Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม เรื่องการชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว โดยยืนยันว่า การใช้คำสั่งทางปกครองเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เพราะกรอบที่ต้องดำเนินการก่อนคดีหมดอายุความ และเป็นคดีทางปกครองที่ฟ้องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นว่าไม่ถูกต้อง ให้ไปต่อสู้ในชั้นศาล เนื่องจากการพิจารณาคำสั่งทางปกครองในขั้นตอนสุดท้ายเมื่อมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ก็จะต้องนำขึ้นสู่กระบวนการของศาล ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีการใช้มาตรา 44 หรือกฎหมายพิเศษ เพราะต้องการให้เป็นคดีตัวอย่าง ส่วนค่าเสียหายยังไม่สามารถสรุปตัวเลขที่ชัดเจนได้ เพราะยังมีข้าวค้างสตอกอยู่

ล่าสุดวันนี้ (14 ต.ค.58) สำนักข่าวไทย รายงานอีกด้วยว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สรุปรวบรวมคดีที่สำคัญทั้งที่รัฐเป็นฝ่ายถูกฟ้องและกรณีที่รัฐฟ้องร้องผู้อื่นให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบทั้งหมด 12 คดี แบ่งเป็นคดีที่รัฐถูกฟ้อง 6 คดี และคดีที่รัฐฟ้องผู้อื่น 6 คดี และจะรวบรวมมาเพิ่มเติมอีกหลังจากนี้  สำหรับคดีที่สำคัญ อาทิ คดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่รัฐบาลถูกฟ้องและต้อชดใช้ค่าเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท รวมดอกเบี้ย 2 ล้านบาทต่อวัน กำหนดชำระภายใน 90 วัน นับแต่ศาลตัดสิน โดยจะครบกำหนดในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2559 อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เจรจาผ่อนผันเงื่อนไขทั้งการลดเงินต้นและผ่อนชำระ ซึ่งเรื่องทั้งหมดได้รายงานให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ทราบ แต่ยังไม่เข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

“คดีรับจำนำข้าว ซึ่งแบ่งย่อยเป็น 4 คดี อาทิ คดีที่กระทรวงการคลังฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยคดีดังกล่าวไม่ถือว่านโยบายผิดพลาดและไม่ถือว่าทุจริต แต่เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนจะประมาทอย่างไร รายละเอียดให้ไปชี้ในชั้นศาล โดยไม่ขอระบุเพราะเกรงจะเสียรูปคดี จากนี้รัฐบาลจะไม่ตอบโต้ในคดีจำนำข้าว เพราะเป็นเรื่องที่จะนำไปพูดกันในชั้นศาล ไม่ควรนำมาตอบโต้ แต่จะพูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ สร้างความรับรู้ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ ส่วนคำสั่งทางปกครองในเนื้อหาของพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ครอบคลุมการเอาผิด โดยใช้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่หมายถึงข้าราชการ พนักงานของรัฐทุกประเภท รวมถึงกรรมการ ตลอดจนข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง และระเบียบในพระราชบัญญัติ มีพูดถึงว่าในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการอย่างไร มีระบุไว้ในพระราชบัญญัติ ซึ่งเชื่อว่าทนายของอดีตนายกรัฐมนตรีคงจะได้ศึกษาแล้ว” วิษณุ กล่าว

วิษณุ กล่าวว่า พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นกฎหมายที่ช่วยข้าราชการให้ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐแทน ซึ่งกรณีรับจำนำข้าว เข้าข่ายว่า เจ้าหน้าที่ละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเมิดขณะปฏิบัติหน้าที่ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ส่วนรัฐบาลที่กระทำผิดจะละเมิดอย่างไร อยู่ในเรื่องของสำนวนคดี  หากคดีดังกล่าว รัฐบาลไม่ดำเนินการเอาผิดภายในอายุความ 2 ปี จะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา และหากคดีหมดอายุความ รัฐบาลอาจต้องรับผิดชอบค่าเสียหายแทน และในอนาคตรัฐบาลใหม่จะใช้พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดกับรัฐบาลที่ไม่ดำเนินการ  หรือไม่ก็จะมีผู้ไปร้องต่อ ป.ป.ช.ให้เอาผิดกับรัฐบาล หากละเลยไม่ดำเนินการตามอายุความที่กำหนด

“ทั้งนายกรัฐมนตรีและผมตนได้รับหนังสือร้องเรียนให้ติดตามความคืบหน้าคดีรับจำนำข้าวทุกวัน ส่วนความคืบหน้าขณะนี้มีเพียงกระทรวงพาณิชย์ที่ส่งผลสรุปของคณะกรรมการที่พิจารณาความผิดในคดีรับจำนำข้าว แต่กระทรวงการคลังยังไม่ส่งผลสรุปมา สาเหตุที่ล่าช้าเพราะต้องให้เกิดความเป็นธรรม แต่หากเชิญมาชี้แจงหลายหนแล้วไม่มาก็ไม่สามารถช่วยได้ แต่ยืนยันว่าคดีดังกล่าว รัฐจะรักษาผลประโยชน์ให้ประชาชน ไม่ได้เพิกเฉย แต่ไม่ได้ต้องการลงไปซ้ำเติมจนกระทั่งเป็นคู่บาดหมาง” วิษณุ กล่าว

วิษณุ กล่าวถึงขั้นตอนหลังจากที่ผลสรุปของคณะกรรมการชุดแรก จากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังส่งถึงนายกรัฐมนตรี ว่า นายกรัฐมนตรีจะลงนามและส่งเรื่องต่อไปยังกรรมการชุดความรับผิดทางแพ่งที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน ซึ่งถือว่าจบกระบวนการในส่วนของนายกรัฐมนตรี สำหรับคณะกรรมการชุดความรับผิดทางแพ่ง จะประกอบด้วยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) คณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการ  เมื่อผลสรุปออกมาคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะส่งเรื่องไปยังรัฐมนตรีที่รับผิดชอบของแต่ละคดี สำหรับตัวเลขความเสียหาย ยังไม่มีการสรุป แต่อาจจะมาในรูปแบบของบทเฉพาะกาล หรือไม่ก็อยู่ในวรรคสุดท้ายของบทสรุปที่คณะกรรมการชุดความรับผิดทางแพ่งจะฟ้องต่อศาลปกครองว่ามีจำนวนเท่าใดที่ต้องชดใช้

วิษณุ กล่าวว่า คดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่ไม่มีต้นสังกัด ตามกฎหมายต้องส่งไปยังกระทรวงการคลัง สำหรับบุญทรง เตริยาภิรมย์ และภูมิ สาระผล จะถูกส่งไปยังกระทรวงพาณิชย์พิจารณา จากนั้นรัฐมนตรีของทั้งสองกระทรวงจะสรุปรายละเอียดความผิดและเป็นผู้ลงนามในคำสั่ง โดยในขั้นตอนดังกล่าว นายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องลงนามเพราะถือว่าสิ้นสุดในฝ่ายบริหารแล้ว จากนั้นเจ้ากระทรวงจะแจ้งผลสรุปของคดีไปยังเจ้าตัว  และคณะกรรมการชุดกรมบัญชีกลางจะยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขณะเดียวกันผู้เสียหายมีสิทธิจะฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ซึ่งคดีจะได้ข้อสรุปสุดท้ายตามคำสั่งของศาลปกครอง

“เราได้ประชุมกันแล้วว่านายกฯจะเซ็นลงนามในคำสั่งหรือไม่เซ็นก็ได้ แต่ สรุปว่าไม่ต้องเซ็น ไม่ใช่เป็นการป้องกันการถูกฟ้องร้อง แต่ตามพ.ร.บ.ระบุไว้ว่าให้รัฐมนตรีเจ้าของเรื่องเป็นคนลงนาม เรื่องนี้พูดคุยกันมาเกือบครึ่งเดือนแล้ว เมื่อวานก็ชี้แจงรายละเอียดในที่ประชุมครม. และขอย้ำว่า เราไม่ได้ตำหนิเรื่องนโยบาย แต่การกระทำตามนโยบาย มีจุดที่ทำให้เกิดความเสียหาย ไม่ได้ปกป้องนายกฯ แต่เปิดกฎหมายดูก็จะรู้ การเซ็นเกินดีกว่าเซ็นขาด แต่ถ้าไม่เซ็นก็ไม่ผิด ซึ่งนายกฯประกาศแล้วว่าพร้อมจะรับผิดชอบ” วิษณุ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net