(คลิปเต็ม) ชัยวัฒน์เล่า 6 เรื่อง พื้นที่สันติวิธี-หนทางสังคมไทย ในวาระ 70 ปีวันสันติภาพ

สถาบันปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกรุงเทพมหานคร รวมจัดกิจกรรมครบรอบ 70 ปี วันสันติภาพไทย จากการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธ์มิตร ขณะนั้นประเทศไทยได้แสดงจุดยืนเพื่อไม่ให้ตกเป็นชาติผู้แพ้สงคราม โดย ปรีดี จึงได้ออก ‘ประกาศสันติภาพ’ ในนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในวันที่ 16 ส.ค.2488 เพื่อชี้แจงให้ประชาคมโลกรับทราบว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย เพราะเป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทยและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้วันที่ 16 ส.ค. ของทุกปีเป็นวัน ‘สันติภาพไทย’

โดยกิจกรรมครบรอบ 70 ปี วันสันติภาพไทย ได้มี ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พื้นที่สันติวิธี/หนทางสังคมไทย” ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่วงบ่ายของวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา

ชัยวัฒน์ ได้ตั้งคำถามของการปาฐกถาวันนี้ว่า "พื้นที่ของสันติวิธีอยู่ที่ไหน?" ซึ่งจากคำถามดังกล่าวนั้นได้ซ้อนคำถามสำคัญอีกสองข้อไว้ คือคำถามว่า “พื้นที่คืออะไรกันแน่และมีความหมายอย่างไร?” ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ “พื้นที่” สัมพันธ์อย่างไรกับ “สถานที่” ซึ่งเกิดปรากฏการณ์ที่นำมาศึกษา อีกข้อหนึ่งคือ ที่เรียกกันว่าสันติวิธีนั้นคืออะไร? โดยการตอบคำถามทั้งคู่นี้จะนำไปสู่คำตอบที่จะนำเสนอคือ พื้นที่สันติวิธีก็อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งนั้นเอง และบ่อยครั้งพื้นที่สันติวิธีปรากฏขึ้นในพื้นที่แห่งความรุนแรงนั้นเอง

ชัยวัฒน์ ยังตั้งคำถามด้วยว่าคำตอบที่นำเสนอนั้นวางอยู่บนพื้นฐานความรู้เช่นไร โดย ชัยวัฒน์ ได้ใช้ผลการวิจัยจากงานวิจัยจากเพื่อนักวิจัยกลุ่มหนึ่งจากโครงการวิจัยเมธีอาวุโสของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัยที่ทำงานร่วมกันเป็นเวลากว่า 6 ปี เพื่อใช้ในการตอบคำถามจากประเด็นที่เลือกศึกษา วิธีที่ใช้และข้อค้นพบที่ได้จาการศึกษามาใช้เป็นฐานของคำตอบดังกล่าว และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการวิจัยดังกล่าวนั้นจะช่วยขยายพื้นที่สันติวิธีออกไปอย่างไร

ในการปาฐกถา ชัยวัฒน์ ได้แสดงนิยามของ ‘พื้นที่’ ‘สถานที่’ และที่สำคัญคือ ‘สันติวิธี’ ผ่านงานเขียนงานศึกษาสำคัญๆ โดย ชัยวัฒน์ มองว่าปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงและคำถามมากเกี่ยวกับ คำ ทฤษฎีและแนวปฏิบัติ รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับสันติวิธีในสังคมไทย

จากนั้น ชัยวัฒน์ ได้เล่าเรื่อง 6 เรื่องในพื้นที่ๆ ต่างกัน เพื่อชวนคิดถึงพื้นที่สันติวิธีให้สังคมไทย โดยเริ่มจากประเด็น “ทวงคืนบุคคลสูญหาย” ซึ่งการบังคับบุคคลให้สูญหายของไทยนั้นเกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆ แทบทุกภาคในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวง อย่างกรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร หรือในหมู่บ้านทางภาคเหนือหรือในชนบทของภาคใต้ตอนล่าง โดย ชัยวัฒน์มองว่าสภาพดังกล่าวกลับมีร่องรอยของสันติวิธีให้เห็นอย่างพิสดาร โดยยกเรื่องราว 3 เรื่องสันติวิธีเกิดขึ้นทามกลางความรุนแรงในภาคใต้ 3 เรื่อง คือ หนึ่ง เรื่องของ ‘อรพร’ ปฏิบัติการของสันตาสาสักขีพยานบนถนนในภาคใต้ สอง เรื่องของหมอสมทรง สมจิตรและสมบูรณ์ ปฏิบัติการสันติด้วยพลังวิชาชีพการแพทย์ และ สาม เรื่องของนักศึกษากับนายทหาร เมื่อสันติวิธีของผู้ประท้วงเผชิญกับสันติวิธีของเจ้าหน้าที่รัฐ

เรื่องคำสั่งนายกรัฐมนตรี 187/2546 ที่มีหลักการ 3 ข้อ คือ ข้อแรกระบุชัดว่าบรรทัดฐานการจัดการความขัดแย้งต้องยึดมั่นสันติวิธีเป็นวิธีการเดียวที่เป็นธรรมและสร้างความสงบสุขที่ยั่งยืน โดยสันติวิธีให้เริ่มต้นที่รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อน ข้อสองทัศนคติที่จะรองรับสันติวิธีคือการลดอคติและไม่มีความเกลียดชังต่อคนที่แตกต่าง ไม่เห็นประชาชนเป็นศตรูแต่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ และข้อสามถือว่าความหลากหลายทางความเห็นและความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นฐานพลังของสังคมไทย

และเรื่องการใช้สันติวีคลีคลายการจับตัวประกันที่สถานทูตอิสราเอลในประเทศไทย ปี 2515 จากการณีที่ชายชาวอาหรับ 2 คน พร้อมอาวุธปืนกลขนาดสั้นและระเบิด ปีนรั้วเข้าไปในสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยควบคุมตัวชาวอิสราเอลทุกคนที่อยู่ในสถานทูตเป็นตัวประกันไว้ได้ 6 คน รวมทั้งเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกัมพูชาที่อยู่ด้วย แต่สถานการณ์สามารถคลีคลายโดยไม่มีการสูญเสีย

ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่าสิ่งที่ ปรีดี ทำเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2488 เป็นเรื่องที่อัศจรรย์ แต่ไม่ได้เพราะตัวปรีดีเท่านั้น แต่เพราะพื้นฐานสังคมไทยที่ปรีดียืนประกาศวันสันติภาพอยู่มีเงื่อนไขหลายอย่างที่เอื้อต่อการประกาศสันติภาพ จนรัฐบาลฝ่ายสัมพันธ์มิตรยินยอมให้ประเทศไทยเปลี่ยนฝ่ายจากที่เคยอยู่ข้างญี่ปุ่นและเคยประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐเป็นโมฆะ เงื่อนไขเหล่านั้นมีทั้งขบวนการเสรีไทยที่ปรีดีเป็นหัวหน้าร่วมมือกับฝ่ายอังกฤษอเมริกาอย่างลับ การที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชในฐานะเอกอัครราชทูตไทยประจำวอชิงตันในขณะนั้น ไม่ยอมประกาศสงครามกับสหรัฐตามคำสั่งของรัฐบาล แม้กระทั่งรัฐบาลจอมพล ป. ในเวลานั้นก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นในด้านต่างๆ ด้วย กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือพื้นที่ที่เกิดการต่อสู้กับญี่ปุ่นคือการต่อสู้ด้วยสันติวิธีโดยรัฐและประชาชนเอง

ชัยวัฒน์ กล่าวต่อด้วยว่า สันติวิธีเกิดในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบนถนน ในชนบทภาคใต้ ในโรงพยาบาล ในศาสนสถาน ในสำนักนายก หรือในสถานทูต พื้นที่ของสันติวิธีไม่ว่าจะเป็นในการทำหน้าที่เป็นฝ่ายที่สามเพื่อคลีคลายป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งกลายเป็นความรุนแรง รัฐเองใช้สันติวิธีเข้าจัดการกับการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาในบริบทความรุนแรงภาคใต้ การสถาปนานโยบายความมั่นคงโดยเสนอให้สันติวิธีเป็นวิธีการเผชิญปัญหาความมั่นคงหรือแม้กระทั่งการคลี่คลายกรณีการจับตัวประกันที่สถานทูตด้วยสันติวิธี

สันติวิธีต่างจากการใช้ความรุนแรงหลายประเด็น แต่ที่น่าสนใจคือสันติวิธีมีลักษณะเจาะจงและบ่งบอกเลือกเฟ้นยิ่งกว่าการใช้ความรุนแรง ข้อต่างที่สำคัญระหว่างสันติวิธีในฐานะอาวุธกับอาวุธในคลังเครื่องมือของความรุนแรงคือ ยังไม่มีอาวุธในคลังแห่งความรุนแรงชนิดใดสามารถแยกแยะฐานะบทบาทและการปฏิบัติของผู้ตกเป็นเป้าแห่งความรุนแรงนั้น ได้เท่ากับสันติวิธีในฐานะอาวุธที่มีประสิทธิภาพในการแยกแยะเลือกเฟ้นดังกล่าว เพราะอาวุธแห่งความรุนแรงมุ่งลดทอนเป้ามนุษย์ผู้เปี่ยมด้วยความซับซ้อนในฐานะ บทบาท รวมทั้งสิ่งที่มนุษย์เหล่านั้นได้ทำมาหรือจะได้ทำต่อไป ให้เหลือเพียงเป็นศตรูมิติเดียวที่ต้องทำลายประหัตประหารให้สิ้นลง

สำหรับประเด็นที่ว่าสันติวิธีจะส่งผลต่อการเมืองในอนาคตอย่างไรนั้น ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาน่าคิดที่สุดข้อหนึ่งของการเมืองการปกครองสมัยใหม่คือจะธำรงความตื่นใจกระตือรือร้นทางการเมืองไว้ได้อย่างไรขณะที่ทำให้ความรับผิดชอบต่อสิ่งการเมืองเข้มข้นลึกซึ้งขึ้น โดยที่สันติวิธีน่าจะมีโอกาสทำเช่นนี้ได้ เพราะเป็นหนทางในการช่วยให้ขบวนการทางสังคมกำหนดการเมืองแห่งการไม่เห็นพ้องต้องด้วยและการต่อต้านขัดขืน แต่ขณะเดียวกันก็ดำเนินหนทางที่เปลี่ยนจากศัตรูมาเป็นมิตรให้ได้ ในแง่นี้คำประกาศสันติภาพเมื่อ 70 ปีก่อน คือ การปฏิเสธสงครามและดำเนินในหนทางที่เปลี่ยนความเป็นศตรูมาสู่มิตรภาพระหว่างประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท