เกษียร เตชะพีระ: จากจุดกำเนิดเสรีนิยมประชาธิปไตยถึงทุนนิยมเหลื่อมล้ำของ คสช.

ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ อธิบายจุดกำเนิดของเสรีนิยมประชาธิปไตย การที่มันเข้ากันไม่ได้กับระเบียบอำนาจวัฒนธรรมของไทย ประชาธิปไตยจึงไม่อาจลงหลักปักฐานได้ 5 ปี คสช.ทำลายทั้งเสรีนิยมและประชาธิปไตย แล้วสร้างระบบเศรษฐกิจลูกผสมระหว่างเสรีนิยมใหม่กับทุนนิยมเหลื่อมล้ำขึ้นมา

  • การถือกำเนิดของเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีที่มาจากหลักการเสรีนิยมและหลักการประชาธิปไตยที่กำเนิดและคลี่คลายมาในประวัติศาสตร์ตะวันตกแยกต่างหากจากกัน ก่อนจะมารวมกันในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ผ่านการเอาชนะลัทธิคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น แต่สิ้นสงครามเย็นไม่นานก็เริ่มปริแยกจากกันในสภาพการณ์ปัจจุบัน
  • วิญญาณของประชาธิปไตยไม่เข้ากันกับระเบียบอำนาจวัฒนธรรมเดิมในสังคมไทย จึงทำให้ประชาธิปไตยไม่สามารถลงหลักปักฐานได้
  • การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติทำลายทั้งเสรีนิยมและประชาธิปไตย
  • เกมประชาธิปไตยใหม่คือการนิยามว่าใครคือประชาชน
  • การถือกำเนิดและล่มสลายของเสรีนิยมใหม่ในบริบทเศรษฐกิจการเมืองโลกและคลี่คลายไปอย่างไม่สม่ำเสมอกันในแต่ละประเทศ
  • ระบบเศรษฐกิจของไทยภายใต้ คสช. เป็นลูกผสมระหว่างเสรีนิยมใหม่กับทุนนิยมเหลื่อมล้ำ

เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แฟ้มภาพ ประชาไท)

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ในการอบรมโครงการโรงเรียนนักข่าวของศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมืองหรือ TCIJ ได้เชิญ เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาบรรยายในหัวข้อ ‘ประชาธิปไตยใหม่และเสรีนิยมใหม่’ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ว่าด้วยที่มาของเสรีนิยมประชาธิปไตย

ระเบียบการเมืองที่เรียกว่าประชาธิปไตยอย่างที่เรารู้จักในชีวิตของเรา คือระเบียบการเมืองที่เกิดในตะวันตกและถือเป็นแม่แบบของการคิดเรื่องประชาธิปไตย คือระบอบที่เรียกว่าเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) มันมาจาก 2 แนวคิด 2 ปรัชญา 2 โจทย์การเมือง และ 2 คำตอบการเมืองที่มุ่งจะตอบโจทย์ต่างกันของกลุ่มคนที่ต่างกัน มันมาจากก้อนเสรีนิยมก้อนหนึ่งและก้อนประชาธิปไตยก้อนหนึ่ง แล้วในเงื่อนไขประวัติศาสตร์ที่แน่นอน ที่เอื้ออำนวยจำนวนหนึ่งประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 มันมาประกบประกอบเข้าด้วยกันได้ ดังนั้น การจะเข้าใจประชาธิปไตยในปัจจุบันอยู่ในสภาวะปัญหาอย่างไร จะต้องเข้าใจรากที่มาของมันก่อน

จุดเน้นของเสรีนิยม (liberalism) คือสิทธิและเสรีภาพเหนือร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของบุคคลพลเมืองและหลักนิติธรรม ซึ่งแปลให้ง่ายที่สุดคือรัฐบาลมีอำนาจจำกัด (limited government) แปลว่าไม่ใช่รัฐบาลที่มีอำนาจสัมบูรณ์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จำกัดด้วยอะไร? จำกัดด้วยสิทธิและเสรีภาพเหนือร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคล แทนที่อำนาจจะปกแผ่ไปทั่วทั้งหมด กลับถูกขีดเส้น และเส้นที่อำนาจรัฐห้ามข้ามมาคือสิทธิและเสรีภาพเหนือร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคล ทันทีที่คุณสถาปนาการปกครองที่มีเส้นคั่นอันนี้ขึ้น ทันทีที่คุณเห็นว่ารัฐควรมีอำนาจจำกัดไม่ใช่สัมบูรณ์ คุณมีหลักนิติธรรม (the rule of law)

ฉะนั้นจึงอาจพูดได้ว่าเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เรายังมีรัฐที่มีอำนาจไม่จำกัดคือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) ทันทีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเราจึงมีรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด (limited government) บุคคลคนไทยทั้งหลายเริ่มมีสิทธิเหนือร่างกายและทรัพย์สินของตนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเราเรียกว่าหลักนิติธรรม (the rule of law)

ภาพหมุดคณะราษฎร กับข้อความ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ (ซึ่งหมุดดังกล่าวเดิมอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และได้หายไปกว่า 2 ปีแล้ว)

ทิศทางของเสรีนิยมก็คือจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง เราจะรู้ได้ทันทีว่านี่ไม่ใช่เสรีนิยมเมื่อผู้ปกครองมีอำนาจไม่จำกัด (unlimited or absolute power) แปลว่าเขาอยากจะยืดยาวหรือหดสั้นอำนาจของตนแค่ไหนก็ได้ วันนี้เขาขอแค่ตรวจอาวุธ วันต่อไปขอตรวจร่างกาย ต่อไปเขาขอตรวจเลือด ตรวจดีเอ็นเอ ตรวจอีเมล์ ประเด็นมันไม่เกี่ยวกับว่าเราทำความผิดหรือไม่ผิด อย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลมักพูดว่า “ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่ต้องกลัวถูกตรวจ” แต่ประเด็นคือมันมีที่บางที่ซึ่งรัฐไม่ควรล่วงล้ำเข้ามา ตรงนั้นเราเรียกกันว่าพื้นที่ส่วนตัว (private space) ดังนั้น ทิศทางของเสรีนิยมคือการจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง เนื้อหาแสดงผ่านองค์ประกอบด้านรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตย

หัวใจของรัฐธรรมนูญคือหยุดอำนาจให้นิ่งและวิธีหยุดอำนาจให้นิ่งคือคุณเขียนระบุขอบเขตของอำนาจว่าทำอะไรได้ทำอะไรไม่ได้ไว้เป็นตัวอักษร ซึ่งมันจะช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองจากอำนาจรัฐ เน้นความจำเป็นที่สถาบันต่าง ๆ ต้องตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างซับซ้อนเพื่อป้องกันการสะสมรวมศูนย์รวบริบผูกขาดฉวยใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้กุมตำแหน่งรัฐบาล มีนัยถึงการปกครองเพื่อประชาชน (government for the people) วิญญาณเดิมของเสรีนิยมคือไม่ไว้ใจมนุษย์หน้าไหนที่เมื่อได้กุมอำนาจเด็ดขาดเข้าแล้วจะไม่ชั่วร้าย ดังนั้น เพื่อประชาชน จึงควรต้องจำกัดอำนาจเหล่านั้นไว้

