด็นอะไรที่จะต้องหยิบยกมาให้ประชาชนตกใจ” ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ความเห็น
 
ปิยสวัสดิ์ กล่าวให้ข้อมูลว่า ความจริงแล้วการซ้อมท่อก๊าซและเครื่องขุดเจาะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว โดยไทยพึงก๊าซในการผลิตไฟฟ้า 70 เปอร์เซ็นต์มานานแล้วนับ 10 ปี และที่ผ่านมามีการปิดซ้อมบำรุงรักษาอยู่อย่างต่อเนื่องซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร แม้แต่ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติที่ก๊าซถูกตัดกะทันหันระบบไฟฟ้าก็สามารถผลิตต่อไปได้ตามปกติ ประชาชนไม่ได้รับรู้เลยว่ามีไฟตก ไฟฟ้าดับ เพราะโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซสามารถใช้น้ำมันดีเซล (โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม) หรือน้ำมันเตา (โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน) เข้ามาทดแทนได้ เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉิน แต่ผลกระทบเรื่องค่าไฟเป็นอีกประเด็นหนึ่ง
 
สมมติไฟฟ้าหายไปจริง ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นเมื่อกำลังไฟฟ้าสำรองไม่พอกับความต้องการจริงๆ เช่นเมื่อประมาณปี 2530-2531 ซึ่งต่างจากครั้งนี้ที่กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองมีเหลือเฟือ อีกทั้งยังมีมาตรการปกติที่สามารถหยิบมาใช้ได้เลย โดยให้ผู้ใช้ไฟรายใหญ่ลดการใช้ ในส่วนผู้ที่หยุดการใช้ไฟได้ทันที กระบวนการผลิตไม่เสียหาย เช่น โรงงานซีเมนต์ โรงงานทำโซดาไฟ ซึ่งหยุดครั้งหนึ่งประหยัดไฟได้นับ 100 เมกกะวัตต์ หรือมาตรการที่ให้ประชาชนหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีเครื่องผลิตไฟฟ้าสำรองเดินเครื่องทำการผลิต ฯลฯ
 
มาตราเหล่านี้ได้เตรียมไว้อยู่แล้ว แต่ไม่เคยเกิดวิกฤติที่ต้องนำมาใช้ และมาตรการที่มีอยู่แล้วนี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการดับไฟเป็นเขตๆ เหมือนที่มีในบางประเทศเช่นพม่า ซึ่งมีปัญหากำลังการผลิตไฟสำรองไม่พอ
 
“เหตุผลในการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาบอกก่อนเกิดเหตุการณ์เพียง 2 เดือน ทั้งที่รู้ล่วงหน้ามาเป็นปีแล้ว ตรงนี้ผมคิดว่าต้องไปถามรัฐบาล ต้องไปถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันว่า ตกลงว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไร มันมาจากการที่การบริหารจัดการไม่ดี หรือเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีฯ เพิ่งจะรู้มาไม่กี่วัน ทั้งๆ ที่คนอื่นเขารู้มาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม” อดีต รมว.กระทรวงพลังงาน กล่าว
 
 

ชี้รู้ล่วงหน้า ‘พม่า’ หยุดส่งก๊าซ - บวกค่าใช้จ่ายในค่าไฟ ตั้งแต่ ม.ค.

 
ปิยสวัสดิ์ กล่าวถึงเรื่องการหยุดส่งก๊าซจากประเทศพม่าว่าเป็นที่รับรู้มานานแล้ว แม้กระทั่งในส่วนของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. (เรกูเลเตอร์) และได้มีการนำราคาน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลที่จะใช้เพิ่มในช่วงนี้บวกเข้าไปในค่าไฟฟ้าตั้งแต่เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว
 
ต้นทุนในการบริหารจัดการนี้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไร ก็เป็นประเด็นที่ประชาชนต้องรับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะในประเด็นของการลดใช้ไฟฟ้า หรือการจ่ายค่า FT หรือหากมีการปิดไฟเป็นเขตๆ ประชาชนก็จะเป็นผู้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นมา
 
 

แจง ‘จำกัดโควตา’ – ออกใบ ‘รง.4’ ช้า อุปสรรค์ ‘พลังงานหมุนเวียน’

 
ปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อมาสิ่งที่จะมาชดเชยความต้องการได้คือพลังงานหมุนเวียน แต่มีอุปสรรค์สกัดกั้นซึ่งมีมาไม่นานโดยเฉพาะในส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ที่ประสบปัญหากับขึ้นตอนการขออนุญาตเยอะมากอย่างไม่เคยมาก่อน จากเดิมที่ใครทำได้ก็ทำไป สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในราคาที่รัฐบาลประกาศ ต่อมามีการให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ทำให้เกิดการลงทุนพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก และขั้นตอนการขออนุญาตก็กลายเป็นสิ่งที่ยากขึ้น ยุ่งยากสลับซับซ้อน
 
ปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า การที่กระทรวงพลังงานการกำหนดเป้าหมายพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ที่ 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งแทนที่จะเป็นจำนวนขั้นต่ำที่ช่วยส่งเสริม กลับกลายเป็นเพดานขึ้นมา ทำให้มีการกำหนดโควตา ดังนั้นคนที่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้วและไม่ต้องการที่จะพัฒนาโครงการต่อมีสิทธิเอาสัญญานั้นไปขาย
 
ส่วนการเปลี่ยนแปลงสัญญาต้องขออนุญาตคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ตั้งขึ้นมาใหม่ กลายเป็นด่านที่ทำให้ต้องมีการวิ่งเต้นเจรจาเปลี่ยนสัญญา โดยมีการเลือกปฏิบัติ และนำไปสู่การฟ้องร้อง อีกทั้ง คนที่ได้สัญญาไปแล้วไม่ทำก็กลายเป็นการกันท่าคนอื่นๆ
 
อปสรรค์ต่อมาคือ กระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ซึ่งต้องได้ก่อนไปขอใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานจากเรกูเลเตอร์ ทั้งที่ในอดีตไม่เคยมีปัญหา และไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะโรงไฟฟ้าเท่านั้นแต่เป็นปัญหาสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปด้วย ทำให้ต้องมีการวิ่งเต้นเกิดขึ้น
 
รง.4 กำหนดว่า ในกรณีโรงไฟฟ้าให้โรงไฟฟ้าขนาดเกิน 5 แรงม้า หรือกำลังการผลิตประมาณ 3.6 กิโลวัตต์ จะต้องขอใบอนุญาต รง.4 ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำและถ้าบ้านขนาดใหญ่หรือโรงงานอุตสาหกรรมต้องการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ก็ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน หรือหากไม่ถึง 3.6 กิโลวัตต์ ก็จะไปติดมติคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งทำหน้าที่ตรงข้ามกับการส่งเสริมอย่างสิ้นเชิง คือถ้าไม่เอาส่วนเพิ่มค่าไฟก็ทำไม่ได้
 
“ประเทศไทยมีบ้านอยู่ตอนนี้ประมาณ 15 ล้านหลังคาเรือน ถ้าเราได้เซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านแค่ 1 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 2 กิโลวัตต์ มันก็ 2,000 เมกะวัตต์เข้าไปแล้ว ถ้าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้ มันเดินไปได้ ปัญหาวิกฤติไฟฟ้าครั้งนี้จะไม่รุนแรงจากนี้เลย” อดีต รมว.กระทรวงพลังงาน กล่าว
 
ปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อมาว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก ที่ยังติดปัญหาต่างๆ เหล่านี้อีก 600 โครงการ กำลังผลิตรวม 4,000 เมกะวัตต์ หากสามารถยกเลิกอุปสรรคดังกล่าวได้ เชื่อว่าจะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้อีกอย่างน้อย 1,000 เมกะวัตต์ เลยทีเดียว
 
การแก้ปัญหาพลังงานหมุนเวียนทำได้ง่าย คือยกเลิกคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และต้องยกเลิกมติที่กำหนดโคตา ให้เปิดเสรีแล้วทุกอย่างจะเดินไปได้ เพราะพลังงานหมุนเวียนนั้นมาตรการส่งเสริมมีอยู่แล้วขอเพียงอย่าสร้างอุปสรรค์เท่านั้นเอง และจะเดินไปได้จนถึงขนาดที่ว่าจะสามารถนำไปทบทวนแผน PDP ได้
 
 

ดันไฟฟ้าแสงอาทิตย์ เชื่อต้นทุนผลิตในอนาคต ถูกกว่า LNG

 
อดีต รมว.กระทรวงพลังงาน กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการลงทุนมากขึ้นในโซลาร์ฟาร์ม และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ถูกลงมากจากเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 16 บาทต่อหน่วย ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 5-6 บาทต่อหน่วย ซึ่งใกล้เคียงกับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และต้นทุนจะลดลงเรื่อยๆ เพราะมีการเพิ่มประสิทธิภาพขึ้น ดังหากบอกว่าพลังงานแสงอาทิตย์แพง นั้นไม่จริง
 
หากเทียบราคาพลังงานแสงอาทิตย์อาจแพงกว่าก๊าซฯ ในอ่าวไทย แต่ในขณะนี้ก๊าซฯ ใหม่ๆ ที่เข้ามาในระบบคือ LNG และสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโดย LNG จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของปริมาณก๊าซฯ ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งหากใช้ก๊าซฯ มากขึ้นอาจทำให้ราคาไฟฟ้าแพงขึ้น จากราคาเฉลี่ยของก๊าซที่ใช้ผลิตฟ้าในโรงไฟฟ้าปัจจุบัน 300 บาทต่อล้านบีทียู ส่วนราคา LPG นำเข้าอยู่ที่ประมาณ 560 บาทต่อล้านบีทียู
 
 

เห็นด้วย “เชื้อเพลิงหลากหลาย” มีถ่านหินร่วม แต่นิวเคลียร์อีกยาว

 
ปิยสวัสดิ์ กล่าวถึงการรับมือวิกฤตพลังงานในระยะยาวด้วยว่า เห็นด้วยกับการกระจายเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าที่หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยง อย่าพึ่งก๊าซมากเกินไป และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก สามารถปรับใส่ลงไปใน PDP ได้มากกว่าเดิม แต่สำหรับนิวเคลียร์ขณะนี้คงเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้ระยะเวลาสำหรับการเตรียมการ เตรียมคน ออกกฎหมาย ตั้งองค์กรกำกับดูแล มีขั้นตอนในการดำเนินการใช้เวลา 13-15 ปี ซึ่งเป็นพลังงานในระยะยาว
 
ส่วนถ่านหินก็ควรจะมีเข้ามาในระบบ ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงไม่เป็นห่วงเพราะมีเทคโนโลยีที่จะดูแลได้อยู่แล้ว ในกรณีแม่เมาะนั้นถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี หากต้องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสิ่งแรกที่ต้องทำคือการแก้ปัญหาของชาวบ้านแม่เมาะให้จบไป เลิกเลี้ยงไข้
 
นอกจากนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการใช้ถ่านหินคือเรื่องโลกร้อน หากเชื่อว่าจะเกิดปัญหาและโลกต้องลดภาระการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง โรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกิดขึ้นใหม่ต้องติดตั้งระบบป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นด้วย สำหรับไฟฟ้าจากพม่า-ลาว เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนต้องดูให้ดี
 

นักวิชาการพลังงานชี้ ‘วิกฤติธรรมาภิบาล’ ปัญหาแท้จริงของ ‘วิกฤติพลังงาน’

 
“อย่างที่เห็นวิกฤติที่เรากำลังต้องเผชิญ มันไม่ได้เป็นเรื่องวิกฤติของไฟไม่พอ แต่มันเป็นเรื่องวิกฤติธรรมาภิบาลที่มีการสมยอมกันทังระบบ โดยมีการผลักภาระให้ผู้บริโภค โดยที่ผู้บริโภคไม่ได้มีส่วนต่อการดำเนินงานที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่ต้องมาเป็นผู้แบบกรับต้นทุน” ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน ผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าและพลังงานกล่าว
 
ชื่นชม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาการซื้อขายก๊าซฯ จากแหลงก๊าซฯ ยาดานาว่า มีเงื่อนไขระบุการดูแลชดเชยผลกระทบในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่สามารถจัดส่งก๊าซฯ ได้จากการหยุดซ่อม ซึ่งแบ่งเป็น 3 กรณี คือ 1.กรณีวางแผนล่วงหน้าป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต แม้จะอยู่ระหว่างซ่อมต้องนำส่งก๊าซฯ อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซปกติ 2.กรณีหยุดซ่อมแบบพิเศษ เช่น หยุดเพื่อเชื่อมต่อท่อจากแหล่งก๊าซฯ ใหม่ และ 3.กรณีหยุดซ่อมเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย เช่น ภัยธรรมชาติ สงคราม การเมือง ฯลฯ
 
กรณีที่เกิดขึ้นขณะนี้เรารู้ล่วงหน้ากันมานาน เป็นการวางแผนธรรมดา เข้าข่ายการหยุดซ่อมปกติ ซึ่งหากที่ผู้รับสัมปทานไม่สามารถจัดส่งก๊าซฯ ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ว่ากรณีไหน มีขอกำหนดไว้ในสัญญาข้อ 15.2 ว่า ปตท.มีสิทธิที่จะได้รับส่วนลดราคาก๊าซฯ ในส่วนที่หายไป ในราคาที่ต่ำกว่าปกติ 25 เปอร์เซ็นต์ คำถามคือที่ผ่านมา ปตท.ได้เรียกร้องส่วนลดดังกล่าวหรือไม่
 
ทั้งฝากประเด็นไปยัง กกพ.ในฐานะองค์กรกำกับดูแลให้ช่วยตรวจสอบในส่วนนี้ด้วย รวมถึงเรื่องการเจรจากำหนดเวลาปิดซ้อมว่าทำไมไม่เลือกช่วงที่มีความเสียงน้อยกว่า ทำไมกระทรวงพลังงานออกมาสร้างกระแสว่าไฟจะตก ไฟจะดับทั้งที่สามารถมีมาตรการเตรียมการตั้งแต่ทราบข้อมูลเมื่อปีที่ผ่านมา อีกทั้ง การตรวจสอบสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าและก๊าซฯ เพื่อดูว่าผลประโยชน์ผู้บริโภคให้ได้รับการดูแลดีเพียงใด
 
 

เสนอยกเลิก ‘2 คณะกรรมการ’ คอขวดทำพลังงานหมุนเวียนไม่คืบ

 
ชื่นชม กล่าวด้วยว่าคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการทำพลังงานหมุนเวียน คือ คณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ภายใต้กระทรวงพลังงาน มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน และคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้การดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียนเกิดการติดขัด เนื่องจากไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการพิจารณาอนุมัติอนุญาต
 
ตรงนี้จึงไม่ใช่เพียงเรื่องต้นทุนพลังงานหมุนเวียนสูง แต่มีเรื่องช่องทางในการดำเนินซึ่งมีปัญหาการขาดธรรมาธิบาลรวมอยู่ด้วย ดังนั้น ข้อเรียกร้องโดยส่วนตัวคือ คณะกรรมาธิการทั้ง 2 ชุด เมื่อตั้งขึ้นมาแล้วไม่ได้แก้ปัญหาใดๆ ก็ขอให้มีการยกเลิกเสียจะดีกว่า
 
 

จี้ทบทวน ‘นโยบายบริหารพลังงาน’ หยุดล็อกสเปกโรงไฟฟ้า

 
ชื่นชม กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ก็มีการปิดกั้น ไม่มีธรรมาภิบาลเช่นเดียวกัน เนื่องจากการประมูล IPP 5,400 เมกกะวัตต์ (ตาม PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) กำหนดให้เป็นการประมูลโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ทั้งหมด ขณะที่ก๊าซฯ ในประเทศไม่เพียงพอ ต้องมีการนำเข้า LNG ซึ่งมีต้นทุนสูงมาก ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมต้องมีการล็อกสเปกเฉพาะโรงไฟฟ้าก๊าซขนาดใหญ่ ทำไมไม่เปิดให้มีทางเลือกที่หลากหลาย
 
ตรงนี้รวมทั้งเรื่องเทคโนโลยีการผลิต การส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และวัตถุดิบที่หลากหลาย โดยนิวเคลียร์-ถ่านหินก็สามารถเข้ามาได้ ภายใต้เงื่อนไขการแข่งขันเรื่องต้นทุนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าหากมีการรวมต้นทุนสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความเสียงต่างๆ แล้ว นิวเคลียร์มีต้นทุนผลกระทบมาก สู้ไม่ได้กับพลังงานหมุนเวียนหรือการประหยัดพลังงาน
 
“เราพึงพาก๊าซมากเกินไปแล้ว และเรากำลังนำมาสู่ข้อสรุปว่าเราควรจะต้องมีการทบทวนแนวนโยบายการบริหารพลังงาน ทำไมคุณไม่ชะลอการประมูล IPP ไว้ก่อน ทำให้ชัดเจนว่าคุณจะเดินไปทางไหน แล้วค่อยเปิดประมูลใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีการล็อกสเปกให้กับก๊าซธรรมเพียงอย่างเดียว เป็นไปได้ไหมที่เราจะสรุปบทเรียนการพึ่งพาก๊าซจากครั้งนี้ นำไปสู่วิธีคิดแบบใหม่ๆ ที่นำมาสู่ทางเลือกของพลังงานที่หลากหลาย” ชื่นชม กล่าว
 
 

แนะปรับเกณฑ์ราคาค่าไฟ หวังออกจากวังวนธุรกิจพลังงาน

 
ชื่นชม กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ ก๊าซในส่วนของ IPP ได้จัดสรรแล้ว 5,400 เมกกะวัตต์ โดย ปตท.เป็นผู้จัดหา แต่ในแผนธุรกิจของ ปตท.เองก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ธุรกิจก๊าซ ตอนนี้ขยายการลงทุนไปธุรกิจถ่านหิน และการลงทุนในการสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งหนีไม่พ้นที่จะขายกลับมายังประเทศไทยผ่าน กฟผ.ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นว่าแผนนโยบายพลังงานของประเทศค่อนข้างถูกกำหนดโดยแผนการขยายธุรกิจของบริษัทพลังงานต่างๆ ของประเทศไทยเอง โดยไม่มีการถ่วงดุลที่เพียงพอ
 
ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างการกำกับดูแลเป็นปัญหา เป็นระบบที่ยิ่งลงทุนมากยิ่งกำไรมาก ในกรณีการไฟฟ้าผลตอบแทนจากเงินลงทุนถูกใช้เป็นเกณฑ์หลักในการกำหนดค่าไฟ หมายความว่าหาก กฟผ.อยากมีกำไรมากก็ต้องลงทุนมาก ดังนั้นหากเราจะแก้ให้หลุดไปจากวังวนนี้ จะต้องทบทวนเกณฑ์การเงินในการกำหนดราคาค่าไฟใหม่ ไม่เชนนั้นจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไป เพราะทุกๆ หน่วงงานที่เกี่ยวข้องได้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสิ้นจากการขยายการลงทุนของระบบไฟฟ้าและพลังงาน
 
 

ชี้มุ่งสร้าง ‘โรงไฟฟ้า’ อาจเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจ หนุนสร้าง ‘ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน’

 
ชื่นชม กล่าวว่า อยากใช้วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมว่า วิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤติเรื่องธรรมาภิบาลไม่ใช้วิกฤติพลังงาน การที่ไฟฟ้าจะดับ โดย กฟผ.บอกว่าโรงไฟฟ้าที่ลงทุนไปแล้วใช้ไม่ได้ เป็นไปได้ไหมที่จะมีการสถานการณ์ที่ศูนย์ควบคุมในวันที่จะเกิดวิกฤติ เพื่อให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าไหนใช้ได้ใช้ไม่ได้ เพราะโรงไฟฟ้าเหล่านี้ล้วนอยู่ในต้นทุนที่เราต้องจ่าย
 
เพื่อนำไปสู่บทเรียนว่าหากจะลงทุนสร้างต่อไป ต้องสร้างโรงไฟฟ้าแบบไหน อย่างไร เพื่อให้เกิดการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด หรือหากพบว่าการที่โรงไฟฟ้าใช้ไม่ได้เพราะการบริหารจัดการไร้ประสิทธิภาพก็ควรจะไปแก้ที่จุดนั้น ก่อนที่จะนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า ไฟฟ้าไม่พอ แล้วต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่
 
ส่วนการประมูล IPP ควรมีการเปิดเผยข้อมูล เปรียบเทียบต้นทุนการผลิตบนฐานที่เป็นธรรม ทั้งการผลิต ส่ง จำหน่าย รวมทั้งผลกระทบในอนาคต และอย่าล็อกสเปกกำหนดเฉพาะก๊าซหรือถ่านหิน
 
พร้อมเสนอ เปิดโอกาสให้การลงทุนในเรื่องประสิทธิภาพพลังงานได้เข้ามาร่วมด้วย เพราะตรงนี้เป็นสิ่งที่ทั่วโลกพิสูจน์มาแล้วว่าเป็นทางเลือกของการจัดหาพลังงานที่ถูกที่สุด แต่ประเทศไทยกำลังปิดกันไม่ให้เป็นทางเลือกของการลงทุน ไม่มีการดำเนินการอย่างเต็มที่ ทั้งที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการสร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ ทำไมเราไม่ทำตรงนี้ให้เต็มที่ก่อนแล้วค่อยนำมาสู่การหาทางออกร่วมกันในส่วนที่จำเป็นต้องจัดหาเพิ่มเติม
 
ชื่นชม กล่าวต่อมาถึงแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ว่าเป็นแผนที่ดีมาก มีการตั้งเป้าไว้ชัดเจนและได้มีการอนุมัติงบประมาณแล้ว 29,500 ล้านบาท หวังว่าตรงนี้จะทำออกมาได้จริง และต้องมีการติดตามต่อไปว่าทำไปได้แค่ไหนและมีผลออกมาอย่างไร เพราะจุดอ่อนของเราคือเรื่องข้อมูล เนื่องจากวัฒนธรรมการเปิดเผยข้อมูลที่ค่อนข้างแย่ อีกทั้งต้องมีการลงทุนในระบบตรวจวัดติดตาม เพื่อตรวจวัดผลการลงทุนเรื่องการประหยัดพลังงาน
  
สำหรับก้าวต่อไป ชื่นชม กล่าวว่า ประเทศไทยมีทางเลือกทรัพยากรที่หลากหลาย รวมทั้งมีเรื่องการประหยัด เรื่องประสิทธิภาพพลังงาน เพราะที่ผ่านมามุ่งเน้นแต่การสร้างขณะที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำมากเมื่อเทียบกันประเทศอื่น ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็นตัวฉุดให้ระบบเศรษฐกิจไม่สามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นๆ การบริโภคพลังงานกลายเป็นภาระของระบบเศรษฐกิจไม่ใช่ตัวช่วย ตรงนี้ต้องเปลี่ยนวิธีการคิด ซึ่งการลงทุนในเรื่องประสิทธิภาพพลังงานทำได้เยอะมา โดยไม่ควรยึดติดเฉพาะเบอร์ 5 ซึ่งการสนับสนุนส่วนลดตรงนี้ กลายเป็นส่งเสริมการขาย ทำให้ใช้ไฟมากขึ้นด้วยซ้ำ
 
 

ข้อเสนอ 'กระจายอำนาจ' ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในระบบไฟฟ้า

 
ชื่นชม เสนอเรื่องการกระจายอำนาจด้วยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ระบบไฟฟ้า-สายส่งจะเป็นของประชาชนจริงๆ โดยมี กฟผ.เป็นผู้ดูแล โดยใครๆ ก็เข้าถึงได้ ทำให้คนตื่นตัวในการจัดการ ถือเป็นการติดอาวุธทางความคิดด้วย จากเดิมมีความคิดเป็นเพียงผู้บริโภครับไฟแล้วจ่ายเงิน ในเชิงความสัมพันธ์เป็นผู้ถูกกระทำ แต่หากมองว่าพลังงานไฟฟ้าเป็นเรื่องของเราไม่ได้เป็นแค่เรื่องผู้กำหนดนโยบาย สามารถมีส่วนร่วมการเรื่องจัดการ เรื่องการผลิต ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างได้
 
กระจายอำนาจทำได้โดยให้ชุมชนหรือท้องถิ่นที่มีความพร้อมเข้าร่วมในการจัดการ เช่น คนในนครเมืองเชียงใหม่ที่ตื่นตัวขอใช้บริการสายส่งจากการไฟฟ้าและขอใช้สิทธิซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ.ในราคาขายส่งและนำมาบริการจำหน่ายให้กับคนในนครเมืองเชียงใหม่ หรือหากคนในนครเมืองเชียงใหม่อยากลงทุนเรื่องการประหยัดพลังงานมากกว่าการลงทุนของรัฐก็สามารถที่จะทำได้ ตรงนี้เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ
 
ตัวอย่างรัฐวอชิงตัน มีการไฟฟ้าที่เป็นสหกรณ์ที่ผู้ใช้ไฟเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดบริหาร และมีสิทธิ์ร่วมกำหนดทิศทางของการไฟฟ้าได้ บางพื้นที่อยู่ในรูปแบบเอกชน บางพื้นที่รัฐจัดการ ซึ่งระบบของอเมริกาเป็นระบบที่หลากหลาย ไม่ได้ผูกติดว่าเมื่อมีระบบสายส่งที่เป็น Economies of scale แล้วจะต้องผูกขาดว่ารัฐเป็นผู้บริหารจัดการ
 
“เรื่องการกระจายอำนาจ เทคโนโลยีไม่ได้เป็นข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่ามีความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและการจัดการพลังงานมากน้อยแค่ไหน” ชื่นชมกล่าว      
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท