โค้งสุดท้ายประชามติ #6 สวัสดิการสุขภาพที่ไม่เสมอภาค

หวั่นร่างรัฐธรรมนูญทำเสียหลักการสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า เปิดช่องรัฐไม่ต้องดูแลทุกคนแบบเสมอหน้า ถาม กรธ. เชื่อหลักการความเสมอภาคของมนุษย์ที่ควรจะได้รับสวัสดิการหรือไม่

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญในมิติสวัสดิการสุขภาพว่า สิทธิมนุษยชนคือสิทธิที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เป็นสิทธิที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ต้องระบุให้เป็นสิทธิ ไม่ใช่ระบุให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

'ชัดเจนว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลรักษาอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยได้รับการดูแลที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ เขียนแค่นี้พอ ไม่ต้องไปเขียนว่าผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อันนี้เป็นประเด็นข้อยกเว้น ซึ่งไม่ควรเขียนในหมวดสิทธิหรือถ้าจะเขียนในหมวดสิทธิเฉพาะกลุ่มผู้ยากไร้ก็ไปเขียนอีกข้อหนึ่งเลยว่า ผู้ยากไร้ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากรัฐ แต่มันก็ไม่ควรเขียน' สุรีรัตน์ กล่าว

ภาพ สุรีรัตน์ ตรีมรรคา

สุรีรัตน์ขยายความเพิ่มเติมว่า การนำประเด็นการจัดร่างรัฐธรรมนูญในมิติสวัสดิการสุขภาพไปเขียนในหมวดหน้าที่ของรัฐสามารถเขียนได้ แต่ในหมวดสิทธิไม่ต้องเขียนว่าเป็นหน้าที่ของรัฐหรือตามที่กฎหมายกำหนด การเขียนเช่นนี้ถือเป็นการถอยหลัง

'ประการต่อมาระหว่างหมวดหน้าที่ของรัฐมีการแบ่งเป็นหมวดหน้าที่ของรัฐกับหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ถ้าหน้าที่พื้นฐานของรัฐบอกว่ารัฐต้องทำ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐบอกว่ารัฐพึงทำ ดังนั้น ก็อาจจะไม่ทำก็ได้ พึงทำกับต้องทำ ต่างกันยังไง นี่คือคำถาม แล้วทำไมไม่ต้องทำทั้งหมด' สุรีรัตน์ กล่าว

กรธ. เชื่อมั้ยว่ารัฐไทย ณ ปัจจุบันต้องการสวัสดิการให้คนไทยทุกคน เขาอธิบายโดยไม่เชื่อบนหลักการนี้ เขาเชื่อว่ารัฐไทยไม่มีรัฐสวัสดิการสำหรับทุกคน มีแต่รัฐสวัสดิการสำหรับบางคน กรธ. ไม่ได้เชื่อบนหลักการความเสมอภาคของมนุษย์ที่ควรจะได้รับสวัสดิการ

ข้อกังวลที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การทำให้เสียหลักการสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า สุรีรัตน์ กล่าวว่ามีเป็นไปได้ เพราะการระบุว่าเป็นสิทธิเฉพาะผู้ยากไร้ อาจต้องแก้กฎหมายให้เฉพาะสิทธิของผู้ยากไร้ ไม่ใช่สิทธิของทุกคน เมื่อแยกผู้ยากไร้ออกมาแล้ว ที่เหลือที่ไม่ใช่ผู้ยากไร้ก็ต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งระบบจ่ายร่วมหรือโคเพย์เป็นระบบที่ต้องมีอยู่แล้วในระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ ณ ปัจจุบันประชาชนโคเพย์ผ่านระบบภาษี แต่สิ่งที่ส่งสัญญาณมาโดยตลอดคือมีความพยายามจะให้โคเพย์ที่จุดบริการ ซึ่งจะมีปัญหามากและจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการของประชาชน

'การกำหนดหมวดสิทธิขั้นพื้นฐานก็ควรระบุแค่ว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุข ไม่ต้องมีวรรค 2 ที่ระบุถึงผู้ยากไร้ เพราะมันเป็นสิทธิของทุกคน มีวรรค 2 แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ก็เอามาตีความได้ เพราะฉะนั้นวรรค 1 ก็จัดให้ได้ แต่เราจัดให้เฉพาะวรรค 2 ก็ได้ ด้วยเหตุผลว่ารัฐมีเงินไม่พอ วรรค 1 อาจต้องร่วมจ่ายเงินบ้าง นี่คือความต่าง' สรุรีรัตน์ กล่าว

'กรธ. (คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) กำลังพูดเรื่องนี้บนหลักการอะไร กรธ. เชื่อมั้ยว่ารัฐไทย ณ ปัจจุบันต้องการสวัสดิการให้คนไทยทุกคน เขาอธิบายโดยไม่เชื่อบนหลักการนี้ เขาเชื่อว่ารัฐไทยไม่มีรัฐสวัสดิการสำหรับทุกคน มีแต่รัฐสวัสดิการสำหรับบางคน กรธ. ไม่ได้เชื่อบนหลักการความเสมอภาคของมนุษย์ที่ควรจะได้รับสวัสดิการ แล้วก็ติดอยู่กับความเชื่อว่าประเทศไทยเงินไม่พอ โดยไม่ได้คิดว่าการเก็บภาษีหรือการเก็บเงินเข้าคลังไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่เคยลดความเหลื่อมล้ำได้มาตลอด 50 ปี คุณไม่สามารถกระจายรายได้ได้เลย รัฐไทยมีหน้าที่ทำให้ความมั่งคั่งกระจาย ก็ต้องเก็บภาษีให้ถูกที่ถูกทาง แล้วเอาภาษีนั้นคืนให้ทุกคนอย่างเสมอภาคในรูปสวัสดิการทั้งคนจนและคนรวย แต่กำลังจะมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนในสังคมไทย รัฐธรรมนูญไม่ก้าวหน้าเลย ถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำนี้' สุรีรัตน์ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท