Skip to main content
sharethis

คดีที่เอกชนฟ้องสุแก้ว ฟุงฟู และชาวบ้านรวม 7 ราย ว่าบุกรุกที่ดินบ้านแพะใต้ จ.ลำพูน ซึ่งเดิมเป็นที่ดินหน้าหมู่ในชุมชนแล้วถูกเอกชนนำไปออกเอกสารสิทธิ์ และที่ดินอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยเพื่อเข้าโครงการนำร่องธนาคารที่ดินตามนโยบายรัฐบาลนั้น ล่าสุดศาลฎีกาอ่านคำตัดสิน โดยยืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก 7 จำเลยเป็นเวลา 1 ปี ไม่รอลงอาญา

สุแก้ว ฟุงฟู (คนกลางนั่งแถวหน้า) (ที่มาของภาพประกอบ: Landjustice5thai/มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ)

25 พ.ค. 2559 ที่ศาลจังหวัดลำพูน มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่บริษัทอินทนนท์การเกษตร โดยนพรัตน์ แซ่เตี๋ยว และยุทธนา แซ่เตี๋ยว เป็นโจทก์ฟ้องคดีชาวบ้านแพะใต้จำนวน 10 คน ประกอบด้วย 1.สุแก้ว ฟุงฟู 2.พิภพ หารุคำจา 3.สองเมือง โปยาพันธ์ 4. วัลลภ ยาวิระ 5.วัลลภ ไววา 6.คำ ซางเลง 7.บัวไร ซางเลง ส่วนจำเลยอีก 3 รายเสียชีวิตไปแล้ว โดยมีการฟ้องในข้อหาร่วมกันบุกรุกยึดถือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของของผู้อื่น ซึ่งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2540

โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 29 ธ.ค. 2558 ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา จนกว่าจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันตามการเสนอของฝ่ายจำเลย เนื่องจากกำลังมีการแก้ไขปัญหาโดยสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) 

อย่างไรก็ตามกระบวนการจัดซื้อที่ดินให้ชาวบ้านตามแนวทางของธนาคารที่ดินยังมีความล่าช้า และยังไม่มีการจัดซื้อที่ดินให้ชาวบ้าน และในวันนี้ ศาลจังหวัดลำพูนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ตัดสินให้จำเลยทั้ง 7 ราย ที่ยังมีชีวิตอยู่ ตัดสินจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา

อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26-27 พ.ย. 2558 สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน หรือ บจธ. นำโดย สถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการ บจธ. พร้อมกับที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เดินทางเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง สำรวจสภาพพื้นที่ และลักษณะทั่วไปของชุมชนตามโครงการนำร่องธนาคารที่ดินพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ในการลงพื้นที่ครั้งนี้สถิตย์พงษ์ ได้รับทราบปัญหาที่ดินและอีกปัญหาสำคัญคือเรื่องคดีความ

โดยผู้อำนวยการ บจธ. ได้ชี้แจงต่อชาวบ้านที่มาร่วมฟังเรื่องแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6-8 เดือนหากได้รับการอนุมัติให้ใช้งบประมาณจาก ครม. และเรื่องคดีความทางสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พร้อมให้ความร่วมมือในการแถลงต่อศาล ให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน โดยขอความเมตตาต่อศาลในการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปก่อน

สำหรับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2549 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 10  จึงพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาและศาลอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 พิพากษาแก้เป็นว่า  จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 9 และที่ 10  มีความผิดตามมาตรา 356(3) ประกอบมาตรา 362 จำคุกคนละ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 9 และที่ 10 และต่อมาศาลฎีกาก็มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ดังกล่าว

 

ความเป็นมาของปัญที่ดินที่ทำกินกรณีชาวบ้านแพะใต้ (ที่มา: สำนักข่าวประชาธรรม)

ในกรณีของชาวบ้านกลุ่มปัญหาที่ดิน จ.ลำพูน ปัญหาที่ดินบ้านแพะใต้ อ.เวียงหนองล่อง นับเป็นหมู่บ้านแรกๆ ที่ริเริ่มเข้าปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนด้วยแนวคิดที่ว่าที่ดินแปลงเหล่านั้น เป็นที่ดินสาธารณะ และชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในการ ทำการเพาะปลูกได้ แต่ทว่าเมื่อลงมือปฏิรูปที่ดินกลับมีนายทุนมาแสดงความเป็นเจ้าของ กรณีที่เกิดขึ้นชุมชนบ้านแพะใต้จึงร่วมกันตรวจสอบการถือครองที่ดินเหล่านั้น ของนายทุนและพบว่า กระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเหล่านั้นมิชอบด้วยกฎหมาย

กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2533 กลุ่มนายทุนจาก จ.เชียงใหม่ ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวตามโครงการเร่งรัดออกโฉนดที่ดิน โดยการเดินสำรวจ ทั้งนี้บริษัทอินทนนท์การเกษตรซื้อที่ดิน สค. 1 และ นส.3 จากชาวบ้านบางส่วนประมาณไม่กี่สิบไร่ แต่ฉวยโอกาสนำไปออกโฉนดที่ดินครอบคลุมพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของบ้านแพะใต้ ทั้งหมดกว่า 600 ไร่ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีส่วนรู้เห็นการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว

หลังจากนั้น บริษัทนำพื้นที่ทั้งหมดไปจัดสรรเป็นรีสอร์ท สวนเกษตรขนาดใหญ่เพื่อแบ่งแปลงขาย และยังมีการมอบที่ดินที่กว้านซื้อนี้ให้ก่อตั้งศูนย์ราชการคือ อ.เวียงหนองล่องเพื่อกระตุ้นการซื้อที่ดินในแปลงจัดสรรของบริษัท นอกจากนี้บริษัทอินทนนท์การเกษตรยังนำโฉนดที่ดินเข้าจำนองกับบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ และธนาคารกรุงไทยมูลค่าอย่างน้อย 40 ล้านบาท จนเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ดินดังกล่าวก็ถูกปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่า

ดังนั้นปี 2540 ชาวบ้านแพะใต้จำนวน 99 ครอบครัวจึงเข้าไปปฏิรูปที่ดินในบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่บริษัทปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ทำประโยชน์ เนื่องจากที่ดินไม่เพียงพอ หลายครอบครัวยากจน และไม่มีที่ดินทำกิน และจากการเข้าทำการปฏิรูปที่ดินครั้งนั้นจึงนำไปสู่การค้นพบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ลำดับเหตุการณ์ ในการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อรัฐบาล

1.) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2554 คณะรัฐมนตรีประชุมเห็นชอบให้มีการดำเนินงานโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาที่ดินของเกษตรกรรายย่อยไทยเข้มแข็ง ภายใต้นโยบายกองทุนธนาคารที่ดิน และต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2554 ได้พิจารณากรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดินภาคเหนือ 5 หมู่บ้าน ให้ดำเนินโครงการดังกล่าวในกรอบวงเงิน 167 ล้านบาท โดยดำเนินการในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน ได้แก่

1.1) บ้านไร่ดง หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

1.2) บ้านแม่อาว หมู่ที่ 3 ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

1.3) บ้านแพะใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน

1.4) บ้านท่ากอม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองปลาสวาย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

1.5) บ้านโป่ง หมู่ที่ 2 ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ต่อมา ปี พ.ศ. 2554  ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 128 ตอนที่ 33 ก ลงวันที่ 3 พ.ค 2554

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 เป็นต้นมาจะเห็นได้ชัดว่ามีการพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด มีคำสั่งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง ที่ 3/2556 เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร และการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินโดยมิชอบของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 9 คณะ ในส่วนจังหวัดลำพูนอยู่ในคณะทำงานลำดับที่ 1.5 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนเป็นประธาน ได้มีการประชุมและมีการเจรจาตกลงซื้อที่ดินกับกลุ่มเอกชนผู้ถือครองเอกสาร สิทธิ์ ในพื้นที่บ้านไร่ดง หมู่ที่ 3 ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จำหวัดลำพูน (ปัจจุบันแยกหมู่บ้านเป็นบ้านใหม่ป่าฝาง หมู่ที่ 15 ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน) ใช้งบประมาณในการจัดซื้อที่ดิน น.ส.3 ก. จำนวน 10 แปลง ราคา 3,800,000 บาท คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 8 มี.ค 2554 รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างและเหมืองแร่ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) เป็นประธานในคณะอนุกรรมการ ได้เสนอให้มีการจัดซื้อที่ดิน เพื่อดำเนินการเป็นพื้นที่นำร่องในรูปแบบของธนาคารที่ดิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการ โดยให้การสนับสนุนงบประมาณ เป็นเงินจำนวน 167,960,000 บาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2554 อนุมัติงบประมาณรายจ่าย งบกลางรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 งบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ "โครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยไทยเข้มแข็งภายใต้ นโยบายกองทุนธนาคารที่ดิน แต่เนื่องจากในขณะนั้นสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินยังไม่มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้

ต่อมาเมื่อ วันที่ 21 พ.ค. 2556 คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษารับทราบและเห็นชอบในหลักการการแก้ไข้ปัญหาของ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กรณีการดำเนินการโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ทั้งนี้ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เร่งดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย โดยประสานรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณในการดำเนินการกับสำนักงบประมาณแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจัดตั้งธนาคารที่ดิน จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร, ผู้อำนวยการสถาบัน และบรรจุพนักงานเพื่อดำเนินงานเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 โดยมี สถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.)

เมื่อวันที่ 26-27 พ.ย. 2558 ทางสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน นำโดย สถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) พร้อมกับที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เดินทางเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง สำรวจสภาพพื้นที่ และลักษณะทั่วไปของชุมชนตามโครงการนำร่องธนาคารที่ดินพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ในการลงพื้นที่ครั้งนี้สถิตย์พงษ์ ได้รับทราบปัญหาที่ดินและอีกปัญหาสำคัญคือเรื่องคดีความ โดยสถิตย์พงษ์ ได้ชี้แจงต่อชาวบ้านที่มาร่วมฟังเรื่องแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6-8 เดือนหากได้รับการอนุมัติให้ใช้งบประมาณจาก ครม. และเรื่องคดีความทางสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พร้อมให้ความร่วมมือในการแถลงต่อศาล ให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ทั้งนี้ขอความเมตตาต่อศาลในการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net