Skip to main content
sharethis

ดุลยปาฐกของ 'อาวัง ญาบะ' ประธานมาราปาตานี เผยความท้าทายและก้าวต่อไปการพูดคุยสันติภาพ 4 ข้อที่ทำให้โต๊ะพูดคุย 3 ปีที่แล้วชะงัก วาง 2 กระบวนการพูดคุยรอบใหม่ ขอทุกฝ่ายร่วมขับเคลื่อนสันติภาพ การเจรจาสันติภาพสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาของประชาชนปาตานี

'อาวัง ญาบะ' ประธานมาราปาตานี 

'อาวัง ญาบัต' ประธานสภาชูรอแห่งปาตานี (MARA PATANI) องค์กรร่มของขบวนการชาตินิยมมลายูปาตานีที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเข้าสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทยได้ออกมาสื่อสารสาธารณะอีกครั้งผ่าน “ดุลยปาฐก : เวทีรายงานความคืบหน้าของการพูดคุยสันติภาพ” ในงาน“วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 3rd Peace Media Day and Peace Assembly 2016” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)

อาวัง ญาบัต ได้กล่าวปาฐกถาเป็นภาษามลายูในหัวข้อ “ความท้าทายและก้าวต่อไปการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” ผ่านคลิปวิดีโอที่ถูกนำฉายในงาน เช่นเดียวกับที่มีดาโต๊ะ ซัมซามิน บิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ส่วน พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ได้มากล่าวปาฐกถาด้วยตัวเอง ต่อไปนี้ คำกล่าวปาฐกถาของอาวังโดยสรุปที่มีการแปลเป็นภาษาไทย ดังนี้

(อ่านคำกล่าวฉบับเต็มได้ที่ รวมถ้อยแถลงและเอกสารประกอบในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 "สันติภาพเดินหน้า" (Peace, Moving Forward)

2 ข้อท้าทายที่ยิ่งใหญ่ต่อสันติภาพ

อาวังกล่าวว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว กระบวนการพูดคุยสันติภาพปาตานีก็ต้องประสบกับความท้าทายมากมาย ความท้าทายยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งเป็นที่มาของความท้าทายอื่นๆ คือความเป็นปรปักษ์กันและความเกลียดชังกันระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้มีความคิดทางอุดมการณ์ที่ต่างกัน

ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ได้มีการพบปะกันอย่างเป็นทางการเพื่อการพูดคุยทั้งหมด 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้บรรลุผลสำเร็จใดๆ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ บนโต๊ะพูดคุยก็คือทั้งสองฝ่ายแสดงท่าทีความเป็นศัตรู ความโกรธ ความแค้น และความเศร้าต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝีมือของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมต่อการหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง กระบวนการพูดคุยจึงไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

4 ข้อที่ทำให้โต๊ะพูดคุย 3 ปีที่แล้วชะงัก

อาวังกล่าวด้วยว่า ความท้าทายต่างๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วได้ทำให้การพูดคุยอย่างเป็นทางการรอบแรกต้องหยุดชะงักนั้นมีดังต่อไปนี้

ข้อแรก กระบวนการพูดคุยไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกองทัพไทย

ข้อสอง กลุ่มนักต่อสู้ปลดปล่อยปาตานีบางกลุ่มในสนามยังขาดความเข้าใจที่ดีต่อกระบวนการสันติภาพ พวกเขาจึงไม่ให้การสนับสนุนต่อกระบวนการดังกล่าว ถึงแม้ว่าการสนับสนุนจากพวกเขาต่อกระบวนการนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งก็ตาม

ข้อสาม อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ ได้ถอนตัวออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็น หลังจากท่านได้ยื่น 5 ข้อเรียกร้องจากฝ่าย B ให้แก่ฝ่าย A ซึ่งการยอมรับของข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญในการรื้อฟื้นกระบวนการพูดคุยขึ้นอีกครั้ง

ข้อสี่ รัฐบาลไทยได้เผชิญกับวิกฤตทางการเมือง และสุดท้ายก็มีการก่อรัฐประหาร ซึ่งนำไปสู่การล้มรัฐบาลที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ อวสานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้นำไปสู่การชะงักงันของกระบวนการพูดคุยสันติภาพโดยอัตโนมัติ เนื่องจาก ทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีคณะพูดคุยเจรจาของตนอีกต่อไป

วางสองกระบวนการพูดคุยเพื่อกำหนดทิศทาง

อาวังกล่าวต่อไปว่า สิ่งเดียวที่ยังคงมีอยู่จากรอบที่แล้วคือฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ลงนามเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 และเนื่องจากการแสดงความจริงจังของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน เราจึงตอบรับข้อเสนอจากผู้อำนวยความสะดวก เพื่อที่จะริเริ่มกระบวนการสันติภาพขึ้นมารอบใหม่

การพูดคุยสันติภาพรอบที่สองนี้จะดำเนินการโดยแบ่งออกเป็นสองกระบวนการ กระบวนการแรก คือ การพูดคุยระหว่างคณะทำงานเชิงเทคนิค เพื่อเตรียมประเด็นต่างๆ ก่อนที่จะนำไปถึงโต๊ะพูดคุย การพูดคุยระดับนี้ดำเนินการไปอย่างไม่เป็นทางการ

กระบวนการที่สอง คือ การพูดคุยเพื่อตัดสินใจลงมติ เป็นการพูดคุยประเด็นต่างๆ ที่ได้รับการตกลงในระดับคณะทำงานเชิงเทคนิคมาบ้างแล้ว และจะเป็นมติของการพูดคุยอย่างเป็นทางการด้วย

การดำเนินการพูดคุยตามกระบวนการดังกล่าวข้างต้นจะได้ผลในทางปฏิบัติมากขึ้น ในการกำหนดทิศทางของการพูดคุยสันติภาพรอบที่สอง และเอื้อต่อขั้นตอนต่อไปของกระบวนการสันติภาพโดยภาพรวม

ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนสันติภาพ

อาวังกล่าวด้วยว่า กระบวนการสันติภาพจะไม่บรรลุเป้าหมายได้ ตราบใดที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังขาดการมีส่วนร่วม ด้วยเหตุนี้ประชาชนในพื้นที่ก็ต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ พร้อมๆกับตระหนักถึงคนทุกกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

กระบวนการสันติภาพในระดับประชาชนนั้น ทุกกลุ่มสามารถผลักดันได้ด้วยวิธีการที่หลากหลายและฝ่ายต่างๆ ก็สามารถมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ เพราะกระบวนการสันติภาพไม่ได้จำกัดเพียงบทบาทของฝ่าย A หรือฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น ฝ่าย B สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา คณะกรรมการอิสลาม และองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ก็ควรต้องมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอตามความต้องการของพวกเขาในกระบวนการดังกล่าว

มาราปาตานีตั้งเพื่อเป็นองค์กรการเมืองของคนปาตานี

อาวังกล่าวว่า เราเข้าใจกันว่า กระบวนการพูดคุยหรือการเจรจาเกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลไทย ซึ่งเรียกกันว่าฝ่าย A และผู้มีความเห็นเชิงอุดมการณ์ต่างจากรัฐบาลไทย ซึ่งเรียกฝ่าย B ต้องเน้นย้ำตรงนี้ว่าฝ่าย B ในความขัดแย้งที่ปาตานีนั้น คือประชาชนปาตานี กลุ่มนักต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีกลุ่มต่างๆ และองค์กรภาคประชาชนปาตานีเป็นผู้แทนของประชาชนปาตานี

เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ในการสร้างความเป็นหนึ่ง ทั้งในทางความคิดและการกระทำในกระบวนการสันติภาพกับรัฐบาลไทย สภาชูรอแห่งปาตานี หรือที่รู้จักกันในนามมาราปาตานี จึงถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความเป็นเอกภาพ และในฐานะเป็นองค์กรทางการเมืองระดับสูงของประชาชนปาตานี

ความขัดแย้งที่นี่เป็นผลพวงจากระบบอาณานิคมไทย

อาวังกล่าวต่อไปว่า ความขัดแย้งที่ปาตานีไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งทางอาวุธเท่านั้น แต่เป็นความขัดแย้งที่เป็นผลพวงมาจากการปกครองระบบอาณานิคมของรัฐบาลไทยที่มีต่อประชาชนปาตานีด้วย ทุกฝ่ายต้องเข้าใจประเด็นนี้และรัฐบาลไทยก็ไม่ควรแสร้งทำเป็นไม่รับรู้ ด้วยเหตุนี้ แนวทางแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานีจึงต้องมีทั้งความเป็นธรรม การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายและมีความยั่งยืน นี่คือสิ่งที่มาราปาตานีต้องการที่จะบรรลุถึงในการต่อสู้ทางการเมือง

มาราปาตานีได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายในฐานะที่เป็นองค์กรทางการเมืองของประชาชนปาตานี เพื่อเผชิญหน้ากับรัฐบาลไทยในกระบวนการสันติภาพ ดังนั้น การยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทยต่อมาราปาตานีจึงเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในก้าวต่อไป

“เช่นนี้แล้ว! ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม, มาราปาตานีก็จะเป็นทั้งศัตรูและมิตรกับรัฐบาลไทยบนโต๊ะพูดคุยในเวลาเดียวกัน”

ทั้งสองฝ่ายมีความท้าทายที่ต้องเผชิญ

อาวังกล่าวด้วยว่า ในบริบทของกระบวนการสันติภาพปาตานี เรายังต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคมากมาย และหนึ่งในอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ ทัศนคติเชิงลบซึ่งกันและกันระหว่างฝ่าย A กับฝ่าย B เราสังเกตเห็นว่า ฝ่ายรัฐบาลหรือ “ฝ่าย A” กังขาว่ามาราปาตานีในฐานะ“ฝ่าย B” มีความสามารถควบคุมสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ได้หรือไม่ อีกทั้งรัฐบาลไทยเองก็ยังมองว่าความขัดแย้งที่ปาตานีเป็นปัญหาภายในประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายสาหรับมาราปาตานี

ข้าพเจ้าขอกล่าวอย่างชัดเจนว่า มาราปาตานีเองก็ยังคงไม่มั่นใจในความมุ่งมั่นจริงจังของรัฐบาลไทยในการแสวงหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งที่มีความยุติธรรม การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายและมีความยั่งยืน นี่คือข้อท้าทายสำหรับรัฐบาลไทยที่จำเป็นต้องแสดงความจริงจังและจริงใจต่อมาราปาตานีด้วย

ทั้งสองฝ่ายมีความท้าทายที่ต้องเผชิญอยู่ กระบวนการสันติภาพจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน นั่นคือ การพูดคุยในประเด็นต่างๆ ทั้งสองฝ่ายสามารถแสดงออกถึงความมุ่งมั่นจริงจังและสะท้อนถึงความจริงใจในการแสวงหาแนวทางแก้ไขที่มีความยุติธรรม การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายและความยั่งยืน เพื่อบรรลุให้ถึงเป้าหมายในการสถาปนาสันติภาพที่แท้จริง ในขณะเดียวกัน ประเด็นที่จำเป็นต้องพูดคุยกันต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่

ความก้าวหน้าของ 3 ข้อเสนอของทั้งสองฝ่าย

อาวังกล่าวอีกว่า ข้าพเจ้าได้รับทราบว่า คณะเจรจาของฝ่ายมาราปาตานีได้ยื่นข้อเสนอ 3 ประการตามความจำเป็นของฝ่าย B เพื่อให้กระบวนการพูดคุยมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่าย A ควรต้องตอบสนอง ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ข้อแรก กระบวนการสันติภาพควรต้องมีสถานะเป็นวาระแห่งชาติ

ข้อสอง รัฐบาลไทยควรต้องยอมรับสถานะของมาราปาตานีเป็นองค์กรทางการเมืองของกลุ่มบุคคลผู้มีความเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่าง

ข้อสาม คณะเจรจาของมาราปาตานีควรต้องได้รับสิทธิคุ้มกันในการดาเนินคดีทางกฎหมาย (immunity)

ข้าพเจ้าทราบมาว่าข้อเสนอแนะทั้งสามข้อนั้นได้มีการอภิปรายกันบ้างแล้วในการพบปะพูดคุยของคณะทำงานเชิงเทคนิค มีอยู่หนึ่งประเด็นที่ได้บรรลุข้อตกลงกันแล้ว และอีกสองประเด็นจะมีการตกลงกันตามความจำเป็นที่สอดคล้องต่อสถานการณ์

ส่วนคณะเจรจาฝ่ายไทยก็ได้ยื่นข้อเสนอสามประเด็นเพื่ออภิปรายกันในระหว่างที่กระบวนการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ข้อแรก การจัดตั้งเขตพื้นที่ปลอดภัยหรือ “เซฟตี้โซน” ในฐานะที่เป็นโครงการนำร่องของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

ข้อสอง การพัฒนาในเขตพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างสังคมสันติสุข

ข้อสาม สถาปนาความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกภาคส่วนของสังคม

ฝ่ายมาราปาตานีได้รับการชี้แจงเกี่ยวกับทั้งสามประเด็นนี้ข้างต้นจากฝ่าย A แล้ว ต่อจากนี้ไป คณะกรรมการระดับนำและคณะทำงานคลังสมองของมาราปาตานีจะได้อภิปรายถึงประเด็นเหล่านั้นและลงความเห็น ต่อจากนั้นคณะทางานเจรจาของฝ่าย B จึงจะสามารถกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งบนโต๊ะพูดคุยในขั้นตอนต่อไป

ตั้งเซฟตี้โซนไม่ใช่ง่าย ทั้งฝ่ายยังเข้าใจไม่ตรงกัน

อาวังกล่าวด้วยว่า เราได้รับทราบว่าประชาชนในพื้นที่ได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งเขตพื้นที่ปลอดภัย เราก็ได้รับรู้ถึงข่าวสารเกี่ยวกับความพยายามของกองทัพภาคที่ 4 ในการกำหนดให้ อ.บาเจาะและ อ.เจาะไอร้อง เป็นเขตพื้นที่ปลอดภัยมาบ้างแล้ว

การจัดตั้งเขตพื้นที่ปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถประกาศได้โดยฝ่ายเดียว ดังเช่นที่เราได้รับฟังมา ไม่เคยมีใครสามารถกระทำได้อย่างนั้น ถ้าหากว่าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นจริงๆ ย่อมแสดงให้เห็นว่ายังมีบางอย่างที่ไม่ถูกต้องในกระบวนการสันติภาพปาตานีอยู่ และนี่คือความท้าทายภายในที่รัฐบาลไทยต้องแก้ไข

เขตพื้นที่ปลอดภัยสามารถจัดตั้งขึ้นได้ภายหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายต่างตกลงกันในเชิงแนวคิดแล้วเท่านั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าแต่ละฝ่ายนั้นต่างก็มีแนวคิดเกี่ยวกับเขตพื้นที่ปลอดภัยของตนเองอยู่ และแนวคิดของฝ่ายหนึ่งๆ นั้นยังแตกต่างไปจากของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดและเขตพื้นที่ซึ่งได้รับเลือกให้จัดตั้งเป็นเขตพื้นที่ปลอดภัยนั้นเป็นประเด็นที่ควรจะมีการปรึกษาหาหรือกันเป็นการล่วงหน้า ก่อนที่จะประกาศการจัดตั้งเขตพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าวต่อสาธารณชน

สันติภาพสามารถแก้ปัญหาประชาชนปาตานี

อาวังกล่าวทิ้งท้ายว่า การสถาปนาสันติภาพที่ปาตานีไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สันติภาพสามารถเกิดขึ้นได้โดยการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและความเสียสละจากทั้งสองฝ่าย โดยยอมรับความล้มเหลวและความผิดพลาดจากการพูดคุยและเจรจาเพื่อสันติภาพในอดีต

ทุกฝ่ายจำเป็นต้องยอมรับว่าผลสำเร็จของการเจรจาสันติภาพนั้น สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนปาตานีได้ และในขณะเดียวกัน แนวทางดังกล่าวก็สามารถเป็นปราการอันแข็งแกร่งเพื่อรักษาความมั่นคงและการป้องกันประเทศของไทยได้ด้วยเช่นกัน

ข้าพเจ้าขอชักชวนพี่น้องประชาชนปาตานีทุกท่าน มาร่วมโอบอุ้มและค้าจุนกระบวนการสันติภาพปาตานี เพื่อแสวงหาและบรรลุถึงเสรีภาพ ความมั่นคง ความยุติธรรม สันติภาพ และเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

ชมคลิป AWANG JABAT (Chairman of MARA PATANI) - UCAPAN SEMPENA ULANG TAHUN PROSES DAMAI PATANI KALI KE 3

คลิปอ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

รวมถ้อยแถลงและเอกสารประกอบในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 "สันติภาพเดินหน้า" (Peace, Moving Forward)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net