ปิดตัว WRITER ยุค 3: ตายไม่ใช่เรื่องสำคัญ อยู่ยังไงสำคัญกว่า

หัวเรือใหญ่นิตรสาร WRITER ยุคที่ 3 แถลงข่าวปิดตัวนิตยสาร บินหลา ย้ำ “หนังสือมันเกิดมาเพื่อที่จะตายอยู่แล้ว แต่ก่อนที่จะตาย มันได้ทำอะไรไว้บ้าง มีคนคิดถึงมันขนาดไหน”

จำไม่ได้ว่าครั้งแรกที่หยิบ WRITER ขึ้นมาอ่านในร้านขายหนังสือคือปีไหน แต่ยังจำเล่มที่หยิบขึ้นมาได้ดี เพราะซื้อกลับมานอนอ่านที่หอพักช่วงที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย ปกเล่มนั้นคือ “วิสัยทัศน์ของชาติ” ซึ่งดึงความเด่นของเนื้อหาในเล่มออกมาด้วยบทสัมภาษ์ชาติ กอบจิตติ เล่มล่าสุดที่ซื้อเก็บไว้ก็เมื่อสองเดือนก่อน “โทษฐานที่เขียน” เล่าเรื่องราวของบรรดานักเขียนที่ถูกการเมืองเล่นงาน บางคนติดคุก บางคนต้องลี้ภัยการเมืองออกจากประเทศไป อุทิศ เหมะมูล บรรณาธิการคนสุดท้ายของยุค 3 บอกว่าเล่มนี้เป็นเล่มที่เขาอยากที่จะทำมาก ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการ

กับร้าน The Writer's Secret ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เขาไปเปิดกันตอนไหน รู้อีกทีก็ตอนเขาจัดงานเสวนาร่วมกับสำนักพิมพ์มติชน หัวข้อ “The Writer’s Secret เรื่องไม่เคยเล่า”(อ่านรายงานที่นี่) ได้เข้าไปสัมผัสบรรยายกาศของร้านก็ตอนที่เขาจัดงานสัมภาษณ์สด เป็นเอก รัตนเรือง โดยวรพจน์ พันธุ์พงศ์ ในวาระ 10 ปี 'อย่างน้อยที่สุด'(อ่านรายงานที่นี่) หลังจากนั้นก็แวะไปอยู่บ้างช่วงที่เขาจัดงาน แต่ก็ไม่ได้พูดคุยกับใครเป็นเรื่องเป็นราวอะไรมากนัก อาจจะติดที่นิสัยที่ชอบนั่งฟังเฉยๆ มากกว่า

เอาเข้าจริงแล้ว ผมรู้เรื่องเกี่ยวกับ WRITER น้อยมาก ไม่ได้เป็นนักอ่านตัวยงที่ติดตามทุกฉบับ รู้ทุกซอกทุกมุม ตั้งแต่เรื่องในครัว จนถึงเรื่องบนเตียงของ และก็อีกเช่นกัน ก่อนถึงวันแถลงข่าวปิดตัวนิตยสารดังกล่าว ผมเพิ่งรู้ข่าวการปิดตัว ล่วงหน้าไม่ถึง 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันก็รู้ว่าหน้าที่ของผมคือ ไปให้ถึงร้านก่อนเวลาสักครึ่งชั่วโมง จับจองที่นั่งในร้านหนังสือเล็กๆ ย่านนางเลิ้ง นั่งฟัง และเก็บเอามาเล่าอีกที

เสียงเครื่องบดกาแฟ กลิ่นหอมลอยมากับลมแอร์ ผู้คน นักเขียน นักอ่าน เพื่อนของ WRITER ทยอยมาจนแน่ร้าน เสียงบินหลา สันกาลาคีรี พูดที่เล่นที่จริง “ใหญ่(คนทำงานที่ WRITER) บอกหน่อยว่าจะเริ่มงานตอน สี่โมงเย็น 39 นาที” มารู้อีกทีว่าเลข 39 นั้นสื่อถึงปกใหม่ของนิตยสารที่กำลังจะวางแผงครั้งสุดท้ายต้นเดือนธันวาคม

หมายเหตุ : บินหลา สันกาลาศีรี , วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และอุทิศ เหมะมูล ประกาศยุติการทำนิตยสาร WRITER ยุคที่ 3 เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2558 ที่ร้าน The Writer’s Secret

00000

จากมุมนี้แหละ โต๊ะตัวนี้แหละ เวลาเย็นย้ำ ริมแม่เจ้าพระยาที่นี่แหละ ผม นรา และบินหลา สันกลาคีรี นัดหมายกันมาพูดคุยสัพเพเหระ ในวันว่างจากการงาน จากครั้งแรกครั้งที่สอง ที่สาม และจากคำปฏิเสธที่เด็ดขาดแข็งขัน ไม่เอา ไม่ยุ่ง รู้ตัวอีกที่วันแถลงข่าวเปิดตัวนิตยสาร WRITER ก็ถูกกำหนดขึ้นแล้วในอีกไม่กี่วันข้างหน้า บินหลานะ บินหลา

ขจรฤทธิ์ รักษา เป็นผู้ก่อตั้ง และรับหน้าที่บรรณาธิการคนแรก ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ซึ่งแม้จะได้รับความสนใจต่อนักอ่านจำนวนไม่น้อย แต่ที่สุดนิตยสารนามนี้ก็มีอันต้องหยุดเดิน บินหลาใช้เวลาอยู่กับการโน้มน้าวให้ผมคล้อยตามว่า นิตยสารWRITER สำคัญอย่างไรกับสังคมไทย โดยหลักการผมเห็นด้วยในทุกเหตุผล เชื่อใจ ไว้ใจ เพื่อนผู้พี่ ด้วยว่าพร้อม และมีความสามารถเพียงพอที่จะคืนชีวิตให้นิตยสารเล่มนี้อีกครั้ง

แต่อย่างที่กล่าวแต่แรกผมไม่มีความสนใจใดๆ เลยที่จะกลับมาเป็นคนทำหนังสือ เหนื่อยหนายกับโครงสร้างธุรกิจที่บิดเบี้ยวนั้นอย่างหนึ่ง และสองวิชาชีพนักเขียนอิสระที่ผมดำรงสถานะอยู่ในตอนนี้ก็นับว่าลงตัว สอดคล้องกับเงื่อนไขของชีวิต ที่ต้องการมีเวลาเป็นของตัวเอง

เคยคิดเล่นๆ บ้างว่าถ้ามีเหตุให้ต้องกลับมาเป็นคนทำหนังสือจริงๆ ผมจะทำเรื่องการเมืองกับเซ็ก เป็นเนื้อหาสาระหลัก เหตุผลเพราะการเมืองกำลังน่าสนใจ ไม่เคยมีประวัติศาสตร์ช่วงไหนที่ประชาชนตื่นตัวมากเท่าขนาดนี้ สังคมจดจ่อรอคอยการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ผู้คนโหยหิวข่าวสาร สื่อมีให้เสพจำนวนมาก แต่ผมคิดว่าก็ยังน้อย โดยเฉพาะในตลาดที่ต้องการเรื่องเล่าเชิงลึก และความใจกล้า ใจกว้าง ที่จะเปิดพื้นที่ทางความคิดใหม่ๆ ฉายไฟไปยังตัวละครที่ไม่เคยมีบทพูด ทั้งที่มีบทบาท ไม่แพ้พระเอก นางเอก

ไม่ว่าจะสนใจ หรือไม่สนใจ นับวันเราก็ยิ่งเลี่ยงมิติทางการเมืองไม่พ้น ฉะนั้นแทนที่จะวิ่งหนี หันหน้าเข้าหา และศึกษามันเลยดีกว่า เปิดมันให้เห็นทุกซอกทุกมุมดีกว่า เช่นเดียวกับเซ็ก เราจะเขินอายอะไรกันอีก ในเมื่อเทคโนโลยีทะลุฟ้าทะลุดินหมดสิ้นแล้ว การเมืองกับเซ็กคือชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรถูกพูดอย่างจริงใจ และตรงไปตรงมา การเมืองกับเซ็กในสื่อเป็นภาพสะท้อนที่ดีว่า สังคมไหนกว่าหน้าหรือล้าหลัง ศิวิไลซ์ หรือกดขี่ ลองพิจจารณาดูเถิดว่า เรามีเสรีภาพที่จะพูด จะพิมพ์เรื่องเหล่านี้อย่างไร เท่าที่เห็นอยู่ มีอยู่ สื่อกระแสหลักกอดรัดตัวเองตัวเองอยู่กับเรื่องเงินๆ ทองๆ มากเกินไป สุดท้ายแทนที่จะทำสื่อก็เลยต้องลงไปเล่นการเมือง ส่วนสื่อทางเลือกถ้าไม่ได้ถูกทำขึ้นเพื่อเป็นปากเสียงของผู้มีอำนาจ ใช้ทุนพรรค หรือนักการเมือง ส่วนใหญ่เป็นมืออาชีพที่เครือข่ายสายป้านสั้น มีแรง มีใจสู้ได้ไม่นาน ก็มักพ่ายแพ้เกมส์ธุรกิจ หาข่าวเก่ง แต่หาเงินไม่เป็น ไหนเลยจะประคับประคองเอาตัวรอดได้

เท่าที่เห็นอยู่ มีอยู่ ไม่ว่าเชิงคุณภาพ หรือปริมาณ ตลาดสื่อสารมวลชนค่อนข้างอึดอัด ขาดแคลน ทั้งที่เราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสาร ก็ได้แต่คิดและเฝ้ามองคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ๆ ว่าใครจะก้าวเข้ามาในสนามนี้ ใครจะมีวิธีต่อสู้กับกฏกรอบโบราณ แล้วพาผู้อ่านเดินไปสู่ภูมิศาสตร์ทางปัญญาที่ปลอดโปร่ง ผ่อนคลาย และหายใจได้เต็มปอด

ในจินตนาการ มีแค่เรื่องการเมืองกับเซ็ก โลกความจริงของผมถูกบินหลาพามาอยู่ในบ้านวรรณกรรม ปฏิเสธมาตลอดว่าจะไม่ทำไม่เดินกลับทางสายเก่า เอาเข้าจริงก็หนีไม่พ้น วิถีคนทำหนังสือมีเสน่ห์แน่ๆ แต่มากกว่านั้น ต่อกรณีนี้ผมคิดว่าบินหลาคือปัจจัยหลัก แทบจะเป็นปัจจัยเดียวเลยก็ว่าได้ที่ทำให้ผมตัดสินใจกลับมาทำงานรายเดือนอีก ครั้ง

บินหลาน่าสนใจอย่างไร ข้อแรกข้อแรกเขาเป็นเพื่อน และวันนี้เพื่อนต้องการทีม ข้อสองเขาประกาศจุดยืนชัดว่า อยากเห็นวงการการเขียนเมืองไทยก้าวหน้า จึงอาสามาหน้าที่เป็นศูนย์กลางข่าวสารข้อมูล ขณะเดียวกันก็เป็นตัวกระตุ้นปลุกเร้าให้เกิดความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ทั้งตลาดเมืองไทย และแปลงสู่เวทีสากล ข้อสามโดยเนื้อหาตัวตนแล้ว แน่นอนว่าบินหลาเป็นนักเขียน การที่เขายินดีระวางงานส่วนตัวชั่วคราว หันมาทุ่มเทให้งานส่วนรวม นำเสนอ คัดสรร เชื่อมโยงเพื่อนฟ้องน้องพี่ หัวใจเสียสละอย่างนี้หากถูกตอบแทนด้วยความเดียวดายเฉยชา ใยจึงไม่นับว่าเป็นความใจร้ายอย่างถึงที่สุด

ผมไม่ใช่คนใจดีจึงไม่ กังวลนักว่าจะถูกยึดข้อหาใจร้าย ผมเห็นแก่ตัวอย่างไม่ต้องสงสัย อยากรักษาเวลาของตัวเองไว้ อยากอยู่กับเรื่องราว และตัวละครที่เลือกโดยไม่ต้องขอความเห็น และประณีประณอมกับใคร มากบ้างน้อยบ้างทำสื่อมันต้องผสานผลประโยชน์ ประคับประคอง ประณีประณอม ซึ่งถ้าไม่ระมัดระวังนานวันเข้า นานวันตัวตนของเราก็จะถูกดูดกลืนไปกับระบบ ระบบที่ไม่มีผู้ชนะ และถ้าไม่หมั่นตรวจสอบ และรักษาจุดยืนไว้ให้ดี ในที่สุดเราก็จะกลายเป็นคนในแบบที่ครั้งหนึ่ง ตัวเองเคยชิงชังรังเกลียด

อีกประการหนึ่งโดยประวัติศาสตร์ส่วนตัวซึ่งล้มลุกคลุกคลานมาพักใหญ่ กับ Open ผมรู้สึกเอือมระอากับอนาคตที่รู้ทั้งรู้อยู่ว่า ไม่มี เดินไปสู่ความตาย พูดแบบนั้นก็ได้ เมื่อตัดสินใจคิดค้นทำหนังสือ หรือทำธุรกิจ ผมอยากเห็นมั่นคงสถาพรกับเขาบ้าง เบื่อแล้ว พอแล้วกับภาวะงอนแง่น เจียนอยู่เจียนไป หยิบยืมมาโป๊ะซ้ายแปะขวาอยู่ตลอดเวลา ถ้าทำแล้วเจริญเติบโตไม่ได้ ทำเพื่อรอวันเลิกอย่าทำเสียดีกว่า

คำตอบของบินหลาทำให้ผมมองเห็นความงามที่ไม่รู้จัก เขาพูดหน้าตายเฉยว่าเราเกิดมาเพื่อตาย หนังสือทุกเล่มทำแล้วก็ต้องเลิก ไม่ช้าก็เร็ว ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เขาพูดว่าอายุของหนังสือไม่ใช่สาระ คุณค่าของมันต่างหากพลังของมันต่างหาก ความทรงจำของสังคมที่มีต่อมันต่างหาก โดยไม่รอให้ผมตั้งหลักสักถาม เขายกตัวอย่าง อ้างถึงเฟื่องนครของรงษ์ วงค์สวรรค์ และเพื่อนหนุ่ม กระทั่งไปยาลใหญ่ของกลุ่มสิบสะดือ ซึ่งเขาถือกำเนิดมาจากที่นั้น หนังสือเหล่านี้ล้มหายตายจากไปนานแล้ว แต่ชื่อสียงและคุณูปการยังคงดำรงอยู่ นักอ่าน นักเขียนยังพูดถึงลีลาและใบหน้าเฉพาะของมันอย่างมีชีวิตชีวา เช่นเดียวกับWRITER ทั้งสองยุค สองบรรณาธิการ ที่ลาจากแผงไปนานแล้ว แต่ใครหลายคนยังจำภาพสีน้ำบนปกหนังสือได้แม่นยำ จดจำว่าเคยได้ยินเสียงพิมพ์ดีดเร้าระรัวจากหุบเขาฝนโปรยไพร

ตายจากกัน แต่ไม่ตายจากกัน

จะแปลกอะไรที่วันใดวันหนึ่งที่ WRITER ในยุคที่ 3 จะพังพับไปกับกาลเวลาอีก ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ต้องล้ม มีชีวิตกังวลอะไรกับความตาย มีชีวิตพึงเลือกใช้ชีวิต

00000

นั่นเป็นงานเขียนของวรพจน์ ที่เขียนไว้เมื่อ 4 ปีก่อนในช่วงเวลาที่นิตยสาร WRITER ยุคที่ 3 กำลังก่อร่างสร้างตัว เขาหยิบยกมันขึ้นมาอ่านอีกครั้งในวันแถลงข่าวปิดตัวนิตยสาร ด้วยคำพูดของบินหลาที่ถูกจดบันทึกว่าในงานเขียนของวรพจน์ ก็ชัดเจนที่สุดแล้วว่า อายุของหนังสือไม่ใช่สาระ คุณค่าของมันต่างหากพลังของมันต่างหาก ความทรงจำของสังคมที่มีต่อมันต่างหาก ที่เป็นสาระสำคัญ

เมื่อถามถึงเหตุผลในการปิดตัวนิตยสารครั้งนี้ บินหลาตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า เป็นเพราะปัญหาการขาดทุน และมีเงินทุนหมุนเวียนไม่พอที่จะทำต่อไป การขาดทุนสำหรับนิตยสารซึ่งไม่ได้เปิดตัวมาเพื่อหาเงินจากการโฆษณาไม่ใช่เรื่องแปลก แต่น่าแปลกที่ว่า ทำไมยังทำต่อไป บินหลาพูดตอนหนึ่งในว่า การทำ WRITER เหมือนกับการออกเดินทาง สู่ทะเลกว้าง โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง แต่ก็ยังออกเดินไป หากเจอปัญหาอย่างมากเรือก็ถูกจม การเริ่มต้นทำ WRITER อีกครั้งสำหรับเขาอาจจะไม่ต่างจากความต้องการเห็นการออกผจญภัยอีกครั้ง ปลายทาง จุดสิ้นสุด ไม่ได้สำคัญเท่าความทรงจำที่เกิดขึ้นระหว่างที่ออกผจญภัย

กว่า 2 ชั่วโมงในวงพูดคุย บินหลา วรพจน์ และอุทิศ เปิดกล่องความทรงจำ หยิบเอาเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทำนิตยสารแต่ละฉบับ เปิดออกมาวางโชว์ แลกเปลี่ยนพูดคุย ปกนี้มีที่มาอย่างไร ทำไมถึงทำเรื่องนี้ ทำไมถึงไม่ทำเรื่องอื่น ตอบทุกข้อข้องใจ ทำไม ป๊อด โมเดริน์ด็อก ได้ขึ้นปก ทำไมถึงทำเรื่องนักวาดการ์ตูน หรือกระทั่งทำไมสัมภาษณ์ผู้กำกับ คำตอบของพวกเขาคือ WRITER ไม่ได้แปลว่านักเขียน หากแต่คือผู้เล่าเรื่อง และการเล่าเรื่องก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงการเขียน หรือนักเขียนเท่านั้น

คำพูดของบินหลาในวันแถลงข่าวปิดตัว ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากคำพูดที่วรพจน์บันทึกไว้ในงานเขียนข้างต้น เขาเพียงอยากเห็น WRITER กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และมันอยู่มาถึง 4 ปี 38+1 ฉบับ ทั้งที่เริ่มประสบปัญหาเงินหมุนเวียนตั้งแต่ทำฉบับที่ 4

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท