Peace, Moving forward (1) ย้ำสันติภาพจะเป็นไปไม่ได้ หากไร้ซึ่งการสื่อสาร

 

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่ (ห้อง 900) ชั้น 2 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ร่วมกับศูนย์ทรัพยากรสันติภาพและเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 10 องค์กร จัดงาน“วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 3rd Peace Media Day and Peace Assembly 2016” มีตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ องค์กรระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐ เอกอัครราชทูตประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย แคนาดา และภาคประชาชนเข้าร่วม ประมาณ 600 คน

ดุลยปาฐก 3 ฝ่ายบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

ไฮไลท์ของงานวันนี้อยู่ที่ ดุลยปาฐก : เวทีรายงานความคืบหน้าของการพูดคุยสันติภาพ ได้แก่ ปาฐกถา 1 “ความท้าทายและก้าวต่อไปของการอำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” โดยดาโต๊ะ ซัมซามิน บิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

ปาฐกถา 2 “ความท้าทายและก้าวต่อไปของการพูดคุยเพื่อสันติสุข” โดยพล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ปาฐกถา 3 “ความท้าทายและก้าวต่อไปการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” โดยนายอาวัง ญาบัต ประธานสภาชูรอแห่งปาตานี (MARA PATANI)

จากนั้นเป็นการนำเสนอวาระสันติภาพจากประชาชน: เวทีรายงานสถานการณ์สันติภาพและข้อเสนอ (AGENDA DAMAI DARI RAKYAT) โดยตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม 22 องค์กร

3 ฝ่ายรายงานความคืบหน้า ภาคประชาสังคมส่งเสียงต่อโต๊ะพูดคุย

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (DSCD) กล่าวรายงานว่า วัตถุประสงค์การจัดงานนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ขัดแย้งหลักและผู้อำนวยความสะดวกของการพูดคุยสันติภาพได้รายงานความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยสันติภาพต่อสาธารณะ

นอกจากนี้ยังเปิดเวทีให้ภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ได้ส่งเสียงนำเสนอข้อกังวล ข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่อฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพชายแดน/ปาตานี เพื่อดำเนินกระบวนการสันติภาพอย่างมั่นคง ยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และเพื่อเป็นการเปิดมุมมองจากประสบการณ์และบทเรียนของผู้ที่ทำงานสื่อสารในการรายงานข่าวที่เกี่ยวกับการพัฒนาของกระบวนการสันติภาพในห้วงปีที่ผ่านมา

รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี 

ย้ำการเชื่อมร้อยความรู้ สันติภาพและการสื่อสาร

รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่าระหว่างเป็นประธานเปิดงานว่า งานวันสื่อสันติภาพชายแดน/ปาตานี ครั้งที่ 3 และ สมัชชาสันติภาพ 2016 ครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะที่ทางมหาวิทยาลัยได้ให้การสนับสนุนมาตลอด

รศ.อิ่มจิต กล่าวต่อไปว่า จำได้ว่ากิจกรรมวันสื่อสันติภาพในปีที่ผ่านๆ มา เราสามารถเห็นพลังของการเชื่อมระหว่างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับสันติภาพและการสื่อสารสาธารณะกับคนทำงานในภาคปฏิบัติการจริงอยู่ในกิจกรรมเดียวกัน หวังว่าเราจะเห็นการพัฒนาการเชื่อมดังกล่าวในวันนี้ด้วย ขอชื่นชมผู้จัดงานที่ยังคงมุ่งมั่นสืบสานงานที่เป็นประโยชน์นี้อย่างต่อเนื่อง

สันติภาพจะเป็นไปไม่ได้หากไร้ซึ่งการสื่อสาร

“ความพยายามเพื่อสันติภาพจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไร้ซึ่งการสื่อสารสาธารณะ ที่สามารถเปิดพื้นที่ให้ผู้คนอันหลากหลายที่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้งได้เข้ามามีส่วนร่วม ความพยายามของผู้จัดงานในการเปิดพื้นที่ทางการเมืองและเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการสื่อสารเพื่อสันติภาพ เป็นสิ่งน่าชื่นชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่ผู้คนต่างสนใจใคร่รู้และติดตามความเป็นไปของกระบวนการสันติภาพหรือการพูดคุยสันติสุขในขณะนี้” รศ.อิ่มจิต กล่าว

รศ.อิ่มจิต กล่าวด้วยว่า การสื่อสารในทุกช่องทางเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่จะให้ผู้คนในสังคมไม่เพียงแต่มีส่วนร่วมในการหาทางออกเท่านั้น แต่ยังเป็นหนทางที่จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งได้เรียนรู้และทำความเข้าใจไปพร้อมๆกับการเดินหน้าของกระบวนการสันติภาพอีกด้วย

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี  

เดินไปด้วยสันติภาพและเดินไปสู่สันติภาพ

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี  กล่าวตอนรับว่า งานวันนี้เป็นเวทีรายงานสถานการณ์สันติภาพในพื้นที่สาธารณะ งานวันนี้เป็นหมุดหมายอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า พวกเราและสันติภาพได้เดินไปข้างหน้าทั้งในรูปแบบที่เป็นการ “เดินไปด้วยสันติภาพและเดินไปสู่สันติภาพ” เพราะแท้จริงนั้นสันติภาพนั้นเป็นทาง วิธีการและเป้าหมายของเรา

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวต่อไปว่า สื่อสันติภาพชายแดนใต้เกิดจากการรวมพลังของเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาควิชาการและภาคการสื่อสารสาธารณะ เพื่อใช้สื่อ เพราะการสื่อสารเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งสู่สันติภาพ

“คณะวิทยาการสื่อสาร ได้ยืนยันเจตจำนงในการมีส่วนร่วมต่อกระบวนการสันติภาพและร่วมเป็นภาคีจัดงานนี้กับเครือข่ายทุกภาคส่วนมาตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของพันธ์กิจของการสื่อสารเพื่อสันติภาพชายแดนที่เราได้ดำเนินการ” ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

สาร สื่อ สู่สันติ งานวิจัยวิทยาการสื่อสารเพื่อสันติสุข

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวอีกว่า ในอีกด้านหนึ่งคณะวิทยาการสื่อสารได้เริ่มต้นเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการสื่อสารสันติภาพ เมื่อปี 2550 ได้ทำโครงการวิจัยเรื่อง สาร สื่อ สู่สันติ เทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติ งานวิจัยชิ้นนี้พบทั้งข้อจำกัดและหนทางใหม่ๆ ในการใช้วิทยาการสื่อสารเพื่อสร้างสันติสุข

“การค้นพบองค์ความรู้ในการวิจัยครั้งนั้น ทำให้เราได้ดำเนินพันธกิจด้านการวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวกับการสื่อสารชุมชน การสื่อสารทางเลือก กระบวนการสื่อสารของภาคประชาสังคม กระบวนการสื่อสารวาทกรรมสันติภาพของสื่อมวลชนกระแสหลัก การเสนอแนะต่อแนวปฏิบัติของสื่อกระแสหลักในการรายงานข่าวความขัดแย้ง และสันติภาพชายแดนใต้” ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท