เดอะการ์เดียนคัดสรรไอเดียจัดการน้ำ 5 เมืองในประเทศกำลังพัฒนา

6 มี.ค. 2559 ขณะที่ประเทศไทยมีการประเมินว่าอาจจะเกิดปัญหาภัยแล้งอย่างหนักในช่วงกลางปีที่จะถึงนี้ สำนักข่าวเดอะการ์เดียนนำเสนอบทความเกี่ยวกับตัวอย่างการจัดการน้ำที่ดีในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 5 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับจำนวนน้ำที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ปัญหาน้ำเค็มหรือน้ำเน่าเสีย นอกจากการใช้เงินหรือองค์กรในการจัดการแก้ไขปัญหาแล้วยังมีการใช้แนวคิดหรือความคิดสร้างสรรค์อันชาญฉลาด ทำให้เกิดตัวอย่างการจัดการน้ำ รวมถึงการรักษาแหล่งน้ำต่างๆ ดังนี้

ตัวอย่างที่ 1 เมืองบังกาลอร์ อินเดีย ปกป้องทะเลสาบจากการยึดครองของเอกชน

บังกาลอร์เป็นเมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของอินเดีย หรือเกือบ 10 ล้านคน ในปี 2553 เกิดกรณีที่ทะเลสาบ 450 แห่งของเมืองนี้มีโอกาสถูกทำให้กลายเป็นของเอกชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในบ่อน้ำของประชาชน เนื่องจากน้ำในทะเลสาบจะซึมลงไปสู่ชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดินซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับบ่อน้ำของประชาชนในพื้นที่นี้ ถ้าหากน้ำในทะเลสาบแห้งลงน้ำในบ่อของประชาชนก็จะแห้งเหือดลงไปด้วย

อย่างไรก็ตามกลุ่มองค์กรส่งเสริมสิ่งแวดล้อมของอินเดียหรืออีเอสจี (ESG) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องทะเลสาบแก่คนในพื้นที่ ทำให้ผู้คนในพื้นที่ตัดสินใจรวมตัวกันต่อต้านการทำให้ทะเลสาบกลายเป็นของเอกชน ทั้งนี้องค์กรอีเอสจียังร้องเรียนต่อศาลสูงแห่งรัฐกรณาฏกะโดยมีการยื่นคำร้องเรื่องผลประโยชน์สาธารณะจนนำมาสู่การสั่งห้ามทำให้ทะเลสาบเป็นของเอกชนและยังมีการสั่งเตรียมแผนการอนุรักษ์ปกป้องแหล่งน้ำไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานด้วย

บทความในเดอะการ์เดียนระบุว่าเมื่อทะเลสาบทั้ง 450 แห่งได้รับการฟื้นฟูแล้วชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดินก็จะมีน้ำกลับมา ซึ่งสิ่งนี้ยังส่งผลดีต่อชุมชนในเมืองอีกด้วยเนื่องจากพวกเขาจะได้ใช้น้ำคุณภาพดีขึ้นมีจำนวนมากขึ้นอีกทั้งยังรายล้อมด้วยชุมชนที่สามารถเพาะปลูกได้ดีขึ้นมีผลผลิตจำนวนมากขึ้นด้วย การริเริ่มดังกล่าวนี้ได้รับรางวัลจากองค์การสหประชาชาติในปี 2555 ในฐานะการจัดการน้ำยอดเยี่ยม

ตัวอย่างที่ 2 เมืองเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ การประหยัดน้ำขนานใหญ่

นานาชาติให้การยอมรับเมืองเคปทาวน์ในเรื่องความพยายามจัดการน้ำโดยที่ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาพวกเขาสามารถลดการใช้น้ำได้มากถึงร้อยละ 30 ถึงแม้ว่าประชากรจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เช่นกัน

โครงการรักษาทรัพยากรน้ำในเคปทาวน์ใช้ 2 วิธีการควบคู่กัน คือ การชักชวนให้ประชาชนใช้น้ำให้น้อยลง และจัดวางเทคโนโลยีที่ทำให้ใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เคปทาวน์ทำการปรับเปลี่ยนระดับแรงดันน้ำเพื่อลดการใช้น้ำโดยเปล่าประโยชน์ จัดวางท่อน้ำเก่า พัฒนาระบบตรวจการรั่วซึมของน้ำ และทำการซ่อมแซมและพัฒนาระบบจัดการมิเตอร์น้ำ นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมนักการภารโรง 100 คนจาก 60 โรงเรียนเกี่ยวกับการประหยัดน้ำ

เคปทาวน์ยังมีการเจรจาหารือให้สวนสาธารณะและสนามกอล์ฟ 95 แห่งหันมาใช้ระบบน้ำที่มาจากการบำบัดน้ำเสียแทนการใช้น้ำดื่มในระบบการชำระล้างทำให้เป็นการประหยัดน้ำหลายล้านแกลลอนต่อปี โครงการประหยัดน้ำของเมืองนี้ยังทำให้พวกเขาพักโครงการเขื่อนใหม่เอาไว้ก่อนด้วย

ตัวอย่างที่ 3 เมือง โซโรคาบา บราซิล การจัดการน้ำเน่าเสีย

ประชาชนเมืองโซโรคาบาต่างก็ช่วยกันทำความสะอาดแม่น้ำของเหมืองที่เต็มไปด้วยมลภาวะจากอุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่ และของเสีย พวกเขาเก็บขยะจากแม่น้ำโซโรคาบาได้ 228 ก.ก. ในช่วงเดือน มิ.ย. 2558 คนงานเทศบาลจะทำงานเก็บกวาดดินโคลน ใบไม้ และกิ่งไม้ หนัก 10 ตันอย่างสม่ำเสมอ และมีการนำมารีไซเคิลภายในเดือนนั้น

พวกเขายังมีความพยายามเปลี่ยนแปลงพื้นที่รอบแม่น้ำให้กลายเป็นสถานที่สวยงามแทนที่จะเป็นแหล่งขยะ มีการก่อสร้างสวนสาธารณะรอบๆ ตลิ่งแม่น้ำเพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและสันทนาการในยามที่แม่น้ำสามารถไหลได้ตามปกติ อีกทั้งยังกลายเป็นที่คอยเก็บกักน้ำไว้เวลาที่มีน้ำหนุนสูง นอกจากนี้ยังมีการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสัตว์ด้วย

ตัวอย่างที่ 4 เมืองไบรา โมซัมบิค ทีมใหญ่ วิสัยทัศน์ไกล

ไบราเมืองใหญ่อันดับสองของโมซัมบิค เป็นเมืองท่าที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำพังกัวในจุดที่แม่น้ำบรรจบกับทะเลอินเดีย ด้วยความช่วยเหลือของชาวดัทช์รวมถึงกลุ่มเอ็นจีโอชื่ออัลเทอร์รา ได้จัดให้มีแผนการ Beira 2035 ทีใช้รับมือกับปัญหาเร่งด่วนในเรื่องน้ำขังที่มาจากพายุฝนซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมและการทำลายหน้าดิน เป็นปัญหาอันตรายต่อโครงสรางพื้นฐานและต่อสุขภาวะของมนุษย์คนในเมือง

แผนการ Beira 2035 ยังใช้โอกาสนี้ในการวางแผนขยายเมืองเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นจึงต้องมีที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น ทำให้เมืองไบราระดมทุนในการป้องกันน้ำท่วมโดยการดึงดูดนักลงทุน 300 คนที่มีความสนใจในการพัฒนาพื้นที่เขตท่าเรือ เงินที่ได้จะนำไปขุดลอกคลองท่าเรือ สร้างที่อยู่อาศัยราคาถูก พัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่น พัฒนาการเชื่อมโยงระบบขนส่ง ระบบการระบายน้ำ และขยายบริการจัดหาน้ำ

ตัวอย่างที่ 5 กรุงลิมา เปรู เตือนประชาชนตระหนักรู้วิกฤตน้ำ

ลิมาเป็นเมืองทะเลทรายที่มีฝนตกน้อยมาก ปริมาณเฉลี่ย 1 ลบ.ซม.ต่อปี ในขณะที่เมืองหลวงของเปรูแห่งนี้มีประชากรอยู่ถึง 8 ล้านคน ทำให้พวกเขาต้องอาศัยแหล่งน้ำจากธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอนดีสที่ละลาย แต่ธารน้ำแข็งก็มีขนาดลดลงทุกๆ ปี มีคนประเมินว่ามันอาจจะหมดไปภายในอีก 40 ปีข้างหน้า

ในปี 2550 เจ้าหน้าที่ทางการกรุงลิมาตัดสินใจแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำด้วยการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน กระทรวงการเคหะ ก่อสร้าง และสุขาภิบาล จึงร่วมมือกับกลุ่มเครือข่ายวางแผนจัดการน้ำในละตินอเมริกาและแคริบเบียน (WSP-LAC) เปิดโครงการริเริ่มชื่อวัฒนธรรมเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการประหยัดน้ำและทำให้ประชาชนตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยวางเป้าหมายเป็นคนอายุ 12-30 ปี ที่มีความตระหนักในปัญหานี้น้อยมาก มีการแข่งขันการเขียนระดับชาติสำหรับเด็กเกี่ยวกับเรื่องน้ำและมีการใช้สื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องน้ำในโรงเรียนของกรุงลิมาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นเรื่องน้ำ

 

เรียบเรียงจาก

Five of the best water-smart cities in the developing world, The Guardian, 29-02-2016

http://www.theguardian.com/global-development-professionals-network/2016/feb/29/five-of-the-best-water-smart-cities-in-the-developing-world

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท