มองนิยาม 'ความเป็นชาย' ที่เปลี่ยนไปในวัฒนธรรมป็อบของเอเชียตะวันออก

นักวิชาการมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกงมองเรื่องการนำเสนอคุณค่า 'ความเป็นชาย' ในยุคปัจจุบันของ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ผ่านวัฒนธรรมป็อบอย่างการ์ตูนหรือละครซีรีส์ ที่มีภาพ "ความเป็นชายที่นุ่มนวลในแบบของประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออก" ไม่ว่าจะเป็นดาราหนุ่มเกาหลีหน้าใส วัฒนธรรม "ผู้ชายกินพืช" ในญี่ปุ่น หรือการชมผู้ชายด้วยคำน่ารักๆ ในจีน

2 ส.ค. 2559 เกิงซง (Geng Song) ผู้ช่วยศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกงเขียนบทความในวารสารอีสต์เอเชียฟอรัมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการนิยามความหมายของ "ความเป็นชาย" ในวัฒนธรรมร่วมสมัยของเอเชียตะวันออก โดยเริ่มจากการยกตัวอย่างตัวละครเอกของซีรีส์เกาหลี "Descendants of the Sun" ที่นำแสดงโดย ซงจุงกิ ผู้มีลุคแบบพระเอกหนุ่มหน้าสวย และเป็นที่นิยมมากแม้กระทั่งในจีนจนถึงขั้นมีเรื่องที่สามีชาวจีนซึ่งอิจฉาพระเอกคนนี้ เมาแล้วบุกเข้าไปที่สตูดิโอถ่ายภาพขอให้เจ้าของสตูดิโอช่วยถ่ายภาพให้เขาดูเหมือนพระเอกซงจุงกิ

ละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมในจีนด้วยเช่นกันจนสามารถสร้างกระแสเกาหลีคลื่นลูกใหม่ได้ เกิงซง มองว่าปรากฏการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแส "ความเป็นชายที่นุ่มนวลในแบบของประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออก" ซึ่งในมุมมองแบบตะวันตกแล้วจะดู "เป็นหญิง" ซึ่งภาพความเป็นชายในแง่นี้มีการผลิตและหมุนเวียนออกมาจากกระแสเกาหลี รวมถึงวัฒนธรรมการ์ตูนและเกมของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกระแสที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกและเป็นการโต้ตอบภาพลักษณ์ความเป็นชายในอุดมคติของโลกแบบนักธุรกิจข้ามชาติแบบที่เป็นวัฒนธรรมที่มีอำนาจนำอยู่ในระดับโลกตอนนี้

มีบางส่วนมองว่าความสำเร็จของวัฒนธรรมสมัยนิยมเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมาจากการพยายามทำให้วัฒนธรรมของพวกเขาดูไม่มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมของชาติตัวเอง หรือที่เรียกว่า "มูกุกจย็อก" (Mugukjeok) โดยการไม่เน้นเจาะจงสัญชาติ ในเรื่อง Descendants of the Sun เองก็มีการระบุว่าเกิดขึ้นในประเทศสมมติ แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่มองว่าความนิยมของวัฒนธรรมเกาหลีใต้และญี่ปุ่นน่าจะมาจากการนำเสนอภาพ "ความเป็นชายแบบนุ่มนวล" สไตล์เอเชียตะวันออกมากกว่า

เกิงซง ระบุว่าความเป็นชายแบบนุ่มนวลมีรากมาจากประเพณีความเป็นชายแบบนักปราชญ์ของขงจื้อที่เป็นความคิดแพร่หลายในหลายประเทศของเอเชียตะวันออก จากการที่นักปราชญ์ที่มีพรสวรรค์มักจะอ่อนแอในทางกายภาพ ดูมีความละเอียดอ่อน หล่อเหลาหรือมีความงามในแบบที่มีทั้งความเป็นชายและหญิงซึ่งเป็นผู้ชายในแบบที่ผู้หญิงจะชื่นชมในความรู้และความสามารถทางการศึกษาของเขา ในขณะเดียวกันภาพลักษณ์เช่นนี้ก็ได้รับอิทธิพลมาจากกระแสเมโทรเซ็กชวลของตะวันตกที่แสดงให้เห็นว่าแนวคิดความเป็นชายมีลักษณะพหุนิยมมากขึ้นและมีการผสมผสานในเอเชียตะวันออกยุคที่โลกาภิวัตน์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในบทความของเกิงซงยังระบุถึงวัฒนธรรมโอตาคุที่มีส่วนในการทำให้ภาพลักษณ์เช่นนี้ของผู้ชายไหลไปสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกผ่านทางการ์ตูนมังงะและอนิเมะ วัฒนธรรมโอตาคุสื่อถึงคนที่มักจะชอบอยู่บ้านเพื่อเล่นวิดีโอเกมหรือชมอนิเมะรวมถึงสื่ออื่นๆ ที่เทียบได้กับวัฒนธรรมแบบ "geek" ของตะวันตก ถึงแม้ว่าจะดูมีภาพลบต่อต้านสังคมแต่คนหนุ่มในจีนก็เริ่มนิยามตัวตนตัวเองว่าเป็น "ไจ๋หนาน" (zhainan) (คำที่ออกเสียงแบบจีนของคันจิคำว่าโอตาคุ) เพิ่มมากขึ้น มีบทความและเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ที่เขียนเกี่ยวกับไจ๋หนานเพิ่มมากขึ้นในจีน เกิงซงระบุว่าความนิยมของไจ๋หนานในจีนน่าจะอธิบายได้จากวาทกรรมเรื่อง "ความใสบริสุทธิ์" ของผู้ชายที่หมกมุ่นในอะไรสักอย่าง

ในวัฒนธรรมโอตาคุของญี่ปุ่นยังมีการใช้คำว่า "โมเอะ" เพื่อใช้เรียกสิ่งที่ดูน่ารักในแบบเฉพาะ ในจีนก็มีการใช้คำว่า "เหมิง" (meng) ที่แปลว่า "แตกหน่อ" ในการชื่นชมความน่ารักตั้งแต่การแสดงออกของเด็กไปจนถึงทรงผมใหม่ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง แต่ก็เริ่มมีการนำคำนี้มาชมความน่ารักในตัวผู้ชายมากขึ้น ผู้ชายที่ถูกชมว่าเหมิงแสดงว่าเขามีความเป็นหญิงอยู่ในตัวซึ่งเป็นคำที่สื่อในทางบวก วัฒนธรรมไจ๋หนานและเหมิงล้วนแสดงให้เห็นการบรรจบเข้าหากันมากขึ้นของวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก

บทความของเกิงซงอธิบายต่อไปว่าเรื่อง "ความเป็นชายแบบนุ่มนวล" ของเอเชียตะวันออกที่ว่านี้ยังหมายรวมถึงความละเอียดอ่อนและเป็นห่วงเป็นใยผู้หญิงด้วย ในญี่ปุ่นมีการใช้คำว่า "ผู้ชายกินพืช" เรียกผู้ชายที่มีความละเอียดอ่อน ขณะที่ในเกาหลีใต้ใช้คำว่า "ผู้ชายอบอุ่น" ในการเรียกผู้ชายกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับที่ในญี่ปุ่นมีคำเรียกที่ตรงกันข้ามอย่าง "ผู้หญิงกินเนื้อ" โดยที่ "ผู้ชายกินพืช" ประเภทนี้ถูกมองว่าเป็นการขบถต่อวัฒนธรรมความเป็นชายในแบบพนักงานเงินเดือนในญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 "ผู้ชายกินพืช" เหล่านี้จะมีความทะเยอทะยานน้อยกว่าและดูภายนอกเหมือนจะไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้หญิงเพราะพวกเขามักจะแสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจความรู้สึกผู้หญิงเสมอ

นอกจากนี้ในวัฒนธรรมสมัยนิยมของเอเชียตะวันออกแล้วภาพลักษณ์ความเป็นชายที่ดู "เข้มแข็ง" ยังไปกันได้กับภาพลักษณ์ที่ดู "นุ่มนวล" เกิงซงยังระบุถึงการที่จีนพยายามนำภาพลักษณ์ความเป็นชายชาตินิยมในแบบของจีนมานำเสนอเป็นพระเอกต่อสู้กับตัวร้ายที่เป็นชาวญี่ปุ่นที่ดูเลือดเย็นในละครที่รัฐเป็นสปอนเซอร์นำเสนอสร้างภาพชาตินิยม ในละครมีการนำเสนอตัวละครให้ญี่ปุ่นดูเป็น "ปีศาจ" ซึ่งมาจากจินตนาการร่วมของคนบางยุคที่รับมาจากสื่อสมัยนิยมแทนที่จะมาจากประสบการณ์ตัวเอง โดยมีการนำเสนอตัวละครชาวญี่ปุ่นในแบบที่ใช้กำลังกับลูกน้อง ตบตีภรรยา มีภรรยาที่ดูเคารพนบนอบคอยสามีกลับบ้าน เกิงซงมองว่าภาพลักษณ์ชาวญี่ปุ่นแบบในละครจีนถูกนำมาใช้เพื่อเปรียบเทียบยกย่องความเป็นชายในแบบอุดมคติของชาวจีนเอง

 

เรียบเรียงจาก

Changing masculinities in East Asian pop culture, Geng Song, East Asia Forum, 26-07-2016
http://www.eastasiaforum.org/2016/07/26/changing-masculinities-in-east-asian-pop-culture/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท