Skip to main content
sharethis

คาเมล ดาอูด นักเขียนและนักข่าวชาวแอลจีเรียนำเสนอบทความเกี่ยวกับเรื่องเพศในโลกอาหรับที่มีการครอบงำของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเคร่งศาสนาที่ทำให้เกิดทัศนคติทางเพศแบบแบ่งแยกกีดกันและส่วนหนึ่งก็กลายเป็นเรื่องมือถือสากปากถือศีลที่มีเพศชายเป็นผู้กุมอำนาจทางวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์มุมมองในเชิงปฏิกิริยาจากโลกตะวันตกที่ขาดความเข้าใจและตีตัวออกห่างจากปัญหา

12 ก.พ. 2559 บทความของดาอูดในเดอะนิวยอร์กไทมส์เริ่มต้นจากการวิจารณ์การปฏิวัติอาหรับสปริงในช่วง 2554 ที่ถึงแม้ว่าตอนแรกจะสามารถกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวได้ แต่ต่อมาก็หมดเรี่ยวแรงลง ดาอูดมองว่าเป็นเพราะขบวนการอาหรับสปริงละเลยที่จะแตะต้องประเด็นเกี่ยวกับแนวคิด วัฒนธรรม ศาสนา หรือแม้กระทั่งเรื่องค่านิยมในสังคมโดยเฉพาะค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องเพศทำให้การปฏิวัติประชาชนในภูมิภาคอาหรับไม่สามารถสร้างความเป็นสมัยใหม่ได้

ประเด็นต่อมาที่ดาอูดระบุถึงในบทความคือการล่วงละเมิดทางเพศในที่สาธารณะทั้งจากที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ของเยอรมนีและการล่วงละเมิดทางเพศในจัตุรัสทาห์รีร์ของอียิปต์ สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมในโลกอาหรับรวมถึงในประเทศมุสลิมยังมีการกดขี่ผู้หญิงในหลายแง่ จนทำให้ประเทศยุโรปบางแห่งต้องสร้างการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในเรื่องเพศให้กับผู้อพยพและผู้ลี้ภัย

ดาอูดระบุว่าแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบชายเป็นใหญ่ครอบงำหลายประเทศ รวมถึงข้อกำหนดทางศาสนาหรือแนวคิดเคร่งศีลธรรมจากสังคมนิยมบางแห่งในแถบตะวันออกกลางทำให้มีการออกกฎเคร่งครัดในการคุมกำหนัดหรือทำให้ผู้ที่มีความกำหนัดรู้สึกผิดและถูกผลักให้อยู่ชายขอบ ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับงานวรรณกรรมในช่วงยุคทองของมุสลิม เช่น ผลงานของชีค เนฟซาวี ชื่อ "สวนน้ำหอมและความสุขทางกามรส" (The Perfumed Garden of Sensual Delight) ที่มีเทคนิคการร่วมเพศ สุขภาวะทางเพศ และเรื่องราวอิโรติกต่างๆ โดยที่ไม่มีการปิดกั้น

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของดาอูด เรื่องของเซ็กส์ในโลกอาหรับยุคนี้กลายเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งในตัวเอง คือนัยหนึ่งก็ทำเหมือนว่าเป็นเรื่องไม่มีอยู่จริง แต่อีกนัยหนึ่งก็กลับมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตโดยมีประเด็นนี้ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ในขณะที่ผู้ชายมีอำนาจในการสร้างวาทกรรมต่างๆ ในการครอบงำผู้หญิง อีกทั้งยังมองผู้หญิงเป็นสิ่งที่พวกเขาจะใช้ส่งเสริม "ความเป็นชาย" "ศักดิ์ศรี" และ "ค่านิยมเรื่องครอบครัว" ของพวกเขาเอง ดาอูดวิจารณ์ว่าการครอบงำเหล่านี้นำมาซึ่งกฎเกณฑ์การปกปิดเรือนร่างสตรีและการทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุสิ่งของเช่นว่าเป็นเพียงแค่ภรรยาของใครหรือลูกสาวของใคร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวคิดความเชื่อว่าผู้หญิงคือสิ่งที่ทำให้ขาดเสถียรภาพ

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดสภาพที่ดาอูดเรียกว่าเป็น "ความยากแค้นทางเพศ" (sexual misery) จากการที่คนๆ หนึ่งต้องการความรักแต่วิธีการแสดงออกทางความรักทั้งการพบปะและการเกี้ยวพาราสีกลับถูกห้าม ผู้หญิงถูกจับตามองและถูกทำให้เคร่งในเรื่องพรหมจรรย์ถึงขั้นมี "ตำรวจตรวจตราทางศีลธรรม" คอยห้ามคู่รักตามที่สาธารณะแม้แต่คู่ที่แต่งงานแล้ว ความยากแค้นทางเพศเหล่านี้ดาอูดมองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คนติดอยู่ในโลกเพ้อฝันเอาเองว่าโลกตะวันตกเต็มไปด้วยตัณหาและการประพฤติผิดในกามหรือมองว่าโลกมุสลิมเป็นสรวงสวรรค์ของผู้บริสุทธิ์ แนวคิดแบบนี้ส่วนหนึ่งสะท้อนออกมาจากการให้สัมภาษณ์ของนักเทววิทยาทางสื่อของโลกอาหรับที่แสดงออกต่อต้านเรื่องเพศด้วยความเกรี้ยวกราด

บทความของดาอูดยังระบุถึงปัญหาอื่นๆ อย่างเรื่องที่ในโลกอาหรับมีนักบำบัดทางเพศน้อยและมักไม่ค่อยมีคนรับฟัง รวมถึงข้อห้ามอื่นๆ ที่มีความเคร่งครัด เช่น ข้อห้ามผู้ชายอยู่กับหญิงอื่นที่ไม่ใช่แม่นมของตัวเอง ห้ามถึงจุดสุดยอดถ้ายังไม่แต่งงาน แต่เหล่านักเทศนากลับสอนว่าในสวรรค์มีสาวพรหมจรรย์รอคอยพวกเขาอยู่จนดูเหมือนเป็น "รางวัล" ให้กับคนที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความยากแค้นทางเพศ ทำให้กลายเป็นเหล่านักระเบิดพลีชีพผู้ต้องการไป "ถึงจุดสุดยอด" ด้วยความตายแทนที่จะเป็นความรัก

ไม่เพียงแค่โลกอาหรับเท่านั้น ดาอูดยังวิจารณ์โลกตะวันตกว่า ก่อนหน้านี้โลกตะวันตกเองก็มองโลกอาหรับแต่ในแบบบูรพนิยม (Orientalism) ที่ทำให้โลกอาหรับดูลึกลับและห่างไกล แต่เมื่อเกิดภาวะผู้ลี้ภัยจำนวนมากอพยพสู่ยุโรปก็ทำให้พวกเขาได้เห็นสภาพที่แท้จริงเรื่องทัศนคติทางเพศของชาวมุสลิมจนทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนเป็นการปะทะกันทางอารยธรรม ซึ่งชาวยุโรปหลายคนกลับโต้ตอบด้วยความรู้สึกว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าและอยู่ห่างไกลปัญหาซึ่งเป็นความคิดที่อันตรายในทัศนะของดาอูด


เรียบเรียงจาก

The Sexual Misery of the Arab World, KAMEL DAOUD, The New York Times, 12-02-2016
http://www.nytimes.com/2016/02/14/opinion/sunday/the-sexual-misery-of-the-arab-world.html?_r=1


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/The_Perfumed_Garden

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net