Skip to main content
sharethis
คนคลองไทรฯ หวั่น จังหวัดสุราษฎร์ฯ ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ส่อเค้าเอียง เสียงส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายตรงข้าม เสนอเพิ่มนักวิชาการ-DSI ร่วม ทั้งให้ตรวจสอบผู้ซื้อ-ขายที่ดิน ส.ป.ก. และบริษัทเอกชนถือครองที่ ส.ป.ก.-ที่ป่าไม้ อย่ามุ่งแต่ตรวจสอบชาวบ้านฝ่ายเดียว
 
การประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2557
 
 
5 ต.ค. 2557 สืบเนื่องจากข้อสรุปตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานส่วนจังหวัด เพื่อยุติความขัดแย้งในพื้นที่ภายใน 15 วัน ในการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ของชุมชนคลองไทรพัฒนา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุข อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี
 
ในการประชุมดังกล่าวผู้ว่าราชการสุราษฎร์ธานีชี้แจงว่า การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีกลุ่มผู้รับซื้อที่ดินในเขต ส.ป.ก. ประมาณ 13 ราย มาร้องเรียนว่าชาวบ้านชุมชนคลองไทรฯ อยู่อาศัยและทำประโยชน์ทับซ้อนกับที่ดินของพวกตนที่ได้ซื้อผ่านนายหน้าซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นของ บริษัท จิวกังจุ้ย จำกัด ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการก่อตั้งชุมชนคลองไทร
 
ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านชุมชนคลองไทรฯ ยืนยันว่าพวกตนมีการติดต่อกับทางรัฐบาลมาโดยตลอด นับตั้งแต่ริเริ่มกระบวนการตรวจสอบที่ดินแปลงนี้มาตั้งแต่กลางปี 2546 จนพบว่าเป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. แต่ถูกบุกรุกครอบครองทำประโยชน์โดย บริษัท จิวกังจุ้ย จำกัด มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ประมาณปี 2527 ซึ่งขณะนั้นที่ดินแปลงนี้ยังอยู่ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ ต่อมาปี 2537 กรมป่าไม้จึงส่งมอบพื้นที่นี้ให้ ส.ป.ก. นำเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกร แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีนายทุนครอบครองปลูกปาล์มน้ำมันเต็มพื้นที่
 
ผู้แทนชุมชนคลองไทรฯ ยืนยันว่า พวกตนริเริ่มก่อตั้งเป็นชุมชน เมื่อปี 2551 และต่อมาในเดือน มี.ค. 2552 ภายใต้การเคลื่อนไหวในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ตัวแทนชุมชนคลองไทรฯ หลายคนได้เดินทางไปชุมนุมเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินกับรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนกระทั่งในวันที่ 11 มี.ค. 2552 ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนรัฐบาลและข้าราชการหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาที่ดิน โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบผ่อนผันให้ชาวบ้านหลายชุมชน รวมทั้งชุมชนคลองไทรที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ ให้สามารถอยู่อาศัยได้จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะแล้วเสร็จ
 
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันให้ตั้งคณะกรรมการร่วมเป็นแนวทางและกลไกการแก้ไขปัญหา โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นประธาน ผู้อำนวยการ กอ.รมน.จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นรองประธาน และมีกรรรมการประกอบด้วย นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนชุมชนคลองไทรฯ 3 คน ตัวแทนกลุ่มบุคคลที่ซื้อ-ขายที่ดินในเขตของ ส.ป.ก. 3 คน และมีปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเลขานุการ ทั้งนี้เพื่อยุติความขัดแย้งในพื้นที่ภายใน 15 วัน
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการประชุม ชาวบ้านชุมชนคลองไทรฯ ตั้งข้อสังเกตถึงที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ที่มีการเสนอในที่ประชุมดังกล่าวว่ามีความไม่เหมาะสม และขาดความชอบธรรมในการทำหน้าที่ โดยให้เหตุผลดังนี้ 1.รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.จังหวัดสุราษฎร์ธานี เคยนำกลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้าไปในชุมชน เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น.วันที่ 16 ส.ค. 2557 เพื่อตรวจค้นบ้านเรือน และแสดงท่าทีคุกคาม ในระหว่างเจรจากดดันต่อชาวบ้านว่าถ้า ส.ป.ก. ไม่รับรองการอยู่อาศัยในพื้นที่จะทำการไล่รื้อชุมชน
 
2.มีข้อมูลว่า ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี มีที่ดินอยู่ ในเขตของ ส.ป.ก.แปลงที่ถูกบริษัท จิวกังจุ้ยบุกรุก จำนวนหลายไร่ด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดความกังวลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
 
3.กลุ่มอิทธิพลซื้อ-ขายที่ดินในเขต ส.ป.ก.ที่มีความขัดแย้งกับชุมชนคลองไทรอยู่ตลอดเวลา และจากเหตุการณ์แวดล้อมเชื่อได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารสมาชิกชุมชนคลองไทร ทั้ง 3 ราย จนเสียชีวิต เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2553 และเมื่อเดือน พ.ย. 2555
 
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการดูแล้ว ตัวแทนชุมชนคลองไทรฯ จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเจรจา เพราะเสียงส่วนใหญ่อยู่ทางฝ่ายตรงข้ามชาวบ้าน ดังนั้น บทบาทของคณะกรรมการฯ แทนที่จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง อาจกลับกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในการเบียดขับชาวบ้าน คนจน ให้หลุดออกจากพื้นที่ ส.ป.ก. ในขณะเดียวกันก็เปิดทางให้กลุ่มนายทุน ผู้มีอิทธิพลเหนือกฎหมาย ได้ครอบครองแสวงหาผลประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อไป
 
ตัวแทนชุมชนคลองไทรฯ กล่าวด้วยว่า จากขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาในครั้งนี้ ดูเหมือนมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบสมาชิกชุมชนคลองไทรฯ เพียงฝ่ายเดียว ทำให้ชาวบ้านเคลือบแคลงและสงสัยในการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีแนวโน้มจะใช้วิธีการ 2 มาตรฐาน โดยขณะนี้ชาวบ้านซึ่งเป็นฝ่ายที่ไปร้องทุกข์เพื่อขอความเป็นธรรม กลับถูกตรวจสอบและทำประวัติรายบุคคล
 
เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ควรจะตรวจสอบเอาผิดกับกลุ่มอิทธิพลผู้ที่ซื้อขายและแสวงหาผลประโยชน์ในที่ดินของ ส.ป.ก. มากกว่าที่จะมาตรวจสอบเกษตรกรที่ได้ขอใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างถูกต้อง เปิดเผย และกำลังรอการส่งมอบจาก ส.ป.ก. ถ้าศาลฎีกาตัดสินคดีให้ ส.ป.ก. เป็นฝ่ายชนะคดีต่อบริษัทจิวกังจุ้ย
 
“มาถึงวันนี้เรารอการชี้ขาดของศาลฎีกามาเกือบ 3 ปีแล้ว ว่าจะพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์หรือไม่ ถ้าคำพิพากษาเหมือนกับศาลชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์ ก็จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรอย่างยิ่ง เพราะ ส.ป.ก. จะได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวมาจัดสรรให้เกษตรกรเสียที” ตัวแทนชุมชนคลองไทรฯ กล่าวด้วยความหวัง
 
ตัวแทนชุมชนคลองไทรฯ ระบุด้วยว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย คณะกรรมการที่ทางจังหวัดฯ กำลังจะตั้งขึ้นมาเร็วๆ นี้ ต้องตรวจสอบทำประวัติและชี้มูลความผิดของผู้ที่ทำการซื้อ-ขายที่ดินของ ส.ป.ก. อย่างจริงจัง และต้องตรวจสอบด้วยว่า บริษัท จิวกังจุ้ย จำกัด ถือครองที่ดินของรัฐทั้ง เขต ส.ป.ก. และเขตป่าไม้ รวมทั้งสิ้นกี่ไร่ ซึ่งจากข้อมูลของชาวบ้านพบว่ามีประมาณ 3,000 ไร่ ทั้งในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดกระบี่ต่อเนื่องกันไป
 
อีกทั้ง ยังเสนอเพิ่มกรรมการเพิ่มอีก 2 คน คือ นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และเจ้าหน้าที่กรมสืบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งเคยติดตามคดีฆาตกรรมสมาชิกชุมชนคลองไทรฯ เพื่อตรวจสอบเครือข่ายผู้มีอิทธิพลด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net