Skip to main content
sharethis

ดุลยปาฐกของ พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ ชี้ 12 ปีมีถึง 7 รัฐบาลแต่ขาดเสถียรภาพจึงแก้ปัญหาไม่ได้ ระบุการพูดคุยเป็นปัจจัยลดเหตุรุนแรง เผยนายกสั่งขยับเป้าจาก 10 เหลือ 3 ปี แต่จะดึงคนตรงกลางให้เห็นด้วยกับสันติภาพได้อย่างไร

พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รายงานความคืบหน้าของการพูดคุยสันติสุข ในช่วง“ดุลยปาฐก : เวทีรายงานความคืบหน้าของการพูดคุยสันติภาพ”ภายในงาน“วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 3rd Peace Media Day and Peace Assembly 2016” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)

พล.ท.นักรบเป็นนายทหารเพียงคนเดียวที่ร่วมคณะพูดคุยสันติภาพในฝ่ายรัฐบาลไทยตั้งแต่การพูดคุยรอบที่แล้ว จนมาถึงการพูดคุยรอบใหม่นี้รัฐบาลก็ตั้งให้เขาเป็นเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขทำให้เขามองเห็นพัฒนาการและเข้าใจของกระบวนการพูดคุยมาตลอดเพราะทำงานนี้มาอย่างต่อเนื่อง

สื่อสำคัญต่อการหนุนเสริมสันติภาพ

พล.ท.นักรบ กล่าวว่า ดีใจที่ได้มางานนี้อีกครั้ง มาครั้งแรกในปี 2556 โดยมาร่วมงานพูดคุยที่โต๊ะเฉยๆ ไม่ได้มาปาฐกถาเหมือนครั้งนี้ และคิดว่าสื่อคือองค์ภาคประชาสังคมที่มีความสำคัญมากในการที่จะช่วยหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพได้

ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ที่กำลังแก้ไขกันอยู่ในปัจจุบัน ความจริงก็เหมือนกับความขัดแย้งอื่นๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางด้านความคิด ทางกายภาพหรืออื่นๆ โดยเฉพาะปัญหาของอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเราจะอยู่ร่วมกันด้วยความแตกต่างได้อย่างไร

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือการบริหารจัดการที่ไม่ลงตัวของรัฐไทยเองจนทำให้ชายแดนใต้หลุดออกจากพื้นที่สันติสุขไป

12 ปีมี 7 รัฐบาลแต่ขาดเสถียรภาพจึงแก้ปัญหาไม่ได้

พล.ท.นักรบ กล่าวต่อไปว่า ความขัดแย้งในต่างประเทศที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบริหารงานของรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ แต่ในประเทศไทยตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เรามีถึง 7 รัฐบาล แสดงให้เห็นถึงการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลไทย จนไม่สามารถที่จะมาลงมาแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ได้เต็มขีดความสามารถ เพราะติดอยู่กับปัญหาภายในสถานการณ์ทางการเมืองไทย

รัฐบาลที่ผ่านๆมา มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ด้วยสภาวะทางการเมืองที่ไม่นิ่งทำให้เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา แต่หากพูดถึงเรื่องสันติภาพเห็นได้ชัดว่ามีความก้าวหน้า เพราะช่วงปีแรกๆ หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงต่างไม่ยอมรับการพูดคุยกับผู้เห็นต่าง จนช่วงหลังมีการยอมรับมากขึ้นจนเกิดการเปิดตัวในปี 2556 (กรณีการลงนามในฉันทามติทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพ) และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ

การพูดคุยเป็นปัจจัยลดเหตุรุนแรง ขยับเป้าจาก 10 เหลือ 3 ปี

พล.ท.นักรบ กล่าวด้วยว่า จากสถิติเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา แสดงให้เห็นว่าการพูดคุยเป็นปัจจัยที่ทำให้มีเหตุการณ์ความรุนแรงลดลง ที่สำคัญรัฐบาลปัจจุบันทำงานอย่างมีแบบแผนมากขึ้น เราศึกษาดูงานการแก้ไขความขัดแย้งในระดับสากลจากหลายประเทศ แล้วมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้

“การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ใช้เวลานาน บางประเทศเป็นสิบๆปี แต่สำหรับในพื้นชายแดนใต้ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่า 10 ปีจะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ได้ แต่รัฐบาลมีคำสั่งให้ดำเนินการให้เร็วขึ้น จึงคิดว่าจะใช้เวลา 3 ปี ซึ่งเราดำเนินการมาแล้ว 1 ปี 2 เดือน ถือว่าเดินมาได้ครึ่งทางแล้ว สิ่งที่ได้ก็คือความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพราะในช่วงแรกเรายังไม่รู้จักกัน แม้แต่มาเลเซียที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกตนก็ยังไม่รู้จัก

วางกติกาพูดคุยใกล้เสร็จแล้ว

พล.ท.นักรบ กล่าวอีกว่า การพูดคุยครั้งแรกไม่เหมือนเป็นการพูดคุยสันติสุขแต่อย่างใด เพราะคุยกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง แต่หลังจากที่ได้คุยกันเต็มคณะ 4 ครั้ง จนมาถึงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาที่มีการตกลงว่าจะทำงานร่วมกันจนทำให้เป็นเดือนรอมฎอนที่มีเหตุการณ์ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ทำให้เห็นได้ชัดว่าเราทำงานร่วมกันได้

ปัจจุบันกระบวนการพูดคุยถือว่าอยู่ในช่วงที่กำลังร่างกติกา เพราะการพูดคุยก็เหมือนฟุตบอล หากไม่มีกติกาก็เล่นกันไม่ได้ และหากกติกาเสร็จภายใน 2 อาทิตย์นี้ จะมีการพูดคุยครั้งที่ 5 อย่างไม่เป็นทางการเกิดขึ้น และจะมีการทดลองของทั้งสองฝ่าย ตัวอย่างการทดลอง เช่น พื้นที่ปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งหากทำได้จริงคนที่จะได้รับประโยชน์ก็คือประชาชน สิ่งที่ท้าทายของการพูดคุยก็คือ จะทำอย่างไรให้การพูดคุยเดินไปอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้

นายกฯบรรจุในร่างกฎหมายใหม่เตรียมเข้าสภา

ขณะที่เรื่องการยอมรับ ต้องตอบว่ายังไม่สามารถที่จะยอมรับกลุ่มมาราปาตานีได้ เหตุผลก็คือต้องถามกลับไปยังเขาว่า เขาสามารถคุมพื้นที่ได้หรือยัง หากยังไม่สามารถคุมได้ก็ไม่สามารถที่จะยอมรับได้ และที่สำคัญคนในพื้นที่ยอมรับกลุ่มมาราปาตานีหรือยัง หรือรู้จักกลุ่มมาราปาตานีหรือไม่? ส่วนชื่อที่จะใช้เรียกในกติกาจะใช้ฟุตโน้ตในการอธิบายการเรียกชื่อกลุ่ม ซึ่งมีความต่างระหว่างทั้งสองฝ่าย

ในส่วนประเด็นวาระแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีของไทยบรรจุไว้แล้วในกฎหมายฉบับใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่สภาเร็วๆ นี้ ส่วนเรื่องการขอสิทธิคุ้มครองทางกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ เพราะเราเป็นรัฐ จะไปทำลายระบบยุติธรรมย่อมไม่ได้ และเกรงว่ากรณีอื่นๆ จะเอาเป็นตัวอย่างในการบังคับใช้

จะดึงคนตรงกลางให้เห็นด้วยกับสันติภาพ

“สิ่งที่ท้าทายสำหรับผมก็คือ ความต่อเนื่องของการพูดคุยและประชาชนในพื้นที่ แน่นอนว่ามีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย และคนจำนวนมากคือคนที่อยู่ตรงกลางไม่ได้บอกเจตจำนงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สำคัญที่เราจะต้องมาร่วมกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้เขาได้เข้ามาสู่กลุ่มคนที่เห็นด้วยกับสันติภาพ”

ประเด็นสุดท้ายก็คือ แทร็กสอง ต้องเป็นพลังในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ และจะต้องร่วมกันเชิญชวนผู้คนที่อยู่ตรงกลางให้หันมาสนับสนุนสันติภาพให้มากขึ้น แล้วหลังจากนั้นคณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายจะรับปัญหาหรือข้อเสนอของท่านมาคุยกันว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับท่านคืออะไร? เช่นการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับท่านคืออะไร การเมืองการปกครองที่ดีสำหรับท่านเป็นอย่างไร? เหล่านี้เป็นต้น

ครั้งหนึ่ง ป้าข้างบ้านผมถามผมว่า ไปคุยกับเขาทำไม ทำไมไม่จับเขา มันแสดงให้เห็นว่ายังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจกระบวนการสันติภาพ หรือคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย โจทย์ก็คือ จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ตรงกลางหันมาเข้าใจตรงกันว่า สันติภาพคือสิ่งที่ดีที่สุด

ชมคลิป พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง – ความท้าทายและก้าวต่อไปของการพูดคุยเพื่อสันติสุข

อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

รวมถ้อยแถลงและเอกสารประกอบในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 "สันติภาพเดินหน้า" (Peace, Moving Forward)

คลิกชมภาพงานที่

WeWatch Dsp Coordinate

ประมวลภาพ วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 3 และสมัชชาสันติภาพ 2016 Peace, Moving Forward

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net