ทางฝั่งประชาธิปไตย (democracy) จุดเน้นคือความเสมอภาคและอำนาจอธิปไตยของประชาชน ไอเดียง่าย ๆ คือเมื่อคนเราเท่ากันอำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข เป็นการปกครองโดยเสียงข้างมาก ตรงนี่แหละที่ทำให้ประชาธิปไตยเป็นเรื่องรับได้ยาก เพราะการรับประชาธิปไตยคือการยอมรับว่าฉันเท่ากับคุณ และคุณและฉันเท่ากับทุก ๆ คนไม่เลือกหน้า

ทิศทางของประชาธิปไตยคือกระจายอำนาจให้ประชาชน ในเมื่อคุณเชื่อว่าคนเท่ากัน อำนาจจึงควรจะกระจายออกไปให้คนทั้งหลายด้วย และแสดงออกผ่านองค์ประกอบด้านประชาชนของระบอบประชาธิปไตยซึ่งมุ่งให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของและใช้อำนาจรัฐด้วยตัวเองอย่างเสมอภาคกัน เน้นบทบาทของพลเมืองธรรมดาและการเข้าร่วมของมวลชนผ่านการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม สม่ำเสมอ และกระบวนการเคลื่อนไหวอื่น ๆ โดยรวมตัวจัดตั้งกันเป็นพรรคการเมือง มีนัยถึงการปกครองโดยประชาชน (government by the people)

ทีนี้เราต้องกลับไปที่การปกครองเพื่อประชาชน (government for the people) ก่อนหน้านี้

เมื่อวิญญาณของประชาธิปไตยไม่เข้ากับระเบียบอำนาจวัฒนธรรมไทย

วิธีเข้าใจเรื่องนี้ที่ง่ายที่สุด สมมติท่านทั้งหลายเป็นประชาชน ถ้าบอกว่าผมจะปกครองเพื่อพวกคุณ โอเคหรือเปล่า? การปกครองเพื่อพวกคุณไม่เหมือนกันกับปกครองโดยพวกคุณ ทั้งนี้เพราะพวกคุณโง่ พวกคุณชั่ว พวกคุณเห็นแก่ตัว ผมรักพวกคุณมากเลย อยากจะปกครองเพื่อพวกคุณ แต่ถ้าให้พวกคุณปกครองกันเองโดยพวกคุณเอง ฉิบหายนะ เพราะพวกคุณยังโง่อยู่ ยังชั่วอยู่ ดังนั้น ที่ถูกต้องจึงควรจะเป็นการปกครองเพื่อพวกคุณแต่โดยผม เพราะผมฉลาดกว่า ดีกว่า รักชาติกว่า โอเคหรือเปล่า?

ภาพขณะที่ประธานาธิบดีลินคอล์นปราศรัยเมื่อปี ค.ศ.1865 

หลักประชาธิปไตยของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นที่ว่า “ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน”  (government of the people, for the people, and by the people) มันทำในเมืองไทยยากมาก เพื่อประชาชนง่ายที่สุด แม้เขาจะทำสิ่งตรงข้ามกับที่พูด แต่มันง่ายที่จะบอกว่าข้าพเจ้าปกครองเพื่อพวกคุณ แต่ถ้าปกครองโดยพวกคุณ อันนี้ลำบาก เพราะพวกคุณ/ประชาชนบกพร่อง ขาดคุณสมบัติต่าง ๆ ดังนั้น สำหรับเมืองไทย ประชาธิปไตยคือการปกครองเพื่อประชาชน แต่ต้องปกครองโดยคนดี คนฉลาด คนรักชาติจำนวนน้อย (government for the people but by the select few)

ส่วนของประชาชน (government of the people) ไม่ได้หรอกครับ เพราะรัฐบาลทุกชุดของประเทศเราคือรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยความเข้าใจพื้นฐานทางการเมืองวัฒนธรรมของสังคมไทย ทำไมหลักประชาธิปไตยถึงเข้ามาอยู่ในเมืองไทยยาก ทั้งที่หลักการมันง่ายมาก รัฐบาลเพื่อประชาชน โดยประชาชน ของประชาชน? ปมอยู่ตรงวิญญาณของมันเข้ากันไม่ได้กับระเบียบอำนาจและวัฒนธรรมกระแสหลักของไทย ซึ่งชัดเจนว่าเพื่อพวกคุณ ได้ แต่โดยพวกคุณ ไม่ได้ และของพวกคุณ ก็ไม่ได้

การรวมตัวของเสรีนิยมและประชาธิปไตย

ที่บอกว่าเสรีประชาธิปไตยซึ่งเป็นระเบียบการเมืองหลักของประชาธิปไตยในโลกตะวันตกที่เป็นที่ยอมรับ มาจาก 2 หลักที่ไม่เหมือนกัน การประกบประกอบเข้าด้วยกันของเสรีนิยมกับประชาธิปไตยกลายเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้นมันมีเงื่อนไขจำนวนหนึ่ง  ต้องพิจารณาความเป็นมาที่ว่าหน้าที่บทบาททางประวัติศาสตร์ของ 2 อันนี้ไม่เหมือนกัน จุดร่วมคืออะไร? ปมขัดแย้งคืออะไร? การ Edit ตัวเองเพื่อประกบประกอบเข้าด้วยกันได้คืออะไร? และมันค้ำประกันกันและกันอย่างไร?

อะไรคือหน้าที่และบทบาทในประวัติศาสตร์ของ 2 ระบอบนี้ การกำเนิดขึ้นของเสรีนิยมและประชาธิปไตยอยู่ในบริบทของการต่อสู้ของชนชั้นต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ของสังคมตะวันตก เสรีนิยมในทางเป็นจริงคือเครื่องมือของชนชั้นกลางผู้พอจะมีอำนาจ ทรัพย์ และการศึกษา เวลาพวกเขาสู้กับรัฐสมบูรณาณาสิทธิราชย์ เสรีนิยมคือเครื่องมือของคนกลุ่มนี้ กลุ่มคนกลุ่มแรกที่เรียกร้องเสรีนิยมคือพวกขุนนางซึ่งทนรับระเบียบอำนาจที่กษัตริย์มีอำนาจสัมบูรณ์ต่อไปไม่ได้แล้ว และต้องการจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง ดังนั้นก็สู้กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสู้กับคนข้างล่างเสียงข้างมากไปด้วยในขณะเดียวกัน

วิธีคิดแบบเสรีนิยมจึงคิดว่ารัฐเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็น ชั่วร้ายตรงไหน ไม่เห็นหรือว่ารัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ริบทรัพย์คุณได้ ในความหมายนี้รัฐเป็นความชั่วร้าย แต่ขณะเดียวกันมันก็จำเป็น เพราะถ้าไม่มีรัฐ พวกคนจนก็จะยกพวกแห่กันมาปล้นทรัพย์คุณ พวกเสรีนิยมไม่ต้องการรัฐที่มีอำนาจมากเกินไปจนมาริบหรือจำกัดอำนาจการใช้ทรัพย์ของตน ขณะเดียวกันก็ต้องการรัฐเอาไว้เพื่อกดปรามคนชั้นล่างที่อาจมาแย่งชิงทรัพย์ของตนได้

ส่วนประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือของชนชั้นล่างผู้ขาดไร้อำนาจ ทรัพย์ และการศึกษา คนเหล่านี้คือคนที่ยืนยันว่าคนเท่ากัน เมื่อคนเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข พวกเขาโคตรชอบระเบียบนี้เลย เพราะพวกเขามีตัวเลขมากกว่า ระบอบนี้มันดีสำหรับคนชั้นล่าง เพราะสังคมในโลกนี้คนชั้นล่างมีตัวเลขมากกว่า เพื่อสู้กับชนชั้นนำทางอำนาจและชนชั้นกลางเสียงข้างน้อย

แต่เสรีนิยมกับประชาธิปไตยมันมีจุดร่วมบางอย่างอยู่คือต่อต้านระเบียบสังคมอินทรียภาพ (organic society; organicism)ทั้งคู่จากจุดยืนของปัจเจกบุคคล (individuals; individualism) ในพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ของรัชกาลที่ 1 สะท้อนสังคมแบบอินทรียภาพว่า

อันพระนครทั้งหลาย  ก็เหมือนกับกายสังขาร

กษัตริย์คือจิตวิญญาณ  เป็นประธานแก่ร่างอินทรีย์

มือเบื้องซ้ายขวาคือสามนต์  บาทาคือพลทั้งสี่

อาการพร้อมสามสิบสองมี  ดั่งนี้จึงเรียกว่ารูปกาย

ฝ่ายฝูงอาณาประชาราษฎร์  คือศาตราวุธทั้งหลาย

ถึงผู้นั้นประเสริฐเลิศชาย  แม้นจิตจากกายก็บรรลัย

อาวุธไม่มีผู้ถือ  ควรฤาจะวิ่งเข้ารบได้...

ดังนั้นวิธีคิดแบบอินทรียภาพเปรียบเทียบรัฐหรือเมืองเป็นร่างกาย กษัตริย์คือจิตวิญญาณ องคาพยพทั้งหลายคือขุนนาง ทหาร ประชาชนอยู่ล่างสุด จะไว้ตรงไหนขึ้นกับวัฒนธรรม แต่ของเราประชาชนคืออาวุธ

ทั้งเสรีนิยมและประชาธิปไตยไม่เอาสิ่งนี้ แต่เอาปัจเจกบุคคล ปัจเจกบุคคลมาก่อน เกิดก่อน สำคัญกว่ารัฐหรือสังคมส่วนรวม รัฐและสังคมมีหน้าที่รับใช้ปัจเจกบุคคล ไม่ใช่ปัจเจกบุคคลมีหน้าที่รับใช้รัฐและสังคมหรือแม้ กระทั่งชาติ จุดร่วมของเสรีนิยมและประชาธิปไตยคือกบฏต่อวิธีคิดสังคมอินทรียภาพนี้ จึงยากมากที่แนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยจะเข้ามาอยู่ในสังคมไทย ที่ส่วนรวมมาก่อนส่วนตัว รัฐและชาติบ้านเมืองสำคัญกว่าบุคคล ไม่มีความเฉลียวคิดเลยว่าทำไมรัฐและชาติบ้านเมืองไม่รับใช้บุคคลบ้าง  ทำไมไม่มองว่ารัฐและชาติบ้านเมืองมีขึ้นเพื่อให้บุคคลมีเสรีภาพ เจริญงอกงามทางสติปัญญา ทางวัฒนธรรม เปิดพื้นที่ให้กับบุคคลได้พัฒนาตัวเองได้ มันพลิกกลับกัน แต่ปัจเจกบุคคลแบบเสรีนิยมกับปัจเจกบุคคลแบบประชาธิปไตยไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

ปมขัดแย้งและการ Edit ตัวเอง

ปมขัดแย้ง ขณะที่เสรีนิยมเน้นเสรีภาพทางความคิดและเศรษฐกิจของผู้มีทรัพย์ ประชาธิปไตยเน้นความเสมอภาคทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ดังนั้น มันจึงทะเลาะกันไม่หยุด จากการขัดกันตรงนี้ (freedom vs. equality) เพื่อจะมาอยู่ด้วยกันในระบอบเสรีประชาธิปไตย มันต้อง edit ตัวเองทั้งคู่ กล่าวคือ

เสรีนิยม edit [การสงวนสิทธิ์เลือกตั้งไว้ให้เฉพาะคนที่มีทรัพย์กับการศึกษาทิ้ง] สิ่งที่ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) เรียกร้องต้องการคือสิ่งนี้นั่นแหละ เสรีนิยมต้อง edit อันนี้ทิ้งแล้วยอมรับ 1 คน 1 เสียงเท่ากัน เป็นการเปลี่ยนครั้งใหญ่ของเสรีนิยมเพื่อไปสู่การจับมือกับประชาธิปไตย

ส่วนข้างฝ่ายประชาธิปไตยก็ edit ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจทิ้ง เหลือแต่สิทธิเสมอภาคที่จะแสดงความคิดเห็นและทางการเมือง คือยอมให้คนรวยไม่เท่ากัน แต่คนต้องเท่ากันในทางการเมือง จึงทำให้อยู่กับเสรีนิยมได้ และกลายเป็นระเบียบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy)

สุดท้ายมันมีด้านที่เกื้อกูลกัน การที่เสรีนิยมกับประชาธิปไตยมาอยู่ด้วยกันมีประโยชน์อะไรต่อกัน? สิ่งที่เกื้อกูลกันคือมันค้ำประกันกันและกัน

เสรีนิยมค้ำประกันประชาธิปไตยด้วยการประกันให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม (free and fair elections) ยืนยันเรื่องสิทธิเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยได้

ส่วนประชาธิปไตยก็ค้ำประกันเสรีนิยม ค้ำประกันสิทธิและเสรีภาพโดยยืนยันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย (popular participation in legislation) เพราะตัวที่คุกคามสิทธิเสรีภาพที่สุดคือกฎหมายที่ออกโดยรัฐ  การคิดเช่นนี้ตั้งอยู่บนฐานคติที่เชื่อว่าประชาชนคงไม่ออกกฎหมายมาตัดหัวตัวเอง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของตัวเอง  ดังนั้นทันทีที่กระบวนการออกกฎหมายหลุดไปอยู่ในมือของคนที่ไม่เกี่ยวกับพวกคุณ ไม่ใช่ตัวแทนของคุณที่คุณเลือกตั้งมาเอง คุณก็เสร็จ เพราะพวกเขาอื่นเหล่านั้นจะออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของคุณ โดยที่คุณไม่มีสิทธิไปขวางสักแอะ การเสียประชาธิปไตยจึงทำลายสิทธิเสรีภาพในตัวมันเอง อันนี้คือด้านที่เกื้อกูลและจำเป็นต่อกันของเสรีนิยมและประชาธิปไตย

พูดให้ถึงที่สุดคุณรักษาประชาธิปไตยไว้ได้ยากถ้าไม่มีเสรีนิยม และคุณรักษาเสรีนิยมไว้ได้ยากถ้าไม่มีประชาธิปไตย

การแยกข้างของเสรีนิยมกับประชาธิปไตย

วิธีทำความเข้าใจเรื่องนี้ต่อไปคือทำไมเสรีประชาธิปไตยมันเกิดวิกฤต? หลังจากที่มันรุ่งโรจน์ช่วงหลังสงครามเย็นเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย จีนหันมาเดินแนวทางทุนนิยม คนปลื้มระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยมาก คิดว่านี่คือคำตอบสุดท้ายทางการเมืองของมนุษยชาติ ไม่มีคู่แข่งแล้ว แต่ภายในเวลา 10 ปีหลังจากนั้น มันเกิดปัญหาขึ้นทั่วโลก ถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ 18-19 ติดต่อกันที่องค์การ Freedom House ซึ่งมีหน้าที่วัดปรอทเสรีนิยมประชาธิปไตยทั่วโลกบอกว่า เสรีนิยมประชาธิปไตยตกต่ำมาตลอด 19 ปี คำถามคือมันเกิดอะไรขึ้น?

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเสรีนิยมกับประชาธิปไตยมันแยกข้างออกห่างต่างหากจากกัน พอมันแยกข้าง แทนที่คุณจะได้เสรีนิยมประชาธิปไตย คุณได้เสรีนิยมแต่เสียประชาธิปไตยไป มันจึงไม่เป็นประชาธิปไตย (undemocratic liberalism) พวกที่แยกประชาธิปไตยไป คุณได้ประชาธิปไตย แต่เสียเสรีนิยม (illiberal democracy)

ตัวอย่างทางอเมริกาก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะขึ้นมานั้น อยู่ใต้การปกครองโดยประธานาธิบดีพรรคเดโมแครตต่อกันหลายปี มันกลายเป็นสังคมที่ประชาธิปไตยไส้กลวง (hollowed-out democracy) กล่าวคือยอมรับแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่เต็มตัว แล้วบรรดาคนงาน คนชั้นกลางในอเมริกาพบว่าภายใต้ระเบียบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ทุนใหญ่ทั้งหลายหนีไปลงทุนในจีนในเม็กซิโกหมด พวกเขากลายเป็นคนตกงาน กล่าวคือมีประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งอยู่ แต่ไม่ว่าจะเลือกเดโมแครตหรือรีพับลิกันก็เดินตามแนวทางเสรีนิยมใหม่เหมือนกัน ปล่อยให้ทุนหนีไปต่างประเทศตลอดเวลา ทิ้งให้ตกงานอยู่ในอเมริกา หนักกว่านั้นคือเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนไม่มีโอกาสเข้าไปกำหนดนโยบาย แต่ถูกกำหนดโดยกลุ่มทุนใหญ่ จึงเป็นเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ของชนชั้นนำเท่านั้น อันนี้คือภาวะก่อนทรัมป์ขึ้นที่เรียกได้ว่าเสรีนิยมที่ไม่ประชาธิปไตยหรือ undemocratic liberalism

ทรัมป์ขึ้นมาเพราะเขาเล่นบทกบฏ เขาประกาศว่าไม่เอาโลกาภิวัตน์ ไม่เอาเสรีนิยมใหม่ ฐานเสียงคือคนอเมริกันที่ตกงาน ตกฐานะไป เพราะนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้านี้ ทรัมป์ประกาศว่าเขารักคนเหล่านี้ รักคนที่ไม่มีการศึกษา เพราะนี่คือคนที่ถูกรัฐบาลก่อนหน้านี้ทอดทิ้งในแง่เศรษฐกิจ ก็เลยกลายเป็นประชานิยมทางการเมืองหรือ political populism

สังเกตหรือไม่ครับ พอรัฐบาลเดโมแครตก่อนหน้านั้นแยกประชาธิปไตยออกไป เหลือแต่เสรีนิยม มันก็ทำให้ประชาธิปไตยหมดความหมาย เป็นเสรีนิยมที่ไม่ประชาธิปไตย undemocratic liberalism คือเลือกใครก็ได้นโยบายแบบเก่าหมด ต่างกันไม่มาก พอถึงจุดหนึ่งมันพลิก ได้ทรัมป์ โดยใช้ประชานิยมทางการเมือง ถึงจุดนั้นคุณได้ illiberal democracy คือประชาธิปไตยไม่เสรี ทรัมป์มาโดยคนที่ตกรถไฟเศรษฐกิจขบวนเสรีนิยมใหม่ ทรัมป์มาจากกระแสประชาธิปไตย

แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งทรัมป์ก็เริ่มจำกัดสิทธิเสรีภาพของคน กล่าวคือพอเสรีนิยมกับประชาธิปไตยแยกข้างกัน อยู่สักพักมันจะพลิกกลับ และที่มันพลิกกลับ มันพลิกกลับไปเป็นอีกฝั่งหนึ่ง พูดอีกอย่างก็คือ ทั้งเสรีนิยมที่ไม่ประชาธิปไตย (undemocratic liberalism) และประชาธิปไตยไม่เสรี (illiberal democracy) ต่างก็ไม่มั่นคงทั้งคู่ พอเสรีนิยมขาดประชาธิปไตยไป มันก็เสรีต่อได้อีกไม่นาน ในทำนองเดียวกันแต่กลับกัน พอประชาธิปไตยขาดเสรีนิยมไป มันก็ประชาธิปไตยต่อได้อีกไม่นานเช่นกัน มันจะเสื่อม และนำไปสู่การสูญเสียทั้งเสรีนิยมและประชาธิปไตยทั้งคู่ไปด้วยกัน

มาดูฝั่งทักษิณบ้าง ระบอบประชาธิปไตยแต่เดิมของเราเป็นประชาธิปไตยที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจนำ จะไม่ทำให้คนชั้นสูงเดือดร้อน จะไม่มีการกระจายงบฯไปช่วยคนชั้นล่างมากเกินไป ทักษิณขึ้นมาก็กระจายรายได้ สร้าง 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ดึงงบส่วนกลางกระจายไปให้ชาวบ้านข้างล่าง ทำให้เป็นที่นิยมมาก พอทำไปได้สักพัก ชนชั้นกลาง ชนชั้นนำก็เริ่มด่า แทนที่จะเอางบไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เศรษฐกิจบูมต่อไป กลับเอาไปให้คนพวกนั้น บ้านเมืองไม่ได้พัฒนา คิดแต่คะแนนเสียงเลือกตั้งของตน ถ้าคุณเดินนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ (economic populism) ไปถึงจุดหนึ่ง คุณจะถูกชนชั้นกลางและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจต่อต้าน แล้วจากนั้นคุณจะใช้กระบวนท่าประชานิยมทางการเมือง (political populism) คือปลุกม็อบ แล้วแบ่งประเทศเป็นประชาชนฝั่งเราที่เรียกว่าไพร่ กับพวกชนชั้นนำอำมาตย์ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นการเมืองจะเดือดพล่านมาก จบลงด้วยรัฐประหาร ซึ่งจะพลิกกลับจาก illiberal democracy (ระบอบทักษิณ = ประชาธิปไตยไม่เสรี) ไปเป็น undemocratic liberalism (ระบอบ คปค. = เสรีนิยมที่ไม่ประชาธิปไตย) คือทำลายประชาธิปไตยลงไป โดยขยายสิทธิเสรีภาพของชนชั้นกลางและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ แต่ระเบียบอำนาจนี้จะไม่ยั่งยืนเพราะในที่สุดเสรีนิยมกับประชาธิปไตยต้องการกันและกัน และสุดท้ายคุณจะไม่ได้ทั้งประชาธิปไตยและเสรีนิยม เหมือนการปกครองในระบอบ คสช. ที่ผ่านมา

ผมคิดว่าระเบียบการเมืองแบบ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ทำลายทั้งเสรีนิยมและประชาธิปไตย ไม่มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในการออกกฎหมาย สิทธิ เสรีภาพ ถูกริบ ลิดรอนไปเรื่อย ๆ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

เกมประชาธิปไตยใหม่คือการนิยามว่าใครคือประชาชน

พูดยากว่าประเทศไทยเคยเป็นประชาธิปไตยเต็มตัวหรือไม่หลัง พ.ศ. 2475 แต่พูดได้ว่าในหลายสิบปีที่ผ่านมีกระบวนการสร้างประชาธิปไตยให้แผ่กว้างออกไปหรือ Democratization คือประชาชนได้มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ๆ สิ่งแรกเวลาคิดถึงประชาธิปไตยคือเลิกคิดถึงมันเป็นของสำเร็จรูป แต่ให้คิดถึงมันเป็นกระบวนการ

อันที่ 2 หัวใจของประชาธิปไตยคือคำว่า ประชาชน ประชาชนเป็นคำกลวงเปล่า (empty signifier) แปลว่ามันอยู่ที่คุณจะแต่งตั้งหรือนิยามใครให้เป็นประชาชน ประชานิยมเป็นยุทธศาสตร์ทางวาทกรรมเพื่อสถาปนาแนวพรมแดนทางการเมืองขึ้นมาระหว่างพวกต่ำต้อยด้อยฐานะกับพวกคณาธิปไตย เวลาที่คุณเล่นเกมประชาธิปไตย สิ่งแรกที่คุณควรทำคือต้องนิยามก่อนว่าประชาชนของคุณหมายถึงใครบ้าง นั่นคือพวกของคุณ คนที่ถูกตัดออกไปว่าไม่ใช่ประชาชน นั่นคือปรปักษ์ผู้อยู่ตรงข้ามกับประชาชน  ประชานิยมคือการเล่นเกมนี้

ยกตัวอย่างช่วงพุทธทศวรรษ 2490 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนิยามประชาชนว่าคือกรรมกร ชาวนา นายทุนน้อย นิสิตนักศึกษา ปัญญาชน ผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ถ้าคุณอยู่ในอันหนึ่งอันใดในนี้คุณคือประชาชน พวกที่เหลือ เช่น จักรวรรดินิยมอเมริกา ศักดินานิยม ทุนนิยมขุนนาง คือชนชั้นปกครอง แล้วพคท.ก็รวมพลังประชาชนทำการปฏิวัติเพื่อโค่นชนชั้นปกครอง มันเริ่มจากการนิยามก่อนว่าใครคือประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประชาธิปไตย เจ้าของอำนาจและใครที่ไม่ใช่ประชาชน

ในระยะใกล้คือ “ประชาชน 19 ล้านเสียง” ของทักษิณ “ประชาชน” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย “มวลมหาประชาชน” ของ กปปส. ประชาชนของพระราชา “ประชาชน” ที่ถูกอ้างช่วงเลือกตั้งว่าประชาชน 1 คนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียง การหันไปเน้นคำว่า “พลเมือง” แทน “ประชาชน” หรือ “ราษฎร” ของบวรศักดิ์ อุวรรณโณตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ฯลฯ นี่คือตัวอย่างของการกำหนดนิยามของ ”ประชาชน” ขึ้นมาใหม่เพื่อรวมพวกและกำหนดปรปักษ์ในระยะใกล้ ซึ่งจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

ถ้าคุณจะเล่นเกมประชาธิปไตยใหม่ คุณเล่นแบบนี้ แทนที่คุณจะปล่อยให้คนอื่นนิยาม คุณนิยามเองหรืออย่างน้อยคุณตั้งคำถามนี้กับคนที่นิยาม “ประชาชน” ทั้งหลาย

ว่าด้วยเสรีนิยมใหม่

สิ่งที่เราเรียกว่าเสรีนิยม มันวิวัฒนาการผ่านการคิดเรื่องหลักอย่างน้อย 5 ช่วงชั้น (layers) มันมีนักคิดต่างรุ่นต่างยุคสมัย 5 ช่วงชั้นด้วยกันที่คิดเรื่องนี้และต่างคนต่างคิดต่างประเด็นกัน

ช่วงชั้นแรกของวิวัฒนาการเสรีนิยมเน้นเรื่องปัจเจกบุคคลมาก่อนรัฐ รัฐประกอบสร้างขึ้นจากสัญญาประชาคมหรือความยินยอมสมมุติในหมู่บุคคลทั้งหลาย และดังนั้นรัฐจึงต้องถูกจำกัดอำนาจจากสิทธิโดยธรรมชาติของบุคคลเหล่านั้น นักคิดที่เป็นหลักหมายตัวแทนของเสรีนิยมช่วงชั้นแรกนี้ได้แก่ John Locke (ค.ศ. 1632-1704)

ช่วงชั้นที่ 2 เน้นเรื่องสิทธิ เสรีภาพทางจิตวิญญาณและเศรษฐกิจ และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน นักคิดที่เป็นหลักหมายตัวแทนของเสรีนิยมช่วงชั้น 2 นี้ได้แก่ Immanuel Kant (ค.ศ. 1724-1804) และ Adam Smith (ค.ศ. 1723-1790)

ช่วงชั้นที่ 3 เน้นเรื่องการพัฒนาของบุคคล บุคคลควรมีพื้นที่ส่วนตัวในการพัฒนาศักยภาพ ค้นหาตัวเอง สร้างตัวอย่างที่อยากจะเป็น นักคิดที่เป็นหลักหมายตัวแทนของเสรีนิยมช่วงชั้นที่ 3 นี้ได้แก่ Wilhelm von Humboldt (ค.ศ. 1767-1835) และ John Stuart Mill (ค.ศ. 1806-1873)

ช่วงชั้นที่ 4 หันไปสนใจประเด็นทางสังคม มุ่งผสานบุคคลกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างสอดรับกลมกลืนเกื้อกูลกัน เห็นว่าควรมีสวัสดิการต่าง ๆ ที่เอื้อเฟื้อให้สังคมส่วนรวมและบุคคลได้พัฒนาเติบใหญ่ไปด้วยกัน มักเรียกเสรีนิยมช่วงชั้นนี้ว่าเสรีนิยมแนวใหม่หรือเสรีนิยมทางสังคม (new liberalism or social liberalism) นักคิดที่เป็นหลักหมายตัวแทนของเสรีนิยมช่วงชั้นที่ 4 นี้ได้แก่ Leonard Trelawney Hobhouse (ค.ศ. 1864-1929) และ John Atkinson Hobson (ค.ศ. 1858-1940)

ช่วงชั้นที่ 5 คือเสรีนิยมที่เน้นเอกลักษณ์กลุ่มและการเมืองเรื่องเอกลักษณ์ (group identity & identity politics) ในแง่กลุ่มชนสังกัดผิวสี เชื้อชาติ เพศสภาพ ศาสนา ต่าง ๆ กัน เป็นต้น ซึ่งเติบใหญ่กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิบนฐานเอกลักษณ์กลุ่มนั้นในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและที่อื่น ๆ ในโลกตะวันตกช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา

ดังนั้น เสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) คือการกลับไปเน้นช่วงชั้นที่ 2 ของเสรีนิยมเรื่องสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน กลับไปหาอาดัม สมิธ แล้วเอาฐานคิดนี้ไปให้ความชอบธรรมกับระเบียบเศรษฐกิจการเมืองที่เรียกว่าทุนนิยมโลกาภิวัตน์

จุดเริ่มต้นง่ายที่สุดในการลองเข้าใจเรื่องนี้คือดูลำดับเหตุการณ์ของกระบวนการโลกาภิวัตน์คู่ขนานไปกับแนวคิดและนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ มันมีด้วยกัน 4 จังหวะ

จังหวะที่ 1 คือก่อน ค.ศ. 1929 ความเชื่อกระแสหลักที่แพร่หลายเห็นว่าตลาดสำคัญที่สุด รัฐชั่วร้าย ตลาดดี ดังนั้น รัฐไม่ควรเข้ามายุ่งกับเศรษฐกิจ ปล่อยให้ตลาดเป็นตัวนำ ผลก็คือตลาดหุ้นนิวยอร์กล่มปีค.ศ. 1929 ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกตลอดคริสต์ทศวรรษ 1930 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ในสยามเนื่องจากราคาข้าวส่งออกตกฮวบ รายได้ของหลวงที่เคยได้ลดน้อยลงมากจึงต้องดุลข้าราชการออก แล้วก็เกิดกระแสความขุ่นเคืองเดือดร้อนแพร่หลายทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปสู่การเมืองในรัชกาลที่ 7

จังหวะที่ 2 พอเจอวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่แล้ว ไอเดียรัฐชั่วร้าย ตลาดดีก็เริ่มเสื่อม ในยุคนั้นไม่ว่าจะซ้ายสุดอย่าง  เลนิน ขวาสุดอย่างฮิตเลอร์ หรือเดินแนวทางปฏิรูปสายกลางอย่างจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ หันกลับไปเน้นรัฐทั้งสิ้น เห็นพ้องกันว่าปล่อยให้ทุนนิยมนำโดยตลาดอย่างเดียว ฉิบหายหมด เลนินบอกว่าต้องทำลายตลาด   ฮิตเลอร์บอกว่าต้องจำกัดตลาด เคนส์บอกว่าต้องแทรกแซงตลาด ดังนั้น ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1930 ลงมาคือการกลับไปเน้นเรื่องรัฐ แล้วบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจคริสต์ทศวรรษ 1930 คือมันนำไปสู่สงครามโลก คนมันไม่มีทางไป จึงหันไปสนับสนุนเดินตามพวกนาซีขวาจัด ฮิตเลอร์เลยขึ้นสู่อำนาจ ดังนั้น ถ้าไม่อยากเจอฮิตเลอร์รอบ 2 ไม่อยากให้เกิดกลียุคภัยพิบัติอย่างสงครามโลกครั้งที่สองอีก จะปล่อยให้ตลาดเสรีสุดโต่งอีกไม่ได้ นี่คือที่มาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีข้อเสนอระบบการเงินโลกแบบเบร็ตตัน วูดส์ รัฐสวัสดิการ และการขึ้นมาครองอำนาจนำของ Social Democracy คือระเบียบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เอื้อเฟื้อต่อสวัสดิการสังคมในทั่วโลกตะวันตก

ผ่านจากช่วงเน้นรัฐตั้งแต่ราว ค.ศ. 1945-1970 ทุนนิยมที่เน้นรัฐนำไปสู่ปัญหาอีกจำนวนหนึ่ง ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาการใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการมากเกินไป ขาดดุลงบประมาณ มีวิกฤตการคลัง พวกนายทุนไม่แฮปปี้ที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเพื่อรองรับสวัสดิการสังคม

จังหวะที่ 3 พอถึงช่วง ค.ศ. 1970-1980 จึงพลิกอีกที หันกลับไปเน้นตลาดอีก อันนี้คือจุดเริ่มต้นของเสรีนิยมใหม่ นักคิดในสกุลนี้ซึ่งอยู่ในยุโรปบ้าง อเมริกาบ้าง โดยเฉพาะในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการนำแนวคิดนี้ไปใช้ที่ชิลี หลังจากนายพลปิโนเชต์ทำรัฐประหารปี ค.ศ. 1973 ก็เอานโยบายเสรีนิยมใหม่ไปทำ ต่อมาเมื่อนายกรัฐมนตรีหญิง มาร์กาเร็ต แธตเชอร์แห่งพรรคอนุรักษนิยมขึ้นสู่อำนาจในสหราชอาณาจักรปี ค.ศ.1979 และประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนขึ้นสู่อำนาจในอเมริกา ค.ศ. 1981 ต่างก็เอานโยบายเสรีนิยมใหม่ไปทำ เริ่มยุคเน้นตลาดอีก

จากนี้ในขอบเขตโลกตะวันตกและต่อมาก็ทั่วโลก แนวทางเดิมแบบ Social Democracy ประสบวิกฤต สูญเสียอำนาจนำ เสรีนิยมใหม่ขึ้นมามีอำนาจนำแทน

มันดำรงอยู่อย่างนี้ถึงประมาณ ค.ศ. 2008 แล้วก็เกิดวิกฤตซับไพรม์ เศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก (the subprime crisis & the Great Recession) นับแต่นั้นมาก็คือความเสื่อมถอยของอำนาจนำแบบเสรีนิยมใหม่บ้าง แล้วก็เริ่มหันกลับไปเน้นรัฐอีก ซึ่งนี่คือ จังหวะที่ 4 ในปัจจุบัน

นิทานเรื่องนี้มีแค่นี้เอง คือสลับกันไปมาระหว่างเน้นรัฐเหนือตลาดกับเน้นตลาดเหนือรัฐ แนวทางตอนนี้คือเสรีนิยมใหม่ไม่ได้กุมอำนาจนำแล้ว คนเลิกเชื่อเสรีนิยมใหม่ในฐานะอุดมการณ์ที่นำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ แต่นึกนโยบายใหม่ที่จะใช้ไม่ออก จึงมีปัญหาว่าแล้วจะเอาอะไรมาแทน จังหวะแบบนี้แหละที่เกิดเบร็กซิทในอังกฤษและทรัมป์ขึ้นสู่อำนาจในอเมริกา

สำหรับกรณีของไทย เหตุการณ์สำคัญคือวิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ. 1997 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ในจังหวะนั้นแหละที่ IMF และธนาคารโลกรวมทั้งรัฐบาลอเมริกันเข้ามาผลักดันให้เกิดแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ในเมืองไทยได้เต็มที่  รัฐวิสาหกิจเริ่มถูกแปรรูปขนานใหญ่ ข้าราชการโดยรวมเริ่มถูกเปลี่ยนเป็นพนักงานของรัฐ เดินนโยบายเสรีนิยมใหม่ในจังหวะนี้ได้

ผลของเสรีนิยมใหม่ก็คือพอคุณลดการคุมโดยรัฐ ปล่อยให้เกิดการหมุนเวียนของสินค้าและเงินทุนข้ามชาติโดยเสรี มันทำให้เศรษฐกิจโลกไร้เสถียรภาพ อัตราดอกเบี้ยแกว่ง ราคาหุ้นแกว่ง เกิดวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจถี่บ่อยกว่าช่วงเดินแนวทางเบร็ตตัน วูดส์ หลังสงครามโลกครั้งที่สองมาก

กราฟช้างและกราฟเนส

กราฟช้างซึ่งขึ้นชื่อลือชามากในวงการเศรษฐศาสตร์การเมืองของโลกตั้งแต่มีการปล่อยกราฟนี้ออกมาในปี ค.ศ.2016 คนที่ปล่อยออกมาคือบรังโก มิลาโนวิช (Branko Milanović) นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันเชื้อสายเซอร์บผู้ศึกษาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจในขอบเขตทั่วโลก กราฟนี้บอกว่าถ้าคุณเอาคนในโลกมาเกลี่ยกันตั้งแต่จนสุดถึงรวยสุดจำแนกเป็นสัดส่วน 100 เปอร์เซ็นต์ ถามว่าในระยะ 20 ปี คือช่วง ค.ศ. 1988-2008 ที่ดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่ รายได้ของประชากรทั่วโลกแยกตามกลุ่มรายได้เหลื่อมล้ำแตกต่างกันนั้นแต่ละกลุ่มเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ พบว่าพวกจนที่สุดมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่เท่าไหร่ ขณะเดียวกันในกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่างของโลกมีรายได้เพิ่มขึ้นพอสมควร แต่ก็มีพวกคนชั้นกลางระดับบนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ตกต่ำลงมา ส่วนพวกรวยที่สุดกลับมีรายได้เพิ่มพุ่งพรวดขึ้นไป จะเห็นว่าการเพิ่มรายได้นั้นไม่ได้เพิ่มกันทั้งแผง บางส่วนมีรายได้เพิ่มสูง บางส่วนมีรายได้เพิ่มในอัตราที่ลดลงหรือเพิ่มน้อยกว่า ในรอบ 20 ปีของเสรีนิยมใหม่ พบว่าจีนแก้ปัญหาความจนไปเยอะ เพราะเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของโลก คนชั้นกลางจีนเกิดขึ้นมาในช่วง 20 ปีนี้ รวมทั้งคนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาและรายได้ปานกลางอื่น ๆ ส่วนคนที่เดิมค่อนข้างมีฐานะดีระดับคนชั้นกลางในโลกตะวันตก ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาการเพิ่มรายได้กลับลดน้อยถอยลง ตรงนี้คือชนชั้นกลางในอเมริกา ในยุโรป คือคนที่โหวตให้ทรัมป์ คนที่โหวตเบร็กซิท

 

สิ่งที่น่าสนใจคือใน 20 ปีที่โลกดำเนินแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ คนในโลกได้ประโยชน์จากมันเท่ากันหรือไม่? คำตอบคือไม่เท่ากัน คนที่ได้เยอะเหมือนกันคือชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาและรายได้ปานกลางทั้งหลายโดยเฉพาะจีน ไทย รวยขึ้นมามากเพราะโลกาภิวัตน์ พวกที่เคราะห์ร้ายคือชนชั้นกลางในโลกตะวันตก ถูกทอดทิ้ง เพราะหัตถอุตสาหกรรมย้ายออกนอกประเทศไปลงทุนที่อื่น

อำนาจนำของเสรีนิยมใหม่ที่ครองโลกอยู่ 20 ปีเริ่มเสื่อมถอยและประสบวิกฤตเพราะกราฟช้างนี้ พอเกิดวิกฤตซับไพรม์และเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ. 2008 ไม่ช้านาน ผู้นำแบบประชานิยมอย่างทรัมป์ก็รุ่งขึ้นมา การที่เสรีนิยมกับประชาธิปไตยแยกจากกันเพราะเหตุนี้ เพราะแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่มันสร้างเงื่อนไขที่ต่างกันในแต่ละที่ ไม่เหมือนกันทั้งโลกนะครับ บางที่คนรู้สึกดีขึ้น บางที่คนรู้สึกแย่ลง ที่แย่ลงก็หันไปหาประชานิยมทางการเมือง

2 ปีต่อมา โธมัส พิกเคตี้ (Thomas Piketty) ผู้เขียนหนังสือ Capital in the Twenty-First Century (ค.ศ. 2013 ฉบับฝรั่งเศส, 2014 ฉบับแปลเป็นอังกฤษ) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสก็รวมกลุ่มเพื่อนตั้งศูนย์วิจัยความไม่เสมอภาคของโลกแล้วทำงานวิจัยออกมาทุกปี เขาเอากราฟช้างของบรังโก มิลาโนวิช ไปดู แล้วสำรวจใหม่ พบว่า มันไม่เป็นช้าง มันราบกว่า เขาตีความว่ารายได้ของคนทั้งโลกต่ำสุดถึงสูงสุดมาเกลี่ยกันพบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนมีรายได้น้อยที่สุดขึ้นมาได้รับส่วนแบ่งจากดอกผลโดยรวมของการเติบโตทางรายได้ในรอบ 20 ปีไปแค่ 12 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ คนมีรายได้สูงส่วนบนสุดยอดแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ได้ส่วนแบ่งจากดอกผลโดยรวมของการเติบโตทางรายได้ในรอบ 20 ปีไปถึง 27 เปอร์เซ็นต์ กราฟช้างจึงไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก ถ้าพล็อตใหม่จะเป็นเนสกราฟ (ตั้งชื่อตามสัตว์ประหลาดตามตำนานในทะเลสาบล็อกเนส ประเทศสก็อตแลนด์)

สิ่งที่เรียกว่าเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งที่ถูกเน้นของธรรมเนียมประเพณีการคิดแบบเสรีนิยมทั้งหมดในประวัติศาสตร์ตะวันตก โดยหยิบเอาเรื่องสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขึ้นมาแล้วขยายมัน จะเข้าใจความรุ่งเรืองของมันที่ขึ้นมาในช่วงปี ค.ศ. 1970-1980 ได้ ก็ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองของโลก

ทางเลือกใหม่?

นักเศรษฐศาสตร์ที่หัวไวตอบสนองเร็วกว่าเพื่อนในโลกตะวันตก เช่น Daniel Rodrik แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เริ่มเสนอว่าต้องหันไปดำเนินนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ ต้องเอาใจชาวบ้าน ต้องทำสิ่งตรงข้ามกับที่เคยทำ แต่จะพัฒนาไปสู่ระเบียบที่ชัดเจนเป็นระบบแล้วหรือไม่? ผมคิดว่ายัง ทั้งนี้ก็เพราะแต่ก่อนยังมีวิธีคิดว่าทุนนิยมชั่วร้าย สังคมนิยมดี ทว่าตอนนี้ไม่มีสังคมนิยมแล้ว ดังนั้นไกลที่สุดที่มีผู้เสนอคือ Progressive Capitalism หรือทุนนิยมแบบก้าวหน้า

หลังเสรีนิยมใหม่จะมีอะไรมาแทน? = โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เสนอว่า ระบบเศรษฐกิจอะไรที่เกื้อกูลสวัสดิภาพของมนุษย์ที่สุด? แกคิดว่าเป็นคำถามที่นิยามยุคสมัยปัจจุบัน เสรีนิยมใหม่ดำเนินมา 40 ปีในสหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าอื่น ๆ เมนูนโยบายหลัก ๆ ประกอบด้วยการเก็บภาษีคนรวยต่ำลง ละเลิกกฎเกณฑ์กำกับตลาดแรงงานและผลผลิต และแปรเศรษฐกิจให้อยู่ใต้ทุนการเงิน อย่างไรก็ตามแนวทางโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่กลับทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลงกว่าสมัย 25 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนรวยได้ดอกผลส่วนใหญ่ของการเติบโตที่ว่า รายได้คนชั้นล่างที่ต่ำลงมากลับชะงักงันหรือไม่ก็ลดต่ำลง สรุปได้ว่าเสรีนิยมใหม่ใช้การไม่ได้ ล้มเหลวไม่เป็นท่า ตายและกลบฝังไปแล้ว

แล้วมีทางเลือกอะไรหลังจากนั้น สติกลิตซ์ชี้ว่าได้แก่ 1) ชาตินิยมขวาจัด 2) ปฏิรูปนิยมกลางซ้าย 3) ซ้ายหัวก้าวหน้า

ชาตินิยมขวาจัดคือยึดติดอุดมการณ์ตกยุค ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ โทษผู้อพยพและคนต่างชาติว่าเป็นตัวปัญหา แต่กระนั้นก็ยังยึดมั่นกับการลดภาษีให้คนรวย ละเลิกกฎเกณฑ์กำกับตลาด และตัดทอนหรือขจัดโครงการสวัสดิการสังคมทิ้ง ซึ่งนี่คือสิ่งที่ทรัมป์กำลังทำ

ปฏิรูปนิยมกลางซ้ายเป็นเสรีนิยมใหม่ที่หน้าตาเป็นมนุษย์มนายิ่งขึ้น เป้าคืออัพเดตนโยบายของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตันของสหรัฐฯ กับนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ของสหราชอาณาจักร แล้วปรับแก้การแปรเศรษฐกิจให้อยู่ใต้ทุนการเงินและโลกาภิวัตน์แบบที่เป็นอยู่เพียงเล็กน้อย

สติกลิตซ์ไม่เอา 2 ข้อนี้ เขาเสนอว่าต้องเอาทุนนิยมก้าวหน้าและเชื่อว่าพวกซ้ายหัวก้าวหน้าจะเห็นด้วยกับแก ซึ่งมี 4 วาระเร่งด่วนทางเศรษฐกิจที่แตกต่างออกไปจากเสรีนิยมใหม่แบบถึงรากถึงโคนคือ 1) การฟื้นฟูความสมดุลระหว่างตลาด รัฐ และประชาสังคม 2) ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และองค์การจัดตั้งทางสังคมที่เปิดช่องให้คนกลุ่มใหญ่ได้ทำงานด้วยกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการสร้างสรรค์โภคทรัพย์ของนานาชาติแปลว่าอย่าให้เอกชนผูกขาดการวิจัย 3) แก้ไขปัญหาอำนาจรวมศูนย์ในตลาดที่หนักหนาขึ้นทุกที และ 4) ตัดห่วงเชื่อมระหว่างอำนาจเศรษฐกิจกับอิทธิพลทางการเมือง จะเห็นได้ว่าแต่ละข้อทำไม่ง่ายเลย

ไทยและทุนนิยมเหลื่อมล้ำ

ส่วนรูปแบบเศรษฐกิจของไทยเป็นแบบลูกผสม มีทั้งเสรีนิยมใหม่ในแง่นโยบายบางส่วน เพราะคนที่คิดเรื่องนโยบายเศรษฐกิจที่หัวดีที่สุดของเราก็อยู่ในกรอบวิธีคิดของเสรีนิยมใหม่ จึงเน้นไปเรื่องการเปิดตลาด เน้นการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามา การเอื้ออำนวยให้พวกเขาสะดวกในการลงทุน การเอากำไรกลับประเทศโดยการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ กฎหมายอะไรที่ทำให้เขาลำบาก เช่น กฎหมายผังเมือง กฎหมายสิ่งแวดล้อม ก็ระงับการใช้ไปในพื้นที่เหล่านั้น นี่คือนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่

อีกส่วนหนึ่งผมพูดตามข้อค้นพบของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติและอาจารย์วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ในงานวิจัยชิ้นล่าสุด ทั้งสองเรียกสิ่งที่รัฐบาล คสช. กำลังทำว่าทุนนิยมแบบเหลื่อมล้ำ คือสร้างระบบทุนนิยมที่ทุนใหญ่เข้าเทคโอเวอร์กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น แล้วกลไกที่สนองตอบตอนนี้คือประชารัฐ ให้ทุนใหญ่เป็นพี่เลี้ยงดูแลทุนท้องถิ่น ถ้าทุนท้องถิ่นอยากอยู่รอดต้องขึ้นกับทุนใหญ่ ทุนใหญ่ดูแลเรื่องวัตถุดิบ การตลาด

ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าแนวนโยบายทุนนิยมเหลื่อมล้ำนี้ลอกจีนมา จีนส่งเสริมทุนท้องถิ่นโดยให้บริษัทใหญ่เข้าไปดูแล แต่อย่าลืมว่าทุนใหญ่ของจีนคนบริหารคือสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน ดังนั้นทางพรรคสั่งพวกเขาได้ ไม่ใช่ทุนเอกชนล้วน ๆ แจ็ก หม่า อดีตผู้บริหารอาลีบาบาก็เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนแบบปิดลับอยู่นานปีจนเพิ่งมาเปิดเผยตัวเร็ว ๆ นี้ ดังนั้น พรรคสั่งแจ็ก หม่าได้ แต่นายกฯประยุทธ์สั่งคุณธนินทร์ เจียรวนนท์ ไม่ได้ คุณธนินทร์สร้างเครือบริษัท CP ขึ้นมาไม่ได้เพื่อรับใช้นโยบายของประยุทธ์ ถ้าคุณลอกระเบียบอำนาจแบบทุนใหญ่ดูแลทุนเล็กเข้ามาจากจีน แล้วทุนเล็กจะอยู่รอดได้ต้องอยู่ในกรอบของทุนใหญ่ คุณคิดว่าทุนใหญ่จะทำเพื่อใคร? เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมตามนโยบายรัฐบาล หรือเพื่อดอกผลของบริษัทตนเอง?

เศรษฐกิจไทยจึงเป็นลูกผสมระหว่างเสรีนิยมใหม่กับทุนนิยมเหลื่อมล้ำ กล่าวคือภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบนี้จะกีดกันกลุ่มทุนเล็กและทุนหน้าใหม่ไม่ให้เข้ามาในตลาดผูกขาดนี้ กรรมการประชารัฐจึงเป็นกลุ่มทุนเดียวกันกับที่พวกที่ให้ทุนอุดหนุน กปปส. มีการซ้ำซ้อนกันอย่างมีนัยสำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท