นักเรียนไทยในยุโรปลงชื่อแถลงการณ์ อย่าปล่อยให้การเรียกร้อง ปชต.เป็นสิ่งผิด

1 ก.ค.2558   นักเรียนนักศึกษาไทยในหลายประเทศของยุโรปรวม 57 คน ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ ‘เพื่อเพื่อนเรา’ เรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ขอให้ปล่อยตัวทั้ง 14 คนโดยไม่มีเงื่อนไข 2. สนับสนุนแนวทางของขบวนประชาธิปไตยใหม่ซึ่งมีหลักการ 5 ข้อ 3.เรียกร้องให้องค์กรนานาชาติจับตาสถานการณ์ใกล้ชิดเพราะเป็นการคุกคามทางความคิดที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมประชาธิปไตย 4.ขอให้ประชาชนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเท่าที่เป็นไปได้ อย่าปล่อยให้การเรียกร้องประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งผิด

ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มระบุว่า จะนำแถลงการณ์ดังกล่าวไปยื่นกับองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในยุโรป โดยตัวแทนของกลุ่มในฝรั่งเศส จะเข้าพบทูตสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปที่ปารีส เพื่อยื่นจดหมายในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ สำหรับนักศึกษาในยุโรป ที่อยากจะร่วมลงชื่อเพิ่มเติม สามารถส่งชื่อ นามสกุล มหาวิทยาลัย ประเทศ มาตามอีเมล  europeforthe14@gmail.com

 

แถลงการณ์ “เพื่อเพื่อนเรา”
จากกลุ่มนักเรียนไทยในยุโรปที่ไม่เอารัฐประหาร

ตั้งแต่มีการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างแข็งขันที่สุดกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มนักศึกษา พวกเขามาจากหลายสถาบัน หลายสาขาวิชา หลายภูมิภาค หลายพื้นเพทางสังคม จนกระทั่งอาจมีความคิดความเชื่อทางการเมืองที่หลากหลาย แต่พวกเขาก็ได้รวมตัวกันภายใต้อุดมการณ์ที่ว่า การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม สิ่งที่คณะรัฐประหารนำโดยพลเอกประยุทธ จันทร์ โอชาได้ทำ คือการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชน รวมทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนานัปการ

นักศึกษาที่ต่อต้านรัฐประหารได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและด้วยสันติวิธี เป็นการเคลื่อนแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ โดยใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลักและในชีวิตประจำวัน เป็นต้นว่าการกินแซนด์วิช การอ่านหนังสือ 1984 จนกระทั่งการชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อยืนยันถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และคัดค้านการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ได้รับการรับรองจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งอันเป็นหมุดหลักของการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกทำลายด้วยระบอบความกลัวและเผด็จการทหาร อย่างไรก็ตาม นักศึกษาเหล่านี้กลับโดนคุกคามโดยตลอดจากทหารและตำรวจ หลายคนถูก “เชิญตัว” ไปโรงพักหลายครั้งจนคุ้นหน้าคุ้นตาดีกับเจ้าหน้าที่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 นักศึกษาส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันอีกครั้งหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เพื่อทำกิจกรรม “ดูนาฬิกา” อย่างสันติ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ซึ่งมีจำนวนมากกว่านักศึกษาหลายเท่า ใช้กำลังเกินกว่าเหตุควบคุมตัวนักศึกษาราวกับว่าพวกเขาได้ก่อเหตุร้ายแรง ในวันเดียวกันนั้น นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งได้จัดกิจกรรมชูป้ายต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเช่นกัน นักศึกษาเหล่านี้ ได้รับการปล่อยตัว แต่ 16  คนกลับถูกหมายเรียกรายงานตัวตามมาภายหลัง ในวันที่ 24 มิถุนายน  2558  นักศึกษาและนักกิจกรรมที่รวมตัวกันอย่างสันติหน้าหอศิลป์พร้อมนักศึกษากลุ่มดาวดินเดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน กรุงเทพมหานคร  มิใช่เพื่อมอบตัว แต่เพื่อยืนยันว่าพวกเขาไม่มีความผิดและแจ้งความการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ  ซึ่งเป็นเหตุให้นักศึกษาส่วนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ  แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรับฟ้องคดี แต่ศาลทหารยังดำเนินการออกหมายจับและจับกุมนักศึกษาจำนวน 14 รายในวันที่ 26 มิถุนายน 2558  ขณะนี้พวกเขายังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐในการฝากขังผลัดแรกจนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 เป็นเวลา 12 วัน  และอาจถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

ในฐานะส่วนหนึ่งของนักศึกษาในประเทศต่าง ๆ ของยุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ผ่านประสบการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาอย่างโชกโชน พวกเราขอแสดงความนับถือในความกล้าหาญของนักศึกษาทั้ง 14 คน พวกเขาไม่เพียงเป็นตัวแทนของปัญญาชน ที่มีหน้าที่คิด เขียน วิพากษ์วิจารณ์ แต่ยังเป็นตัวแทนของประชาชนคนธรรมดาที่ออกมาแสดงออกเพื่อยืนยันในสิทธิที่ตนพึงมี โดยยอมแลกกับเสรีภาพอันน้อยนิดที่มีอยู่ภายใต้รัฐเผด็จการ ในวันนี้ พวกเขาถูกกักขังเพียงเพราะพวกเขาคิดและแสดงออกอย่างสันติ แต่ไม่ตรงกับสิ่งที่รัฐต้องการ พวกเขาถูกปฏิบัติราวกับอาชญากร ตำรวจเคลื่อนพลมาเป็นกองร้อยในขณะที่พวกเขารวมตัวกันเพียงสิบ ๆ คนในแต่ละครั้ง ยังไม่นับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่คอยสะกดรอย และกดดันทางจิตวิทยาอยู่ตลอดเวลา พวกเขาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐเผด็จการนั้นกลัวความแตกต่างและพร้อมจะกระทำเกินกว่าเหตุได้ทุกเมื่อ

ในฐานะส่วนหนึ่งของนักศึกษาในประเทศต่าง ๆ ของยุโรป พวกเราเชื่อว่าบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาทุกที่ในโลก คือการส่งเสริมให้นักศึกษาได้คิด พูด และแสดงออกในสิ่งที่เชื่ออย่างเป็นเหตุเป็นผล เราเชื่อว่าความแตกต่างในทางความคิด เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นสิ่งจำเป็น หากไม่มีการถกเถียง ความรู้ก็ไม่มีทางจะก้าวหน้าได้ไม่ว่าในสาขาใด ๆ และสังคมก็จะไม่มีวันพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย และเราเชื่อว่าความรู้ ความคิด และความจริงที่เรายึดถือ ไม่ควรเป็นเหตุให้ใครต้องถูกข้อหาร้ายแรงอย่างที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาในประเทศไทยทุกวันนี้ เราจึงมีข้อเรียกร้องดังนี้

1. ขอให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คนทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข พวกเขาเป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ เคลื่อนไหวโดยสันติด้วยตนเอง ไม่มีเบื้องหลังชั่วร้ายอย่างที่หลายคนพยายามกล่าวหาโดยไม่มีมูล

2. ขอสนับสนุนกลุ่ม “ประชาธิปไตยใหม่” อันเป็นกลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนนักศึกษา โดยมีหลักการ 5 ข้อ คือ หลักประชาธิปไตย หลักความยุติธรรม หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน  หลักสิทธิมนุษยชน และหลักสันติวิธี

3. ขอให้องค์กรนานาชาติ เช่นสหภาพยุโรป สหประชาชาติ และองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ร่วมกันจับตามองสถานการณ์ประเทศไทยอย่างใกล้ชิด การคุกคามนักศึกษา เป็นการคุกคามในเชิงความคิด ซึ่งเป็นภัยที่ร้ายแรงต่อสังคมประชาธิปไตย

4. ขอเรียกร้องให้นักศึกษา อาจารย์ และประชาชนในสังคมผู้รักประชาธิปไตย ช่วยกันให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม อย่าปล่อยให้การเรียกร้องประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งที่ผิด

เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ!

 

ลงชื่อ

ณัฐพล สุขประสงค์                     KULeuven, Belgium

สรวิชญ์ โตวิวิชญ์                        University of Jyväskylä, Finland

คีตนาฏ วรรณบวร                       Sciences Po Paris, France

ชิสา อธิพรวัฒนา                        Sciences Po Paris, France

ดิน บัวแดง                                 Université Paris-Diderot, France

ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข      Sciences Po Paris, France

มัธวรรณศ์ สุจริตธนารักษ์           Sciences Po Paris, France

รตา สุวรรณทอง                         École Supérieure d'Électricité et Université Paris 11, France

วิจิตร ประพงษ์                           Université Paris Descartes, France

วิภาวี ศิลป์พิทักษ์สกุล                 Sciences Po Paris, France

ภาคภูมิ แสงกนกกุล                    INALCO, France

กัณฐณัฏฐ์ ปภพปัญจพัช            Freie Universität Berlin, Germany

กอทอง ทองแถม ณ อยุธยา        Hochschule Wismar, Germany

ลลิตตา สุริยาอรุณโรจน์              Georg-August-Universitaet, Goettingen, Germany

ปรีชา เกียรติกิระขจร                  Georg-August-Universität Göttingen, Germany

วีรเดช โขนสันเทียะ                    Georg-August-Universität Göttingen, Germany

พรพจน์ ดวงมาลา                       Universität Heidelberg, Germany

พีรจุฬา จุฬานนท์                          Humboldt-Universität zu Berlin, Germany

พรเทพ สุคนธ์วิมลมาลย์             Technische Universität Dresden, Germany

พวงสร้อย อักษรสว่าง                  The university of the Arts, Bremen, Germany

สุทธิลักษณ์ โอทาตะวงศ์             Physik Institut, Germany

สุนิสา อิทธิชัยโย                         University of Augsburg, Germany

สริตา ปิยะวงศ์รุ่งเรือง                  Humboldt Universität zu Berlin, Germany

สุขปวีณ์ เวชบุญชู                       Ëotvös Lórand University, Hungary

สุลักษณ์ หลำอุบล                      Central European University, Hungary

จิราพร เหล่าเจริญวงศ์                University of Amsterdam, The Netherlands

ธนัท ปรียานนท์                          Leiden University, the Netherlands

นวลขนิษฐ์ พรหมจรรยา             Amsterdam, The Netherlands

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล              University of Amsterdam, The Netherlands

ประชาธิป กะทา                         University of Amsterdam, The Netherlands

กุลธิดา เลื่องยศลือชากุล            Ивановский государственный университет, Russian Federation

เบญจมาศ บุญฤทธิ์                     University of Aberdeen, Scotland

อสมา มังกรชัย                           University of Aberdeen, Scotland

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์                Universitat de Barcelona, Spain

เนาวรัตน์ ปริ่นปรีชา                     University of Bern, Switzerland

ศิวัตม์ ชื่นเจริญ                           University of Bern, Switzerland

กรญาณ์ เตชะวงค์เสถียร            SOAS University of London, UK

กฤตภัค งามวาสีนนท์                  King's College London, UK

กิตติมา จารีประสิทธิ์                   University of Arts London, UK

กุลญาณี จงใจรักษ์                     SOAS University of London, UK

จิรธร สกุลวัฒนะ                        SOAS, University of London, UK

ชนกพร ชูติกมลธรรม                   SOAS University of London, UK

ชาญ นิลเจียรสกุล                       London Business School, UK

ธนกาญจน์ ว่องลีลาเศรษฐ์         University of Kent, UK

ธนวัฒน์ ศิลาพร                         SOAS, University of London, UK

ธีรดา ณ จัตุรัส                           University of Westminster, London, U.K.

พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง                    University of Sussex, UK

พิมพ์ชนก มีศรี                          University of Kent, UK

โม จิรชัยสกุล                              Royal College of Art, London, UK

วันรัก สุวรรณวัฒนา                    University of Oxford, UK

วิรุจ ภูริชานนท์                            Kingston University , UK

วิภาช ภูริชานนท์                         University of London, UK

ศิรดา เขมานิฏฐาไท                   London School of Economics and Political Science, UK

สุธิดา วิมุตติโกศล                       King’s College London, UK

สายใจ ตันติวิท                         The London School of Economics and Political Sciences, UK

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา                     Goldsmiths, University of London, UK

เอกสุดา สิงห์ลำพอง                   University of Sussex, UK

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท