ผลวิจัยเผย พ.ศ. 2618 เกินครึ่งของโลกเสี่ยงเผชิญภาวะคลื่นความร้อน

ภาวะโลกร้อนอาจจะส่งผลเลวร้ายในอีกหลายสิบปีข้างหน้า เมื่อนักวิจัยด้านภูมิอากาศประเมินว่าภายในปี พ.ศ. 2618 หากยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง พื้นผิวโลกเกินกว่าร้อยละ 60 ก็เสี่ยงเผชิญภาวะคลื่นความร้อน ซึ่งเมื่อปีก่อนทำให้อินเดียและปากีสถานมีอุณหภูมิสูง 45-49 องศาเซลเซียส มีผู้เสียชีวิตหลายพันราย

ภาพถ่ายโลกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 โดยลูกเรือยานอวกาศอพอลโล 17 ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 29,000 กิโลเมตร (ที่มา: วิกิพีเดีย/Nasa/Apollo 17/Public Domain)

25 ก.พ. 2559 นักวิจัยเผยแพร่เอกสารผลการวิจัยในวารสาร 'ไคลเมท เชนจ์' (Climate Change) ที่เกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนระบุว่ามีโอกาสที่ภายในปี พ.ศ. 2618 พื้นที่โลกร้อยละ 60 จะเผชิญปรากฏการณ์คลื่นความร้อนหรือ 'ฮีทเวฟ' (Heat Wave) ที่เคยคร่าชีวิตชาวอินเดียจำนวนมากเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา

คลื่นความร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่ความร้อนจัดสะสมอยู่ในพื้นที่บริเวณหนึ่งนานมากกว่า 5 วันขึ้นไป และมีอุณหภูมิสูงเกินสภาวะอากาศปกติ 5 องศาเซลเซียส เดิมทีแล้วปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นในโลกโดยเฉลี่ยทุกๆ 20 ปี แต่ในงานวิจัยที่ปรากฏในวารสารโลกร้อนระบุว่าหลังจากนี้ไม่นานปรากฏการณ์คลื่นความร้อนอาจจะเกิดขึ้นทุกๆ ปี อีกทั้งยังจะเกิดในหลายพื้นที่มากขึ้นโดยเฉพาะในแถบตะวันออกกลางที่เผชิญความร้อนจัดใน่วงฤดูร้อนอยู่แล้วถ้าหากยังคงไม่มีการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

งานวิจัยโดยคลอเดีย เทบาลดี จากห้องทดลองกลศาสตร์โลกและภูมิอากาศ สังกัดศูนย์วิจัยด้านบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา และไมเคิล เอฟ วีห์เนอร์ จากห้องทดลองลอว์เรนซ์ เบิร์กลีย์ ทำการจำลองสถานการณ์สมมติเปรียบเทียบความเป็นไปได้ของอนาคตโลกที่ยังคงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง กับโลกที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง โดยศึกษาสถิติเกี่ยวกับสถาวะอุณหภูมิ โดยระบุว่าในสถานการณ์สมมติที่ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก นอกจากจะทำให้คลื่นความร้อนจะเกิดถี่และเกิดในหลายพื้นที่มากขึ้นแล้ว ยังจะเป็นคลื่นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นอีกด้วย

คลื่นความร้อนเหล่านี้อาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะและอาจจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับประชากรคนชรา เด็ก และผู้ป่วย รวมถึงส่งผลกระทบโดยเฉพาะกับคนยากจนที่ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าหรืออุปกรณ์สร้างความเย็นได้ โดยที่เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมาเคยมีปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในอินเดียและในปากีสถานที่มีอุณหภูมิสูงถึง 45-49 องศาเซลเซียส คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 2,500 รายในอินเดีย และราว 2,000 รายในปากีสถาน

อย่างไรก็ตามเทบาลดีหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยกล่าวว่า ถ้าหากมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะสามารถลดความถี่ในการเกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนได้

 

เรียบเรียงจาก

OVER HALF THE EARTH COULD HAVE EXTREME HEAT WAVES YEARLY BY 2075, Popular Science, 25-02-2016 http://www.popsci.com/extreme-heat-waves-could-become-annual-events-by-2075

บทคัดย่องานวิจัย "Benefits of mitigation for future heat extremes under RCP4.5 compared to RCP8.5" , Claudia Tebaldi and Michael F. Wehner http://link.springer.com/article/10.1007%2Fs10584-016-1605-5

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Heat_wave

https://en.wikipedia.org/wiki/2015_Pakistan_heat_wave

https://en.wikipedia.org/wiki/2015_Indian_heat_wave

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท