Skip to main content
sharethis
รายงานพิเศษจาก TCIJ แกะรอยความเหลื่อมล้ำในกำลังพลสำรอง ตั้งแต่การคัดเลือก ระหว่างฝึก และการปลดประจำการ  งานวิจัยเผย รด. ฝึกเบา เพราะไม่ได้หวังให้ออกรบ จบแล้วยศสูงกว่า ครูฝึกระบุทหารเกณฑ์ฝึกหนักเพราะหวังให้รบจริง ชี้พลทหารควรเป็นชนชั้นล่างเพราะสั่งการง่ายกว่า ฝึกทหารเท่ากับดัดนิสัย พบพลทหารร้อนตายระหว่างฝึกปีละนับสิบ สำนักระบาดวิทยา คาดยังน้อยเกินจริง ด้านนักวิชาการแนะโมเดลทหารอาสา สร้างคุณภาพกำลังพลได้มากกว่า 
 
11 เม.ย. 2559 เว็บไซต์ TCIJ นำเสนอรายงานพิเศษ 'เทียบความเหลื่อมล้ำ'ทหารเกณฑ์-รด.' เผชิญอคติ ฝึกหนัก ยศต่ำ ออกรบก่อน' ระบุว่าราวเดือนเมษายนของทุกปี คือช่วงเทศกาลเกณฑ์ทหารของชายไทย เป้าหมายหลักเพื่อเตรียมกำลังพลสำรองให้พร้อมรับมือต่ออริราชศัตรู  แต่หากไม่นับรวมความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้  กล่าวได้ว่าประเทศไทยพ้นจากสภาวะสงครามครั้งใหญ่ นับแต่ส่งกำลังเข้าร่วมในสงครามเวียดนาม  ทว่าพระราชบัญญัติกำลังพลสำรองที่ผ่านวาระไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558  นำมาสู่คำถามที่ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีกำลังพลทหารมากขนาดนั้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด ปัจจุบัน ประเทศไทยมีทหารกองหนุนอยู่ราว 12 ล้านคน
 
ความยากลำบากและการละเมิดสิทธิ์ทหารเกณฑ์จากครูฝึกและรุ่นพี่  ที่มีข่าวคราวถึงขั้นเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง กอปรกับความพรั่นพรึงที่จะต้องถูกส่งตัวไปประจำการในพื้นที่เสี่ยง เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ชายไทยจำนวนมากที่ถึงวัยเกณฑ์ทหาร หลีกเลี่ยงการเข้าประจำการด้วยหลากหลายวิธี ตั้งแต่ขั้นตอนพื้นฐานที่สุดคือการสมัครเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหาร (รด.)ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  หรือจ่ายเงินสินบนให้กับสัสสดีเพื่อให้ออกเอกสารรับรองโรคที่เข้าข่ายโรคที่ขัดต่อการรับราชการทหาร  ซึ่ง TCIJ เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ (อ่าน ‘ทหารเกณฑ์’ความเหลื่อมล้ำในกองทัพ ชี้ระบบและเงินเอื้อลูกคนรวยรอดทหาร)
 

รด. VS ทหารเกณฑ์

พิจารณาเฉพาะการเรียน รด. ซึ่งแทบจะกลายเป็นเรื่องที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า เหตุผลหลักของนักเรียนชายที่เข้าเรียน รด. คือ ไม่อยากเสี่ยงจับใบดำใบแดงเมื่อถึงคราวการเกณฑ์ทหาร  รวมถึงเพื่อให้แน่ใจว่าตนจะไม่ต้องเข้าไปอยู่ในระบบกองทัพ และเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิต่างๆ ดังเช่นภาพการทำร้ายร่างกายพลทหารจนเสียชีวิต สำหรับนักศึกษาวิชาทหารโดยทั่วไปแล้วมีหลักเกณฑ์ว่า ถ้าสำเร็จชั้นปีที่ 1 จับสลากเป็นทหาร 1 ปี 6 เดือน ถ้าสมัคร ก็จะเป็นเพียง 1 ปี สำเร็จชั้นปีที่ 2 จับสลากเป็นทหาร 1 ปี ถ้าสมัครจะเป็นเพียง 6 เดือน ส่วนผู้ที่สำเร็จชั้นปีที่ 3 ให้ขึ้นทะเบียนและนำปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 คือ ไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือก
 
ในด้านหนึ่ง  กฎกติกาเหล่านี้เอื้ออำนวยลูกหลานชนชั้นกลางให้ไม่ต้องเป็นทหาร  หรือเป็นในระยะเวลาสั้น มากกว่าจะเอื้อลูกหลานชนชั้นล่าง หรือผู้ที่เข้าไม่ถึงการศึกษา หรือไม่มีโอกาสเรียนวิชาทหาร   งานวิจัยจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง’ความเหลื่อมล้ำในการผลิตกำลังพลสำรองของกองทัพ’ เผยแพร่เมื่อปี 2557 โดย ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ยิ่ง ได้ศึกษาเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำในกระบวนการผลิตกำลังสำรองระหว่างนักศึกษาวิชาทหารและพลทหารกองประจำการ พบความเหลื่อมล้ำปรากฎชัดเจนด้วยกัน 3 ด้าน ตั้งแต่
 
กระบวนการคัดเลือก เอื้อให้ผู้ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาและมีทุนทรัพย์มากพอที่จะเช้าเรียนหลักสูตร รักษาดินแดน  รอดพ้นจากการเป็นทหาร สำหรับค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรการเรียนรักษาดินแดนประมาณปีละ 600 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกประมาณ 1,200 บาท ยังไม่นับรวมค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายปลีกย่อย
 
การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม เมื่อเทียบระหว่างนักเรียน รด. และพลทหาร พบว่าการฝึกส่วนใหญ่ นักเรียน รด.จะเน้นการเรียนภาคทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ มีเป้าหมายเพื่อเป็นกองหนุนมากกว่าลงพื้นที่ประจำการหรือเป็นกองหน้า ขณะที่พลทหารกลับเน้นฝึกปฏิบัติกลางแจ้งมากกว่าและมีบทลงโทษทางวินัยที่เคร่งครัด  
 
ความเหลื่อมล้ำในการบรรจุเป็นกำลังพลสำรอง แม้จุดมุ่งหมายของกระบวนการฝึกกำลังสำรองทั้งสอง ประเภทคือการบรรจุเข้ากองทัพในหน่วยกำลังสำรอง แต่เมื่อปลดประจำการแล้วนักเรียน รด. จะได้รับยศสิบเอก (ซึ่งจัดว่าเป็นนายทหารชั้นประทวน) ขณะที่พลทหารหรือทหารเกณฑ์ จะได้รับเพียงยศพลทหารลูกแถว กล่าวคือ  นักเรียน รด. ฝึกมาเพื่อเป็นผู้บังคับบัญชาทหารเกณฑ์
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net